กรณีศึกษา ทัวร์รอแยล


ศึกษาธุรกิจท่องเที่ยวจากเรื่องจริง

กรณีศึกษาบริษัททัวร์รอแยล

บริษัททัวร์รอแยล Tour Royale Co.,Ltd เป็นบริษัทขนาดกลาง เจ้าของเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลดี มีการศึกษาสูง สามีเป็นนายพลตำรวจ เริ่มจากการจัดนำเที่ยวในประเทศให้กับคนไทยที่เป็นลูกค้าประจำ ในวันเสาร์ และอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ควบคู่ไปกับการจัดนำเที่ยวในเขตกรุงเทพให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นประจำทุกวัน มีผู้จัดการบริหารงาน ๒ คน

หลังจากลูกชายคนโตจบการศึกษาจากต่างประเทศ ได้เข้ามาร่วมบริหารบริษัท เปิด แผนกตัวแทนขายตั๋วเครื่องบิน และขยายการให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการขายตรงกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย( B to C)  เป็นการทำธุรกิจInbound Tour Operator แทน ( B to B) เป็นยุดที่มีการลงทุนสูงมาก มีการดึงผู้บริหารจากสายการบิน และโรงแรม เข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงมากขึ้น เริ่มทำตลาดต่างประเทศ ลงทุนนำรถท่องเที่ยวระดับหรู  ปิกาโซ่ เข้ามาใช้งานวิ่งทำทัวร์ประจำระหว่างประเทศไทย และสิงค์โปร์ ผู้จัดการที่เริ่มก่อตั้งบริษัทได้ออกไปเปิดธุรกิจของตัวเอง หนึ่งในผู้จัดการได้แก่ คุณเถกิง เจ้าของเถกิงทัวร์ ยุคนี้เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ลูกค้าคนไทยเดิมหายไปเพราะติดตามไปใช้บริการของผู้จัดการที่ออกไป มีการเปลี่ยนเป้าหมายลูกค้าเน้นการทำธุรกิจกับต่างชาติมากขึ้น เข้าใจว่าจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีแต่ผู้บริหารระดับสูงที่กินเงินเดือนสูงๆ แต่ขาดผู้บริหารระดับกลาง เปรียบเหมือนกับการสร้างตึกหลายๆชั้น แต่ไม่มีบันไดเชื่อมระหว่างชั้น จึงทำให้บริษัทไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้บริษัทเงินทุนส่งคนเข้ามาช่วยบริหาร และเปลี่ยนจากการเน้นเรื่อง บริษัทท่องเที่ยว เป็น wholesale ขายตั๋วเครื่องบิน และ Air Cargo  อย่างไรก็ตามบริษัทเงินทุนเองก็เกิดปัญหาภายใน จึงทำให้บริษัททัวร์รอแยลไปไม่ถึงดวงดาว ในที่สุดบริษัททัวร์รอแยลได้ถูกซื้อกิจการโดยแยกเป็นสองส่วน ส่วนของ Air Cargo เป็นของคุณสมชาย ชาติอัปสร เป็นผู้บริหารสายของทีมเจ้าของเดิม ใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า บริษัททัวร์รอแยล แอร์ คาร์ โก้ Tour Royal Air Cargo Co,.Ltd  ปัจจุบันถือว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน Logistics ของประเทศไทย (ดูรายละเอียดได้ในเวปไชด์  www.trac.co.th)  และส่วนของบริษัทท่องเที่ยวเป็นของคุณบุญส่ง ผู้บริหารจากสายบริษัทเงินทุน (ไม่ทราบสถานะปัจจุบัน)

สำหรับกรณีศึกษาบริษัททัวร์รอแยล ผมขอแยกเป็นประเด็นต่างๆดังนี้

ส่วนของเจ้าของ แยกเป็น ๓ ช่วง

          ช่วงแรก เป็นช่วงของผู้ก่อตั้ง เจ้าของมาจากตระกูลดี มีเงิน ภรรยาเป็นลูกสาวห้างขายทอง ส่วนสามีเป็นนายพลตำรวจ และเป็นผู้บริหารของสมาคม รยสท ถือว่ามีความพร้อมในการเปิดบริษัทท่องเที่ยวอย่างมาก เจ้าของเป็นคนดีมากทั้งสามีและภรรยา บริหารธุรกิจและบริหารคนได้ดีเยี่ยม

          ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่มีบริษัททางด้านสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่กลุ่มของ คุณบุญชู โรจนเสถียร ได้มอบหมายให้ คุณพอล สิทธิอำนวย และคุณสุธีร์ นพคุณเป็นผู้เข้ามาช่วยบริหารร่วมกับ เจ้าของเดิม ถือว่ายิ่งทำให้บริษัทเข้มแข็ง มีความเป็นมืออาชีพ ได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีเงินทุนสูง

          ช่วงที่สามเป็นช่วงที่บริษัทเงินทุนมีปัญหาภายใน และในที่สุดทำให้เกิดการแบ่งขายกิจการ ให้กับผู้บริหารที่อยู่ในสายของเจ้าของเดิม และอยู่ในสายของบริษัทเงินทุน ปรากฏว่าสายผู้บริหารของเจ้าของเดิม ได้แก่คุณสมชาย ชาติอัปสร สามารถบริหารจัดการบริษัทได้อย่างดีเยี่ยม ในส่วนของ Air Cargo และพัฒนาไปเป็น Logistics แต่ส่วนของผู้บริหารสายสถาบันการเงิน ไม่สามารถบริหารงานให้เติบโตต่อไปได้

ส่วนของการจัดการและผู้บริหาร แยกออกเป็น ๓ ช่วง เช่นกัน

ช่วงแรก เป็นการบริหารจัดการแบบครอบครัว แยกออกเป็น ๒ ส่วน

๑.      บริการนำเที่ยวคนไทยเที่ยวในประเทศไทย และ ต่างประเทศ มีคุณเถกิง สวัสดิพันธ์ (เจ้าของ เถกิงทัวร์ ) เป็นผู้จัดการ บริหารงานได้อย่างดีเยี่ยม ลูกค้าพอใจการบริการเป็นอย่างมาก คุณเถกิง เป็นครูมาก่อน อบรมและสอนลูกน้องให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พนักงานทุกคนทำงานด้วยความสนุก ทำงานเป็นทีม ไม่เคยมีวันหยุด จันทร์- ศุกร์ ทำหน้าที่ขายและรับจองทัวร์ วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ พนักงานทุกคนต่างช่วยกันออกทัวร์ แต่ละอาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวอย่างน้อย ๑๐ บัส เส้นทางละ ๒-๓ บัส ธุรกิจในส่วนนี้ไปได้ดีมาก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ เที่ยวในประเทศก่อนหลังจากนั้นก็จะไปเที่ยวต่างประเทศ

๒.     ให้บริการนำเที่ยวสั้นๆในกรุงเทพ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า  Sightseeing Tour เป็นทัวร์ประมาณ ๓ ชั่วโมง และทัวร์เต็มวัน ทางบริษัทได้เช่าพื้นที่ใช้เป็นเคานเตอร์ขายทัวร์ ที่โรงแรม Peninsula ถนนสุริวงศ์ และ โรงแรม Florida พญาไท เพื่อขายบริการนำเที่ยวกับนักท่องเที่ยวที่พักอยู่ในโรงแรมทั้งสอง มีคุณประทีป เป็นผู้จัดการ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่โรงแรม Peninsula มีมัคคุเทศก์ประจำหลายคน พนักงานนั่งเคานต์เตอร์ พนักงานขับรถ (ผมเริ่มทำงานในส่วนของพนักงานนั่งเคานเตอร์ ขายทัวร์ ควบคู่ไปกับการเรียนธุรกิจการบิน เช่นเดียวกับคุณมนตรี เจ้าของบริษัท Arlymear Travel หนึ่งในบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติยักษ์ใหญ่ด้าน Inbound Tour Operator  จากประเทศแถบ ยุโรป ที่ทำงานเป็นไกด์ควบคู่ไปกับการเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เราอยู่กันอย่างครอบครัว สนุกสนานกับการทำงาน ทุกคนทำงานเป็นทีม และไม่มีวันหยุด ธุรกิจในส่วนนี้ดีพอใช้ได้

ผู้จัดการทั้งสองท่านขึ้นตรงกับกรรมการผู้จัดการได้แก่เจ้าของ ถึงแม้นการบริหารจัดการของทั้งสองส่วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ผู้จัดการทั้งสองก็บริหารจัดการในส่วนของแต่ละท่านได้อย่างดีเยี่ยม ธุรกิจดีแบบพอเพียง

ช่วงที่สอง เป็นช่วงการขยายบริษัท เปลี่ยนจากการทำกิจภายในประเทศ เป็นการทำธุรกิจแบบสากล เน้นการทำธุรกิจกับต่างประเทศมากกว่าการทำธุรกิจในประเทศ มีการลงทุนสูงทั้งด้านการตลาดและการจัดการ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของธุรกิจ บริการนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก  เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เป็น การทำธุรกิจแบบเน้นปริมาณ สร้างความยิ่งใหญ่ ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของธุรกิจท่องเที่ยวที่มีบริการครบวงจร แยกธุรกิจหลักออกเป็น ๒ ส่วน

          ๑.ตัวแทนขายตั๋วเครื่องบิน  ผมเป็นผู้ดำเนินการเปิดแผนกนี้ โดยได้รับการปรึกษาและคอยช่วยเหลือจาก คุณวีรพงษ์ โพธิภักดิ์ ผู้จัดการของสายการบิน Alitalia  ต่อมาคุณวีรพงษ์ได้ลาออกจากสายการบินและเข้ามาบริหารงานให้กับทัวร์รอแยล หลังจากนั้นไม่นาน ได้ดึงตัวคุณสมชาย ชาติอัปสร ผู้จัดการฝ่ายขาย Air Cargo ของสายการบิน แอร์สยาม มาเป็นผู้จัดการด้านตัวแทนสายการบิน ทั้งการขายตั๋วผู้โดยสาร และได้เปิดแผนก Air Cargo คุณสมชาย ได้ดึงตัวเพื่อนๆจากสายการบินอีกหลายคนเข้ามาสร้างทีมขายเปลี่ยนจากการขายปลีกมาเป็นขายส่ง เน้นจำนวนยอดขายให้กับหลายๆสายการบิน เป็นอันดับหนึ่งของแต่ละสายการบิน เพื่อหวังได้รับ Incentive จากสายการบิน ให้อำนาจกับทีมขายมาก  ฝ่ายบัญชีและการเงินตามไม่ทัน มีการเอาเปรียบบริษัท และผมไม่สามารถทำอะไรได้  ผมจึงตัดสินใจลาออกและไปช่วยคุณเถกิง อดีตเจ้านายเก่าที่ไปเปิดบริษัทเถกิงทัวร์   อย่างไรก็ตามผมถูกดึงตัวกลับมาที่ทัวร์รอแยล หลังจากไปอยู่กับคุณเถกิงได้ปีกว่าๆ ( มาทราบภายหลังว่าเขาเรียกผมมาเก็บเข้ากรุ เนื่องจาก คุณเถกิงดึงลูกค้าทัวร์เก่าๆไปจากบริษัททัวร์รอแยล และเมื่อผมไปอยู่เถกิงทัวร์ทำให้ลูกค้าด้านตั๋วเครื่องบินของผมติดตามไปใช้บริการที่เถกิงทัวร์  เป็นวิธีการชะลอการเติบโตของเถกิงทัวร์)  ในที่สุดผมก็ได้ลาออกจากทัวร์รอแยลอีกครั้งในชั่วที่๒ นี้  ความเสียหายสูงสุดของบริษัททัวร์รอแยล คือการรับเหมาซื้อขาดตั๋วเครื่องบินของสายการบินแอร์สยามมาปล่อยขาย และสายการบินแอร์สยามถูกปิดกิจการ ทำให้ตั๋วที่ซื้อมานำไปขายต่อไม่ได้

          ๒.ส่วนของการท่องเที่ยว ลูกชายเจ้าของเป็นผู้บริหารทั้งหมด ทุ่มเรื่องการตลาดและการจัดการ ดึงผู้บริหารด้านการตลาดของโรงแรมใหญ่ๆ และผู้บริหารการตลาดจากสายการบินไทย เข้ามาทำตลาดต่างประเทศ ทุ่มเงินด้านการตลาดสูงมาก จ้างฝ่าย PR ระดับนำของประเทศ ค่าตัวผู้บริหารแต่ละคนมีเงินเดือนสูงมาก แต่ก็ได้นักท่องเที่ยวเข้ามามากเช่นกัน ทั้งเข้ามาและออกไป เป็นกลุ่มใหญ่ๆหรือเช่าเหมาลำ งานเข้ามามาก ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการมาจากสายการบิน ไม่มีความชำนาญและเข้าใจการบริหารจัดการการให้บริการด้านการท่องเที่ยว การบริหารจัดการมีปัญหา เกิดการรั่วไหลสูง ลูกชายเจ้าของผู้บริหารสูงสุดในส่วนนี้เป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างมาก ใจใหญ่ใช้เงินเก่ง ใจดีและรักลูกน้องมาก แต่ได้ผู้บริหารระดับรองไม่เก่งดีแต่พูดและเอาประโยชน์ใส่ตัว

          ยุดนี้เป็นยุคที่สร้างความร่ำรวยให้กับผู้บริหาร และพวกซับเอเยนของบริษัททัวร์รอแยล

ช่วง ๓ เป็นช่วงที่กลุ่มของคุณพอลและคุณสุธีร์แยกกัน และมีผลกระทบมาถึงทัวร์รอแยล จนในที่สุดเจ้าของเดิม ต้องทิ้งบริษัท มีการแบ่งขาย ให้กับผู้บริหารทัวร์รอแยลในขณะนั้น ส่วนตัวแทนสายการบิน คุณสมชาย รับมา และเปลี่ยนชื่อมาเป็น Tour Royale Air Cargo และคุณบุญส่ง ผู้บริหารของฝ่ายสถาบันการเงิน รับ ทัวร์รอแยล ด้านการท่องเที่ยวไว้ จึงถือว่าทัวร์รอแยลของเดิมสิ้นสุดลงในปี ๑๙๗๕

หมายเลขบันทึก: 435529เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2011 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

จะให้สมบรูณ์น่าจะมีปีพศ ลงได้วยในแต่ละช่วง จะดีมากนะครับ ภาพจะได้ชัดเจนขึ้นนะครับ

เชษฐา เปรมานนท์

ขอบคุณครับ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องในอดีต ตั้งแต่ผมเริ่มทำงานครั้งแรก ประมาณ 40 ปีมาแล้ว ถ้าจะเอา พ.ศ.ชัดๆคงต้องเสียเวลาค้น แต่ถ้านับจากช่วงที่ผมเริ่มเข้าไปทำงานและเรียนไปด้วยก็เป็นปี พ.ศ. 2511 เมื่อผมเรียนจบเมื่อปี 2513 เริ่มเข้ายุคที่สอง แต่ยุคที่สามจำไม่ได้ว่าเป็นช่วงไหนเพราะผมลาออกแล้ว

ปัจจุบันนี้อย่าไปอยู๋เลย Tour Royale น่ะ เงินเดือนก็ไม่จ่าย เปิด ทำไมไม่รู้หลายบริษัท การเงินแย่

ผมว่าการทำกรณ๊ศึกษาเรื่องการท่องเที่ยว ต้องได้ข้อสรุปผมดีผลเสีย และกลยุทธ์ที่บริษัทใช้ สอดคล้องหรือไม่กับภาวะตลาดในขณะนั้น เพราะปัจจุบัน "ศาสตร์" และ "ศิลป์" ของการจัดการ กลยุทธ์ การตลาด เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก แต่ก็จะสามารถเป็นแนวทาง คือ กรณีศึกษาสำหรับปัจจุบันได้ การนำประวัติมาเล่าเป็นช่วงๆ ดี แต่ทำเป็น Company profile ก้อน่าจะเพียงพอ หากได้เพิ่มแนวคิดในส่วน กลยุทธ์ ที่ใช้ต่างๆ เข้าไปจะดีมาก


 

สวัสดีครับคุณ Andy 

ขอบคุณที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น เป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ ถ้ามีเวลาว่างจะค่อยๆพิจารณาทบทวนดูครับ เพราะช่วงที่ผมอยู่ทัวร์รอแยลนานมากตั้งแต่ผมยังหน่่มๆอยู่ ร่วม 30 ปีมาแล้ว ส่วนทัวร์รอแยลปัจจุบัน ผมไม่ได้ติดตามเลยไม่ทราบที่มาที่ไป คุณ Andy เคยอยู่ ทัวร์รอแยล หรือเปล่าครับ ถ้าเคยหรือใกล้ชิดติดตามก็ช่วยเขียนวิเคราะห์กลยุทธ์ที่ใช้ในช่วงคุณ Andy ทราบ ก็จะเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้สนใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท