อย่าไว้ใจเทคโนโลยีการศึกษา (๒)


เทคโนโลยีนั้นเข้าไปมีส่วนในแทบจะทุกแง่มุมของชีวิตเลยก็ว่าได้ และมันอาจจะเป็นเหตุผลที่หลายๆ ฝ่ายตัดพ้อว่าสถาบันเดียวที่ไม่ยอมให้มีเทคโนโลยีคือที่โรงเรียน เข้าเรียนก็ต้องงดใช้มือถือ ต้องเรียนกับกระดานดำ ปิ้งแผ่นใส หรืออย่างเก่งก็เปลี่ยนเป็นการฉายโปรเจคเตอร์ไป นี่ละครับเทคโนโลยีในโรงเรียน เชยสิ้นดี! ถึงขนาดที่นิตยสาร Time [1] เยาะเย้ยว่าโรงเรียนเป็นสถาบันหนึ่งเดียวที่ยังอยู่ในศตวรรษที่ยี่สิบ

แต่ลองย้อนกลับมาตั้งหลักสักนิด คิดสักหน่อย เราอาจจะต้องถามกลับว่า เฮ้ย! โรงเรียนจำเป็นต้องไฮเทคไหม? เด็กจำเป็นต้องมีสมาร์ทโฟนไหม? หรือต้องแจกแท็บเล็ตกันถึงจะเป็นโรงเรียนในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด?

อย่าคิดว่าผมต่อต้านการใช้เทคโนโลยีนะครับ ถึงผมจะไม่ใช่ประเภทแกดเจ็ทตัวพ่อ แต่ผมก็พยายามเป็นผู้รับเทคโนโลยีรุ่นแรก (early adopter, [2]) ถ้ามีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ก็อยากลอง อยากเล่น อยากลูบคลำสัมผัส มีข้อแม้อยู่ข้อเดียวคือเรื่องกำลังทรัพย์! (ฮา) เด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้รับเทคโนโลยีรุ่นแรกโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่เพราะชอบเทคโนโลยีอะไรนักหรอกครับ แต่เหตุผลคือ “ถ้าเพื่อนมี ฉันต้องมี” และที่สำคัญกว่าคือ “ถ้าดารามี ฉันก็ต้องมี” (ตัวอย่างคือการให้ดาราและเซเลบในเมืองไทยช่วยบุกตลาด BB)

ต่อคำถามในย่อหน้าแรกที่ว่า “โรงเรียนจำเป็นต้องไฮเทคไหม?” ถ้าเรามองไปรอบๆ เราอาจจะพบว่ามันสายเกินที่จะหยุดความไฮเทคในสังคมได้แล้วครับ คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ “เราจะจัดการกับมันยังไง?” ซึ่งผมขอให้สองคำตอบดังนี้ครับ (๑) คือนำมาใช้เมื่อมันเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนการรู้ของผู้เรียน และ (๒) คือใช้ทรัพยากรเท่าที่เรามีกำลังจะหามาได้เท่านั้น

ขอเล่าเป็นนิทานเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ

อาจารย์จอร์ช เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยนี้มีงบประมาณซื้ออุปกรณ์เจ๋งๆ เอามาใช้ในห้องเรียน แล้วเขาก็ตัดสินใจซื้อไอ้นี่

มันเรียกว่าคลิ๊กเกอร์ เป็นอุปกรณ์สื่อสารไร้สายหน้าตาคล้ายๆ รีโมททีวี พอนักเรียนเข้าห้องมา จอร์ชก็บอกให้นักเรียนหยิบคลิ๊กเกอร์ไปคนละตัว ส่วนจอร์ชเองได้เตรียมคำถามต่างๆ เอาไว้ล่วงหน้าแล้วก็จัดแจงเอาคำถามขึ้นจอโปรเจคเตอร์ นักเรียนเห็นคำถามแล้วก็กดคลิ๊กเกอร์เพื่อตอบ เพียงไม่ถึงหนึ่งนาที นักเรียนทั้งห้องก็เห็นคำตอบของเพื่อนๆ ในชั้นโชว์เป็นค่ากราฟแท่ง กราฟวงกลมว่าใครตอบข้อไหนบ้าง แล้วมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ตอบถูก เจ๋งไหมครับ? ผมคนหนึ่งล่ะว่าเจ๋ง ที่ University of Colorado Science Education Initiative (CU-SEI) กับ the University of British Columbia Carl Wieman Science Education Initiative (CWSEI) เขาศึกษาวิจัยกันอย่างเอาจริงเอาจังว่าคลิ๊กเกอร์นั้นช่วยอะไรในการสอนได้บ้าง [3] เราลองไปดูวีดิโอกัน

วีดิโอตัวนี้จาก CU-SEI บอกเล่าถึงเทคนิควิธีที่ได้ผลและไม่ได้ผลในการใช้คลิ๊กเกอร์ในห้องเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งสรุปได้สั้นๆ ว่าคลิ๊กเกอร์นั้นถ้าใช้ร่วมกับการถามคำถามที่ทดสอบความเข้าใจ คำถามวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการถกเถียงในกลุ่มย่อยนั้นจะได้ผลดี ผู้สอนไม่ควรใช้คลิ๊กเกอร์เพื่อเช็คชื่อ หรือถามคำถามทดสอบความจำ

สรุปก็คือคลิ๊กเกอร์นั้นเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนการสอนแน่ๆ และนั่นแปลว่าเทคโนโลยีคลิ๊กเกอร์ตอบคำถามข้อแรกที่ว่าเทคโนโลยีต้องเอื้อประโยชน์ได้ถูกต้อง แต่สำหรับข้อสองในเรื่องของทรัพยากรในมือนั้นเราลองมาดูอาจารย์อีกท่านหนึ่งครับ

วิกเตอร์เพื่อนจอร์ช เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังย่านรามคำแหง ได้ยินเรื่องคลิ๊กเกอร์จากเพื่อนก็เลยอยากได้อยากมี อยากให้เด็กในชั้นใช้บ้าง แต่วิกเตอร์ก็ไม่แน่ใจว่ามันจะคุ้มกับเงินงบประมาณหรือเปล่า ไม่รู้จะเอาเหตุผลอะไรไปอ้างให้มหาวิทยาลัยสั่งซื้อคลิ๊กเกอร์ ถ้าเกิดสั่งซื้อมาแล้วไม่มีงบฝึกอบรมอาจารย์ผู้ใช้เทคโนโลยีนั้นๆ จะทำอย่างไร ถ้าไม่อบรมว่าจะใช้ “อย่างไร” ให้เกิดประโยชน์ ก็เท่ากับเป็นการซื้อมาทิ้ง เปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ พฤติกรรมทุ่มเงินซื้อวัตถุเทคโนโลยีเพื่อหวังพัฒนาประเทศอย่างไม่ลืมหูลืมตาโดยไม่พัฒนาคนนั้น วิกเตอร์คิดว่าปล่อยให้มืออาชีพอย่างนักการเมืองเขาทำกันก็แย่พออยู่แล้ว

เขาเลยลองค้นคว้าว่าจะใช้ทรัพยากรเทคโนโลยีอะไรที่มีอยู่แทนคลิ๊กเกอร์ได้บ้าง และวิกเตอร์ก็พบว่าที่มหาวิทยาลัยเขามีคอมพิวเตอร์ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว แถมเขายังไปเจอเว็บที่ชื่อ polleverywhere.com ที่ทำงานคล้ายๆ คลิ๊กเกอร์ ขอเพียงเรามีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้ได้แล้ว เมื่อทดลองใช้ดูโดยลอกยุทธวิธีการสอนแบบที่ CU-SEI แนะนำก็พบว่ามันเวิร์ก! วิกเตอร์ดีใจ รีบกดสมาร์ทโฟนของตนไปหาเพื่อนสนิทชื่ออาจารย์ปิยะ

อาจารย์ปิยะกดรับโทรศัทพ์เพื่อนจากโนเกีย 1280 ของเขา และรับฟังเรื่องราวต่างๆ จากวิกเตอร์อย่างสนอกสนใจ ตัวเขาเองสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชุมชน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตออกไปช่วยเหลือพัฒนาท้องถิ่นของตน ปิยะได้ยินเรื่องราวก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้นักเรียนของเขาได้ประโยชน์เหมือนอย่างนักเรียนในต่างประเทศ และนักเรียนในเมือง นักเรียนของปิยะมีไม่กี่คนที่มีสมาร์ทโฟนใช้ และปิยะก็ไม่ได้สอนในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เหมือนวิกเตอร์

พอได้ดูวีดิโอยูทูบที่เพื่อนแนะนำ ปิยะก็พบว่ามันมีสมการคลิ๊กเกอร์อยู่ดังนี้

คลิ๊กเกอร์ + ถกปัญหาในกลุ่มย่อย  + คำถามทดสอบความเข้าใจ = ห้องเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้และน่าสนใจ

จะเป็นไปได้ไหมถ้าเราเอาคลิ๊กเกอร์ หรือแม้แต่ polleverywhere ออกจากสมการ? ปิยะตอบตัวเองว่ามันก็ทำได้นี่หว่า! เพราะหน้าที่ของคลิ๊กเกอร์ในสมการนี้คือเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพในการแสดงผลคำตอบของนักเรียน

อาจารย์ปิยะลองสอนโดยการลดเวลาการบรรยาย ลองโยนคำถามยากๆ ให้นักเรียนคิดกันเพื่อเบรคจากการบรรยายยาวๆ ให้เวลานักเรียนได้คุยกัน พอได้คำตอบก็ใช้วิธีให้ส่งคำตอบมาหน้าห้องบ้าง ถามแล้วให้ตัวแทนกลุ่มยกมือเลือกคำตอบที่เขาเตรียมไว้บ้าง และปิยะก็รวบรวมคะแนนเองบนกระดานดำ (กระดานสีเขียวที่ใครๆ หาว่าเชยนั่นแหละ) ปิยะพบว่ามันก็ได้ผลเหมือนกัน อาจจะช้าหน่อย นักศึกษาอาจจะไม่เห็นกราฟไฮโซอย่างคลิ๊กเกอร์หรือ polleverywhere แต่เขาไม่ต้องควักสักบาท!

จากคำถามสองข้อข้างต้น อาจารย์ปิยะนั้นไม่ได้คิดจะตอบโดยมุ่งเอาเทคโนโลยีเป็นตัวตั้งในการตอบปัญหา แต่มุ่งไปที่กลวิธีการสอนว่า (๑) สอนอย่างไรถึงจะเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนการรู้และ (๒) ทรัพยากรอะไรที่เรามีอยู่ที่จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ทรัพยากรที่อาจารย์ปิยะมีคือปัญญาของแก และเวลาในชั้นเรียน เมื่อต้องการเวลาเพิ่มขึ้นสำหรับการพูดคุยในกลุ่มนักเรียน อาจารย์ปิยะก็ตัดสินใจลดเนื้อหาที่ไม่สำคัญลงบ้าง เอาเนื้อหาที่เน้นๆ มาสอน และเพิ่มกรณีศึกษา โจทย์ที่ใกล้ตัวนักเรียนมากขึ้น เพื่อให้พวกเขาต่อยอดความรู้ไปได้เอง

แล้วนักเรียนต่างชาติ นักเรียนในเมือง และนักเรียนนอกเมืองก็ได้รู้จากอาจารย์ของพวกเขาอย่างมีความสุข

จบ.

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการตอบโจทย์ในการเรียนการสอนที่มีเป้าหมายคือผู้เรียนโดยใช้ “ทรัพยากรที่มีอยู่” ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นเป็นเรื่องที่สนุกสำหรับงานอาจารย์ ทั้งสามท่านที่กล่าวมานี้ ไม่มีใครดิ้นรนจนเกินกำลังทรัพย์ที่มี

การจัดสรรทรัพยากรเวลาและเทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายครู อาจารย์ ผู้บริหาร และนักการศึกษาที่อยากจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในห้องเรียน เพราะนอกจากจะต้องคอยตามเทคโนโลยีให้ทันแล้วยังต้องใช้ความคิด ความสามารถในการเลือกที่จะใช้อย่างมีศิลปะ แต่เรื่องที่น่าเศร้าคือบ่อยครั้ง พอเป็นเรื่องระดับชาติ เรามักจะกระโดดข้ามคำถามข้อแรก คือไม่มองว่ามันจะเป็นประโยชน์กับผู้เรียนจริงๆ หรือไม่ และเราก็โกงคำตอบข้อสอง คือถึงจะไม่มีทรัพยากรในมือก็ตะเกียดตะกายซื้อหามาใช้

ก่อนจะด่วนลงทุนเทคโนโลยีการศึกษา เราลองมาตอบคำถามสองข้อนี้อย่างจริงจัง ลองนำแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามพระราชดำริมาปรับใช้ในห้องเรียนเป็นการใช้เทคโนโลยีอย่างพอเพียง จะดีไหมครับ?

คิดเห็นอย่างไร หรืออยากกดไลค์ ก็เชิญได้เต็มที่เลยครับ

อ่านตอนที่หนึ่งของบันทึกนี้ได้ที่นี่ครับ [link]


อ้างอิง:
[1] How to Bring Our Schools Out of the 20th Century http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,1568480,00.html
[2] Rogers, E. M. (2003). Diffusion of innovations (5th ed.). New York, NY: Free Press.
[3] Clicker Resources: http://www.cwsei.ubc.ca/resources/clickers.htm

ภาพประกอบ:
http://telr.ohio-state.edu/tom/classroomclickers/Qwizdom_Q4.jpg

หมายเลขบันทึก: 438596เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 06:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรื่องที่อาจารย์นำเสนอทั้งหมดนี้ เป็นประเด็นน่าสนใจทีเดียวครับ เพราะมันสามารถเตือนใจคนเป็นครูได้ว่า

การรู้จักคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์นั้น สามารถนำมาใช้ออกแบบการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่อาจารย์ปิยะได้ทำนั้นไม่ใช่วิธี Low Tech แต่ประการใด แท้จริงแล้วก็เป็นเทคโนโลยีการศึกษาแบบหนึ่ง

คือเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้ใช้วัสดุหรืออุปกรณ์อะไร แต่ใช้กิจกรรมเข้ามาแทน ซึ่งครูไม่น้อยในปัจจุบันมักมองข้าม

เพราะมัวไปหลงใหลอุปกรณ์ Hi Tech ที่มีออกมาดาษดื่นล่อตาล่อใจนั้นเองครับ

บ้านเราไม่ได้ไฮเทคอย่างเมืองนอกเขา แต่เราก็ไม่ควรตะเกียดตะกายจะเป็นอย่างเขา โดยหลงลืมพัฒนาคน ว่าไหมครับ?

ที่เราเรียนกันมา "บุคลากร" ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของระบบสารสนเทศ แต่เรากลับชอบมองข้ามกันไปครับ

ผมเองก็ต้องคอยเตือนตัวเองเหมือนกันครับ

ขอบคุณอาจารย์ ดร. สมบูรณ์ที่แวะมาเยี่ยมเยือนครับ

I like to read part 1 of this article,

as given

...อ่านตอนที่หนึ่งของบันทึกนี้ได้ที่นี่ครับ [link:http://gotoknow.org/blog/vasablog/438596]

refers back to the same page of part 2 of the article.

Can you please look into the link again?

สวัสดีครับ ดร.แว๊บ

ยังอินกับการอภิปรายในรัฐสภาเมื่อคืน กับวิวาทะ "...ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเอาชาติมาทดลอง..." (ประเด็นด้านความมั่นคง)

คราวนี้ขอตบกลับมาประเด็นด้านการศึกษาบ้าง ว่า ต้องแน่ใจขนาดไหน จึงจะนำสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเป็นนวัตกรรม เทคโนโลยี เทคนิควิธีมาทดลองในการเรียนการสอนได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกๆครั้ง สามารถให้ผลลัพธ์ได้ทั้งทาง + และ - ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยความคิดส่วนตัว มันก็เป็นไปได้ว่าครู - อาจารย์ที่ค่อนข้างนิ่งๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นคนประเภท play safe ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเอา นร. - นศ. มาทดลอง หรืออาจเป็นคนประเภทเฉื่อยชา ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทำหน้าที่ไปตาม job description ก็เหลือแหล่แล้ว

ส่วนพวกชอบทดลอง ก็เป็นพวกไฟแรง ตื่นเต้น เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา พร้อมจะนำสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้องและดีเข้ามา มีความปราถนาอันแรงกล้าที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ซึ่งหลายๆครั้งอาจทำให้ นร. - นศ. ตั้งคำถามในใจว่า ของเดิมมันไม่ดีตรงไหน (แบบเดิมก็จะตายอยู่แล้ว) ของใหม่ที่นำเข้ามายิ่งทำให้เกิดความสับสน หรือเพิ่มขั้นตอน เกิดเป็นผลเชิงลบแทนที่จะเป็นเชิงบวก ไฟแห่งความปราถนาดีกลายเป็นไฟที่พร้อมจะเผาทุกสิ่งให้ไหม้ประลัยกัลป์

เมื่อการเปลี่ยนแปลงมีความเสี่ยง เราควรจะเล่นกับเสี่ยงขนาดไหนเพื่อให้เกิดความวิวัฒน์ (ไม่วิวัฒน์ก็ต้องสูญพันธุ์) เพื่อจะไม่ให้ นร. นศ. กล่าวว่า "ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเอา นร. - นศ. มาทดลอง"

ถามดี มีเหตุผลครับ อาจารย์จีรัง

ในระดับจุลภาคของเราๆ ท่านๆ นั้น ผมว่ายึดสายกลางดีกว่านะครับ ต้องมีการลองอะไรใหม่ๆ บ้าง และของเก่าที่ดีอยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะไปเปลี่ยนเพราะเห่อเทคโนโลยี ผมเชื่อเสมอว่า ข้อได้เปรียบของการอยู่ในสถานศึกษา คือ โอกาสที่จะได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน และนักเรียน นักศึกษา โดยที่ความเสี่ยงนั้นไม่สูงเท่าการทำงานในภาคธุรกิจ

ยกตัวอย่างนะครับ สมมติ นักเรียนอยากเรียนวิชา ถ่ายทำภาพยนตร์ แต่ไม่มีพื้นเลย ก็ลองได้ ไม่ต้องกลัวว่าได้เกรดต่ำแล้วจะตกงาน หรือจะล้มละลาย (อาจจะจบมาเกรดไม่สวย แต่เกรดสวยก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จ หรือมีความสุข จริงไหม) สำหรับอาจารย์เอง ผมพยายามจะลองเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผ่านการไตร่ตรองโดยส่วนตัวแล้ว ว่าน่าจะดี มาใช้ในการเรียนการสอน แต่การเอาของใหม่ๆ มาลอง ต้องพร้อมเสมอที่จะยอมรับผลที่อาจจะเป็นด้านบวก หรือด้านลบ และต้องโปร่งใสกับนักเรียน นักศึกษา

เทอมนี้ ผมลองใช้ wiki ในชั้นเรียนออนไลน์ ครั้งแรกออกมาเละเทะ เพราะความที่ผมไม่เข้าใจเทคโนโลยีเพียงพอ (อันนี้บอกเด็กล่วงหน้าแล้ว ว่าเรามาลองอะไรใหม่ๆ กัน) ที่จริงแล้วงานชิ้นนี้ ต้องมีคะแนน แต่ผมก็บอกนักเรียนว่าจะไม่คิดคะแนนแล้ว เพราะระบบมันล้มเหลว แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เขาต้องเจอในอนาคต ผมคิดว่าอย่างน้อยถ้าเขาเข้าใจแนวคิดของมันก็น่าจะมีประโยชน์ (ตอนนี้ผมปรับกิจกรรม wiki อีกหน และใช้ได้ดีทีเดียวครับ เป็นประโยชน์กับผู้เรียนผู้สอนมาก)

ในระดับมหภาคนั้น ผมว่าการตั้งวาระเแห่งชาติในบ้านเรานั้นเป็นเรื่องน่าเศร้านะครับ คล้ายที่ท่านอดีตนายก ชวน หลีกภัย พูดเมื่อคืนว่า นโยบายของทุกรัฐบาลนั้นมีความหวังดีต่อประเทศ แต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ เพราะ รัฐ ชอบคิดแทนประชาชน และชอบคิดว่า ทุกคนเหมือนกันหมด (ในขณะที่ ฝาแฝด ยังมีความคิดจิตใจ แตกต่างกัน!) ก็เลยอยากให้เด็ก "ทุกคน" มีแท็บเล็ต อยากให้ปริญญาตรี ทุกสาขา ทุก มหาวิทยาลัย ได้รับ 15,000 บาท อยากให้ทุกคนเป็นหุ่นยนต์ที่คิด ที่ทำอะไรเหมือนกันหมด

ไอ้ที่มาอ้างกันว่า "ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเอาชาติมาทดลอง" ก็น่าจะมีหลักแนวคิดคล้ายๆ กันว่าทุกคนใน "ชาติ" คือคนกลุ่มเดียว พวกเดียว การศึกษา วัฒนธรรม ความเชื่อเหมือนกัน แต่เทคโนโลยีอย่าง แท็บเล็ตพีซีนั้น ถ้าเอาไปให้เด็กที่ไม่มีวินัย ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ คิดหรือว่าเขาจะเอาไปใช้ เพื่อการเรียนรู้ หลายคนที่สนับสนุน อาจจะคิดว่าผมใจแคบ ประเทศชาติจะแข่งกับเพื่อนบ้านที่เคยเป็นลูกไล่เราไม่ได้ เพื่อนบ้านจะทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็จะเอาบ้าง เขามีเทคโนโลยีอะไรก็จะเอาอย่าง เรียกว่าเขามี เราก็ขอมีบ้าง โดยไม่พิจารณาให้ดีเสียก่อน ว่ามันเหมาะสมไหม? สมมติว่า เราทดลองแท็บเล็ตพีซีกับโรงเรียนเอกชน นานาชาติ ในกรุงเทพ แล้วปรากฏว่าได้ผลดี คือ คะแนนเด็กสูงขึ้น เด็กตั้งใจเรียน ใช้เวลาทำงาน การบ้านมากขึ้น แบบนี้สรุปได้ไหมว่า เราควรซื้อแจกเด็กทั้งประเทศ? ผมพูดไว้ในตอนแรกของบล็อกนี้แล้วว่า เทคโนโลยีนั้น ช่วยให้เด็กที่มีโอกาส มีโอกาสมากขึ้น แต่ย่ำยีให้เด็กที่ไม่มีโอกาสตกต่ำลงกว่าเดิม (อันนี้เป็นผลการวิจัยนับสิบปีของทางฝั่งอเมริกา)

ถ้าใครที่ยังคิดเถียงว่า ไม่ใช่ทุกคนมันก็ไม่ยุติธรรมน่ะสิ ผมว่าเราควรนิยามคำว่า ยุติธรรม เสียก่อน ถ้ายุติธรรม คือ เท่ากันทุกคน ทุกอย่าง มันก็แปลว่า ความต้องการของคนเรา เหมือนกัน เท่ากันทุกคน (ทุกคนอยากรวย อยากดัง หรือเปล่า?) ความยุติธรรม น่าจะหมายถึงโอกาสที่เท่าเทียมกัน ที่จะสามารถ "เลือก" สิ่งที่เหมาะสม นั้นหมายถึงการให้ความรู้ ความเข้าใจ และปรับใช้กับท้องถิ่นได้ดี

คนที่ยังคิดหัวชนฝาว่า เทคโนโลยีจะเป็นคำตอบสุดท้ายนั้น ลองอย่างนี้ครับ งบประมาณชาติมีจำกัดจำเขี่ย ถ้าเราลงทุนกับเทคโนโลยี ก็ไม่เหลือให้กับการพัฒนาบุคลากร ในทางตรงข้ามก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามุ่งพัฒนาบุคลากร คงไม่มีเงินพอไปซื้อเทคโนโลยีไฮเทคอะไรมากมาย หรือแจกจ่ายได้ทุกคน สมมติว่าคุณมีลูก และสมมติว่ามีห้องเรียนสองห้อง (๑) ห้องแรกมีคอมพิวเตอร์ง่อยๆ อยู่เครื่องหนึ่ง แต่ครูที่สอนนั้น มีคุณธรรม ผ่านการอบรมบ่มนิสัยมา มีการพัฒนาความรู้ มีจิตวิทยาเด็กสูง กับอีกห้องที่ (๒) มีครูง่อยๆ อยู่คนหนึ่ง กับคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุด ครบสำหรับเด็กทุกคน ระบบประมวลผล เจ๋งที่สุด มีอินเตอร์เน็ต ความเร็วสูง แต่ครูง่อยๆ ไม่มาสนใจหรอก ว่าเด็กจะทำอะไร เล่นอะไรกับคอมพิวเตอร์ ถามจริงๆ ว่าถ้าคุณต้องปล่อยลูกเอาไว้ห้องใดห้องหนึ่ง วันละแปดเก้าชั่วโมง จะเอาไปไว้ห้องไหน?

เข้าใจว่าตอบแบบอ้อมๆ สำหรับคำถามที่อาจารย์จีรังถาม แต่คำว่า "ชาติ" มันทำให้คิดต่อมาถึงเรื่องนี้ครับ...

ปล. พวกไม่รู้ร้อนรู้หนาวนั้น ไม่ขอพัฒนาตัวเอง ไม่นำพาอะไรนั้น ผมไม่ขอเอ่ยถึง เพราะพูดถึงก็เสียเวลาเปล่าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท