ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๓๕. จินตนาการทักษะครูเพื่อศิษย์ ๑๙. การเรียนรู้และการสอนในศตวรรษที่ ๒๑



          บทที่ ๖ ของหนังสือ 21st Century Skills : Learning for Life in Our Times เริ่มด้วยคำถามว่า เครื่องมืออะไรสำคัญต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

ก.  อินเทอร์เน็ต
ข.  ปากกาและกระดาษ
ค.  โทรศัพท์มือถือ
ง.  เกมการศึกษา
จ.  การทดสอบ
ฉ.  ครูเพื่อศิษย์
ช.  ทุนสนับสนุนการศึกษา
ซ. พ่อแม่ที่รักลูก
ฌ. ถูกทุกข้อ

          คำตอบคือถูกทุกข้อ แต่ตกไป ๒ ข้อ คือ คำถาม (โจทย์ - Question) และกระบวนการไปสู่คำตอบ   กับ ปัญหา (Problem) และการสร้างแนวทางที่หลากหลายไปสู่การแก้ปัญหานั้น

          เครื่องมือที่สำคัญที่สุด ของการเรียนรู้ และการสอน ในศตวรรษที่ ๒๑ คือคำถามกับปัญหา

          การเรียนรู้แบบใช้การตั้งคำถามเป็นหลักเรียกว่า Inquiry-Based Learning   การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักเรียกว่า Problem-Based Learning   หากใช้หลายๆ ปัญหาประกอบกันอย่างซับซ้อนเพื่อทำงานใดงานหนึ่งให้สำเร็จ เรียกว่า Project-Based Learning   การเรียนรู้แบบเหล่านี้แหละที่ครูเพื่อศิษย์ต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นโค้ช หรือ learning facilitator   โดยต้องเลิกเป็น “ผู้สอน”   แต่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียน

          ครูเพื่อศิษย์ต้องฝึกเป็นนักตั้งคำถาม และนักตั้งปัญหา   เพื่อสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้   และที่สำคัญต้องไม่ตั้งเป้าว่าต้องได้คำตอบที่ถูก ใครตอบผิดถือว่าใช้ไม่ได้   ครูที่ประพฤติตัวบูชาคำตอบที่ถูกเป็นพระเจ้า ไม่ใช่ครูเพื่อศิษย์   แต่เป็นครูเพื่อคำตอบที่ถูกต้อง

          การเดินทางจากคำตอบที่ผิด ไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง คือการเรียนรู้   ครูเพื่อศิษย์ต้องยึดการเรียนรู้ของศิษย์เป็นพระเจ้าหรือเป้าหมายของชีวิต  

          วิชาที่สร้างความสนุกและความรู้สู่คำตอบ (answers) และการแก้ปัญหา (solutions) คือวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์   วิทยาศาสตร์เป็นวิชาหาคำตอบ  วิศวกรรมศาสตร์เป็นวิชาหาการแก้ปัญหา

          เวลานี้เขาไม่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์กันแล้ว   เขาเรียนวิชา STEM คือ Science, Technology, Engineering และ Mathematics   รวม ๔ วิชาย่อยนี้เข้าเป็นกลุ่มวิชา STEM   โดยนักเรียนทุกคนต้องเรียนกลุ่มวิชานี้ในทุกชั้น ตั้งแต่อนุบาลจนจบ ม. ๖  โดยเรียนตามพัฒนาการของสมอง และตามแผนการดำเนินชีวิตในอนาคต   เด็กที่มีเป้าหมายเรียนกฎหมายก็เรียน STEM แบบหนึ่ง   เด็กที่ต้องการโตขึ้นเป็นนักฟิสอกส์ก็เรียน STEM อีกแบบหนึ่ง   ครูเพื่อศิษย์ต้องคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายในเป้าหมายการเรียนของศิษย์   ซึ่งหมายความว่า แนวคิดที่ว่า เด็ก ม. ๔ – ๖ ที่ต้องการปูพื้นฐานความรู้ไปเป็นนักการทูตจะไม่เรียนกลุ่มวิชา STEM เลย เป็นแนวความคิดที่ผิด   เพราะจะทำให้เราได้นักการทูตที่แคบและตื้น

          แต่เราสารมรถทำให้เด็กที่เตรียมตัวเป็นนักการทูตมีพื้นฐานความรู้ STEM ได้โดยไม่ต้องสอน   แต่ให้เด็กเรียนโดย PBL   ซึ่งหมายความว่าครูต้องออกแบบ PBL ให้เด็กกลุ่มนี้ได้เรียน STEM ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเขาในอนาคต   และที่สำคัญคือสามารถติดตามความก้าวหน้าของศาสตร์ด้าน STEM ได้ตลอดชีวิต 

          นักวิทยาศาสตร์ตั้งคำถาม Why?   วิศวกรตั้งคำถาม How?   ครูเพื่อศิษย์ต้องชวนศิทษย์ฝึกฝนการตั้งคำถามทั้งสอง   ทั้งที่เป็นคำถามโดดๆ และที่เป็นคำถามเชิงซ้อนใน PBL

          กระบวนวิธีของวิทยาศาสตร์กับวิศวกรรมศาสตร์แตกต่างกันดังนี้

 

 
   
          จะเห็นว่า กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และทางวิศวกรรมศาสตร์ เป็นกระบวนการไม่รู้จบ   ครูเพื่อศิษย์ต้องมีวิธีการ “ประทับตรา” แนวคิด (กระบวนทัศน์) “ไม่รู้จบ” นี้เข้าไปในสมองของศิษย์ ให้ติดตัวไปจนตาย   นี่คือส่วนหนึ่งของ Learning Skills ที่เป็นส่วนหนึ่งของ 21st Century Skills   - ทักษะของการตั้งคำถาม และตั้งปัญหา แบบที่ไม่รู้จบ

          บรรยากาศของการตั้งคำถาม และตั้งปัญหา นอกจากจะช่วยวางรากฐานการเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ศิษย์แล้ว   ยังจะทำให้ชีวิตนักเรียนเป็นชีวิตที่สนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ   กระตุ้นจินตนาการ ยั่วยุให้ค้นคว้า ค้นหา สร้าง และเรียนรู้   คือทำให้โรงเรียนไม่เป็นสถานที่น่าเบื่อหรือสร้างความทุกข์ให้แก่ศิษย์

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ธ.ค. ๕๓

           
         

หมายเลขบันทึก: 437486เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ
  • หนูชอบกระบวนการเรียนรู้ของบทความที่นำเสนอมากเลยค่ะ
  • แล้วถ้าเป็น happy learning ไม่ทราบว่าพอจะเสนอแนะให้ทราบได้ไหมคะ ^____^
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท