พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

เวทีเสวนา "การยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ"


การยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเภท แบ่งเป็นการรับรองคำพิพากษา และการบังคับตามคำพิพากษา ซึ่งการยอมรับคำพิพากษานั้นเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และรวมถึงหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

“การยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ” 

หัวข้อของเวทีเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554

ผู้เขียนคงต้องท้าวความให้เห็นภาพซักเล็กน้อยว่าเวที “การยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ” นี้มีที่มาที่ไปจากกรณีที่ศาลกัมพูชาสั่งลงโทษจำคุกคุณวีระ และคุณราตรีในความผิด 3 ข้อหา คือ เข้าไปในดินแดนของกัมพูชาอย่างผิดกฎหมาย เข้าพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีเจตนารวบรวมข่าวสาร อันกระทบต่อความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าการจับกุมลงโทษบุคคลใดนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ และพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพื่อพิสูจน์ความผิดของบุคคลนั้น แต่กรณีนี้พื้นที่ทับซ้อนอันเป็นฉนวนของปัญหายังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าเป็นพื้นที่ของประเทศใด ดังนั้นการกล่าวหาและลงโทษบุคคลใดทั้งที่ข้อเท็จจริงของคดียังไม่นิ่งอาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ และที่สำคัญหากบทสรุปของการกล่าวหานั้นนำไปสู่การลงโทษ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการเหล่านั้นจะกระทบต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหาเป็นแน่ และนี่เองที่ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นที่มา ที่ทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ได้ให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของคุณวีระ คุณราตรี และคงต้องการหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นตราบใดที่เขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มีความชัดเจน

พลตำรวจเอกวันชัย   ศรีนวลนัด  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวเปิดเวทีเสวนาโดยยกประเด็นอันเป็นวัตถุประสงค์ของเวทีนี้ คือ

                1.  ขอบเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ

                2.  ขอบเขตศาลต่างประเทศที่ประเทศอื่นๆต้องยอมรับมีหลักเกณฑ์อย่างไร

                3.  ความชัดเจนเรื่องเขตแดนหรือดินแดน จะมีความสัมพันธ์กับ 2 ประเด็นแรกหรือไม่

                4.  หากมีปัญหาลักษณะนี้อีกในอนาคตจะมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร

                ในช่วงเริ่มต้นนี้ผู้เขียนฟังและคิดตามในใจในประเด็นที่คุณวันชัยยกมา โดยประเด็น 1-3 ค่อนข้างเป็นคำถามที่ใช้คำตอบทางวิชาการตอบ และประเด็นที่ 4.เป็นการเสนอทางออกและป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคต ทั้งนี้ผู้เขียนขอตอบประเด็นที่ 1.ในใจของผู้เขียนคร่าวๆ ว่า “ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้น รัฐใดๆ ก็ตามย่อมมีอำนาจอธิปไตยเหนือบุคคล และดินแดน และเป็นที่ยอมรับกันในทางระหว่างประเทศว่ารัฐสามารถใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐโดยอาศัยหลักดินแดน หรือหลักพื้นที่  หลักบุคคลหรือหลักที่อาศัยสัญชาติแห่งรัฐเป็นจุดเกาะเกี่ยว หลักป้องกัน หลักสากล และหลักความตกลงตามสนธิสัญญา สำหรับประเด็นที่ 2. คำว่า “ขอบเขตศาลต่างประเทศ” ผู้เขียนเข้าใจว่าคงเป็นการเสนอประเด็นว่า “ขอบเขตการใช้อำนาจตุลาการ(ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยประการหนึ่ง)ของต่างประเทศที่ประเทศอื่น ๆ ต้องยอมรับมีหลักเกณฑ์อย่างไร” ซึ่งแน่นอนว่าหลักเกณฑ์เหล่านั้นคงต้องเป็นหลักเกณฑ์ที่ในทางระหว่างประเทศให้การยอมรับ และมาถึงประเด็นที่ 3. นั้นตามหลักวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขตแดนและดินแดนของรัฐย่อมมีผลต่อการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐอย่างแน่นอน”

                หลังจากคุณวันชัยเสนอประเด็นสำหรับการเสวนาแล้วนั้น ทางวิทยากรได้นำเสวนาโดยเบื้องต้น ผู้เขียนค่อนข้างแปลกใจอยู่ไม่น้อยกับประเด็นที่ตั้งขึ้นในวงเสวนา ซึ่งเทน้ำหนักไปอยู่ที่การสอบถามคุณพนิช (1 ใน 7 คนไทยที่เดินทางไปยังพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งพิพาทกันอยู่) ถึงเหตุการณ์และข้อเท็จจริงก่อนการเดินทางไปพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่งถึงช่วงที่ได้รับการปล่อยตัวจากทางกัมพูชา การสอบถามดังกล่าวแน่นอนมีประโยชน์ในแง่ที่เหมือนการสอบพยานเพื่อรับฟังว่าระหว่างการจับกุมตัวนั้นคุณพนิช คุณวีระ คุณราตรี และอื่น ๆ อีก 4 คนนั้นได้รับการปฏิบัติที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของพวกเขาหรือไม่ แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าการเสวนาในช่วงนี้กลับมุ่งเน้นไปที่การพูดคุยถึงแนวเขตแดน ผู้ร่วมเสวนาหลายท่านชูประเด็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตรงนั้น บางท่านเสนอความเห็นว่าการที่รัฐบาลไทยกล่าวว่าจะขอให้ทางกัมพูชาอภัยโทษให้กับสองคนไทยนั้นไม่ควรกระทำเพราะเป็นการยอมรับว่าพื้นที่ที่ถกเถียงกันนั้นเป็นของกัมพูชา เท่ากับรัฐบาลไทยยกดินแดนไทยให้กัมพูชา การเสวนาในส่วนนี้จับใจความได้ว่าเป็นการถกเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงว่าดินแดนนั้นเป็นของรัฐใด เสียมากกว่า

                อย่างไรก็ตามในเวทีนี้มีการตั้งหัวข้อการพิจารณาที่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสองคนไทย คือ 1) ความถูกต้องของขอบเขตอำนาจศาลกัมพูชา 2) ความเท่าเทียมของคู่ความในการต่อสู้คดี และ 3) สิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีในทางระหว่างประเทศ

                ท่านศิรศักดิ์ (อธิบดีอัยการสำนักต่างประเทศ) พยายามดึงเวทีเข้าสู่ประเด็น “การยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ” โดยเริ่มต้นด้วยการเกริ่นว่ากระบวนการยุติธรรมของรัฐต่าง ๆ ในปัจจุบันโดยหลักการไม่แตกต่างแม้รายละเอียดจะแตกต่างกันไปบ้าง สำหรับประเด็นของ 7 คนไทยนั้นควรมองในแง่ของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยเองก็รับรองและคุ้มครองบุคคลตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม (ICCPR และ UDHR) และเมื่อประเด็นนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ จึงเกี่ยวข้องนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันเป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายบริหารด้วย

                ในช่วงต่อมาท่านกล่าวเสริมในเนื้อหาของเวทีว่า โดยเนื้อหาของหัวข้อเสวนานั้น เกี่ยวข้องกับ อำนาจอธิปไตยของรัฐ  เขตอำนาจรัฐ และการยอมรับคำพิพากษาศาลในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งโดยหลักการแล้วอำนาจอธิปไตยของทุกรัฐย่อมมีค่าเท่ากัน แต่คงต้องยอมรับข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่าการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐก็อาจจะต้องสอดคล้องกับ หลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหลักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีค่าบังคับที่สูงกว่าคำพิพากษาของศาลภายใน ผู้เขียนขอบันทึกเสริมในส่วนนี้ว่าเป็นการที่นานารัฐยอมจำกัดการมีผลของการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐตนบางส่วนเพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน

                การยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศหรือไม่ คงต้องพิจารณาด้วยว่าคำพิพากษานั้นชอบด้วยหลักการระหว่างประเทศหรือไม่ คือ ชอบด้วยหลักนิติธรรม และหลักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างของการยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศในคดีอาญา คือ การโอนตัวนักโทษ เพราะการที่รัฐผู้ส่งยอมโอนตัวนักโทษให้กับรัฐผู้ขอ นั้นมีนัยว่า รัฐผู้ส่งเองก็ยอมรับคำพิพากษาของศาลของรัฐผู้ขอ ตลอดจนกระบวนพิจารณาต่างๆ ว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดจริง

                อ.ณรงค์ (นักกฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ในเบื้องต้นท่านถูกถามในประเด็นว่า กรณีคนไทยทั้ง 7 นี้ได้กระทำความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่ อาจารย์จึงเสนอมุมมองตามหลักกฎหมายอาญาว่า การลงโทษบุคคลใดย่อมต้องสืบได้ข้อเท็จจริงพอสมควร ประกอบกับพิจารณาด้วยว่าบทบัญญัติโทษดังกล่าวมุ่งประสงค์จะลงโทษ การกระทำที่กระทำโดยเจตนา หรือการกระทำโดยประมาท หรือการกระทำที่ไม่มีเจตนาไม่ประมาทแต่ก็ต้องรับผิด ทั้งนี้พื้นที่ซึ่งกำลังโต้แย้งอยู่นั้นก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าเป็นของประเทศใด หากผู้ต้องหาให้การว่าไม่รู้ว่าเป็นพื้นที่ของกัมพูชา นั่นหมายความว่า ผู้ต้องหาเองให้การว่ากระทำไปโดยไม่เจตนา  กรณีดังกล่าวนี้นำไปสู่บทเรียนที่ 2 ประเทศต้องหาทางออกร่วมกันตามหลักเพื่อนบ้านที่ดี โดยการยกเว้นข้อหาเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อหาบุกรุกในพื้นที่ดังกล่าว

                อ.ณรงค์กล่าวเพิ่มเติมในประเด็น การยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ ว่ากฎหมายของประเทศใดก็มีผลกับประเทศนั้น แต่ละประเทศไม่ได้ยอมรับคำพิพากษาของประเทศอื่นโดยตรง แต่มีข้อยกเว้น คือ ยอมรับเพราะเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างเช่น บุคคลผู้กระทำความผิดไม่ควรถูกลงโทษถึง 2 ครั้งในความผิดเดียวกัน หรือบุคคลไม่ควรต้องรับโทษเพราะการกระทำที่ไม่ได้มีบทบัญญัติว่าเป็นความผิด

                อ.พันธุ์ทิพย์ (นักกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) กล่าวถึงการยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศโดยหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศมี 2 ความหมาย คือ “การรับรองคำพิพากษาศาลต่างประเทศ” และ “การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ” ซึ่งในทางระหว่างประเทศรัฐย่อมรับรองคำพิพากษาศาลของอีกรัฐหนึ่งเพราะนัยของการเคารพในอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น แต่รัฐจะบังคับตามคำพิพากษาของอีกรัฐหรือไม่นั้นแยกเป็นอีกประเด็นเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการรับรอง และเพราะเหตุว่าการบังคับการนั้นจะมีผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐที่จะบังคับการ ดังนั้นจะบังคับการหรือไม่คงต้องพิจารณาด้วยว่าคำพิพากษานั้นสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ และสอดคล้องกับหลักกฎหมายภายในของรัฐที่จะทำการรับรองหรือไม่

                ดังนั้นหากจะปฏิเสธว่ารัฐไทยไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศนั้น คงไม่ถูกต้องและเป็นการกล่าวหาว่าประเทศไทยมีแนวคิดแบบชาตินิยมสุดโต่ง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วรัฐไทยมีแนวคิดแบบระหว่างประเทศนิยม จึงจำเป็นที่นักฎหมายจะต้องทำความเข้าใจและแยกประเด็นระหว่างการรับรอง และการบังคับการ ออกจากกัน หากกล่าวว่ารัฐไทย “ไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลกัมพูชา” ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตประเทศกัมพูชาจะอ้างหลักต่างตอบแทนเพื่อ ไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย เช่นกัน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็จะเสียไป

                อาจารย์เสนอมุมมองในเรื่องการให้ความช่วยเหลือคนไทยทั้งสองว่า ควรยกประเด็นของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เพราะประเทศกัมพูชาเองคงไม่อยากถูกนานารัฐกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ถึงแม้ว่าประเด็นของเคสจะมาจากความไม่ชัดเจนของเขตแดน แต่หากจะสู้กันในประเด็นนี้รวมถึงข้อกฎหมายก็อาจจะทำให้แตกหักได้ ควรใช้รัฐศาสตร์เข้ามาช่วยแก้ปัญหา แล้วอนาคตจึงมาแก้ปัญหาที่เขตแดนให้ชัดเจนขึ้นรวมถึงการให้ความสนใจในเรื่อง “ผลกระทบของความไม่ชัดเจนเชิงเขตแดน”

                อ.บรรเจิด (นักกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิด้า) กล่าวถึง “การยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ” โดยแยกเป็น 2 กรณี คือ 1) กรณีที่รัฐไทยมีพันธกรณีตามสนธิสัญญาต่างๆ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้นรัฐไทยจะผูกพันเมื่อเข้าเป็นภาคีและอนุวัติการสนธิสัญญานั้นเป็นกฎหมายภายใน ดังนั้นกรณีเช่นนี้ถ้าเกิดเคสขึ้น รัฐไทยจำต้องผูกพัน และ 2) กรณีที่รัฐไทยไม่มีพันธกรณีตามสนธิสัญญา โดยหลักคือไม่ต้องผูกพัน ยกเว้นอาศัยฐานของหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และฐานที่ว่าเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อรัฐไทย ดังนั้นรัฐไทยก็จะยอมรับ

                ในแง่ของกรณีคนไทยที่ถูกจับกุมนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาโดยการกำหนดประเด็นไปที่เขตแดนคงเป็นเรื่องยาก เพราะโดยตัวข้อเท็จจริงเองก็ไม่ชัด และเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับรัฐ การนำสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่งไม่เกี่ยวข้องย่อมไม่เกิดผลดีกับสิทธิของปัจเจกชนแน่ แต่ควรมองไปที่ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่งที่กระทำการในพื้นที่ทับซ้อนนั้นมากกว่า

                หลักกฎหมายปิดปาก(Estoppel) เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมยกประเด็นถาม “ในกรณีที่ประเทศไทยโดยคณะรัฐบาลกล่าวว่าจะขออภัยโทษให้กับคุณวีระและคุณชาตรีนั้น เสมือนเป็นการยอมรับว่าดินแดนที่พิพาทเป็นของกัมพูชา และคนไทยเหล่านั้นกระทำความผิด กรณีเช่นนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าอนาคตกัมพูชาจะยกประเด็นนี้เป็นประโยชน์กับตนเอง” สำหรับประเด็นนี้อ.พันธุ์ทิพย์และนักกฎหมายทุกท่าน อธิบายตรงกันว่า การจะกล่าวอ้างการกระทำหรือข้อเท็จจริงใดเพื่อให้อีกฝ่ายยอมรับนั้นตามหลักกฎหมายปิดปาก คงไม่ใช่การกล่าวอ้างจากการกระทำเพียงครั้งเดียว แต่ต้องเป็นการกระทำที่ซ้ำๆกันโดยผู้ที่มีอำนาจกระทำ ซึ่งกรณีของรัฐ คือ ผู้ที่แสดงออกถึงการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ ซึ่งมีทั้ง คณะรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และศาล เพราะฉะนั้นเพียงแค่การกระทำของรัฐบาลคงไม่สามารถตัดสินได้ว่าประเทศไทยยอมรับตามนั้น  ที่สำคัญตามหลักกฎหมายปิดปาก หากมีพฤติการณ์แม้ครั้งเดียวว่าไม่ยอมรับ หลักกฎหมายปิดปากก็จะไม่สามารถนำมากล่าวอ้างได้เลย

                ผู้เขียนฟังการเสวนามาถึงส่วนนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ความไม่ชัดเจนของเขตแดนย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิของปัจเจกชนที่กระทำการใดๆ ก็ตามในพื้นที่ทับซ้อนนั้น “สิทธิ” ในที่นี้คงไม่หมายความเฉพาะสิทธิที่จะเดินทางเข้า ออก หรือสิทธิอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ยกตัวอย่างกรณี คนที่เกิดในพื้นที่ทับซ้อน เข้ามีสิทธิที่จะแจ้งเกิด แล้วเขาควรไปแจ้งเกิดกับรัฐใดล่ะ? อีกประการ หลักกฎหมายระหว่างประเทศยอมรับหลักการได้สัญชาติโดยการเกิดตามหลักดินแดน แต่ในกรณีที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องเขตแดนของดินแดนของรัฐ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายอมกระทบต่อสัญชาติโดยการเกิดของคนที่เกิดในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว? นอกจากนี้ จากเคสของไทยทั้ง 7 คนถูกจับกุมในพื้นที่ทับซ้อน เราต่างให้ความสนใจกับประเด็นนี้ หลายคนพูดว่าพวกเขาเป็นคนไทยเราควรให้ความช่วยเหลือเขาให้ได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน แล้วถ้าเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นคนไร้สัญชาติที่มีเพียงแค่สิทธิอาศัยในรัฐของเราและไปถูกจับกุมในดินแดนดังกล่าวโดยรัฐอื่นในข้อหาเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เราจะยังต่อสู้ให้เขาได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนอยู่ไหม และใช้ฐานกฎหมายอะไรมารองรับ โดยหลักการของกฎหมายไม่ว่าจะเป็นคนมีสัญชาติหรือคนไร้สัญชาติก็ย่อมต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาและการศึกษาผลกระทบของความไม่แน่นอนเรื่องเขตแดนคงไม่สามารถมุ่งไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของสังคม หรือผลประโยชน์เชิงดินแดนของรัฐเป็นหลัก แต่ควรมองเห็นอุทาหรณ์ที่เกิดกับคนกลุ่มหนึ่งเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในภาพใหญ่

 

เพิ่มเติม : บทความโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตร สายสุนทร  http://learners.in.th/blog/archanwell-and-right2justice/465539

หมายเลขบันทึก: 437224เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2011 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เชอรี่คะ มีใครอัดเสียงไว้บ้างมั๊ยคะ

อยากฟังค่ะ

รี่มีค่ะ เดี๋ยวไว้เอาให้เมื่อเจอกันดีมั้ยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท