ลองทำตารางบันทึกและตรวจสอบการกินยาของพ่อ


กันลืม กันหลง และกันพลาด ก็เลยลองทำตารางบันทึกและตรวจสอบการกินยาของพ่อดูค่ะ

ตารางที่ว่านี้ มีที่มาที่ไปจากการต้องดูแลเรื่องการกินยาให้พ่อ ซึ่งช่วงนี้ต้องรักษาอยู่หลายโรค เพราะพ่อก็อายุมากแล้ว ดังนั้นการเอาใจใส่เรื่องการกินยาจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับผู้สูงอายุ

ในแต่ละวัน พ่อต้องกินยาทุกมื้อ บางมื้อก็ยาหลายตัว บางมื้อก็ยาตัวเดียว หรือบางทีมีมื้อพิเศษจำเป็นต้องทานยาเมื่อมีอาการ ดังนั้นเพื่อป้องกันการหลงลืมของตัวเอง คงต้องหาเครื่องมือมาช่วยจดจำและจะได้เก็บเป็นข้อมูลเอาไว้บอกคุณหมอด้วย

เริ่มต้นกับการออกแบบตารางสำหรับจัดบันทึก ซึ่งรอบนี้ออกเป็นแบบ Version แรกไปก่อน เพื่อทดลองใช้ เผื่อว่าใช้ไปสักพักอาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้ง่ายขึ้น หรือหากเหมาะสมอยู่แล้ว เราก็จะได้ใช้มันอย่างมีประโยชน์เต็มที่ค่ะ

หลักการคิดออกแบบตาราง ก็ไม่ได้ไปหาตัวอย่างจากที่ไหนค่ะ พอดีว่าคิดขึ้นได้ก็ลองทำดู จริงๆ ในอินเทอร์เน็ตอาจจะมีอยู่มากมายแล้วก็ได้นะค่ะ แต่สำหรับตัวเองก็คิดว่า ลองทำดูตามที่เราคิดว่าสะดวกต่อการจดของตนเอง และไม่ต้องการให้มันมีขนาดใหญ่จนเกินไป เพราะหากจะต้องเก็บเอาไว้ระยะยาวแล้วจะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองกระดาษมากและจะได้เก็บกระดาษในปริมาณไม่มากจนเกินไป

การออกแบบก็เอาหลักคิดง่ายๆ ก่อนก็คือว่า เอาตัวยาเป็นตัวตั้ง ดังนั้นจึงเอาชื่อยาไว้แนวนอน โดยรายการยาจะถูกจัดหมวดเป็นตามชื่อโรค จากนั้นก็มากำหนดแถวตั้งให้เป็นวันที่ ซึ่งในแต่ละวันจะถูกแบ่งย่อยเป็น 4 มื้อ ที่ต้องกิน โชคดีที่ยารอบนี้เป็นยาหลังอาหารทั้งหมด ก็เลยยังไม่ต้องแบ่งออกเป็นช่วงก่อนอาหารค่ะ

พอได้ตารางนี้แล้วก็พยายามกำหนดให้ตาราง 1 ชุด สามารถจดได้ 1 สัปดาห์หรือ 7 วันนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บและดูภาพรวมของแต่ละสัปดาห์

นอกจากนี้แล้ว ถัดลงมาจากแถวรายการชื่อยา บรรทัดสุดท้ายก็เว้นช่องไว้เยอะหน่อย เพื่อจดข้อมูลชีวิตประจำวันของคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นอาการข้างเคียงหรือข้อมูลที่จำเป็น เพียงเท่านี้ คนดูแลเองก็จะรู้สึกว่าสามารถเก็บประเด็นสำคัญๆ ที่อาจจะต้องแจ้งให้คุณหมอทราบไว้

เมื่อลองออกแบบตาราง ปรากฏว่ากระดาษ A4 1 แผ่น ก็สามารถจดรายการได้ถึง 4 สัปดาห์ เท่ากับว่า 1 เดือนเราก็เก็บกระดาษแค่แผ่นเดียวเท่านั้นเอง

เวลาใช้งาน ก็หยิบกระดาษออกมา ในแต่ละแถวก็จะเขียนชื่อยา ปริมาณที่ต้องกิน และช่วงเวลาไว้ สำหรับเชคกับหน้าซองยาอีกครั้ง เรียกได้ว่าป้องกันความผิดพลาดได้ เพราะ human error นี่เกิดขึ้นได้เสมอนะคะ เมื่อตรวจสอบแล้ว ก็จัดยาใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วก็เอาปากกามาขีดรายการที่เราจัดยาให้ผู้ป่วยกิน เท่านี้ก็ทำให้คนจัดยาสบายใจแล้วว่า ไม่พลาด ไม่หลง ไม่ลืม แน่ๆ

อีกทั้ง การจดบันทึกแบบนี้ก็ทำให้เราดูภาพรวมได้ง่ายด้วย วันนี้ได้ไปพบคุณหมอ ก่อนที่จะเข้าห้องตรวจก็หยิบกระดาษออกมาดูว่าในแต่ละวันกินยาตามรายการ หรือบางวันที่ต้องกินเพิ่มเติม เราก็ดูภาพรวมสรุปได้เลย นอกจากนี้แล้ว อาการข้างเคียงที่จดไว้ ก็ทำให้เราบอกคุณหมอได้ง่ายอีกด้วย

เพียงกระดาษแผ่นเดียว ทำให้การจัดยาและการดูแลผู้ป่วยง่ายและสะดวก แถมยังป้องกันข้อผิดพลาดได้ในระดับหนึ่ง เพราะการให้ผู้ป่วยกินยามีรายละเอียดที่ควรจะต้องใส่ใจไว้นะคะ คนดูแลต้องทำอะไรอีกตั้งหลายอย่าง ดังนั้นการทำอย่างนี้ช่วยให้ป้องกันการหลงลืมข้อมูลที่อาจจะมีประโยชน์ต่อการติดตามอาการของคนไข้ได้ด้วย

ใครที่ต้องดูแลผู้สูงอายุหรือญาติที่ป่วยแล้วต้องทานยาหลายๆ ตัว น่าจะลองทำดูนะคะ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์มากมายเลยทีเดียวค่ะ ^^

อ๋อ...ที่สำคัญอีกอย่าง การทำตารางจัดบันทึกและตรวจสอบ มันเหมือนเป็นตัวกระตุ้นให้เราต้องใส่ใจรายละเอียดของผู้ป่วยและยังรู้สึกสนุกกับการใช้งานด้วยค่ะ

ตัวอย่างตาราง

ต้องระบุจำนวนเม็ดที่ต้องกินตามชื่อยา และทำไฮไลมื้ออาหารที่ต้องกินไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกรายการ

ในภาพเป็นการเตรียมตารางที่ยังไม่ได้ทำการบันทึกค่ะ หากได้ใช้งานก็ให้ขีดเส้นตามรายการยาและมื้ออาหารที่กินยา

นอกจากนี้แล้ว ตารางที่เหลือไว้ถัดจากชื่อยา 3.5 นั้น ก็ทำเผื่อไว้มียาที่ต้องเพิ่มเติม หรือยาที่ต้องกินตามอาการ ซึ่งอาจไม่ได้กินทุกวัน หรือหากจะใส่ชื่อยาไว้เลยก็ได้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 438856เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2014 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • ดีจังนะคะ...อยากเห็นรูปแบบตารางบ้างจังจะได้นะไปฝากคนไข้ โรคเรื้อรังด้วย
  • เป็นประโยชน์นะคะนี่....

พี่อุ้มบุญ คะ

เอาไว้เดี๋ยวจะเอาภาพตารางมาลงไว้ให้ หากพอมีประโยชน์หนูค่อยส่งไฟล์ให้พี่อีกทีนึงนะค่ะ

พี่อุ้มบุญค่ะ

ปรางเพิ่มภาพตารางให้แล้วนะคะ ขนาดของตารางจริงๆ จะมีขนาดเพียงแค่ ครึ่ง A4 เท่านั้น ดังนั้นกระดาษ A4 1 แผ่นจะทำได้ 4 ตาราง โดยพริ้นทั้งเป็นแบบหน้า-หลังค่ะ

โอโหน่าสนใจมาก เคยเห็นน้องเภสัช ออกแบบชั้นที่วางยาที่จะกินในแต่ละวันหรืออาทิตย์ด้วยครับ

  • ยอดไปเลย  Medication Record  ปีหนึ่งแค่ 12 แผ่นนะคะ ใช้หน้าหลังแค่ 6 แผ่น
  • ดีที่มีการบันทึกอาการ...หลังทานยาแล้ว เดี๋ยวพี่จะนำไปเสนอผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
  • ได้ผลประการใดจะนำมาเรียนให้ทราบ และขอบพระคุณยิ่ง

อ.ขจิตค่ะ

น่าสนใจจัง อาจารย์พอจะมีข้อมูลไหมคะ อยากเห็นอ่ะค่ะ

พี่✿อุ้มบุญ ✿ คะ

หากมีประโยชน์ก็ดีใจมากมายเลยค่ะ ^^

แต่ปรางว่าตารางนี้อาจจะเหมาะสำหรับผู้ป่วยบางรายและทานยาแบบไม่ซับซ้อนมากนัก น่าจะพอช่วยให้การจดบันทึกและตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้นนะคะ

และนอกจากตารางแล้ว การจัดเก็บยาก็สำคัญเหมือนกัน ปรางจัดการหากล่องพลาสติกขนาดพอดีหน่อย แล้วก็จัดยาเป็นหมวดตามชื่อโรค ก็ทำให้การหยิบยาและจัดเตรียมยาให้ผู้ป่วยก็ง่ายขึ้นด้วยค่ะ เอาไว้ค่อยมาเขียนเล่าต่อนะค่ะ พี่ ^^

ขอบคุณค่ะ

พี่✿อุ้มบุญ ✿ คะ

อีกนิดนึงนะคะ คือว่าหากมีจำนวนยามาก อาจจะทำให้ตารางยาวขึ้น และคงต้องปรับตามปริมาณและจำนวนของยาค่ะ ^^

  • มาแจ้งว่าได้รับเสื้อแล้วนะคะ....ขอบคุณอีกครั้ง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท