ผลวิจัยระบุข้าราชการไทยรู้สึกตกต่ำสุดยุค 'ทักษิณ'


ผลวิจัยระบุข้าราชการไทยรู้สึกตกต่ำสุดยุค 'ทักษิณ'
สถาบันพระปกเกล้าฯ เปิดงานวิจัย ระบุรัฐบาล 'ทักษิณ' ทำข้าราชการไทยขาดความภูมิใจ ไร้ศักดิ์ศรี  มีฐานะแค่พนักงานบริษัทมิใช่ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว เหตุเพราะการเมืองเบ็ดเสร็จยึดพวกพ้องมากกว่าคุณธรรมสถาบันพระปกเกล้าได้เผยแพร่ผลงานวิจัยหัวข้อการสร้างดุลยภาพของนักการเมืองและราชการของ ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ์ นักวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า และอาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสน์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต โดยงานงานวิจัยชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่าการปรับดุลยภาพในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีจุดอ่อนอยู่หลายเรื่อง ดังที่นักวิชาการหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์มามากแล้ว   นอกจากนี้ พบจุดอ่อนเพิ่มเติมอีกสองประเด็นคือ หนึ่ง การปรับดุลยภาพระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการโดยลำพังนั้นยังไม่พอ    หากยังต้องคำนึงถึง ประชาชน ประชาคม ประชาสังคม รวมทั้งต้องพยายามที่จะสร้างประชารัฐกิจ ด้วย  ไม่ใช่คำนึงถึงแต่การปรับดุลยภาพเพื่อให้เกิดการบริหารราชการที่ดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น     สอง การปรับดุลยภาพนั้น ไม่ควรคำนึงแต่ฝ่ายการเมืองและข้าราชการเท่านั้น ต้องตระหนักว่าระบบราชการไทยนั้น มีความเป็นมาและมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง การปรับดุลยภาพจึงไม่ใช่เรื่องของการมองไปข้างหน้า หรือมองตามตะวันตก แต่อย่างเดียว หากต้องมองย้อนอดีตไปหาภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจแบบไทย เพื่อทำให้ดุลยภาพเกิดเป็นสามเส้าที่สมดุลกันยิ่งขึ้นระหว่าง พระมหากษัตริย์-ฝ่ายการเมือง-ข้าราชการประจำ ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าข้าราชการของไทย เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายการเมืองแต่เท่านั้น   ผลงานวิจัย ยังระบุด้วยว่า สำหรับยุคสมัยใหม่ หรือช่วงประชาธิปไตยสมัยใหม่ เป็นการแข่งขันระหว่างฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและฝ่ายข้าราชการประจำ  ซึ่งในที่สุด ฝ่ายการเมืองก็อยู่ในฐานะที่เหนือกว่าข้าราชการอย่างเห็นได้ชัด กระทั่งมีการกล่าวว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่สามารถดึงอำนาจจาก แทบทุก ๆ ส่วนของสังคมมาไว้ที่ตัวเองหรือ Prime Ministerialization (หรือก็คือ การเมืองนำระบบราชการและระบบอื่น ๆ ได้แทบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และทำให้ดูเหมือนว่าเกิดการสูญเสียดุลยภาพระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการไป)จากการศึกษาพบว่า 1. ดุลยภาพความสัมพันธ์ฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำในอดีต จากการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำในช่วง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2531 นั้น เป็นยุคที่ข้าราชการประจำพอใจที่สุด เพราะฝ่ายการเมืองรับฟังความเห็นพวกเขามากที่สุด  และความสัมพันธ์ ก็เป็นไปในลักษณะต่างฝ่ายต่างยอมรับนับถือกัน “Mutual Respect” มากที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่ายุคนี้ เป็น กึ่งการเมือง-กึ่งข้าราชการซึ่ง ข้าราชการอุทิศตน ทำงานแบบ “serve the king and the country” ได้ค่อนข้างเต็มที่ ซึ่งเป็นดุลยภาพที่ข้าราชการประจำในปัจจุบันยังถวิลหาอยู่  นอกจากนี้บุคลิกลักษณะของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ซื่อสัตย์ สุจริต และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างดุลยภาพที่เหมาะสมให้เกิดขึ้น   2. ดุลยภาพความสัมพันธ์ฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำในปัจจุบัน การเข้าเป็นนายกรัฐมนตรี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของฝ่าย การเมืองกับฝ่ายราชการเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย มีการแยกการทำหน้าที่กันได้ชัดเจนขึ้นว่า นโยบายนั้นถือเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง รัฐบาลมีหน้าที่กำหนดนโยบาย และติดตามว่านโยบายกลายเป็นการปฏิบัติจริงหรือไม่ รัฐมีหน้าที่ประเมินผลเพื่อปรับปรุงนโยบายตลอดเวลา ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ ก่อนหน้ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นงานของข้าราชการประจำที่กระทำร่วมกับฝ่ายการเมือง การริเริ่มเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ ที่เห็นได้ชัดในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ คือ การปฏิรูประบบราชการ มักจะมาจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) และนักวิชาการ            สายรัฐประศาสนศาสตร์และสายกฎหมายมหาชนเป็นหลัก ส่วนที่สอง มาจากแนวคิดส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเอง ซึ่งเห็นว่าจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศทั้งระบบ และเพื่อให้เป้าหมายในการยกระดับประเทศสำเร็จ กลไกที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมาย คือ ระบบราชการ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูปเปลี่ยนทั้งระบบเพื่อให้มีความสามารถที่จะแข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วของระดับโลกได้   พ.ต.ท.ทักษิณ ได้นำเสนอแนวคิดขึ้นมาใช้ในระบบราชการ เช่น CEO, E-Government, Fast Track, Special Track, Lateral Entry ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้เป็นวาระหรือ Agenda ของนายกรัฐมนตรีเอง การที่เป็นนักธุรกิจด้วย จึงทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีกรอบความคิดและวิธีการทำงานในการบริหารประเทศแบบบริษัท ซึ่งทำให้ข้าราชการ ตกเป็นเสมือนผู้ปฏิบัติงาน หรือ ลูกจ้างของบริษัทเท่านั้น ผลงานวิจัย ระบุอีกว่าการเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่มีความมั่นคงทางการเมืองสูงยิ่ง ทำให้การเมือง ครองความเหนือกว่าในทุกเรื่องของระบบราชการ โดยมีข้าราชการประจำเป็นผู้ปฎิบัติตามคำสั่ง รัฐบาลมีอำนาจอย่างไม่เคยมีมาก่อน ฝ่ายการเมืองทวีจำนวนขึ้น มีทั้งที่เป็นรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษา เลขานุการ

รัฐมนตรี ฯลฯ  มีการตั้งคนใกล้ชิด ญาติพี่น้อง และ พรรคพวก จนได้สมญานามว่าเป็นรัฐบาล
โคตรานุวัตร” (ธีรยุทธ) ไม่เพียงแต่ครองความเหนือกว่าระบบราชการเท่านั้น รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังครอบงำองค์กร และสถาบันอื่นอื่น ๆ ได้อีกมากมายด้วย   ดังที่ พิทยา บวรวัฒนา เรียกว่ากระบวนการ Prime Ministerialization ของรัฐและสังคมไทยนั่นเอง  นอกจากนี้แล้วพบว่ามีการแต่งตั้งบุคคลที่เคยเป็นข้าราชการ ที่ตอบสนองฝ่ายการเมืองได้ว่องไวเป็นพิเศษ หรือ เป็นบุคคลที่พ.ต.ท.ทักษิณไว้วางใจ ให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น ๆ เช่น พลเอกคงศักดิ์ วันทนา นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช นายกันตธีร์ ศุภมงคล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นต้น กล่าวได้ว่าฝ่ายการเมืองของรัฐบาลบางส่วนมาจากอดีตข้าราชการที่รับใช้นักการเมืองได้เป็นพิเศษ ผลงานวิจัย ยังสรุปด้วยว่า ดุลยภาพความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ แม้ว่าจะมีการต่อต้านการปฏิรูประบบราชการในช่วงแรก (3 ปี แรกของการเป็นรัฐบาล) อยู่บ้าง แต่แล้วในที่สุดก็มีดุลยภาพใหม่       ที่ฝ่ายการเมืองอยู่เหนือข้าราชการ โดยนิตินัยและพฤติกรรมเด็ดขาด แต่ในดุลยภาพใหม่นี้ ข้าราชการประจำขาดความภาคภูมิใจ ไร้ศักดิ์ศรี และรู้สึกประดุจพนักงานบริษัทหรือลูกจ้างของบริษัท มากกว่าเป็นข้าราชการ ในพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่ดุลยภาพที่ควรจะเป็น ดุลยภาพใหม่นี้ เกิดจากการใช้หลักกฎหมายที่เปิดช่องทางให้กับระบบเครือญาติ หรืออยู่ในสภาพ   พูดเป็นคุณธรรม แต่ทำเป็นอุปถัมภ์ทำให้เป้าหมายของส่วนรวมถูกบิดเบือน ซึ่งหากไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ   เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่รู้ว่าใครจะทำแบบนี้ได้อีก และการปฏิรูประบบราชการจะทำได้สำเร็จหรือไม่ ก็ยังไม่เป็น  ที่ประจักษ์ชัด แต่สิ่งที่สำคัญยิ่ง คือ ผู้นำในการปฏิรูประบบราชการ ไม่ควรจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมาจากโลกนักธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ  9  ส.ค.  49

คำสำคัญ (Tags): #ข้าราชการ
หมายเลขบันทึก: 43645เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ช่วยกรุณา ลิงค์ ข้อมูลวิจัยเรื่องนี้  มาให้อ่านแบบชัดเจนกว่านี้ ได้ไหมคะ 
  • เป็นพระคุณอย่างยิ่งค่ะ

คุณครูอ้อยครับ

หาอ่านไม่อยากครับ ง่ายสุดคือ เข้าไปที่ google แล้วพิมพ์คำว่า "การสร้างดุลยภาพของนักการเมืองและราชการ" ก็มี link ให้อ่านแล้วครับ

นี่ก็เป็นอีก link นึง ให้ pdf 151 หน้า ตามนี้

http://www.kpi2.org/kpith/index2.php?option=com_docman&task=doc_view&gid=4&Itemid=98

ลอง copy ไปวางที่ บราวเซอร์ แล้วเรียกใช้ดูครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท