เพลงอีแซว ตอนที่ 16 เกาะติดเวทีการแสดง "งานทำบุญอัฐิที่วัดบางเตย กรุงเทพฯ"


“เมื่อยังมีผู้ที่สืบสาน รักษาไว้ซึ่งศิลปะการแสดงของท้องถิ่นอย่างเหนียวแน่น แล้วจะมีใครที่มองเห็นคุณค่าความสำคัญ ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนกันต่อไป”

เพลงอีแซว ตอนที่ 16

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

งานทำบุญอัฐิที่วัดบางเตย กรุงเทพฯ

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

              

          ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ผมได้รับการติดต่อทางโทนศัพท์ จากคุณพนม เค้าแสงทอง ท่านได้ไปร่วมกิจกรรมในงามมหกรรมการเงินที่ศูนย์สิริกิติ เมื่อ ปี พ.ศ. 2552 (ปี 2009) และได้ชมการแสดงเพลงพื้นบ้าน คณะสายเลือดสุพรรณฯ ท่านได้บันทึกเบอร์โทรศัพท์ ที่ปรากฏบนด้านหลังเสื้อของนักแสดงเอาไว้ เมื่อถึงวันที่ท่านต้องการให้นักแสดงที่ท่านเคยเห็นไปทำการแสดงที่วัดบางเตย ท่านจึงโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาแจ้งให้ผมทราบว่า ในวันที่ 13 เมษายน 2554 ที่วัดบางเตย ถนนนวมินทร์ 60 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ จะมีงานทำบุญอัฐิรวมญาติ ในเทศกาลสงกรานต์ วันผู้สูงอายุ ต้องการให้ผมนำคณะนักแสดงเพลงพื้นบ้านไปร่วมกิจกรรมเต็มรูปแบบ หมายถึงว่าทีมงานจะต้องจัดเป็นชุดการแสดงที่ประกอบด้วย
          1. ทีมนักแสดงชายหญิงผู้ให้จังหวะจำนวน 15 คนนำเสนอเรื่องของสังขารบาปและบุญ
          2. เวทีการแสดงเพลงพื้นบ้านหน้ากว้างประมาณ 9-10 เมตร ความลึก 4.5-5 เมตร และความสูงจากพื้นล่างถึงพื้นเวที 1.00-1.50 เมตร
          3. ชุดเครื่องเสียงชนิดลำโพงแขวนพร้อมไฟฟ้าให้แสงสว่างบนเวทีมองเห็นผู้แสดงชัดเจน
           ผมจัดเตรียมทีมการแสดงตามที่จะต้องออกไปนำเสนอผลงานเต็มรูปแบบ นัดหมายนักแสดงเพื่อที่จะวางโครงเรื่องให้เหมาะสมกับงานซึ่งในแต่ละสถานที่เราไม่ทราบความสนใจของท่านผู้ชมว่าท่านชอบการแสดงที่ออกมาในรูปแบบใด เช่น
           - การแสดงที่เน้นร้องตามทำนองเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด ฯลฯ ล้วน ๆ ไม่มีการพูดสลับ
           - การแสดงที่มีทั้งร้อง รำ พูดประกอบการแสดงคละเคล้ากันไปตั้งแต่ต้นจนจบ
           - การแสดงที่เล่นเป็นเรื่องแบบละคร ตอนสั้น ๆ ประกอบการแสดงเพลงพื้นบ้าน
           - การแสดงที่เน้นความตลกขบขัน ผสมผสานกับการแสดงเพลงพื้นบ้าน
           - การแสดงที่เน้นความสนุกสนานบันเทิงเป็นหลักแต่สอดแทรกอยู่ในการแสดงเพลงพื้นบ้าน
           เช้าวันที่ 13 เมษายน 2554 เวลาประมาณ 12.00 น. ผมนำทีมงานการแสดง เวทีแสงเสียงออกเดินทาง จากอำเภอดอนเจดีย์ไปยังวัดบางเตย ถนนนวมินทร์ 60 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร โดยใช้เส้นทางถนนวงแหวน สายบางนา-ตราด ถนนโล่งดีการเดินทางสะดวกแต่ว่าอ้อมไปมากพอสมควร ไปถึงวัดประมาณ 14.45 น. เป็นเวลาที่เวทีของอ๊อดสุพรรณฯ (เพิ่มพร ฤกษ์อาวรณ์) กำลังดำเนินงานติดตั้งโดยใช้เวลาประกอบเวที ติดตั้งเครื่องขยายเสียงและไฟฟ้าประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย นักแสดงได้รับการต้อนรับจากคณะกรรมการวัดบางเตยเป็นอย่างดี โดยมีบุคคลสำคัญ 4 ท่าน ขออนุญาตเอ่ยนามไว้ ณ ที่นี้ (เพราะท่านเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนเพลงพื้นบ้านโดยแท้) ได้แก่
          - พระเดชพระคุณหลวงพ่อ    พระครูประพัทธ์ธรรมพิสุทธิ์  เจ้าอาวาสวัดบางเตย
          - คุณลุงสำนวน  เชยกลิ่น      ประธานคณะกรรมการวัดบางเตย
          - คุณสุวิทย์      จันทร์อำรุง    กรรมการวัดบางเตย
          - คุณพนม     เค้าแสงทอง     กรรมการวัดบางเตย
          โดยเฉพาะคุณพนม เค้าแสงทอง นำผมและคณะนักแสดงไปรับประทานอาหารกลางวัน (บ่าย 2 โมงเศษ) ที่โรงอาการ คณะแม่ครัวเตรียมอาหารเอาไว้รองรับคณะนักแสดงจำนวนมาก รับประทานกันไม่หมด อิ่มอร่อยไปตาม ๆ กัน พอตกเย็นที่ข้างเวทีแสดงยังมีอาหารอีก 1 ชุด สำรองเอาไว้กันหิวอีก (ด้วยความเป็นห่วงและมีเมตตาของคณะกรรมการ) พอประมาณ 21.30 น. มีอาหารรอบดึกเป็นข้าวต้มเครื่องมาอีกรอบ น้ำดื่มพร้อมมีทั้งแช่เย็นและไม่แช่เย็น ผมทำได้แค่เพียงยกมือไหว้ขอบพระคุณคณะกรรมการที่มีเมตตาพวกเรามากจริง ๆ
          งานในคืนวันนี้ ที่วัดบางเตยเป็นงานทำบุญอัฐิ ญาติพี่น้องทั้งหลายนำกระดูกของบรรพบุรุษมาตั้งรวมกันที่วัด (ทำศพรวมญาติ) ตามประเพณีนิยมในเทศกาลสงกรานต์ที่ต่อเนื่องกันมานาน เวลาประมาณ 18.45 น. พิธีกรของวัดประกาศให้ประชาชนทุกท่านเข้ามานั่งบนศาลาที่ตั้งกระดูก เวลา 19.00 น.พระภิกษุและสามเณรลงศาลา ต่อจากนั้นก็จะเป็นพิธีสงฆ์ไปจนถึงเวลา 20.00 น.เสร็จพิธี ต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของมหรสพเพลงพื้นบ้านทำการแสดง คุณพนมกระซิบให้ผมทราบว่าการแสดงคืนนี้ให้เริ่มต้นได้ตั้งแต่เวลา 20.00 น. (2 ทุ่มตรง)

         

         

           

          นักแสดงใช้สถานที่บนเวทีแต่งหน้าทาปากเขียนคิ้วทำผมและเปลี่ยนเป็นชุดการแสดงกันบนเวทีโดยหลบ ๆ มุมเอา หาฉากบังเอาไว้บ้าง (ปกตินักแสดงเพลงพื้นบ้านจะแต่งตัวกันบนเวทีแบบโบราณ) พอได้เวลาการแสดงก็เริ่ม
          ตอนที่ 1 เป็นการร่ายรำเชิญเทวา บูชาครูไหว้ครูที่ได้สอนศิลปะการแสดงมาตั้งแต่รุ่นเก่า
          ตอนที่ 2 ร้องเรื่องประวัติสงกรานต์ ที่มาของการทำบุญและการสาดน้ำในวันสงกรานต์
          ตอนที่ 3 กล่าวสวัสดีคารวะท่านผู้ชม สนทนาและต่อด้วยบทร้องเพลงออกตัวโดยนักแสดงรุ่นใหม่ ผมออกไปแสดงร่วมกับทีมงาน ด้นกลอนสดขอบคุณท่านเจ้าภาพ คุณลุงสำนวน เชยกลิ่น คณะกรรมการและผู้ชมทุกท่าน (ขอบพระคุณในรางวัลน้ำใจที่หยิบยื่นให้)
          ตอนที่ 4 เป็นการแสดง “ชุดสังขาร” ติดตามด้วยลำตัดประยุกต์ “ชุดส้มตำลำตัด”
          ตอนที่ 5 เป็นเพลงประคารมแบบสนุกสนานสอดแทรกคติสอนใจเอาไว้
          ตอนที่ 6 เพลงลา อวยพร ขอบคุณท่านผู้ชมที่ให้กำลังใจจนจบการแสดง
          การแสดงเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 20.05 น. ไปจนถึง 23.05 น. (180 นาที) แต่กว่าที่จะจัดเก็บอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยออกเดินทางกลับจากวัดบางเตย 00.30 น. ไปถึงห้องศิลปะการแสดง อาคาร 5 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 เวลา 02.50 น. นักแสดงทุกคนรู้สึกอ่อนเพลียบ้างเพราะทำการแสดงมา 5 สถานที่ ในช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

         

         

         

         

          บรรยากาศภายในบริเวณวัดบางเตย หนาแน่นไปด้วยอาคาร ทีเป็นสถานที่ประกอบกิจของสงฆ์ มีที่ว่างอยู่ประมาณ 1 งาน หน้าศาลาการเปรียญ เป็นที่ตั้งเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้าน คืนนี้ท่านผู้ชมมารอให้กำลังใจกันตั้งแต่เวลา 18.30 น. กว่าเพลงจะทำการแสดงก็เวลา 20.00 น. เศษ เก้าอี้ได้ถูกนำเอาออกมาวางเรียงกันที่หน้าเวทีเป็นจำนวนมาก ท่านผู้ชมทยอยกันเข้าไปนั่งที่เก้าอี้ชมการแสดง ให้กำลังใจด้วยเสียงปรบมือ เสียงหัวเราะ ให้รางวัลผู้แสดง บางท่านเรียกให้นักแสดงลงไปรับรางวัลที่เก้าอี้ที่ท่านนั่งชมแถวหลัง ก็ได้รับเสียงฮือฮากันพอสมควร บางท่าก็เข้ามาให้กำลังใจกันที่หน้าเวที (กราบขอบพระคุณในทุก ๆ กำลังใจที่มีเมตตาต่อนักแสดงในทีมงาน)

             

          ภารกิจของเราได้ผ่านไปอีกช่วงเวลาหนึ่งอันเป็นเทศกาลสำคัญ สงกรานต์ไทย แต่ภารกิจในวันข้างหน้าต่อ ๆ ไปของพวกเรายังมีอีกยาวนาน เพียงแต่ว่า “เมื่อยังมีผู้ที่สืบสาน รักษาไว้ซึ่งศิลปะการแสดงของท้องถิ่นอย่างเหนียวแน่น แล้วจะมีใครที่มองเห็นคุณค่าความสำคัญ ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนกันต่อไป”
ติดตามเพลงอีแซว เกาะติดเวทีการแสดง ตอนที่ 17 มหาสงกรานต์ “พาณิชย์นิยมไทย”

 

หมายเลขบันทึก: 435476เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2011 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เพลงไทยๆ งดงามจริงๆ ครับ

ขอบคุณครับ

  • สวัสดีค่ะ
  • เห็นรูปอาจารย์ดีใจที่ไดพบ คิดถึงมากค่ะ
  • ยังยึดมั่นสืบสานเพลงอีแซวเช่นเดิม ชื่นชมมากๆค่ะ
  • ขอขอบคุณ อ.นุ ที่ให้กำลังใจคนสืบสานภูมิปัญญา
  • วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นมีความงดงามตามที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง

สวัสดี ศน.ลำดวน

  • ในช่วงสงกรานต์ ผมนำทีมงานออกไปร่วมกิจกรรมหลายสถานที่ เพิ่งจะได้พักก็ช่วงนี้
  • ผมยังคงยึดมั่นในสิ่งที่ตนเองเดินทางมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจนวันนี้มิมีเปลี่ยนแปลง
  • แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสังกัดเดียวกัน แต่ความผู้กพัน ความระลึกถึงยังคงมีตลอดไป ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท