ภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistics)


ภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistics) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในรูปแบบของตัวแปรต่างๆทางภาษา เช่น โครงสร้างของภาษา ความหมายและองค์ประกอบของคำ หน่วยคำ หน่วยเสียง สำเนียงและการออกเสียง และ อื่นๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับตัวแปรทางสังคม เช่น เพศ อายุ ชนชั้น สถานภาพทางสังคม เชื้อชาติ อาชีพ การศึกษา ภูมิศาสตร์ เป็นต้น

ภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistics)

 

เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในรูปแบบของตัวแปรต่างๆทางภาษา เช่น โครงสร้างของภาษา ความหมายและองค์ประกอบของคำ หน่วยคำ หน่วยเสียง สำเนียงและการออกเสียง และ อื่นๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับตัวแปรทางสังคม เช่น เพศ อายุ ชนชั้น สถานภาพทางสังคม เชื้อชาติ อาชีพ การศึกษา ภูมิศาสตร์ เป็นต้น เพื่อนำเสนอรูปแบบทั้งที่มีความสัมพันธ์และไม่มีความสัมพันธ์กัน ของตัวแปรดังกล่าว ดังที่มีนักการศึกษาได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า (Wardhaugh, 2002) ภาษาศาสตร์เชิงสังคม นั้นเป็นการค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและสังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงโครงสร้างของตัวภาษาเอง และ เข้าใจถึงการทำหน้าที่ในการสื่อสารของภาษานั้นๆ รวมไปถึงการศึกษาโครงสร้างทางสังคม ที่ส่งผลต่อ ลักษณะการสนทนาของคู่สนทนา การแปรของภาษาและความหลากหลายทางภาษา เป็นต้น

ภาษา (Language) นอกจากจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความรู้ ความหมายและความคิด แล้วนั้น ยังทำหน้าที่ในการสร้างความสัมพันธ์ และรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นอีกด้วย นอกจากนี้ Trudgill (2000) ยังกล่าวอีกว่า ภาษามีบทบาทสำคัญในการบอกถึงร่องรอยภูมิหลัง (clue-bearing) เพื่อสะท้อนถึงความแตกต่างทางสังคมและภูมิภาคที่อยู่ของผู้พูด ผ่านทางการใช้ภาษา สำเนียงพูดและการออกเสียงของผู้พูดอีกด้วย

ปัจจัยสำคัญที่ใช้เป็นเส้นแบ่งทางภาษาสามารถแบ่งได้ 2 ปัจจัยคือ 1.) ปัจจัยทางสังคมและการเมือง (Sociopolitical factors) และ 2.) ปัจจัยทางภาษาศาตร์ (Linguistics factors) ยกตัวอย่างเช่น ภาษาลาว กับ ภาษาไทย ในเชิงสังคมและการเมืองนั้นถือได้ว่าเป็นคนละภาษาเพราะอยู่กันคนละประเทศ มีโครงสร้างทางภาษาและมีตัวอักษรเป็นของตนเอง มีการปกครองที่แยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ในส่วนมุมมองทางภาษาศาสตร์นั้น ภาษาทั้งสองไม่สามารถตัดขาดจากกันได้เนื่องจากทั้งสองภาษาจัดอยู่ในเส้นทางของการเชื่อมโยงที่ต่อเนื่อง (dialect continuum) เส้นเดียวกัน จึงทำให้ผู้พูดของทั้งสองภาษาสามารถพูดคุยสื่อสาร เข้าใจกันได้ (mutually intelligible) โดยไม่ต้องแปล

การแบ่งภาษาตามปัจจัยทางสังคมและการเมืองนั้นสามารถจำแนกภาษาออกเป็นสองประเภทคือ Autonomous และ Heteronomous ซึ่ง Autonomous หมายถึง ภาษาที่เป็นอิสระไม่ได้ขึ้นกับภาษาอื่น เป็นภาษามาตรฐาน (Standard Language) หรือภาษากลางในประเทศใดประเทศหนึ่ง มีโครงสร้างไวยากรณ์ที่ชัดเจน เช่นคนที่พูดภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม่หรือภาษาที่หนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมัน ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ Heteronomous ที่ถูกมองว่าเป็นภาษาที่ไม่เป็นอิสระและไม่เป็นมาตรฐาน (Nonstandard Language) ในประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่นคนที่พูดภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม่หรือเป็นภาษาที่หนึ่ง แต่อาศัยอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น กล่าวคือในการแบ่งภาษาตามปัจจัยทางสังคมและการเมืองนั้น แม้คนที่พูดภาษาแม่เป็นภาษาเดียวกัน แต่อาศัยอยู่ในประเทศที่ต่างกันก็จัดเป็นภาษาคนละประเภทกัน

ในมุมมองทางสังคมและการเมืองนั้น ภาษามาตรฐาน (Standard Language) เป็นภาษาที่สวยงาม ถูกต้องและได้รับการยอมรับทางสังคม ผู้ที่พูดหรือเขียนด้วยภาษามาตรฐานจะถูกมองว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรี หรือมีสถานะภาพทางสังคมสูงกว่า ส่วนภาษาที่ไม่เป็นมาตรฐาน (Nonstandard Language) จะถูกมองว่า เป็นภาษาที่ด้อยพัฒนาเป็นภาษาที่พิการ ไม่สมบูรณ์ ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม ซึ่งจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับมุมมองด้านภาษาศาสตร์ ที่ได้ให้ความหมายไว้ว่า ภาษาที่ไม่ใช่ภาษามาตรฐานนั้นไม่มีอยู่จริง (There are no nonstandard languages) นักภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่า ภาษาใดก็ตามที่สามารถออกเสียงได้ มีโครงสร้างทางไวยากรณ์ที่ชัดเจน มีคำศัพท์ที่มีความหมาย ก็ถูกเรียกว่าเป็นภาษา (Language) ที่สามารถใช้ในการสื่อสารและทำหน้าที่ของภาษาได้แล้ว ในเชิงภาษาศาสตร์จะแบ่งภาษาออกเป็น ภาษา (Language) และ ภาษาถิ่น (Dialect) ที่เกิดขึ้นจากการแปรของภาษา และความหลากหลายทางภาษา (Variation and Variety of Languages) โดยที่ dialect เป็นการแปรของภาษาในกลุ่มคน ที่มีหน่วยเสียงและหน่วยคำ แตกต่างออกไป แต่ยังคนเป็นภาษาเดียวกัน (accent ก็ถือว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ dialect เพราะ dialect มองกว้างกว่านั้น)

ในการเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องของภาษา (dialect continuum) ภายใต้มุมมองทางภาษาศาสตร์นั้น จะไม่สามารถกำหนดเส้นแบ่งตายตัวทางภาษาได้ กล่าวคือไม่สามารถกำหนดจุดตัดที่ชัดเจนแน่นอนได้ระหว่างสองภาษา เนื่องจากผู้คนที่อาศัยอยู่คนละฟากของเส้นเขตแดนที่ถูกกำหนดโดยทางการเมืองหรือการปกครองนั้น ยังคงมีการติดต่อสื่อสารกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารจึงจำเป็นต้องให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย จึงเกิดเป็น dialect ที่ใช้กันอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ ที่เกิดจากการผสมกลมกลืนระหว่างภาษาของทั้งสองประเทศที่อยู่ติดกัน ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ให้เปรียบเทียบภาษาแต่ละภาษาเป็นตัวเลข 1 – 10 โดยตัวเลขที่อยู่ติดกันจะมีความคล้ายคลึงกันและสามารถสื่อสารเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี เช่น 1 ใกล้เคียงกับ 2 แต่จะห่างจาก 3 เล็กน้อย ในขณะที่ 2 ใกล้เคียงกับ 3 แต่จะห่างจาก 4 เล็กน้อย เป็นความสัมพันธ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึง 10 เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การที่ 1 และ 10 จะสื่อสารเข้าใจกันได้นับย่อมนับว่าเป็นเรื่องที่ยาก จนกลายเป็นคนละภาษาไปแล้ว แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า 1 และ 10 นั้นยังมีความเชื่อมโยงกันอยู่

ดังนั้น ภาษาศาสตร์เชิงสังคม จึงมิได้มุ่งเน้นศึกษาว่าสิ่งใดผิดหรือสิ่งใดถูกต้อง หรือค้นหาว่าสิ่งใดเป็นมาตรฐานหรือไม่เป็น  หากแต่ต้องการพิสูจน์ให้เป็นถึงความสัมพันธ์ของภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในบางเรื่องและความไม่สัมพันธ์กันในอีกหลายๆ เรื่อง เพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงการทำนายปรากฏการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

 

 

 

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการทบทวนการเรียนรายวิชาภาษาศาสตร์เชิงสังคม เรื่อง ภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Language and Society) หากมีข้อผิดพลาดประการใด ขอความกรุณา ท่านผู้รู้ทั้งหลาย โปรดชี้แนะ แนวทางที่ถูกต้องด้วยครับ ขอขอบคุณครับ

Name: Parinya Thongprapha

Student Code: 51922806

Lecturer: Dr. Ubon Dhanesschaiyakupa

Course Title: 227532 : Sociolinguistics

Graduate School, Burapha University, 2010

 

References

Trudgill, P. (2000). Sociolinguistics: an introduction to language and society. Suffolk: Clays Ltd.

Wardhaugh, R. (2002), an introduction to Sociolinguistics. Massachusetts: Blackwell Publishers Ltd



ความเห็น (6)

ขอบคุณมากเลยค่ะ ภาษามันซับซ้อนกว่าคิดไว้เยอะเลย หนูเป็นคนหนึ่งที่ชอบด้านภาษามากๆค่ะ

ขอบคุณนะคะที่ให้ความรู้เรื่อง Sociolinguistics ตอนนี้เข้าใจมากขึ้นค่ะ กำลังจะทำวิจัยเรื่องนี้พอดีเลยค่ะ

ขอบคุณครับ กำลังจะเริ่มเรียนเกี่ยวกับวิชานี้ เข้าใจแล้วครับว่ามันเกี่ยวกับอะไร

แล้วคำยืมจากภาษาอังกฤษเกี่ยวข้องกับทฤษฏีนี้อย่างไรบ้างคะ

ขอบคุณมากครับ กำลังสนใจพอดีเลย 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ อยากรบกวนถามว่าแล้วอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแนวคิด ภาษาศาสตร์สังคม คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท