ไปเรียนรู้อุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา (๑๔) การกำกับดูแลคุณภาพการศึกษาโดยสภามหาวิทยาลัย


  
          ผมจับความหรือย่อมาจากเอกสาร Academic Oversight : Asking Questions, Building Bridges โดย E.B. Wilson  และ AGB Statement on BOARD RESPONSIBILITY FOR THE OVERSIGHT OF EDUCATIONAL QUALITY  ที่ได้รับแจกตอนเข้าประชุม Preconference Workshop เรื่อง Leading Board Committee ตอนบ่ายวันที่ ๓ เม.ย.  และผมรู้สึกว่า วิทยากรที่ชื่อ E.B. Wilson หน้าตาท่าทางคล้าย ศ. ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ มาก   

          เอกสารบอกว่า สภาฯ กำกับดูแลคุณภาพการศึกษาโดยการตั้งคำถาม   โดยเอกสารเขียนโดย E.B. Wilson ให้หลักการไว้ ๓ ข้อ

๑. ตั้งคำถามที่เหมาะสม


๒. ร่วมมือกันระหว่าง กรรมการสภาฯ  อาจารย์ และฝ่ายบริหาร  ในการกำหนดคำถามจากมุมมองเชิงยุทธศาสตร์


๓. กระบวนการความร่วมมือนี้จะสร้างบรรยากาศที่ดีในสภาฯ  และนำไปสู้ผลลัพธ์ที่วัดได้

          ผมเคยเล่าไว้แล้วว่า สภามหาวิทยาลัยมหิดล กำกับดูแลคุณภาพการศึกษาโดยกำหนดนโยบายว่า ทุกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต้องเน้นคุณภาพทางวิชาการเป็นหลัก   ห้ามเปิดหลักสูตรที่แอบแฝงเป้าหมายเพื่อหาเงินเป็นหลัก   ไม่ว่าจะเพื่อช่วยให้อาจารย์มีรายได้ หรือเพื่อช่วยให้หน่วยงานมีรายได้
E.B. Wilson เขียนไว้ว่า ๑๐ คำถามที่ บอร์ด ควรถามคือ

๑. เราบรรลุเป้าหมายตามที่ระบุไว้ในพันธกิจด้านการศึกษาหรือไม่   เราวัดผลลัพธ์ด้านนักศึกษา (student outcomes) อย่างไร   ตัวชี้วัดคืออะไร


๒. จุดเด่นและจุดด้อยของหลัดสูตรคืออะไร วัดอย่างไร


๓. เมื่อจะเปิดหลักสูตรหรือโปรแกรมใหม่ เรามีวิธีพิจารณาความเหมาะสมเชิงยุทธศาสตร์อย่างไร

 
๔. ยุทธศาสตร์การรับ นศ. ทำให้เราได้ นศ. กลุ่มที่ตรงเป้าหรือไม่   นศ. สามารถปฏิบัติหรือทำงานตามเป้าหมายหรือไม่   นศ. เป็นผู้เรียนรู้อย่างมีเป้าหมายหรือไม่


๕. ตัวเลขเกี่ยวกับ นศ. บอกคุณภาพของการสอน, การเรียน, และการแนะแนว อย่างไรบ้าง


๖. เราอยู่ในสภาพที่แข่งขันได้ในการดึงดูดอาจารย์ดีหรือไม่   มีปัจจัยขัดขวางไม่ให้เราเป็นตัวเลือกแรกของอาจารย์ดีอย่างไรบ้าง   ค่าตอบแทนอาจารย์ของเราทำให้เราแข่งขันได้ดีกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มเดียวกันหรือไม่

๗. ผลสัมฤทธิ์ดีเด่นของอาจารย์ในระยะเวลาปัจจุบันมีอะไรบ้าง   กิจกรรมวิชาการของอาจารย์และ นศ. ของเรา ส่งผลกระทบต่อวงวิชาการสาขานั้นๆ อย่างไรบ้าง


๘. นวัตกรรมการเรียนการสอนที่ใหม่ที่สุดของเรามีอะไรบ้าง   เราได้นำเอา state-of-the-art technology เข้ามาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนอย่างไรบ้าง


๙. การกระจายอายุของอาจารย์เป็นอย่างไร   ร้อยละเท่าไรได้รับปริญญาระดับสูงสุด   ร้อยละเท่าไรที่ได้รับสัญญาถาวร   สัดส่วนระหว่างอาจารย์ประจำกับอาจารย์พิเศษเป็นอย่างไร


๑๐. ในการอนุมัติแผนงบประมาณประจำปี  แผนนั้นสอดคล้องกับพันธกิจทางวิชาการ และแผนวิชาการอย่างไรบ้าง

          ๑๐ ข้อข้างบนนั้น เป็นเพียงตัวอย่างของการตั้งคำถาม   ซึ่งบางตัวอย่างก็ไม่สอดคล้องกับบริบทไทย 

          หลักการ ๗ ข้อ สำหรับ บอร์ด ทำหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพการศึกษาของสถาบันได้แก่

๑. บอร์ด ต้องเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง ในการกำกับดูแลคุณภาพการศึกษาอย่างได้ผล


๒. บอร์ด ต้องดูแลว่า มีการกำหนดนโยบายและมาตรการปฏิบัติ  รวมทั้งมีการลงมือปฏิบัติจริง ในเรื่องคุณภาพการศึกษา


๓. บอร์ด ต้องมอบหมายให้อธิการบดี และ Chief Academic Officer ดำเนินการประเมินการเรียนรู้ของ นศ.  มีการรรวบรวมข้อมูลด้าน learning outcomes นำเสนอ บอร์ด และstakeholder อย่างครบถ้วน   รวมทั้งมีการติดตามข้อด้อย และการปรับปรุง


๔. บอร์ด ต้องอนุมัติและติดตามทรัพยากร สำหรับใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษา


๕. บอร์ด ต้องเรียนรู้หรือทำความเข้าใจ โปรแกรมการศึกษาของสถาบัน ทั้งระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา


๖. บอร์ด ต้องดูแลให้โปรแกรมการศึกษา และทรัพยากรสนับสนุน นำสู่การเรียนรู้ที่ครบถ้วน  ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในห้องเรียน


๗. บอร์ด ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจการประเมินผลและรับรองมาตรฐานการศึกษา : คืออะไร มีกระบวนการอย่างไร บอร์ด มีบทบาทอย่างไร   ต้องมีการนำผลการประเมินมารายงานและชี้แจงต่อ บอร์ด เป็นระยะๆ   

 

วิจารณ์ พานิช
๕ เม.ย. ๕๔
โรงแรม InterContinental Los Angeles Century City
ปรับปรุง ๑๑ เม.ย. ๕๔ บนเครื่องบินกลับกรุงเทพ


 

หมายเลขบันทึก: 438929เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2011 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์

ผมชื่อยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ (อู๋)

ที่นำผลงานไปแสดงในงานมหกรรมพลังเยาวชน

เรื่อง ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าจากการวินิจฉัยโรค

มาติดตามอาจารย์อีกคนนึงครับ มีเพื่อนจาก (ครูเพื่อศิตย์) แนะนำมาครับผม

สวัสดีครับ อาจารย์ ผม ตัวแทนกลุ่ม ครูเพื่อศิษย์ คนที่ตัวสูงสุดในกลุ่ม ชื่อ อาณัฐ ซึ้งประสิทธิ์ (เบ็นซ์) ครับ

พอดีว่า เพื่อนผม (อู๋) เขาเตรียมตัว Present JCSSE ลักษณะคล้ายๆการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ ทาง

อู๋ ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ มาก่อน ไม่ทราบว่า อาจารย์ พอจะมีคำแนะนำสำหรับการ Present ในครั้งนี้อย่างไรบ้างครับ

ขอขอบคุณ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ ศ.นพ.วิจารย์ พานิช

ด้วยความเคารพยิ่ง อาณัฐ ซึ้งประสิทธิ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท