Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

พระมหาชนก ผู้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี


ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญวิริยบารมี คือ ความพากเพียร พยายามจนสำเร็จสมหวัง

ในอดีตมีพระมหากษัตริย์นามว่า มหาชนก เสวยราชสมบัติในเมืองมิถิลา มีโอรสสองพระองค์ องค์หนึ่งนามว่า อริฎฐชนก อีกองค์หนึ่งมีนามว่า โปลชนก พระองค์ได้ทรงตั้งอริฎฐชนกในตำเเหน่ง อุปราช และโปลชนกในตำเเหน่ง เสนาบดี ต่อมาเมื่อทรงสวรรคตแล้ว อุปราชก็ได้ขึ้นครองแผ่นดินเสวยราชสมบัติแทน และได้แต่งตั้งเจ้าโปลชนกผู้เป็นน้องให้เป็นอุปราช เมื่อเจ้าอริฎฐชนกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วหูเบา ฟังแต่ถ้อยคำคนประจบสอพลอ เจ้าอุปราชโปลชนกจึงถูกกล่าวหาจากผู้ใกล้ชิดของพระเจ้ากรุงมิถิลาว่าจะทำการกบฎ เพราะเจ้าอุปราชทรงอำนาจในทางการเมืองมาก ครั้งแรกก็ยัง ไม่ยอมเชื่อ ครั้งที่สองก็ชักลังเล พอครั้งมี่สามก็ทรงเชื่อเอาเลย ลืมคิดว่าผู้เป็นน้องของพระองค์ที่คลานตามกันออกมาแท้ ๆ แม้ความรักระหว่างพี่กับน้องก็ตัดได้ ถึงกับสั่งให้จับพระมหาอุปราชไปคุมขังไว้ยังที่แห่งหนึ่ง โดยหาความผิดมิได้มีคนควบคุมอยู่อย่างแข็งแรง

เจ้าอุปราชถูกควบคุมโดยหาความผิดมิได้ ก็คิดจะหลบหนีออกไป จึงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า “ขอเดชะพระเสื้อเมืองทรงเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายตัวข้าพเจ้ามิได้คิดทรยศต่อที่ชายเลย แต่กลับถูกจับคุมขังทำโทษหาความผิดมิได้ ถ้าใจของข้าพเจ้าซื่อสัตย์ต่อพี่ชายจริงแล้ว ขอให้โซ่ตรวนขื่อคาตลอดจนประตูคุก จงเปิดให้ประจักษ์เถิด” พอสิ้นคำอธิษฐานเท่านั้นด้วยความสัตย์สุจริตของมหาอุปราช บรรรดาเครื่องจองจำทั้งหลายก็หลุดออกจากกายของพระองค์ประตูเรือนจำก็เปิด มหาอุปราชก็เลยหนีออกจากที่นั้นไปซุ่มซ่อนอยู่ตามชายแดน พลเมืองได้ทราบข่าวอุปราชหนีออกมา และเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินเชื่อถือแต่คำสอพลอถึงกับกำจัดน้องในไส้จึงพากันเห็นใจเจ้าอุปราช มาเป็นไพล่พลมากขึ้น เจ้าอุปราชรวบรวมไพล่พลได้พอสมควรแล้วก็คิดว่า “ครั้งก่อนเราซื่อสัตย์ต่อพี่ชาย แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎถูกจับคุมขัง จนต้องทำสัตยาอธิษธานจึงหลุดพ้นออกมาได้ ต่อไปนี้เราจะต้องทำความชั่วตอบแทนพี่ชายบ้างล่ะ”

เมื่อตัดสินใจเช่นนี้แล้ว เจ้าโปลชนกก็รวบรวมไพล่พลเสบียงอาหาร พร้อมแล้วก็ยกกองทัพเข้ามายังมิถิลานคร บรรดาหัวเมืองรายทางรู้ว่าเป็นกอง ทัพของพระเจ้าโปลชนก ก็ไม่สู้กลับเข้าด้วยเสียอีก เจ้าโปลชนกก็เลยได้คนมากขึ้นอีก ทัพก็ยกมาได้โดยเร็วเพราะหาคนต้านทานมิได้ ตราบจนกระทั่งถึงชานพระนคร จึงมีสาส์นส่งเข้าท้ารบว่า “พระเจ้าพี่ ครั้งก่อนหม่อมฉันไม่เคยจะคิดประทุษร้ายพระเจ้าพี่เลย แต่หม่อมฉันก็ต้องถูกจองจำทำโทษที่พระเจ้าพี่เชื่อแต่คำสอพลอ บัดนี้หม่อมฉันจะประทุษร้ายพระเจ้าพี่บ้างล่ะ ถ้าจะไม่ให้เกิดสงคราม ขอให้พระเจ้าพี่มอบราชสมบัติให้หม่อมฉันเสียโดยดี ถ้าไม่ให้ก็จงเร่งเตรียมตัวออกมาชนช้างกับหม่อมฉันในวันรุ่งขึ้น”

พระเจ้าอริฎฐชนก จึงคิดจะยกพลออกไปต่อสู้กัน แต่ในขณะนี้พระอัครมเหสีทรงพระครรภ์อยู่ พระเจ้าอริฎฐชนกจึงตรัสเรียกมาสั่งว่า “น้องหญิง ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้วไม่ดีเลย เพราะมีแต่ความพินาศเท่านั้น ประดุจสาดน้ำรด กันก็ย่อมจะเปียกปอนไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย อีกประการหนึ่งเป็นเรื่องที่คาดหมายลงไปแล้วแน่นอนว่าจะชนะฝ่ายเดียวนั้นก็ไม่ได้ พี่จะยกพลออกไปสู้กับเจ้าโปลชนก หากพี่เป็นอะไรไป เจ้าจงพยายามรักษาครรภ์ให้จงดีเจ้าจงคิดถึงลูกของเราให้มาก” แล้วก็ยกพลออกไป เมื่อได้ชนช้างกับเจ้าโปลชนกก็พลาดพลั้งเสียที ถูกเจ้าโปลชนกฟันสิ้นพระชนม์กับคอช้าง ไพล่พลก็แตกกระจัดกระจายพ่ายหนีอย่างไม่เป็นกระบวน พระเทวีได้ทราบข่าวว่าพระสวามีสิ้นพระชนม์ และประชาชนพลเมืองแตกตื่นอุ้มลูกจูงหลานหนีข้าศึก พระนางก็เก็บของมีค่าใส่ลงใน กระเช้า เอาผ้าเก่า ๆ ปิดแล้วแอาข้าวสารใส่ข้างบน แล้วแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่า ๆ ร้องไห้ฟูมฟายหลบหนีปะปนไปกับประชาชนพลเมือง โดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร “จะหนีไปทางใดจึงจะรอดพ้นจากข้าศึก” พระนางคิดอยู่แต่ในใจ แล้วระลึกขึ้นได้ว่า “เมืองกาลจัมปาอยู่ทางทิศเหนือกับมิถิลา ถ้าหากหลบหนีไปเมืองนี้ได้ก็ปลอดภัย” จึงพยายามดั้นด้นไปจนออกประตูด้านเหนือของเมืองได้

ด้วยบุญญาธิการของทารกในครรภ์ บันดาลให้ร้อนไปถึงพระอินทร์ เข้าลักษณะที่ว่า “ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน" อมรินทร์เร่งคิดสงสัย จึงสอดส่องทิพย์เนตรดูเหตุภัย ก็ได้ทราบว่าพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในครรภ์ของพระนางจะได้รับทุกข์ พระนางจะไปเมืองกาลจัมปาแต่ก็ไม่รู้จักหนทาง ไปนั่งถามทางผู้คนที่ผ่านไปมาอยู่ ณ ศาลาพักคนเดินทางจำจะต้องอนุเคราะห์ ถ้าไม่อนุเคราะห์หัวเราจะต้องแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง จึงเนรมิตตนเป็นคนชรา ขับเกวียนผ่านมาทางนั้น พระนางพอเหลือบแลเห็นก็ออกปากถามทันที “ตาจ๋า หลานอยากจะรู้ว่าเมืองกาลจัมปาอยู่ทางไหน” “แม่หนูจะไปไหนล่ะ” “ฉันจะไปเมืองกาลจัมปา” “ญาติฉันมีอยู่ทางเมืองนั้น สามีออกไปรบข้าศึกก็ตายเสีย ฉันก็เลยจะพึ่งพาอาศัยญาติอยู่” “ถ้าอย่างนั้นดีทีเดียว ตาก็จะไปเมืองกาลจัมปาเหมือนกันแม่หนูมาขึ้นเกวียนเถิด” เมื่อขึ้นเกวียนเพราะความเหนื่อยและเพลียในการที่ระหกระเหิน พระนางก็เอนกายลงพักผ่อนและก็เลยหลับไป นางตื่นขึ้นในตอนเย็น ก็พบว่านางได้ถึงเมืองแห่งหนึ่ง จึงถามตาคนขับเกวียนว่า ตาจ๋า เมืองที่เห็นอยู่ข้างหน้านั้นเขาเรียกว่าเมืองอะไร” “เมืองกาลจัมปาที่แม่หนูต้องการจะมานั้นเเหละ” “โอ.? ตา เขาว่าเมืองกาลจัมปาไกลตั้ง 60 โยชน์ทำไมถึงเร็วนัก” “แม่หนูไม่รู้ดอก ตาเป็นคนเดินทางผ่านไปมาเสมอ ย่อมจะรู้จักทางอ้อม นี่ตามาทางลัดจึงเร็วนัก” เทวดาว่าเข้านั้น บ้านอยู่ทางเหนือ จะต้องรีบไป ให้พระนางลงเสียตรงนี้ พระนางจึงลงจากเกวียนไปพักอยู่ที่ศาลาหน้าเมือง คิดไม่ตกว่าจะไปทางไหนดี เพราะเมืองนี้นางไม่รู้จักใครเลย

ในขณะนั้นเองได้มีพระอาจารย์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองกาลจัมปาได้ผ่านศาลานั้นพร้อมกับลูกศิษย์จำนวนหนึ่ง ครั้นเมื่อเห็นสตรีท้องแก่ผู้หนึ่งนั่งอยู่ในศาลาด้วยท่าทางอิดโรยเหนื่อยยาก ทั้งๆ ที่มีรูปโฉมงดงามผิวพรรณผุดผ่องราวกับเป็นคนมีเชื้อชาติดีมีสกุล แม้จะอยู่ในเสื้อผ้าที่เก่าขาดและมอมแมมเพียงใดแต่ก็มีรัศมีเปล่งประกายดูประหลาดยิ่งนัก พระอาจารย์จึงได้เข้าไปสอบถาม พระนางเทวีจึงได้บอกกล่าวเล่าว่า “ตัวข้าพเจ้านั้นต้องอุ้มท้องหนีภัยจากข้าศึกระเหเรร่อนมาตามลำพังด้วยเพราะว่าเป็นสามีนั้นตายเสียแล้ว” พระอาจารย์มีความเวทนาสงสารจึงได้ชักชวนพระนางเทวีไปพำนักพักอยู่ด้วยที่บ้านของตน พระนางเทวีเห็นว่าพระอาจารย์นั้นมีลักษณะเป็นคนดีน่าเลื่อมใส จึงได้ตกลงติดตามพระอาจารย์ไปพำนักพักอยู่ที่บ้านเมืองของพระอาจารย์ด้วยโดยพระอาจารย์ได้บอกแก่ลูกศิษย์ลูกหาทั้งปวงว่าสรีท้องแก่ผู้นี้เป็นญาติผู้น้องของตน ไม่กี่เดือนต่อมาพระนางเทวีก็คลอดพระกุมารน้อยออกมาเป็นทารกชายผู้มีผิวพรรณหมดจดงดงามเป็นยิ่งนัก พระนางทรงระลึกถึงความหลังจึงเอาพระนามของพระเจ้าปู่มาตั้งให้พระโอรสว่า “มหาชนก”

ครั้นเมื่อพระมหาชนกเจริญวัยขึ้นก็ได้เล่นกับเด็กๆ เพื่อนบ้านในละแวกนั้น ครั้งหนึ่งมีเด็กคนหนึ่งคิดรังแกพระมหาชนกด้วยความคะนองแต่พระมหาชนกก็ต่อสู้เอาชนะได้ เด็กที่แพ้นั้นจึงไปร้องไห้ฟ้องพ่อแม่ว่าถูกเด็กที่ไม่มีพ่อรังแกเอา เมื่อพระมหาชนกได้ฟังเช่นนั้นจึงไปซักไซร้ไล่เลียงพระราชมารดาว่า ใครเป็นบิดาของตน พระนางเทวีจึงแสร้งปดว่าท่านลุงอาจารย์นั้นแหละคือบิดาของพระมหาชนก แต่แรกนั้นพระมหาชนกทรงเชื่อ แต่ครั้นพวกเด็กๆและชาวบ้านยังล้อเลียนว่าเป็นเด็กไม่มีพ่อเช่นนั้นก็เกิดความคลางแคลงสงสัย แต่ด้วยความที่ทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แม้คาดคั้นเอาจากพระมารดาก็คงมิสามารถที่จะได้คำตอบอันแท้จริงแน่ พระมหาชนกจึงใช้อุบายถามมารดาในวันหนึ่งขณะที่กำลังกินนมจากพระมารดาว่า “ท่านแม่จ๋า บิดาของลูกเป็นใครขอให้บอกความจริงมาเถิด” พระนางเทวีจึงแสร้งว่า “ก็แม่บอกลูกแล้วไงว่า ท่านอาจารย์นั่นแหละคือบิดาของลูก” พระมหาชนกได้ยินเช่นนั้นก็กล่าวว่า“เแต่แม่ให้ลูกเรียกท่านอาจารย์ว่าลุงเสมอมานี่น่า หากท่านแม่ไม่บอกความจริงแก่ลูกๆ จะกัดหัวนมแม่ให้ขาดเดี๋ยวนี้ ว่าแล้วพระกุมารน้อยก็แกล้งใช้ฟันขบนมมารดาให้แรงกว่าเดิม พระนางเทวีบังเกิดความเจ็บและกลัวลูกจะกัดแรงขึ้นกว่าเก่า จึงจำต้องบอกเล่าความจริงทั้งหมดให้พระกุมารน้อยทราบโดยละเอียด เมื่อพระมหาชนกทราบเรื่องราวเช่นนั้น จึงมีขวัญกำลังใจมากขึ้นและมิทรงโกรธกริ้วเด็กๆ เพื่อนบ้านที่ล้อเลียนว่าเป็นลูกไม่มีพ่ออีก

หลังจากนั้นพระกุมารน้อยได้มุมานะศึกษาเล่าเรียนในวิชาการทุกแขนงมิว่าจะเป็นอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และยุทธศาสตร์การต่อสู้ทั้งหมดทั้งมวลจนครบ ๑๘ ประการ เมื่อเรียนจบครบสิ้นทุกกระบวนความแล้ว ขณะนั้นพระมหาชนกมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา มีความสง่างามเยี่ยงหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์โดยแท้ ผิวพรรณของเจ้ามหาชนกผ่องใสเปรียบเหมือนทองคำ พระมหาชนกได้กราบทูลต่อพระราชมารดาว่าพระองค์นั้นมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะไปยังเมืองมิถิลาเพื่อชิงราชบัลลังก์คืนเป็นการแก้แค้นแก่พระราชบิดาของตน พระนางเทวีจึงได้มอบสมบัติอันมีค่าที่นำติดตัวซุกซ่อนมาจากมิถิลานครให้แก่พระโอรส อันมีแก้ววิเชียรดวงหนึ่ง แก้วมณีดวงหนึ่ง แก้วมุกดาดวงหนึ่ง พระนางเทวีต้องการให้โอรสนำแก้วอันล้ำค่าทั้ง ๓ ดวงนั้นไปขายเพื่อเป็นทุนในการซ่องสุมกำลังผู้คน แต่ทว่าพระมหาชนกไม่ยินยอมที่จะรับแก้วทั้ง ๓ ดวงนี้ไป พระนางเทวีจึงได้นำเงินทองออกมาให้พระราชโอรสเตรียมซื้อสำเภากับสินค้าเตรียมจะไปค้าขาย ณ สุวรรณภูมิเพื่อล่องเดินทางไปเช่นเดียวกับพวกพ่อค้าทางเรืออื่นๆ เมื่อจัดแจงเรียบร้อยแล้ว มหาชนกก็มาลามารดาเพื่อจะเดินทาง “เจ้าจงเดินทางโดยสวัสดิภาพ คิดอะไรให้สมปรารถนา” มารดาเจ้ามหาชนกให้พรแถมท้ายว่า “ “ลูกรักของแม่เอ๋ย เจ้าอยากไปมิถิลานครก็ขอให้เจ้าจงเดินทางโดยสวัสดิภาพเถิด แต่อย่าคิดจองเวรจองกรรมแก้แค้นหรือชิงราชบัลลังก์คืนเลยนะลูกแม่”

พระมหาชนกจึงกราบทูลพระมารดาว่าตนขอเดินทางครั้งนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็ด้วยหวังจะเดินทางท่องเที่ยวผจญภัย เผชิญโลกกว้างตามประสาลูกผู้ชายคนหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่เจ้ามหาชนกลงเรือเพื่อเดินทางไปค้าขายยังสุวรรณภูมินั้น ก็พอกับเจ้าโปลชนกกำลังประชวรหนักอยู่ในเมืองมิถิลานคร

ครั้นเมื่อพระมหาชนกออกเรือเดินทางไปได้ ๗ วัน ๗ คืนแล้ว ก็ปรากฏมรสุมใหญ่ที่กลางทะเลโหมกระหน่ำทำให้เรือบรรทุกสินค้าอับปางลง ท่ามกลางเสียงร้องคร่ำครวญโหยไห้ของบรรดาลูกเรือที่ขวัญเสียตื่นตระหนกตกอยู่ในความหวาดกลัวเมื่อรู้ว่าความตายใกล้จะมาถึงแล้ว พระมหาชนกนั้นทรงตั้งสติมั่นมิได้คร่ำครวญด้วยความหวาดหวั่นเสียขวัญแต่อย่างใด ทรงพยายามเสวยอาหารไว้เพื่อให้อิ่มท้องแล้วเตรียมผ้าชุบน้ำมันมานุ่งไว้เพื่อมิให้ผ้าอุ้มน้ำ แล้วพระมหาชนกก็ทรงปีนขึ้นอยู่บนยอดเสากระโดงในขณะที่เรือโคลงเคลงใกล้จะคว่ำลง ครั้นเมื่อเรือคว่ำแล้วก็กระโจนจากยอดเสากระโดงไปไกลได้ถึง ๑ เส้นกับ ๑๕ วา ด้วยพละกำลังอันวิเศษจึงสามารถว่ายอยู่ห่างไกลในบริเวณที่กระแสน้ำกำลังดูดเรือจมลงไปใต้มหาสมุทร ในขณะที่บรรดาผู้ลอยคออยู่กลางทะเลต่างก็เสียชีวิตไปกันหมดสิ้นแล้ว แต่ทว่าพระมหาชนกยังทรงพยายามว่ายน้ำและลอยคออยู่ได้กลางทะเลนานถึง ๗ วัน ๗ คืน

ในวันที่ ๗ นั้นยังทรงระลึกได้ว่าเป็นวันอุโบสถ พระมหาชนกได้ทรงสมาทานโดยอธิฐานอุโบสถ ในขณะลอยคออยู่ในทะเล แม้ขณะกำลังรอความตายที่ใกล้เข้ามาแทบทุกทีนั้นด้วย

ด้วยบุญบารมีแต่ปางบรรพ์ของเจ้ามหาชนกได้ทำไว้ให้ ร้อนถึงนางมณีเมขลาเทพธิดาแห่งท้องสมุทรผู้มีแก้วประจำตัวอยู่ ๑ ดวง เป็นผู้รักษาสมุทร เผอิญวันเรือแตกนั้นนางมณีเมขลากำลังไปประชุมอยู่กับเทพบุตรนางฟ้า จวบจนถึงวันที่ ๘ จึงกลับมา ขณะนั้นนางมณีเมขลา ได้เห็นความอดทนของพระมหาชนกจึงได้กล่าวว่า "ใครหนอ พยายามว่ายน้ำในมหาสมุทร อันแลไม่เห็นฝั่งอยู่เช่นนี้ ท่านเห็นประโยชน์อะไร จึงได้พยายามว่ายอยู่อย่างนี้ ?"

พระมหาชนกตอบว่า "ดูกรเทพธิดา เราได้พิจารณาเห็นธรรมเนียมของโลก และผลของความพยายาม จึงได้พยายามว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรอันแลไม่เห็นฝั่งนี้"

นางมณีเมขลาถามอีกว่า "ฝั่งของมหาสมุทรไม่ปรากฏแก่ท่าน ถึงท่านจะพยายามว่ายน้ำไป ก็จะต้องตายเสียก่อนที่จะถึงฝั่งแน่แท้"

พระมหาชนกตอบว่า "ดูกรเทพธิดา เมื่อบุคคลทำความเพียรอยู่ ถึงจะตายไปก็ได้ชื่อว่าไม่เป็นที่ติเตียนของบิดา-มารดาวงศาคณาญาติตลอดถึงเทพยดาทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เมื่อบุคคลตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถแล้ว ย่อมจะไม่เสียใจภายหลัง"

นางมณีเมขลากล่าวว่า "การพยายามทำงานอันใดแล้วยังไม่สำเร็จ แต่เกิดอุปสรรคถึงกับเสียชีวิตไปก่อน ก็ไม่ควรทำความพยายามนั้นเลย เพราะความพยายามที่ทำมาทั้งหมด สูญเปล่า"

พระมหาชนกตอบว่า "ผู้ใดรู้ว่าการงานที่ทำไปจะไม่สำเร็จ แล้วไม่รีบหาทางป้องกันภัยอันตราย บุคคลนั้นชื่อว่าไม่รักษาชีวิตตน ถ้าบุคคลนั้นละความเพียรเสีย ก็จะได้รับผลแห่งความเกียจคร้านของตน บางคนได้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน แล้วตั้งใจทำงาน ถึงการงานจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ก็ได้เห็นผลงานประจักษ์แก่ตน ท่านจงดูคนทั้งหลายที่มาในสำเภาเดียวกับเราเถิด คนพวกนั้นพากันย่อท้อต่ออันตราย ไม่พยายามว่ายน้ำจนสุดความสามารถก่อน จึงพากันจมน้ำตายในมหาสมุทรทั้งสิ้น เหลือแต่เราผู้เดียวที่สู้ทนว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรอยู่ถึง ๗ วันเข้าแล้ว บัดนี้ เราได้เห็นผลของความเพียรนั้นแล้ว คือเราได้เห็นท่านซึ่งเป็นเทวดาที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ท่านจะมาบอกว่าความพยายามของเราสูญเปล่าได้อย่างไร ? เพราะฉะนั้นเราจักพยายามว่ายน้ำอีกต่อไป จนกว่าจะถึงฝั่งแห่งมหาสมุทรให้จงได้"

นางมณีเมขลาได้ฟังดังนั้นก็เกิดความเลื่อมใส สรรเสริญพระมหาชนกว่า "ท่านได้เพียรสู้ทนว่ายน้ำข้ามทะเลทั้งใหญ่ทั้งลึกหาประมาณมิได้ จนถึงกับไม่จมน้ำตาย บุรุษเช่นท่านหาได้ยากในโลก ท่านประสงค์จะไปที่ใด ดิฉันจะไปส่ง" แล้วจึงอุ้มพระมหาชนกไปส่ง ณ ที่ที่พระองค์ประสงค์จะไป คือเมืองมิถิลานคร

พระมหาชนกก็นอนหลับอยู่ในพระราชอุทยานนั้น ขณะนั้นพระโปลชนกกษัตริย์แห่งมิถิลานครได้เสด็จสวรรคตไปเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืนแล้ว และระหว่างนั้นกำลังเป็นงานพิธีเลือกคู่ของพระราชธิดาพระองค์เดียว คือ เจ้าหญิงสีวลี จำต้องคัดสรรหาบุรุษผู้เหมาะสมมาอภิเษกสมรส เพื่อจะได้ให้ผู้มาเป็นพระสวามีขึ้นเสวยราชบัลลังก์สืบต่อมา บรรดาเสนาอามาตย์มุขมนตรีทั้งปวงต่างก็เสนอตนเข้ามาให้พระราชธิดาเลือกคู่ แต่ทว่าก็ยังมิมีผู้ใดถูกพระทัยองค์หญิงเลยแม้แต่คนเดียว บรรดาอำมาตย์ราชปุโรหิตผู้อาวุโสแห่งราชสำนักจึงได้กราบทูลหารือกับองค์หญิงว่า เมื่อคัดเลือกเอาตามพระทัยก็ยังมิถูกใจเช่นนี้เห็นทีจะต้องจัดพิธีบวงสรวงสังเวยเทพยดาอารักห์ของเมืองด้วยการเสี่ยงราชรถออกไป ถ้าราชรถไปเกยผู้ใดแสดงว่าผู้นั้นย่อมมีบุญ และควรแก่การอัญเชิญมาครองราชย์ต่อไป เพราะมิเช่นนั้นหากขืนรอช้าอยู่ราชบัลลังก์จะว่างไปนานมิเป็นการสมควรอย่างแน่นอน องค์หญิงจึงเห็นดีงามด้วยตามธรรมเนียมโบราณของราชสำนัก พระมหาชนกนั้นกำลังนอนพักอยู่ที่ใต้ร่มไม้ใหญ่ในอุทยานหน้าเมือง ขณะที่ราชรถแล่นเข้ามาในอุทยานและวิ่งวนรอบพระมหาชนกเป็นจำนวน ๓ รอบ จึงหยุดนิ่งสงบลงที่เบื้องปลายพระบาทของพระมหาชนก บรรดาคณะอำมาตย์ราชปุโลหิตที่ติดตามราชรถมานั้น ก็สั่งให้เจ้าพนักงานประโคมดนตรีขึ้นอย่างกึกก้อง ด้วยกำหนดว่าถ้าชายผู้นี้เป็นผู้ไม่มีบุญก็จะต้องตื่นขึ้นมาพร้อมกับความตระหนกตกใจและเร่งรีบหนีไปในทันที แต่ถ้าเป็นผู้มีบุญก็จะไม่มีอาการแตกตื่นแต่อย่างใด ครั้นเมื่อเจ้าพนักงานประโคมดนตรีเสียงดังกึกก้องไปทั่วอุทยานแล้ว พระมหาชนกก็สะดุ้งตื่นขึ้นเปิดผ้าคลุมหน้าออกดูเห็นมีพวกปุโรหิตและชาวบ้านชาวเมืองมากมายมารุมล้อมในอุทยาน ก็รู้ได้ทันทีว่าเกิดเหตุอันใดขึ้น พระมหาชนกจึงชักผ้าขึ้นปิดหน้านอนต่อไป ราชปุโรหิตจึงได้คลานเข้าที่เบื้องปลายพระบาทเลิกผ้าคลุมออกแล้วพิจารณาดูลักษณะของพระบาทสักครู่หนึ่ง ก็ป่าวประกาศแก่ฝูงชนทั้งปวงว่า ชายผู้มีบุญนี้อย่าว่าแต่จะสามารถครองราชบัลลังก์มิถิลาได้เลย ต่อให้ราชสมบัติของ ๓ โลก เขาผู้นี้ก็สามารถที่จะปกครองดูแลได้ จากนั้นพนักงานจึงประโคมดนตรีขึ้นบรรเลงอีกครั้งหนึ่งเป็นเสียงกึกก้องกังวานทั่วไป แล้วราชปุโรหิตก็กราบทูลอัญเชิญพระมหาชนกให้เข้าพระราชวังไปอภิเษกสมรสกับองค์หญิง แล้วขึ้นครองเมืองมิถิลาต่อไป

เมื่อพระมหาชนกครองราชสมบัติ แล้วความจริงได้ปรากฎออกมาว่าพระองค์ไม่ใช่ใครอื่นเลยแท้ที่จริงเป็นพระโอรสชองพระเจ้าอริฎฐาชนกนั่นเอง พระองค์ได้ส่งอำมาตย์เดินทางไปรับพระมารดา และอาจารย์ทิศาปาโมกข์มาอยู่ที่เมืองถิมิลา ทรงปกครองเมืองโดยทศพิธราชธรรม โปรดให้สร้างโรงทานหลายแห่งบำรุงสมณพราหมณ์ทั่วราชอาณาจักร ในพระราชวังก็นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้ามาฉันภัตตาหารเป็นประจำ เมื่ออยู่พระองค์เดียวก็ทรงรำพึงว่า เพราะพระองค์ไม่ทอดทิ้งความเพียรพยายามในการที่เอาตัวรอดจากภัยอันตรายจึงได้ประสบสุขถึงเพียงนี้ ฉะนั้นเกิดเป็นคนควรพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จความประสงค์ พระองค์มีพระราชโอรสนามว่า ทีฆาวุราชกุมาร ทรงตั้งให้เป็นพระอุปราช และมอบหมายให้ว่าราชการสำคัญแทนพระองค์เสมอ

วันหนึ่งเจ้าพนักงานพระอุทยาน ได้นำพืชพรรณชนิดต่าง ๆ มาถวาย ทรงถามได้ความว่า นำมาจากพระราชอุทยานก็คิดจะไปประพาส จึงตรัสสั่งให้ข้าราชบริพารจัดกระบวนไปเสด็จประพาส ในขณะที่ทรงช้างเสด็จถึงประตูสวนก็เห็นมะม่วงต้นหนึ่งมีลูกดก แลดูเต็มต้นไปทั้งต้น กำลังอยากเลยเสด็จลุกขึ้นยืนบนหลังช้าง เก็บมะม่วงลูกหนึ่งมาเสวย แล้วก็เลยเข้าไปประพาสในพระราชอุทยาน ทรงสำราญอยู่ในพระราชอุทยานนั้นจนกระทั่งเย็นจึงเสด็จออกมา พอถึงประตูสวน พระองค์ก็แปลกพระทัยเพราะปรากฎว่ามะม่วงต้นที่มีลูกเต็มไปหมดนั้น จะหาแม้แต่ลูกเดียวก็ไม่พบ แถมข้างล่างยังเต็มไปด้วยกิ่งก้านสาขาที่หัก ใบอ่อนใบแก่หล่นเกลื่อนกลาดไปทั้งบริเวณโคนต้น จึงตรัสถามผู้รักษาสวนว่าเป็นเพราะเหตุอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เขากราบทูลให้ทราบว่า เพราะประชาชนเห็นว่ามะม่วงต้นนั้นพระองค์เสวยแล้ว เขาพากันมาเก็บ ต่างยื้อแย่งกัน สภาพของต้นมะม่วงจึงเป็นอย่างที่ทอดพระเนตรบัดนี้ พระองค์ได้ทรงสดับ จึงเกิดความคิดขึ้นว่า มะม่วงต้นนี้เพราะมีลูกจึงต้องมีสภาพเช่นนี้ ถ้าไม่มีลูกก็คงจะไม่ต้องหักยับเยินอย่างนี้ ถ้าเราไม่มีราชสมบัติเสียก็จะหาคนปองร้ายมิได้

พระราชาเสด็จพระนคร เสด็จขึ้นปราสาทประทับที่พระทวารปราสาท ทรงมนสิการถึงวาจาของนางมณีเมขลา ในกาลที่นางอุ้มพระมหาสัตว์ขึ้นจากมหาสมุทร พระราชาทรงจดจำคำพูดของเทวดาไม่ได้ทุกถ้วยคำ เพราะพระสรีระเศร้าหมองด้วยน้ำเค็มตลอดเจ็ดวัน แต่ทรงทราบว่า เทวดากล่าวชี้ว่าพระองค์จะยังเข้ามรรคาแห่งความสุขไม่ได้ หากไม่กล่าวธรรมให้สาธุชนได้สดับ นางมณีเมขลาให้พระองค์ตั้งสถาบันการศึกษา ให้ชื่อว่า ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย. แม้ในกาลนั้นก็จะสำเร็จกิจและได้มรรคาแห่งบรมสุข

พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า : "ทุกบุคคลจะเป็นพ่อค้าวาณิช เกษตรกร กษัตริย์ หรือสมณะ ต้องทำหน้าที่ทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเราต้องหาทางฟื้นฟูต้นมะม่วงที่มีผล. เมื่อพระองค์ดำริฉะนี้แล้ว พอเสด็จเข้ามาถึงพระราชวังก็ตรัสเรียกอำมาตย์มาสั่งว่า ต่อไปนี้ไปปราสาทของเราห้ามคนไปมา นอกจากผู้ที่จะนำอาหารเข้ามาให้เราเท่านั้น เมื่อมีราชกิจใดมีมาพวกท่านจงช่วยกันพิจารณาจัดไปตามความคิด เราจะจำศีลภาวนาสักระยะหนึ่ง” และนับแต่นั้น พระมหาชนกก็บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในพระปรางค์ประสาทมิได้เสด็จไปทางใดเลย พวกพสกนิกรทั้งหลายพากันสงสัยสนเท่ห์ว่าพระราชาของพวกเขาเสด็จไปอยู่แห่งใด เคยสนุกสนานรื่นเริงในการดูมหรสพก็มิได้มี บัดนี้พระองค์ไปที่ใดหรือจะสิ้นพระชนม์เสียแล้ว พากันปรับทุกข์และเล่าลือไปต่าง ๆ นานา แม้จะมีเสียงเล่าลือใด ๆ แต่พระองค์ตรัสห้ามข่าวสารทั้งปวงสิ้น

เมื่อบำเพ็ญสมธรรมอยู่ในปราสาทนาน ๆ เข้าก็คิดจะออกไปอยู่ป่า เพราะในพระราชวังยังมีเสียงอื้ออึงไม่มีความสงบ วันหนึ่งนายกัลบกมาเพื่อชำระพระเกศา พระมัสสุได้ทรงตรัสให้ปลงเสียทั้งหมด แล้วทรงนุ่งห่ทผ้ากาสาวะ เสด็จประทับอยู่ในปราสาท ตั้งพระทัยว่ารุ่งขึ้นจะเสด็จออกไปบำเพ็ญพรตในป่า ในวันนั้นเองพระสิวลีเทวีผู้อัครชายา คิดว่าเรามิได้พบเห็นพระสวามีของเราถึง ๕ เดือนแล้ว ควรจะไปเยี่ยมเยือนเสียที จึงสั่งให้นางสนมกำนัลตกแต่งร่างกาย แล้วพาไป ณ ปรางค์ปราสาทของพระเจ้ามหาชนก พอย่างขึ้นบนปรางค์ปราสาทก็ให้นึกเอะใจ เพราะปรากฎว่าเส้นพระเกศาซึ่งนายภูษามาลาเก็บรวบรวมไว้ยังมิได้นำไปที่อื่น และเครื่องทรงพระมหากษัตย์วางอยู่ และขณะนั้นก็ได้เห็นพระปัจเจกโพธิองค์หนึ่งดำเนินสวนทางลับตานางไป นางยังมิทันคิด แต่เมื่อเห็นเส้นพระเกศาและเครื่องทรง จึงคิดได้ว่าเมื่อกี้เห็นจะเป็นพระสวามีเป็นแน่ มิใช่พระปัจเจกโพธิจึงตรัสเรียกนางสนมกำนันว่า “แม่นางทั้งหลาย พวกเราพากันติดตามพระสวามีเถิดเมื่อกี้ไม่ใช่พระปัจเจกโพธิดอก แต่เป็นพระราชสวามีของพวกเรา” พร้อมทั้งทรงกันแสงไปด้วย แล้วพากันติดตามไปก็ทันพระมหาชนก ต่างพากันร้องไห้คร่ำครวญรำพันด้วยประการต่าง ๆ แต่พระมหาชนกก็มิได้เสด็จกลับ

พระราชเทวีก็คิดอุบายให้ประชาชนพลเมืองนำเอาเชื้อไฟมากอง แล้วจุดไฟขึ้นนแทบทั่วพระนคร แล้วไปทูลเชิญให้กลับมาดับไฟเพราะพระราชวังไหม้หมด แต่พระมหาชนกก็มิได้เสด็จกลับ โดยคิดว่า “เราเป็นบรรชิต ไม่มีสมบัติอันใด” แม้พระราชเทวีจะทำกลอุบายประการใด พระองค์ก็หากลับไม่ คงมุ่งหน้าไปสู่ไพรพฤกษ์ข้างหน้าเท่านั้น พระราชเทวีสนมกำนัล และข้าราชบริพารพากันติดตามไปอ้อนวอนให้เสด็จกลับเข้าครองราชสมบัติดังเก่า แต่พระองค์ก็หากลับไม่ คนเหล่านั้นก็ยังติดตามเรื่อยไป พระองค์เห็นว่ามหาชนจะทำให้การบำเพ็ญพรตของพระองค์เป็นไปไม่ได้สดวก จึงหันกลับมาขีดเส้น พร้อมกับตรัสถามว่า “พวกท่านทั้งหลาย ใครเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกท่าน” “พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกข้าพระองค์” “ถ้าเช่นนั้นใครข้ามเส้นนี้มาจะต้องได้รับพระราชอาญา” แล้วพระองค์ก็เสด็จต่อไป คนทั้งหมดก็ไม่อาจจะล่วงพระราชอาญาได้ ก็ได้แต่พากันร้องไห้คร่ำครวญรำพันไปด้วยประการต่าง ๆ พระนางสิวลีถึงกับพระกันแสงกลิ้งเกลือกกันพื้นดิน จนกระทั่งรอยขีดที่พระราชาขีดไว้ลบเลือนไป คนเหล่านั้นเห็นว่าไม่มีรอยขีดแล้ว ก็พากันติดตามไปอีก พระนารทดาบสเกรงว่าพระมหาชนกจะมีพระทัยท้อแท้ไป จึงมาปลอบใจไม่ให้คลายมานะ ที่จะปฎิบัติธรรม แล้วก็หลีกไป พระมหาชนกก็ดำเนินเรื่อยไป และพระสิวลีเทวีก็เสด็จติดตามไปเช่นเดียวกัน

ตราบจนกระทั่งถึงเมืองถุนันนคร พระองค์ก็เสด็จผ่านเข้าไปในเมืองนั้น ชายคนหนึ่งวางชิ้นเนื้อไว้บนเขียง แล้วตนเองก็หันไปทำงานอื่นเสีย สุนัขเห็นได้ท่วงทีก็วิ่งมาคาบก้อนเนื้อได้ก็วิ่งหนีไป ชายผู้เป็นเจ้าของเนื้อเห็นก็ละจากงานเสียแล้ววิ่งไล่ขับสุนัขไป เมื่อสุนัขวิ่งหนีมาพบพระมหาชนกเดินสวนทางมา อารามกลัวเลยทิ้งก้อนเนื้อเสียแล้ววิ่งหนีต่อไป พระมหาชนกคิดว่าเนื้อก้อนนี้ไม่มีเจ้าของมิได้ ก็หยิบขึ้นมาปัดดินทรายออกเสียแล้วใส่ลงบาตร แล้วเสด็จไปนั่งฉัน ณ ที่แห่งหนึ่ง พระเทวีเห็นอากัปกิริยาเช่นนั้นก็สลดใจว่า แม้แต่สมบัติพัสถานทั้งหลายท่านก็เสียสละหมดแล้ว เสวยได้แม้แต่ของเดนสุนัข เพราะฉะนั้นที่พระองค์จะกลับคืนมาครองเมืองดังเก่าไม่มีแน่แล้วแต่ด้วยความอาลัยก็ยังติดตามพระองค์เรื่อยมา

จนกระทั่งถึงเมืองถุนันนคร เห็นเด็กผู้หญิงมือข้างหนึ่งใส่กำไลสองเส้น ข้างที่มีกำไล สองข้างก็กระทบกันดังกรุ๊งกริ๊งตลอดเวลาที่เคลื่อนไหว พระมหาชนกจึงเสด็จเข้าไปตรัสถามเด็กจึงบอกว่า “ข้างที่มีสองข้างที่ส่งเสียงดัง เพราะมันกระทบกันกระทั้งกัน ท่านเดินมาด้วยกัน ๒ คน จะไปทางใดเล่า” พระมหาชนกได้ฟังคำกุมาริกาแล้วคิดว่า “สตรีเป็นมลทินของพรมจรรย์ ควรจะให้พระสิวลีแยกทางไปเสีย” เมื่อถึงหนทางสองแพร่งจึงบอกกับนางว่า “น้องหญิง นับแต่นี้ต่อไปเราแยกทางกันเดินเถิด และอย่าเรียกเราเป็นสามีอีกต่อไป เจ้าจงเลือกทางเอาว่าจะไปทางใดดี” พระนางสิวลีทรงเศร้าโศกและตรัสตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ ข้าพระบาทมีชาติอันต่ำช้า ขอเลือกไปทางซ้าย ขอพระองค์ เสด็จไปทางขวาเถิด”

เมื่อพระมหาชนกแยกทางไปแล้ว พระนางมีความอาลัยก็เสด็จตามติดไปด้านเบื่องหลังอีก และเมื่อถูกตัดรอนความเยื่อใย พระนางก็ถึงล้มสลบลง แต่ก็ไม่ทำให้พระมหาชนกกลับคืนความคิดได้ คงเสด็จมุ่งหน้าต่อไปเพื่อหาความสงบสงัด จักได้บำเพ็ญพรตภาวนา เมื่อพระนางสิวลีฟื้นคืนสติขึ้นมา ก็ได้พบพระสวามีของพระนางได้เสด็จไปเสียแล้ว พระนางจึงดำริว่า ราชสมบัติทั้งปวงนี้แม้สวามีของเรายังมิได้อาลัยอาวรณ์ เราจะยินดีเพื่อประโยชน์อะไร จึงรับสั่งให้เรียกข้าราชบริพารมา แล้วอภิเษกให้เจ้าทีฆาวุเสวยราชสมบัติพระองค์เองก็เสด็จออกบรรพชา ตราบจนกระทั่งสิ้นชีพไปบังเกิดบนสวรรค์ทั้งสองพระองค์

หมายเลขบันทึก: 435646เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2011 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คติธรรมที่ได้จากชาดกเรื่องนี้

ธรรมะข้อที่ ๑ คือ การตั้งสัตยาธิษฐานของพระโปลชนก คำว่า "สัตยาธิษฐาน" มาจากคำว่า สัจจะ + อธิษฐาน หมายความว่า ให้ตั้งสัจจะขึ้นมาก่อน แล้วจึงอธิษฐานตามหลัง ดังที่พระโปลชนกว่า "ถ้าข้าพเจ้าคิดไม่ซื่อกับพระเชษฐาจริง ขอให้เครื่องจองจำจงคงตรึงมือและเท้าของข้าพเจ้าไว้ แม้ประตูก็จงปิดสนิท แต่ถ้าข้าพเจ้ามิได้มีจิตคิดทรยศ ขอให้เครื่องจองจำจงหลุดจากมือและเท้าของข้าพเจ้า แม้ประตูก็จงเปิดออก" ซึ่งการตั้งสัตยาธิษฐานของผู้มีศีลมีธรรม ย่อมสำเร็จสมประสงค์เป็นแน่แท้

แม้ในสมัยปัจจุบัน ถ้าหากเรากำลังประสบกับอุปสรรคหรือปัญหาชีวิต ก็สามารถที่จะตั้งสัตยาธิษฐาน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์นั้นได้ โดยการตั้งสัตยาธิษฐานดังนี้ “ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอให้ความสวัสดี(ความปลอดภัย)จงมีแก่ข้าพเจ้าฯ”

ธรรมะข้อที่ ๒ เมื่อเรือใกล้จะแตกกลางทะเล หมู่ชนกลัวมรณภัย ร้องไห้คร่ำครวญ กราบไหว้เทวดาทั้งหลาย แต่พระมหาชนกไม่ทรงกันแสงคร่ำครวญ และไม่ไหว้เทวดาทั้งหลาย แต่ทรงคลุกน้ำตาลกับเนย เสวยจนเต็มท้อง แล้วชุบผ้าเนื้อเกลี้ยงสองผืนด้วยน้ำมันจนชุ่ม ทรงนุ่งผ้าให้มั่น แล้วขึ้นไปบนเสากระโดงเรือกระโดดลงมา เพื่อให้พ้นจากบริเวณที่เรือแตก

ข้อคิดจากตรงนี้ก็คือ พระมหาชนกมีสติ มีปัญญา จึงไม่มัวแต่กราบไหว้เทวดาเหมือนคนอื่น เพราะถ้ามัวแต่กราบไหว้อ้อนวอนเทวดา ก็คงจะต้องตายอยู่กลางทะเลเป็นแน่แท้ แต่พระองค์ทรงใช้หลักการพึ่งตนเอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งให้เราได้ตลอดไป"

ธรรมะข้อที่ ๓ ถือกันว่ามีความสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ อันแสดงถึงพระวิริยปรมัตถบารมีที่พระมหาชนกทรงบำเพ็ญ คือ คำโต้ตอบระหว่างนางมณีเมขลากับพระองค์กลางทะเล

นางมณีเมขลากล่าวว่า "ใครหนอ พยายามว่ายน้ำในมหาสมุทร อันแลไม่เห็นฝั่งอยู่เช่นนี้ ท่านเห็นประโยชน์อะไร จึงได้พยายามว่ายอยู่อย่างนี้ ?"

พระมหาชนกตอบว่า "ดูกรเทพธิดา เราได้พิจารณาเห็นธรรมเนียมของโลก และผลของความพยายาม จึงได้พยายามว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรอันแลไม่เห็นฝั่งนี้"

นางมณีเมขลาถามอีกว่า "ฝั่งของมหาสมุทรไม่ปรากฏแก่ท่าน ถึงท่านจะพยายามว่ายน้ำไป ก็จะต้องตายเสียก่อนที่จะถึงฝั่งแน่แท้"

พระมหาชนกตอบว่า "ดูกรเทพธิดา เมื่อบุคคลทำความเพียรอยู่ ถึงจะตายไปก็ได้ชื่อว่าไม่เป็นที่ติเตียนของบิดา-มารดาวงศาคณาญาติตลอดถึงเทพยดาทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เมื่อบุคคลตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถแล้ว ย่อมจะไม่เสียใจภายหลัง"

นางมณีเมขลากล่าวว่า "การพยายามทำงานอันใดแล้วยังไม่สำเร็จ แต่เกิดอุปสรรคถึงกับเสียชีวิตไปก่อน ก็ไม่ควรทำความพยายามนั้นเลย เพราะความพยายามที่ทำมาทั้งหมด สูญเปล่า"

พระมหาชนกตอบว่า "ผู้ใดรู้ว่าการงานที่ทำไปจะไม่สำเร็จ แล้วไม่รีบหาทางป้องกันภัยอันตราย บุคคลนั้นชื่อว่าไม่รักษาชีวิตตน ถ้าบุคคลนั้นละความเพียรเสีย ก็จะได้รับผลแห่งความเกียจคร้านของตน บางคนได้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน แล้วตั้งใจทำงาน ถึงการงานจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ก็ได้เห็นผลงานประจักษ์แก่ตน

ท่านจงดูคนทั้งหลายที่มาในสำเภาเดียวกับเราเถิด คนพวกนั้นพากันย่อท้อต่ออันตราย ไม่พยายามว่ายน้ำจนสุดความสามารถก่อน จึงพากันจมน้ำตายในมหาสมุทรทั้งสิ้น เหลือแต่เราผู้เดียวที่สู้ทนว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรอยู่ถึง ๗ วันเข้าแล้ว

บัดนี้ เราได้เห็นผลของความเพียรนั้นแล้ว คือเราได้เห็นท่านซึ่งเป็นเทวดาที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ท่านจะมาบอกว่าความพยายามของเราสูญเปล่าได้อย่างไร ? เพราะฉะนั้นเราจักพยายามว่ายน้ำอีกต่อไป จนกว่าจะถึงฝั่งแห่งมหาสมุทรให้จงได้"

นางมณีเมขลาได้ฟังดังนั้นก็เกิดความเลื่อมใส สรรเสริญพระมหาชนกว่า "ท่านได้เพียรสู้ทนว่ายน้ำข้ามทะเลทั้งใหญ่ทั้งลึกหาประมาณมิได้ จนถึงกับไม่จมน้ำตาย บุรุษเช่นท่านหาได้ยากในโลก ท่านประสงค์จะไปที่ใด ดิฉันจะไปส่ง" แล้วจึงอุ้มพระมหาชนกไปส่ง ณ ที่ที่พระองค์ประสงค์จะไป คือเมืองมิถิลานคร

ธรรมะข้อที่ ๔ หลังจากที่พระมหาชนกทรงครองราชย์แล้ว พระองค์ทรงระลึกถึงความหลังที่ทรงทำความเพียร ณ ท่ามกลางมหาสมุทร จึงทรงมนสิการ(รำพึง)ในใจว่า "ขึ้นชื่อว่าความเพียร ควรทำแน่แท้ ถ้าเราไม่พยายามว่ายน้ำกลางทะเลจนถึงวันที่ ๗ เราคงตายไปกลางทะเลแล้ว คงจักไม่ได้ราชสมบัตินี้"

เมื่อพระองค์ทรงอนุสรณ์ถึงความเพียรนั้น ก็เกิดปีติโสมนัสซาบซ่าน จึงทรงเปล่งอุทานด้วยพระกำลังปีติว่า

"บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ควรพยายามร่ำไป ไม่ควรเบื่อหน่ายในกิจของตน

จงดูเราซึ่งได้ขึ้นสู่บกและได้ครองราชสมบัติเป็นตัวอย่าง

คนเป็นอันมากเมื่อกำลังประสบทุกข์ จะไม่ตั้งใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

แต่เมื่อได้รับความสุข จึงตั้งใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

ส่วนบุคคลผู้มีปัญญา ถึงแม้กำลังประสบทุกข์ก็ไม่สิ้นหวังว่าจะไม่ได้ประสบสุข

เพียรสู้ทนทำหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถ ย่อมจะประสบความสำเร็จแน่นอน

เพราะว่าสิ่งที่มิได้คิดไว้ล่วงหน้าอาจเกิดขึ้นก็ได้

สิ่งที่คิดไว้ล่วงหน้าอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้

ทรัพย์สมบัติทั้งหลายของบุรุษหรือสตรี

ไม่อาจสำเร็จ(เกิดขึ้น)ได้เพียงแค่ความคิด

(แต่สำเร็จลงได้ด้วยการลงมือกระทำเท่านั้น)"

ดังนั้น ชนผู้ไม่ประมาท ควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับกับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน

ธรรมะข้อที่ ๕ ก่อนที่พระมหาชนกจะเสด็จออกผนวชได้ไม่นาน พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า บรรพชิตเป็นเพศที่ประเสริฐที่สุดในโลก ประเสริฐกว่าแม้เพศแห่งพระราชา (อิมมฺหา ราชเวสา ปพฺพชิตเวโส วรตโร)

ธรรมะข้อที่ ๖ พระมหาชนกทรงพิจารณาด้วยปัญญาที่เฉียบแหลม เห็นว่า "ต้นมะม่วงที่มีผล ถูกมหาชนรุมเก็บกินจนหักโค่นลงมา ส่วนต้นมะม่วงที่ไม่มีผล กลับตั้งตระหง่านอยู่ตามปกติ"

พระองค์ทรงได้ความสังเวชว่า "แม้ราชสมบัตินี้ ก็เช่นกับต้นไม้มีผล บรรพชาเช่นกับต้นไม้ไม่มีผล ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีกังวล เราจักไม่เป็นเหมือนต้นไม้มีผล แต่จักเป็นเหมือนต้นไม้ไม่มีผล เราจักเสด็จออกบรรพชา"

พระมหาชนกดำริต่อไปอีกว่า "พวกศัตรู ย่อมประสงค์จะฆ่าเราผู้มีสมบัติเหมือนกับต้นไม้ที่มีผลฉะนั้น อุปมาดั่งเสือเหลือง ย่อมถูกคนฆ่าเพราะหนัง ช้างพลายย่อมถูกคนฆ่าเพราะงา คนมีทรัพย์ย่อมถูกคนฆ่าเพราะทรัพย์ ฉันใด คนไม่มีเหย้าเรือนและไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลสตัณหาย่อมไม่มีใครฆ่า เหมือนกับต้นมะม่วงที่ไม่มีผล ฉันนั้น"

สรุปแล้วการที่พระมหาชนกประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวัง เพราะพระองค์ทรงพรั่งพร้อมด้วยคุณธรรม ๓ ประการ คือ

๑. มีความเพียรที่บริสุทธิ์

๒. มีปัญญาที่เฉียบแหลม

๓. มีกำลังกายที่สมบูรณ์

ดังนั้น ผู้ที่อยากจะประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตน จงพยายามบำเพ็ญธรรม ๓ ประการนี้ ให้เกิดมีในตนเถิด

บุญรักษา ธรรมคุ้มครองทุกท่านค่ะ

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตออกมหาภิเนษกรมณ์.

ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอนุรุทธะ ในบัดนี้

พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ ได้มาเป็น พระกัสสปะ

นางมณีเมขลาเทพธิดาผู้รักษาสมุทร ได้มาเป็น อุบลวรรณาภิกษุณี

นารทดาบส ได้มาเป็น พระสารีบุตร

มิคาชินดาบส ได้มาเป็น พระโมคคัลลานะ

นางกุมาริกา ได้มาเป็น นางเขมาภิกษุณี

ช่างศร ได้มาเป็น พระอานนท์

ราชบริษัทที่เหลือ ได้มาเป็นพุทธบริษัท

สีวลีเทวี ได้มาเป็น ราหุลมารดา

ทีฆาวุกุมาร ได้มาเป็น ราหุล

พระชนกพระชนนี ได้มาเป็น มหาราชศากยสกุล

ส่วนพระมหาชนกนรินทรราช คือ เราผู้เป็น สัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เอง.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท