โรคอ้วนในวัยรุ่น


อ้วนๆๆๆ
โรคอ้วนในวัยรุ่น โรคอ้วน จัดว่าเป็นโรคซึ่งจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ และถ้าไม่มีการป้องกันและรักษาแต่เนิ่น ๆ เด็กอ้วนก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมาได้ในอนาคต เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ หัวหน้าหน่วยโภชนาการ ภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ผลเสียจากโรคอ้วน คือ 1. ด้านร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจขาดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ความผิดปกติของกระดูกและข้อ ความผิดปกติของผิวหนัง นอกจากนี้แล้วยังส่งผลต่อการเรียนทำให้เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ขาดสมาธิ บางรายเป็นหนักถึงกับเดินไม่ไหว หยุดหายใจ 2. ด้านจิตใจ เนื่องจากเด็กอ้วนมักจะถูกเพื่อนล้อเลียน และเมื่อถูกล้อบ่อยเข้า ก็มักมีปัญหาในการเข้าสังคมและการเรียน ทำให้รู้สึกว่ามีปมด้อย ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง 3. ด้านเศรษฐกิจ ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายในการกินอาหารด้วย เนื่องจากความเป็นคนชอบกิน ทำให้เสียเงินซื้ออาหาร บ่อย ๆ จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายในการกินอาหารสูงกว่าปกติ และเด็กอ้วนมักเจ็บป่วยบ่อย ต้องไปหาหมอรักษาบ่อยกว่าเด็กปกติ สาเหตุของความอ้วน 1. ปัจจัยทางด้านการบริโภคอาหาร เกิดจากการที่เด็กกินจุ หิวบ่อย ส่งผลให้เด็กได้รับพลังงานมากเกินความต้องการที่ร่างกายจะใช้ พลังงานส่วนเกินเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันเก็บสะสมไว้ในร่างกาย ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ 2. ปัจจัยทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย การที่เด็กมีกิจกรรมประเภทดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ ทำให้เด็กไม่ได้ออกกำลังกายเท่าที่ควร ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีการบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูง ทำให้เกิดความไม่สมดุลของพลังงานที่ได้รับเข้ามากับพลังงานที่ใช้ไป ส่งผลให้เด็ก ๆ ของเรามีน้ำหนักเกินกว่าปกติ 3. ปัจจัยทางด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดพฤติกรรมการกินอาหารของเด็กเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองชอบกินอาหารประเภทมัน ๆ เช่น ขาหมู หรืออาหารใส่กะทิทั้งหลาย รวมทั้งอาหารผัด ทอดที่ปรุงด้วยน้ำมัน แนวโน้มที่ครอบครัวจะทำอาหารในลักษณะนี้ก็จะมีมากขึ้น เด็ก ๆ ก็จะได้กินอาหารประเภทดังกล่าวมากและบ่อยกว่าอาหารประเภทอื่น ซึ่งจะส่งผลให้เด็กกลายเป็นโรคอ้วนได้เช่นกัน หลักการรักษาเด็กอ้วน คือ 1.การควบคุมอาหาร ควรให้เด็กได้รับอาหารที่มีความหลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน อีกทั้งประเภทของอาหาร ควรเพิ่มเติมประเภทผักใบเขียว หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวาน รวม ไปถึงประเภทของอาหารหวานต่าง ๆ 2. การเพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกาย มีการใช้กล้ามเนื้อส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานของร่างกาย ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ กิจกรรมที่ทำในขณะปฏิบัติงาน การทำงานบ้าน และกิจกรรมที่ทำเวลาว่าง ซึ่งได้แก่ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา และกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ การเพิ่มกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย ซึ่งมีประโยชน์ในการควบคุมน้ำหนักของร่างกาย โดยทั่วไปแล้วเด็กและผู้ใหญ่ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสม ไม่เพียงแต่เพื่อใช้ในการควบคุมน้ำหนักตัวเท่านั้น แต่จะเป็นการส่งเสริมให้มีสุขภาพที่แข็งแรงด้วย 3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่จะทำให้โปรแกรมการควบคุมน้ำหนักของเด็กประสบความสำเร็จได้ อาศัยความร่วมมือจากผู้ใกล้ชิดกับเด็ก มีวิธีการที่สำคัญคือการจดบันทึก การควบคุมสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เด็กอยากกินมากเกินไป หรือทำกิจกรรมที่ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย การให้กำลังใจเมื่อเด็กทำได้ดี การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก กิจกรรมกลุ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากเทคนิคต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่ทุกคนในบ้าน หากคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจทำ แต่ผู้ใหญ่คนอื่นไม่เห็นความสำคัญ ก็จะทำให้การปรับพฤติกรรมการกินของเด็กไม่ได้ผลเช่นเดียวกัน. แหล่งที่มา [email protected] เดลินิวส์ 3 กุมภาพันธ์ 2550 --------------------------------------------------------------------------------
หมายเลขบันทึก: 438852เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท