ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๓๐. จินตนาการทักษะครูเพื่อศิษย์ ๑๘. การเรียนรู้แบบ สตูดิโอ โมเดล มีในประเทศไทยมาหลายสิบปีแล้ว



          หนังสือ ต่วย‘ตูน ฉบับปีที่ ๔๐ เล่มที่ ๖ ปักษ์หลังพฤศจิกายน ๒๕๕๓ ลงเรื่อง “มารู้จักสถาปัตย์จุฬาฯ (รุ่นผม)  บันทึกมุขควาย ๒๕๑๘” เขียนโดย วินทร์ เลียววารินทร์ และเพื่อน ‘ถาปัตย์รุ่น ๒๕๑๘ ในหน้า ๕๒ – ๖๔  ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจว่า การเรียนการสอนแบบที่เรียกว่า Project-Based Learning (PBL) และการจัดห้องเรียนเป็น สตูดิโอ นั้น มีในประเทศไทยมานานมากแล้ว  คงจะกว่า ๕๐ ปี   เวลานี้โลกการศึกษากำลังตื่นเต้นกับสองเรื่องนี้

          คุณวินทร์เล่าว่า “ห้องเรียนหลักของแต่ละชั้นเป็นสตูดิโอขนาดใหญ่โล่งกว้าง เรียกย่อๆ ว่า สตูฯ   เป็นห้องหล่อหลอมความคิดสร้างสรรค์ปนความทะลึ่ง  เริ่มจากชั้นปีที่หนึ่ง  ซึ่งสตูฯมีช่องแตกบนผนังเป็นรูโหว่  มองออกไปจะพบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา...”

          “ครั้นขึ้นปีที่สอง   เราทุกคนเริ่มงานออกแบบอาคารเป็นครั้งแรก  เป็นวิชาออกแบบสถาปัตยกรรม เรียกสั้นๆ ว่า โปรเจ็กต์ ออกแบบอาคารบ้านเรือนประเภทต่างๆ เดือนละหนึ่งโครงการ  ช่วงหนึ่งเดือนนั้นนิสิตจะไปหมกตัวทำงานหรือเที่ยวเล่นที่ไหนก็ตามใจ   แต่ทุกอาทิตย์ต้องทำแบบร่างไปเสนออาจารย์  ซึ่งเป็นสองสามชั่วโมงที่แต่ละคนสามารถฟุ้งว่าตนเองมีแนวคิดพิสดารอย่างไร  อาจารย์ก็จะวิจารณ์ข้อดีข้อเสียของงานทุกชิ้น  ช่วงการวิจารณ์งานนี้เป็นหัวใจของการเรียน  เพราะได้เห็นไอเดียที่ต่างกัน   นิสิตก็นำไปปรับปรุงแก้ไข แล้วนำไปเสนออาจารย์ใหม่  จบกระบวนการนี้แล้วจึงเริ่มเขียนแบบจริง ....”

          “การพรีเซนเทชั่นงานเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน   บางคนที่ไม่ค่อยมีเวลาทำงานมากนัก เพราะมัวแต่ทำกิจกรรม  ก็เน้นลูกเล่นในการนำเสนอ  นัยว่าอาจจะเปลี่ยนใจอาจารย์ให้หลงเชื่อแบบร่างที่ไม่ค่อยดี...”

          คุณวินทร์จบเรื่องด้วย

          “คนจำนวนมากถามผมว่า ทำไมนิสิตที่จบคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ จึงไม่ค่อยออกแบบบ้านเรือนอาคาร   คำถามที่น่าจะถามมากกว่าคือ  ทำไมคนที่จบคณะนี้จึงทำงานสายอื่นได้ในระดับดี

          คำตอบน่าจะเป็นเพราะวิธีการเรียนที่ผสมผสานกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์กับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือ ศาสตร์ + ศิลป์


          ศาสตร์ คือ ความรู้  ศิลป์ คือ การประยุกต์
          ศาสตร์ คือ ตรรกะ  ศิลป์ คือ ความรู้สึก
          ศาสตร์ คือ กระบวนการ  ศิลป์ คือ การพลิกแพลง

          รวมสององค์ประกอบนี้เข้าด้วยกันได้เมื่อไร ย่อมสามารถทำงานศิลปะแขนงอื่นใดได้ทั้งนั้น  ทั้งนี้เพราะศิลปะทุกแขนงในโลกใช้หลักการเดียวกัน  ตั้งแต่การออกแบบสถาปัตยกรรม, จิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, กราฟิกดีไซน์, การออกแบบโลโก้, งานโฆษณษา, ดนตรี ไปจนถึงการเขียนเรื่องสั้น และนวนิยาย!

          สิ่งที่ผมเรียนรู้จากระยะเวลาห้าปีในคณะนี้คือ  ความคิดสร้างสรรค์มักมากับอารมณ์ขัน   อารมณ์ขันเป็นส่วนสำคัญของการเรียนและทำงานสายสร้างสรรค์

          อารมณ์ขันเกิดไม่ได้หากปราศจากความคิดสร้างสรรค์  ความคิดสร้างสรรค์เกิดไม่ได้หากคนสร้างงานไม่สามารถมองโลกแบบ ‘ไม่มีอะไรในโลกที่เป็นไปไม่ได้’ คือมองโลกแบบขำขำนั่นเอง”

          ผมตีความว่า มองอีกมุมหนึ่ง นี่คือเรื่องราวของการเรียนแบบ PBL ในห้องเรียนแบบสตูดิโอ เรียนทักษะสร้างสรรค์เป็นหลัก

          ผมเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ ศ. ดร. เกษม สุวรรณกุล ฟัง   ท่านบอกว่า วิธีการเรียนแบบนี้มีมาตั้งแต่แรกตั้งคณะสถาปัตยกรรม   คือประมาณ ๘๐ ปีมาแล้ว

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ธ.ค. ๕๓  ปรับปรุง ๒๒ มี.ค. ๕๔

    
          
         
                    
                 

หมายเลขบันทึก: 436333เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2011 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เคยถามเพื่อนเหมือนกันครับ ว่า อาจารย์สถาปัตย์ สอนอย่างไร ให้มีนิสิตมีความคิดสร้างสรรค์ ตอนนั้นเพื่อนตอบสั้นๆ

"อาจารย์เค้าให้คุณลอง...." อืม

I did a translation (into English) of a PBL in a primary school in Lopburi sometime ago. The best point I see in that PBL case is the building of 'group genius' -- not focusing on individual geniuses but the process of collaboration and 'nurturing the group as the genius'.

วิชาการ.คอม - โครงงาน จากบันทึกของ อาจารย์กลิ่น สระทองเนียม http://www.vcharkarn.com/vcafe/14209/1

There are potentially for more 'competent' and 'smart' groups than there are individual geniuses. We should explore this under-used area ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท