เทียบเคียงการสอนประวัติศาสตร์ให้สนุกและได้คุณค่าไปกับ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม(ตอนจบ)


คนอะไรช่างสามารถหักมุมวันวาเลนไทน์ซึ่งเป็นของฝรั่งให้มาเป็นวันแห่งความรักของคนไทยได้อย่างเนียนที่สุด

      ขอยกตัวอย่างบทความเรื่อง "เล่าเรื่องรัชกาลที่ 3"  ท่านก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เป็นข้อมูลจากหลายๆแหล่ง ใช้ภาษาที่เรียบง่าย เล่าและเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบันได้อย่างสนุก เช่น
     "...รัชกาลที่ 3 เป็นตัวอย่างของคนที่ควรเรียกว่า ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และคุณธรรม...รัชกาลที่ 3 เป็นลูกรัชกาลที่ 2 เป็นหลานปู่รัชกาลที่ 1 ...ตอนประสูติพ่อท่านเป็นเจ้าฟ้า แม่ท่านเป็นสามัญชน ลูกพระยานนทบุรี...
      ความที่เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เมื่อรัชกาลที่ 2 ครองราชย์ ท่านจึงได้เป็นพระองค์เจ้าทับ ต่อมาเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์...
      เทียบกับคนสมัยนี้ก็ต้องว่าท่านคุมกระทรวงของ คุณกรณ์  จาติกวณิช  คุณกษิต  ภิรมย์  คุณพรทิวา  นาคาสัย  คุม สตช. และคุมศาลฎีกา  ถ้ามีม็อบอะไรก็ตาม ท่านเป็นผู้บัญชาการ ศอ.รส.โดยเด็ดขาดก็ว่าได้..."
      ในบทความเรื่อง “อมรรัตนโกสินทร์(1)”  ท่านเล่าให้เห็นภาพกรุงธนบุรีได้อย่างเห็นภาพพจน์ในตอนหนึ่งว่า 
        “...แนวเขตพระมหานครด้านธนบุรีในช่วง 15 ปี ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เริ่มจากปากคลองบางกอกใหญ่(บางช่วงเรียกคลองบางหลวง)  ตรงนั้นมีป้อมวิไชยประสิทธิ์สร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เลาะชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปทางเหนือ ผ่านพระราชวังธนบุรี(วันนี้เป็นกองทัพเรือ)  วัดอรุณฯ(สมัยนั้นเป็นวัดในวังไม่มีพระอยู่)  คลองมอญ  คุกหลวง  เรือนขุนนาง  เรือนเจ้าพระยาจักรี(รัชกาลที่ 1)  วัดบางหว้าใหญ่(วัดระฆัง) สวนมังคุด  สวนลิ้นจี่  แล้วจบที่คลองบางกอกน้อย(วันนี้คือชายขอบโรงพยาบาลศิริราช)  ส่วนราษฎรมักอยู่อาศัยทางฝั่งบางกอก  แต่พอออกไปแถวผ่านฟ้า  สะพานมัฆวาน  บางลำพู  เยาวราช  ยังเป็นทุ่งนาป่ารกและเสือชุมนัก  แถวมหาดไทยและกลาโหมก็ยังเป็นป่าช้าจีน
         เหลือเชื่อว่าที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราชทุกวันนี้  250 ปีก่อน เป็นสวนมังคุดและสวนลิ้นจี่ที่อุดมสมบูรณ์ รสชาติหวานอมเปรี้ยวราวกับลิ้นจี่เมืองเหนือ  500 ปีก่อน แม่น้ำเจ้าพระยาตรงศิริราชถึงหน้าวัดอรุณฯยังไม่มี  เป็นแต่แผ่นดินคนเดินข้ามไปมาได้  แม่น้ำเจ้าพระยาสายจริงไหลจากนครสวรรค์ผ่านอยุธยา  ปทุมธานี  นนทบุรี  ลงใต้มาจนถึงแถวสะพานพระปิ่นเกล้า แล้วเลี้ยวขวาหักศอกคดเคี้ยวผ่านสารพัดบาง ไปไกลราวค่อนวันจึงกลับออกมาทางข้างวัดอรุณฯ แล้วเลี้ยวขวาหักข้อศอกอีกทีผ่านสะพานพุทธไปลงอ่าวไทย...พระชัยราชานั่นแหละโปรดฯให้ขุดคลองลัดตรงจากสะพานพระปิ่นเกล้าไปถึงสะพานพุทธราว 2 กิโลเมตร ตรงนั้นเลยกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่...ส่วนแม่น้ำสายเดิมที่เลี้ยวเข้าไปข้างศิริราชกลับตื้นเขินและแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย และที่ไหลออกข้างวัดอรุณฯกลายเป็นคลองบางกอกใหญ่…”

      ยกตัวอย่างอีกสักตอนจากเรื่อง “อมรรัตนโกสินทร์(4)”ที่ท่านบูรณาการประวัติศาสตร์วิเคราะห์ ตีความ ให้เข้ากับวรรณคดี  ทำให้เราอ่านวรรณคดีไทยได้สนุกมีรสชาติขึ้น กล่าวคือ
      “...รัชกาลที่ 2 ..ทรงมีเสน่ห์เอาการเพราะวาทะโวหารหวานนัก...ต่อมาไปโปรดเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาสมเด็จ พระพี่นางพระองค์น้อยของรัชกาลที่ 1 พูดง่ายๆว่าเป็นลูกสาวของป้าจึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน  ฝีมือเจ้าฟ้าบุญรอดเป็นเลิศทางการครัว  กับข้าวคาวหวาน แกะสลักผักผลไม้  เจ้าฟ้าฉิมจึงทรงไปมาหาสู่อยู่ร่วม 2 ปี
             รัชกาลที่ 1 กริ้วมากว่าพระเจ้าลูกเธอลบหลู่ผู้ใหญ่ไม่ยำเกรง ไม่ให้ขึ้นเฝ้า  ทั้งยังทรงจับแยกกัน  เจ้าฟ้าฉิมตรอมพระทัยอยู่นาน  เข้าใจว่าระหว่างนั้นเองที่ทรงพระนิพนธ์กาพย์ชมเครื่องคาวหวานฝีพระหัตถ์เจ้าฟ้าบุญรอด  ตั้งแต่มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง  จนถึงของหวาน เช่น
                                   ทองหยอดทอดสนิท      ทองม้วนมิดชิดความหลัง
                              สองปีสองปิดบัง                 แต่ลำพังสองต่อสอง
             คนสมัยก่อนอ่านกาพย์บทนี้แล้วอมยิ้มเพราะข้อความนี้คือความในพระทัยรำลึกถึงความหลังครั้งที่เคยเสด็จไปมาหาสู่กันร่วม 2 ปี...ที่จริงรัชกาลที่ 2 ยังมีมเหสีอีกคือ เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี พระราชธิดารัชกาลที่ 1  แม่ท่านเป็นลูกกษัติรย์ลาว  แต่รัชกาลที่ 2 ก็ไม่ทรงยกย่องเป็นอัครมเหสี  แม้กระนั้นเจ้าฟ้าบุญรอดก็ทรงหึงจนกริ้วไม่ตรัสด้วย  เรียกว่าเลิกทำกับข้าวคาวหวานถวายเลยทีเดียว  รัชกาลที่ 2 เสด็จไปง้อก็ไม่ทรงเปิดประตูรับ  เรื่องราวของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้าบุญรอดน่าสนใจมาก เจ้าฟ้ากุณฑลท่านยังแรกรุ่นและงามนัก เมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา คนจึงมักเปรียบเทียบพระองค์ว่าเป็นอิเหนา เจ้าฟ้าบุญรอดเป็นจินตะหรา  เจ้าฟ้ากุณฑลเป็นบุษบา  บทเจรจาตัดพ้อต่อว่าระหว่างอิเหนากับจินตะหรา เช่น ตอนอิเหนาไปง้อแล้วจินตะหราไม่เปิดประตูรับ  หรือตอนจินตะหรางอนใส่บุษบาเมื่อตอนเดินสวนทางกันมีอยู่จริงและตรงกันกับที่รัชกาลที่ 2 ทรงง้อเจ้าฟ้าบุญรอดและเจ้าฟ้าบุญรอดกริ้วไม่ตรัสกับเจ้าฟ้ากุณฑล...”
         เรื่องที่ท่านวิเคราะห์เชิงตลกขำขัน แต่ก็มีเหตุผลน่าเชื่อถือ เช่นตอนหนึ่งที่ว่า
        “...คนสมัยก่อนมีเมียมาก ลูกมาก เพราะยังไม่มีธรรมเนียมว่าผู้ชายต้องมีเมียเดียว  ยิ่งขุนนางยิ่งมีเมียมาก เพราะมีปัญญาเลี้ยงดู  เคยมีคนสันนิษฐานว่า เพราะผู้ชายมีเมียมากคอยรับใช้อยู่ในเรือนนี่เองจึงเรียกว่าเป็น ขุน ของ นาง  นานเข้ากลายเป็นคำว่า ขุนนาง  ส่วนผู้หญิงที่มีบ่าวไพร่ข้าทาสบริวารอยู่ในบังคับบัญชามากจึงเป็น ขุน ของ นาย  นานเข้าเลยกลายเป็น คุณนาย เท็จจริงไม่รู้...”
         ที่จริงยังมีบทความของท่านอีกหลายเรื่องที่แสดงถึงความอัจฉริยะในการวิเคราะห์ สังเคราะห์และนำเสนอ  แต่ผมเกรงว่าจะยืดยาว เลยขอจบลงที่เรื่องหนึ่งที่ผมชอบที่สุดคือ เรื่อง "วาเลนไทน์แบบไทยๆ"  ที่ท่านเขียนในวันวาเลนไทน์ไว้ตอนหนึ่งว่า
     "...รัชกาลที่ 4 เมื่อขึ้นครองราชย์ได้สถาปนาหลานปู่ของรัชกาลที่ 3 พระองค์หนึ่งเป็นสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อรัชกาลที่ 3 ผู้เป็นพี่ต่างพระราชชนนี และมีพระประสงค์จะสืบสายสัมพันธ์ให้ยั่งยืน รัชกาลที่ 3 โปรดปรานสมเด็จพระนางเจ้า ผู้เป็นหลานปู่พระองค์นี้มาก เคยโปรดเกล้า ให้สร้างวัดพระราชทาน ชื่อวัดราชนัดดาราม เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ สวรรคต รัชกาลที่ 4 พระสวามีทรงอาลัยมาก โปรดเกล้า ให้สร้างวัดริมคลองผดุงกรุงเกษมที่เพิ่งขุดใหม่เป็นอนุสรณ์แห่งความรักพระราชทานนามว่าวัดโสมนัสวิหาร สมเด็จฯ พระองค์นี้จึงมีวัดเป็นอนุสรณ์ 2 วัด ปู่สร้างให้ 1 วัด พระสวามีสร้างให้อีก 1 วัด
      ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้า ให้สร้างวัดของพระองค์เองคู่กันอีกวัดที่ริมคลองเดียวกันตั้งชื่อตามพระนามเดิมว่าวัดมกุฏกษัตริยาราม วัดนี้มาสร้างต่อและบูรณะจนเสร็จโดยรัชกาลที่ 5 และพระราชโอรสธิดาของรัชกาลที่ 4 ร่วมกันทำถวายพระบรมราชชนกจึงเป็นวัดสามีภริยาและลูกมาช่วยสร้างต่อเติมให้พ่อเข้าอีก อยู่เชิงสะพานมัฆวานทั้งสองวัด
พระมเหสีพระองค์ต่อมาของรัชกาลที่ 4 คือ พระนางเธอรำเพยภมราภิรมย์ มีพระราชโอรส ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ ภายหลังได้ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้า ให้สถาปนาพระอัฐิพระบรมราชชนนีเป็นสมเด็จกรมพระเทพศิรินทรามาตย์ และโปรดเกล้า ให้สร้างวัดที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมอีกแห่งเป็นอนุสรณ์จากลูกถึงแม่ ชื่อวัดเทพศิรินทราวาส..."
       คนอะไรช่างสามารถหักมุมวันวาเลนไทน์ซึ่งเป็นของฝรั่งให้มาเป็นวันแห่งความรักของคนไทยได้อย่างเนียนที่สุด โดยท่านสรุปตอนท้ายว่า
    "...เราไม่ควรนึกถึงวัดโสมฯ วัดมกุฏฯ วัดเทพฯ เพียงแค่ว่าเป็นวัดใหญ่ มีเมรุใหญ่ ไปสวดไปเผาศพกันบ่อย แต่ควรถือว่า 3 วัดนี้คือทัชมาฮาลเมืองไทย เป็นอนุสรณ์แห่งความรักระหว่างสามีกับภรรยา บุตรกับบิดา และบุตรกับมารดาที่อยู่เรียงกันริมคลองเดียวกัน ถ้าไม่รักไม่ตั้งใจทำคงสร้างไม่ได้อย่างนี้..."

หมายเลขบันทึก: 434895เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2011 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท