ไปเรียนรู้อุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา (17) AAR


AAR ส่วนของผม ที่ผมพูดในกลุ่ม ๒ ข้อ คือเรื่อง Academic Transformation ที่บันทึกไปแล้ว กับ การจัดการระบบอุดมศึกษา ที่เอื้อให้สถาบันกำหนด positioning ของตน และมุ่งมั่นดำเนินการตามนั้น จนเกิดความเป็นเลิศที่จำเพาะ โดยที่เป็นเน้นความเป็นเลิศเมื่อมองจากมุมของสังคม/ชุมชน ไม่ใช่มองจากมุมของวิชาการลอยๆ

ไปเรียนรู้อุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา  (17) AAR   

เย็นวันที่ ๘ เม.ย. ๕๔ เราไปกินอาหารร้านจีน   และทำ AAR การเดินทาง Study Visit ครั้งนี้   อ. นวพร เสนอให้ผมตั้งคำถามให้คม เพื่อจะได้ความคิดสำหรับกลับไปทำประโยชน์ให้แก่สถาบันและบ้านเมืองต่อไป

ด้วยข้อจำกัดของเวลาและอารมณ์ที่ยังไม่เคยละลายพฤติกรรมในส่วนของสาระ   ผมจึงตั้งคำถามเพียงว่า   ให้แต่ละคนพูดแบบ dialogue ว่าสิ่งใดที่ตนได้เรียนรู้และประทับใจมาก  จะเอากลับไปทำอะไร   และส่วนใดที่ตั้งใจมาศึกษาแล้วไม่ได้   ให้พูดสั้นๆ เพียง ๒ – ๓ นาที

รวบรวมประเด็นเรียนรู้สำคัญยิ่ง จากวง AAR และจากการพูดคุยระหว่างเดินทาง ได้ดังนี้

  • การใช้กระบวนทัศน์ของ “การเรียนรู้” ในมหาวิทยาลัย  แบบให้ความสำคัญต่อการเรียนวิชา กับการเรียนชีวิต พอๆ กัน   โดยด้านการเรียนชีวิตนั้น จัดระบบอำนวยความสะดวกหรือเอื้อให้ นศ. จัดกันเอง   อาจารย์คอยดูอยู่ห่างๆ  ส่วนนี้เรียกว่า campus life  และ student affairs  ชนิดที่มหาวืทยาลัยดูแลหรือปฏิบัติต่อ นศ. แบบ young adults (คำของ อ. นวพร)   ไม่ใช่มอง นศ. เป็นเด็ก  ข้อท้าทายในการประยุกต์หลักการนี้ในสังคมไทยคือ วุฒิภาวะของ นศ. ที่จะต้องวางมาตรการยกขึ้นทั้งแผง ตั้งแต่ระดับประถม และมัธยม
  • ระบบรับ นศ. ที่ร่วมมือกันในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ   ยอมรับกันว่าเด็กที่มีสมองดีพิเศษควรไปเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยใดบ้าง  เพื่อประโยชน์ในการสร้างนักวิชาการระดับเลิศให้แก่ประเทศ   ซึ่งผมมองว่า เท่ากับเป็นการผสมผสานแนวคิดรับ นศ. เข้ากับแนวคิดแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น ๓ กลุ่ม  คือ ม. วิจัยพื้นฐาน (UCLA, Caltech), ม. กลุ่ม comprehensive masters (USCLB, LMU, Chapman), และ กลุ่มวิทยาลัยชุมชน ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษากลุ่มไม่เลือก นศ. เลย   ใครอยากเรียนอะไรจัดให้หมด 
  • Green & Clean Campus ในความหมายที่กว้าง  มากกว่าด้านกายภาพที่เห็นด้วยตา   แต่มีวิชาการด้านประหยัดพลังงาน ลดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ   การสร้างระบบนิเวศที่ดี   รวมไปถึงการสร้างสำนึกรับผิดชอบ ทั้งต่อการอยู่ร่วมกันของ นศ.  การอยู่ร่วมกันในสังคม และในโลก   คือการสร้างสำนึกพลเมือง ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก
  • การสร้างแรงบันดาลใจ แก่ นศ. ด้วยวิธีการต่างๆ   เราไปเห็นตัวอย่างที่ Chapman University  มีการเอาถ้อยคำของผู้ก่อตั้ง และผู้นำยุคบุกเบิกของมหาวิทยาลัย สำหรับสร้างแรงบันดาลใจ   ที่ ม. มหิดล ถึงกับเอาพระนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมราชชนก มาเป็นป้ายหน้ามหาวืทยาลัย   และอยู่ใน Core Values  แต่ผมคิดว่าเราต้องหาวิธีทำมากกว่านั้น   ให้อยู่ในการปฏิบัติโดยตัว นศ. เอง   และอยู่ในกิจกรรมนักศึกษา
  • ขบวนการขับเคลื่อนให้ภาคประชาชน (ในความหมายว่า เป็นคนนอกวงการอุดมศึกษา) เข้ามากำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษามากขึ้น  ให้อุดมศึกษาเป็นอุดมศึกษาของประชาชน หรือของสังคม   ไม่ใช่เป็นอุดมศึกษาที่ลอยอยู่ในอากาศ
  • แนวทางดำเนินการ University Social Responsibility มีการตีความได้หลากหลาย   สำหรับผม ผมคิดว่า วิทยาลัยชุมชนที่เราไปดูแสดง USR สูงสุด   เพราะเขาทำงานเพื่อการศึกษาของคนระดับที่ชีวิตขาดแคลน อย่างไม่บ่นใดๆ เลย   เป็นการแสดง USR Inside โดยไม่ต้องเอ่ยคำนี้   ส่วนของมหาวิทยาลัยอื่นๆ เขาก็มี USR ตามแบบของเขา   มหาวิทยาลัยวิจัย (Caltech, UCLA) ก็ทำหน้าที่ตามแบบของเขา เพื่อสร้างนักวิจัยหรือวิชาการระดับสร้างสรรค์ขอบฟ้าใหม่ของความรู้ให้สังคมอเมริกันแข่งขันดำรงความเป็นเจ้าโลก   มหาวิทยาลัยแบบ comprehensive masters ก็มุ่งสร้างคนออกไปทำงานระดับวิชาชีพ และเป็นพลเมืองของพื้นที่ ประเทศ และโลก  มีสำนึกความเป็นพลเมือง เป็นคนเต็มคน   แสดงออกทางกิจกรรมวิชาการ กิจกรรมรับใช้สังคม และกิจกรรมนักศึกษา   โดยเมื่อรัฐบาลออกมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อขับเคลื่อนประเทศ มหาวิทยาลัยก็เข้าไปทำวิจัยหรือพัฒนาโมเดล สำหรับชี้นำสังคม   

ที่จริงประเด็นทั้ง ๖ ข้างบน ไม่มีอะไรใหม่ เป็นสิ่งที่เราพูดถึงกันอยู่แล้วในสังคมไทย   แต่เราพูดกันแบบหลักการหรือทฤษฎี   ไม่ชัดเจนด้านมาตรการหรือวิธีปฏิบัติ   การมาดูงานและประชุม AGB 90 ทำให้เรามองจากมุมปฏิบัติชัดขึ้น

AAR ส่วนของผม ที่ผมพูดในกลุ่ม ๒ ข้อ คือเรื่อง Academic Transformation ที่บันทึกไปแล้ว   กับ การจัดการระบบอุดมศึกษา ที่เอื้อให้สถาบันกำหนด positioning ของตน   และมุ่งมั่นดำเนินการตามนั้น   จนเกิดความเป็นเลิศที่จำเพาะ โดยที่เป็นเน้นความเป็นเลิศเมื่อมองจากมุมของสังคม/ชุมชน   ไม่ใช่มองจากมุมของวิชาการลอยๆ 

ผมและคนอื่นๆ ไม่ได้พูดเรื่องความผิดหวัง หรือไม่สมหวัง   แต่ผมมานึกได้บนเครื่องบิน   ว่าจริงๆ แล้วผมอยากไปเห็นวิทยาลัยศิลปะวิทยาศาสตร์ (Liberal Arts College) มาก   และไม่ได้เห็น   ตอนแรกคิดว่า Chapman University น่าจะใช่   พอไปดู ก็คิดว่าเป็น Liberal Arts College แบบกลายพันธุ์   คือขยายส่วน professional education เพื่อสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไป

แต่เมื่อเอาความคิดนี้ถาม อ. นวพร  ท่านบอกว่าไม่ใช่   ทั้ง Chapman University และ LMU ไม่ได้เป็น Liberal Arts College มาก่อน   เพียงแต่ว่ามีแกนวิชาหรือการเรียนรู้ด้าน Liberal Arts แข็ง และรักษาไว้ได้จนปัจจุบัน   เพื่อเป้าหมายจัดการศึกษาเพื่อให้ศิษย์ของเขาเป็นคนเต็มคน  

หมายเหตุ  บันทึกชุดนี้ตอนที่ ๒ ถึง ๑๖ จะลงในวันที่ ๒ พ.ค. ๕๔ เป็นต้นไป วันละตอน

วิจารณ์ พานิช

๑๐ เม.ย. ๕๔

บนเครื่องบินการบินไทย บินกลับกรุงเทพ

หมายเลขบันทึก: 435319เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2011 05:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you very much for your kindness and information.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท