สร้างชาติให้ก้าวหน้าด้วยการอ่าน (ร่วมส่งเสริมการอ่าน กับ กศน.อำเภอเสนา)


สร้างชาติให้ก้าวหน้าด้วยการอ่าน

สร้างชาติให้ก้าวหน้า ด้วยการอ่าน



      ...หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้าง ทำมา คิดมา แต่โบราณกาล จนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้...


 


พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ
ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

 

 

 

 

            วามรู้จากหนังสือสามารถถ่ายทองมาสู่มนุษย์ได้ผ่าน “ การอ่าน ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านในวัยเด็กที่จะสร้างความรู้  ความทรงจำ และนิสัยการอ่านให้ติดตัวบุคคลผู้นั้นมาจนเติบใหญ่  เมื่อหนังสือเป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้การปลูกฝังให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่าน จึงอาจเป็นดั่งปฐมบทแห่งการสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศชาติด้วยเช่นกัน

 



คนไทยอ่านอะไรกัน ?

             เป็นที่กล่าวขานกันมานานถึงสถิติการ “ อ่านน้อย ”  ของคนไทย  บ้างก็ว่า  5  บรรทัดต่อปี  12  บรรทัดต่อปี  แต่สถิติเกี่ยวกับการใช้เวลาอ่านหนังสือของคนไทยที่สมาคมธุรกิจสำนักพิมพ์และหนังสือเล่มได้คาดการณ์ไว้ในเอกสารธุรกิจสำนักพิมพ์และหนังสือเล่มในประเทศไทย  พ.ศ.  2550  คือ  คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือปีละไม่เกิน  2  เล่ม  แม้ธุรกิจหนังสือจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีหนังสือออกใหม่เข้าสู่ร้านหนังสือไม่ต่ำกว่า  900  เรื่องต่อเดือนก็ตาม

             ข้อมูลพฤติกรรมการอ่านหนังสือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจไว้ล่าสุดเมื่อปี  พ.ศ.2546  ชวนให้ดีใจว่า  การอ่านของคนไทยในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ  7.9  และในจำนวนผู้อ่านหนังสือนี้พบว่า  กลุ่มวัยเด็กอ่านหนังสือมากที่สุดถึงร้อยละ 87.7  รองลงมาเป็นกลุ่มวัยรุ่นร้อยละ  83.1  โดยการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้สำรวจการอ่านของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเมื่อปี  พ.ศ.  2549  โดยเฉลี่ยพบว่าเด็ก ๆ อ่านหนังสือรวม  360  บรรทัดต่อวันต่อคน  หรือ  17  หน้าต่อวันต่อคน หรือ  9  เล่มต่อเดือนต่อคน  และยืมหนังสือห้องสมุดเฉลี่ย  7  ครั้งต่อเดือนต่อคน  ซึ่งมากกว่าอัตราการอ่านของคนไทยโดยรวมอยู่มาก

 

 

            หากแต่ความแตกต่างระหว่างสถิติการอ่านของ “เด็กวัยเรียน” กับ “คนไทยโดยรวม” อาจเพียงเป็นภาพสะท้อนของ “ ปริมาณ” มิใช่  “คุณภาพ”  เนื่องเพราะการอ่านที่มีมากในเด็กวัยเรียน  เป็นเพียงการอ่าน  “ ไฟท์บังคับ ”  เพื่อการเรียนและการสอบ  แต่มิได้มาจากนิสัยรักการอ่านเมื่อพวกเขาเติบโตพ้นวัยเรียน  การอ่านหนังสือจึงพ้นไปจากความสนใจของพวกเขาด้วยเช่นกัน  ส่งผลให้อัตราการอ่านหนังสือโดยรวมของประชากรทั้งประเทศมีน้อยกว่าอัตราการอ่านหนังสือของประชากรวัยเรียน

             อีกทั้งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติยังระบุว่า  คนไทยนิยมอ่านหนังสือแนวบันเทิงคดีที่มีเนื้อหาไม่หนักเกินไปมากกว่าที่จะอ่านหนังสือความรู้วิชาการ  หนังสือความรู้ทั่วไป  เช่น  สารคดี  ปรัชญา  ท่องเที่ยว ฯลฯ  โดยหนังสือที่คนไทยอ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ ร้อยละ  46.3  รองลงมาคือหนังสือบันเทิงร้อยละ 23.8  ซึ่งหมายถึง  การ์ตูนและนวนิยาย  ถึงร้อยละ  44.6  ของหมวดหนังสือบันเทิงทั้งหมด  นอกนั้นก็เป็นหนังสือแฟชั่น  ดารา ฯลฯ




การอ่านที่มีมากในเด็กวัยเรียน  เป็นเพียงการอ่าน  “ ไฟท์บังคับ ”  เพื่อการเรียนและการสอบ  แต่มิได้มาจากนิสัยรักการอ่านเมื่อพวกเขาเติบโตพ้นวัยเรียน  การอ่านหนังสือจึงพ้นไปจากความสนใจของพวกเขาด้วยเช่นกัน 

 



ผลักดันการอ่านสู่ “วาระแห่งชาติ”

             เห็นข้อมูลเช่นนี้  อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเด็กไทยและคนไทยอ่านแต่สิ่งเบาสมอง   เพราะการที่ผู้คนนิยมอ่านหนังสือเพื่อความบันเทิงเป็นจำนวนมาก ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น  หนังสือเพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะ  “ การ์ตูน ”   ถือเป็นหนังสือยอดนิยมของคนญี่ปุ่น ( แทบ )  ทุกวัยมีการประมาณว่า  ในแต่ละปีชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศใช้เงินกว่า  5  แสนล้านเยนไปกับการซื้อหนังสือการ์ตูน
 
             การ์ตูน หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า  มังงะ  คิดเป็นร้อยละ  40  ของตลาดสิ่งพิมพ์ทั้งหมดของญี่ปุ่น  และยังบุกไปตีตลาดในอีกหลายประเทศทั่วโลก  ประเทศไทยเองก็ได้ชื่อว่าเป็นสาวกการ์ตูนญี่ปุ่นเช่นกัน

             บทความเรื่อง  Japan’s Comic Book Graze  ของอากิโกะ  ฮาชิโมโต  บอกว่าสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่นคือมังงะ  เราสามารถพบเห็นคนญี่ปุ่นอ่านมังงะได้ทุกที่ทุกเวลา  ไม่ว่าจะเป็นขณะรอรถไฟ  อยู่บนรถโดยสาร  ที่ร้านอาหาร  ฯลฯ  นอกจากนี้อาการติดมังงะยังพบได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่วัยเลยเกษียณ  หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มังงะเป็นที่นิยมของผู้คนแทบจะทั่วโลกก็เพราะมังงะมีอยู่ถึง  281  ประเภท  สามารถตอบสนองผู้อ่านได้ทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นแนวรักหวานแหวว  ไปจนถึงเรตเอ็กซ์  แนวครอบครัว  การต่อสู้  กีฬา อาหาร  การพัฒนาสังคม  เศรษฐกิจ  สยองขวัญ  วิทยาศาสตร์  แฟนตาซี ฯลฯ
 
             การอ่านการ์ตูนหรือมังงะ  จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนญี่ปุ่นมีแรงบันดาลใจและจินตนาการ  จนสามารถนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าและเป็นผู้นำการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้  ว่ากันว่าในกรณีของญี่ปุ่นระดับการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ  เทคโนโลยี และการกีฬา ล้วนมีรากฐานมาจากมังงะนั่นเอง...หาเป็นเช่นนั้น  ความนิยมอ่านการ์ตูนของคนไทยโดยเฉพาะในกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น  อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงมากนัก  ถ้าผู้อ่านรู้จักวิธีดึงประโยชน์จากหนังสือบันเทิงหรือการ์ตูนเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกทาง...แต่สิ่งที่น่าห่วงสำหรับเด็กไทยคือ  การไม่รู้จักเลือกประเภทการ์ตูนที่ควรอ่าน  หรือถ้าเป็นหนังสือที่มีสาระ  แม้จะเป็นการ์ตูนก็ยังไม่อ่าน

             ดังนั้น  หากเราต้องการปลูกฝังให้เยาวชนไทยมี  “ ทักษะการอ่าน ”   อันมีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การรู้จักเลือกอ่านหนังสือที่มีคุณภาพ  ความสามารถในการเก็บใจความและสรุปเนื้อหา  รวมถึงความสามารถในการนำความรู้จากหนังสือไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้  ก็จำเป็นต้องหามาตรการและกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ สนุกกับการอ่านหนังสือ  เกิดความต้องการอ่านหนังสือด้วยตนเอง  มิใช่เพียงอ่านเพราะถูกบังคับหรืออ่านเพื่อสอบเท่านั้น  ภายใต้แนวทางนี้  การผลักดันการอ่านให้เป็น  “ วาระแห่งชาติ ”   จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพราะการอ่านคือพื้นฐานของการสร้างคนและคนคือพื้นฐานของการสร้างชาติ




แผนภูมิร้อยละของผู้อ่านหนังสืออายุ 6 ปีขึ้นไป
จำแนกตามเนื้อหาสาระที่อ่าน

 

            แม้แต่  OECD  องค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ  ยังได้ทำวิจัยออกมาว่า  การอ่านหนังสือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและประชาชนมีความสุข  ผลการวิจัยของ  OECD  ล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2003  ได้สำรวจประเทศไทยด้วยพบว่า  เด็กไทยอายุ  15  ปีส่วนใหญ่มีผลทดสอบอยู่ที่ระดับ  2  ( จากทั้งหมด  5  ระดับ )  ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน  และยังมีเด็กไทยถึงร้อยละ  37  ที่มีผลทดสอบต่ำกว่าระดับ  1  การผลักดันการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมีนัยสำคัญ

             ข้อเสนอให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติเกิดขึ้นล่าสุดในงานเทศกาลหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนครั้งที่  5  ระหว่างวันที่  25 – 29  กรกฎาคม  2550  ณ  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โดย  นางริสรวล  อร่ามเจริญ  นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ( ส.พ.จ.ท. )  ร่วมกับ  32  องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน  ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ( พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ) เพื่อขอให้ผลักดันการอ่านหนังสือเป็นระเบียบวาระแห่งชาติของรัฐบาล  โดยมี  2  ประเด็นสำคัญ  คือ  การสร้างวัฒนธรรมการอ่านหนังสือและการผลักดันนโยบายของพรรคการเมืองหรือภาครัฐให้การอ่านหนังสือเป็นนโยบายในการบริหารประเทศเหมือนอย่างประเทศเกาหลีที่มีกฎหมายเรื่องการรักการอ่านและเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนได้รัฐบาลชุดใหม่มาเมื่อต้นปี  พ.ศ. 2551  สมาคมฯ ก็เตรียมที่จะยื่นหนังสือผลักดันเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันอีกครั้ง
 
            การผลักดันการอ่านเป็นวาระแห่งชาตินี้ได้รับการสนับสนุนจาก  ศ.นพ.เกษม  วัฒนชัย  องคมนตรี  ดังที่ท่านเคยกล่าวว่า  " ผมรู้สึกเป็นห่วงเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กไทย  เพราะจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ  บอกไว้ว่า  เด็กไทยอ่านหนังสือวันละไม่เกิน  8  บรรทัด  ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวน่าจะทำให้รัฐบาล  ผู้ปกครองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระตือรือร้นและประเมินว่าควรจะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไรมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม  ผมเห็นว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรผลักดันเรื่องการส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติด้วย  และอยากเห็นคนไทย  เด็กไทยถือหนังสืออ่านกันตามสถานที่ต่าง ๆ เหมือนกับประชาชนในประทศอื่นอีกด้วย "





หากเราต้องการปลูกฝังให้เยาวชนไทยมี  “ ทักษะการอ่าน ”   อันมีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การรู้จักเลือกอ่านหนังสือที่มีคุณภาพความสามารถในการเก็บใจความและสรุปเนื้อหา

 

 
             อย่างไรก็ตาม  การผลักดันการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติ  มิใช่เรื่องที่จะรอให้รัฐบาลออกกฎระเบียบมาใช้แต่ฝ่ายเดียวหากต้องได้รับความร่วมมือ  ร่วมคิด  ร่วมทำจากทุกภาคส่วนในสังคมด้วย  ดังที่  พล.อ.สุรยุทธ์  จุลานนท์  อดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวไว้ว่า  “ ในส่วนของวาระแห่งชาตินั้น  อยู่ที่พวกเราทุกคนว่าจะคิดและช่วยกันอย่างไร  ทุกคนต้องมีส่วนร่วม  แต่ทุกคนไม่ช่วยกันก็จะไม่เกิดประโยชน์ ”

 



ร่วมส่งเสริมการอ่าน

              นิวยอร์กไทม์เคยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบมาเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบสอดคล้องกับสรีระมนุษย์ที่สุดในรอบ  1,000 ปี  ปรากฏว่า  ผลิตภัณฑ์ที่มาเป็นอันดับ  1  ได้แก่ “ หนังสือ ”  ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้รับเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบสอดคล้องกับสรีระของมนุษย์เท่านั้น  แต่ยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเติมเต็มชีวิต  และพามนุษย์ข้ามพรมแดนความรู้  ความรู้สึก เหตุผล ปัญญาและอารมณ์  ไปสู่สถานการณ์อันแปลกใหม่ด้วย  นั่นหมายถึง  หนังสือเป็นเครื่องมือที่ช่วยเปิดประสบการณ์ของเราให้กว้างขึ้นนั่นเอง...การส่งเสริมการอ่านหนังสือให้แพร่หลาย  จึงเปรียบเสมือนการส่งเสริมให้ผู้คนมีประสบการณ์ความรู้ที่เพิ่มขึ้นและมีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสร้างความสะดวกสบายให้กับสรีระของเรามากขึ้นด้วย
 
             การรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมสามารถทำร่วมกันได้  แต่คนที่สำคัญที่สุดคือ  พ่อแม่  เพราะการส่งเสริมการอ่านควรเริ่มแต่วัยเยาว์และต้องเริ่มต้นจากครอบครัวเป็นลำดับแรก  พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก หากพ่อแม่ไม่สนใจอ่านหนังสือแล้ว  คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลูกเชื่อว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ควรทำ
 
             นอกจากนี้  สถานศึกษาก็มีส่วนสำคัญในการสร้างเด็กให้เป็นคนรักการอ่าน  ผ่านการจัดกิจกกรมส่งเสริมการอ่าน  การจัดห้องสมุดให้น่าเข้า  รวมถึงการบูรณาการความรู้จากหนังสือต่าง ๆ ที่เด็กชอบ  เข้ากับวิชาเรียนแต่ละวิชาให้ได้  ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานกับการอ่านหนังสือ  และเริ่มมองเป็นมุมมองที่หลากหลายจากหนังสือเล่มเดิมได้มากขึ้น
 
             ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง  การส่งเสริมการอ่านผ่านหนังสือการ์ตูน  โดยสถานศึกษาอ้างอิงจากบทความเรื่อง  Doraemon  ของเอริ  อิซาว่า  ที่วิเคราะห์การ์ตูนคลาสสิกของญี่ปุ่นเรื่องโดราเอมอนที่โด่งดังมากกว่า  40  ปี  ไว้ตอนหนึ่งว่า
 
             “พ่อแม่ของโนบิตะเป็นเสมือนตัวแทนผู้ปกครองญี่ปุ่นยุค 1970  ที่มีพ่อบ้านเป็นมนุษย์เงินเดือน  แม่มีงานบ้านทำล้นมือ  โนบิตะเป็นเด็กขี้เกียจจึงถูกแม่บ่นบ่อย ๆ เพราะพ่อแม่ยุคนั้นต่างเชื่อว่าความขยันและการเรียนเก่งจะเป็นกุญแจไปสู่อนาคตที่สดใสของลูก ”

             จากการวิเคราะห์ดังกล่าว  ครูวิชาสังคม  สามารถนำการ์ตูนเรื่องนี้มาเชื่อมโยงไปถึงการเปรียบเทียบวัฒนธรรมการเลี้ยงดูบุตรหลายของครอบครัวญี่ปุ่นและไทยในแต่ละยุคได้  ขณะที่ครูวิชาพุทธศาสนา  ก็สามารถนำบทบาทของพ่อ แม่ ลูก ในการ์ตูน  มาเทียบเคียงกับบทบาทของแต่ละคนตามหลักศาสนา  ส่วนครูวิชาภาไทย  อาจให้นักเรียนศึกษาโครงสร้างประโยคและตัวสะกดจากหนังสือการ์ตูนว่าถูกหรือผิดอย่างไร  รวมถึงครูสอนวาดเขียน  ก็อาจนำภาพวาดของอาคารบ้านเรือนที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนมาเป็นเครื่องมือสอนให้นักเรียนเข้าใจถึงการสร้างมิติในภาพวาดได้  ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนเป็นสำคัญว่าจะมีความสามารถในการมองเห็นความเชื่อมโยงจากเรื่องราวในหนังสือไปสู่การสร้างความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างไร  ในแง่หนึ่งก็หมายความว่า  ครูควรต้องเป็นผู้มีประสบการณ์การอ่านหนังสือมากด้วยเช่นกัน

 

             การส่งเสริมการอ่านหนังสือให้แพร่หลายจึงเปรียบเสมือนการส่งเสริมให้ผู้คนมีประสบการณ์ความรู้ที่เพิ่มขึ้นและมีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสร้างความสะดวกสบายให้กับสรีระของเรามากขึ้นด้วย

 

             อีกหนึ่งภาคส่วนที่สำคัญที่จะช่วยให้การอ่านหนังสือกระจายไปถึงผู้คนในวงกว้างได้คือ  ผู้ประกอบการธุรกิจหนังสือ  ที่ควรร่วมมือกันกำหนดราคาหนังสือให้ถูกลง  เพื่อให้คนไทยทุกระดับฐานะสามารถซื้อหนังสือไปอ่านได้อย่างทั่วถึง
 
             สำหรับในส่วนของภาครัฐและภาคธุรกิจก็สามารถร่วมส่งเสริมได้โดยการจัดทำห้องสมุดประจำหมู่บ้านหรือชุมชนให้มากขึ้น  จัดหาหนังสือดี ๆ ไปให้กับโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆ ส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน ฯลฯ
 
             ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของภาคธุรกิจในการส่งเสริมการอ่าน  คือ  โครงการของเครือ   ซิเมนต์ไทย ( SCG ) ซึ่งมีโครงการเพื่อพัฒนาเยาวชนที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมการอ่านหนังสืออยู่หลายโครงการ  อาทิ
 
            เทศกาลนิทานในสวน  :  จัดกิจกรรมให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการเล่านิทานและอ่านหนังสือให้เด็กฟัง 

            โครงการหนังสือเล่มแรก  :  มอบชุดถุงหนังสือเล่มแรก  ประกอบด้วยตุ๊กตา  คู่มือพ่อแม่ชอบหนังสือ  หนังสือภาพสำหรับเด็กและคำแนะนำการใช้หนังสือกับลูกเล็กให้กับ 600  ครอบครัวทั่วไทย  ซึ่งช่วยให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการด้านภาษาและมิติสัมพันธ์สูงขึ้น
 
            โครงการอบรมนักศึกษาสาธารณสุข  เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย  :    จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่นักศึกษาที่กำลังเรียนด้านการสาธารณสุขเพื่อผสมผสานองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขเข้ากับความรู้ในการพัฒนาเด็กด้วยการใช้หนังสือ
 
            และยังมีโครงการอื่น ๆ เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  จัดอบรมนักประพันธ์และนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็ก  โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือ ( พื้นที่ดอยตุง )  รวมถึงจัดทำโปสเตอร์วันหนังสือเด็กนานาชาติและวันหนังสือเด็กแห่งชาติทุกปี เพื่อรณรงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองชุมชนและสังคมรู้ถึงความสำคัญของการเล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
 
            ขณะที่บริษัท  ซี.พี.  เซเว่น  อีเลฟเว่น  จำกัด ( มหาชน )  ก็มีโครงการส่งเสริมการอ่านอยู่หลายโครงการ  หนึ่งในโครงการที่โดดเด่น คือ  การร่วมมือกับหน่วยศึกษานิเทศก์  สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร  ทำโครงการ โรงเรียนรักการอ่าน  ขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2545  โดยมุ่งเน้นให้โรงเรียนมีการพัฒนาใน 6 ด้าน คือ   1. มีแผนงานโครงสร้างนิสัยรักการอ่านในโรงเรียน  2. มีกิจกกรมส่งเสริมการอ่านที่ได้ผลและต่อเนื่อง  3.  มีองค์ประกอบแวดล้อมที่ช่วยให้เกิดการส่งเสริมการอ่าน  4.  มีการพัฒนาห้องสมุดให้เป็นแหล่งเรียนรู้  5.  บทบาทของบุคลากรในโรงเรียนเอื้อต่อการส่งเสริมการอ่านและ  6.  มีความสำเร็จในการอ่านของนักเรียนให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเมื่อถึงเวลาประเมินผลหาโรงเรียนใดผ่านเกณฑ์ทั้ง 6 ตามที่กำหนดจะมีป้าย “โรงเรียนรักการอ่าน”มอบให้ติดไว้หน้าโรงเรียนด้วย
 
            สำหรับ  บริษัท  ปตท.  จำกัด (มหาชน)  นอกจากการจัดทำหนังสือ แผ่นพับ  โปสเตอร์  เสริมความรู้เรื่องปิโตรเลียมแล้วยังได้ช่วยส่งเสริมการอ่านด้วยการจัดทำหนังสือที่มีคุณค่าแทรกความรู้  ออกแจกจ่ายให้กับเด็ก  เยาวชน  และคนไทยได้อ่าน  อาทิ  หนังสือสอนลูกทำบุญ  หนังสือสอนลูกรู้ค่าพลังงาน  หนังสือรวมผลงานรางวับลูกโลกสีเขียว  ฯลฯ  อีกทั้งยังมีโครงการที่ส่งเสริมการอ่านของนักเรียนในโรงเรียนโดยตรง  ไดแก่  โครงการจัดสร้างโรงเรียนและห้องสมุด “ พลังไทย  เพื่อไทย ”  พร้อมมอบอุปกรณ์การศึกษาและหนังสือเรียนสำหรับเยาวชนรวมถึงการจุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  โดยมอบให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนในเขตภูมิภาคอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี  พ.ศ.  2540  และในปี  พ.ศ.  2547  ได้ร่วมสนับสนุนโครงการโรงเรียนในฝัน  ( Lab  School )  โดยมุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนมีส่วนร่วมกำหนดเป้าหมายของโรงเรียนให้ฝันเป็นจริงซึ่งโรงเรียนในฝันของ  ปตท.  ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย  การกำหนดกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว  จึงเริ่มต้นที่การจัดทำเวทีประชาคมเพื่อสำรวจและระดมความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุกฝ่าย  ทั้งนี้เพื่อสรุปข้อมูลแนวทางและความคาดหวังของชุมชนต่อการพัฒนาโรงเรียน
 
            หากทุกภาคส่วนในสังคมดำเนินการส่งเสริมการอ่านตามบทบาทหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง  อีกไม่นานเกินรอ  สังคมไทยคงเต็มไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้  พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติได้

 



ข้อคิดเพื่อให้ “การอ่าน...สร้างชาติ”

            แม้ว่ามังงะ  หรือการ์ตูน  จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้ญี่ปุ่น  “ สร้างชาติ ”   ไปสู่ความก้าวหน้าได้แต่การอ่านการ์ตูนและหนังสือบันเทิงต่าง ๆ หรือแม้แต่หนังสือในหมวดอื่น ๆ ของคนไทย  อาจไม่ได้นำไปสู่ปลายทางเดียวกัน  ทั้งนี้เพราะ...แม้ว่าการ์ตูนจะเป็นหนังสือที่ผู้คนในกลุ่มผู้อ่านหนังสือนิยมอ่านมากที่สุด หากแต่คนอีกกว่าครึ่งประเทศก็ยังไม่สนใจการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทใดก็ตาม  ขณะที่สาระซึ่งแฝงมาในหนังสือน่าสนุกอย่างการ์ตูน  ผู้อ่านชาวไทยก็อาจเข้าไม่ถึงเพราะ “ ความอ่อนแอในวัฒนธรรมการอ่าน ”  ที่ทำให้ผู้อ่านไม่มีทักษะ  ไม่สามารถตีความ  “ สาส์นแห่งความก้าวหน้า ”   ที่แฝงอยู่ในหนังสือเหล่านั้นได้
 ข้
            อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพบว่า  คนไทยที่ไม่อ่านหนังสือมีถึง  22.4  ล้านคน  หรือเกือบร้อยละ  40  โดยสาเหตุที่ไม่อ่านหนังสือก็เพราะหนังสือมีราคาแพงเกินไป เนื้อหาอ่านยาก  เข้าใจยาก  แต่ส่วนใหญ่จะตอบว่า  ชอบดูทีวีและฟังวิทยุมากกว่า  ทุกวันนี้เด็กไทยอายุ  13 – 18  ปี  ดูโทรทัศน์ในวันธรรมดาเฉลี่ย  3.3  ชั่วโมง  วันหยุด  4.9  ชั่วโมง  นอกจากนี้ยังมีโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเข้าแทนที่การหาข้อมูล  ความรู้  และความสนุกจากการอ่านหนังสืออีกด้วย
 
            สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  เจ้าของรางวัลมากมายในแวดวงวรรณกรรม อธิบายความอ่อนแอในวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยไว้ว่า
 
            “...จำนวนหนังสือเชิงคุณภาพกับจำนวนคนที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมันไมค่อยสัมพันธ์กัน  คนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือมีคุณภาพหรืองานในเชิงความคิดทั้งหลาย  อาจเป็นเพราะปรัชญาการรับรู้วิชาการของเรามันเสื่อมด้อยลง   ระบบการศึกษาเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนที่มีโอกาสน้อยกว่าแต่กลับมีคุณภาพมากกว่า  เช่นมีบันทึกสมัยก่อนของฮิวเมอริสต์ว่า ตั้งแต่ ชั้น ม.1 – ม. 8 ถ้าใครสอบตกวิชาภาษาไทย  แม้ว่าจะเก่งภาษาอังกฤษ  วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  ก็จะถูกปรับให้ตกหมดทุกวิชา  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อก่อนมีโครงสร้างทางภาษาการรับรู้เรื่องการเขียนและการอ่านที่เข้มแข็งมาก...แต่จะโทษเด็กรุ่นนี้ก็ไม่ได้  ปัญหาของเรามันเริ่มต้นตรงปรัชญาการสอนแบบแยกส่วน  ใครเรียนวิทยาศาสตร์ก็ดีกว่าอักษรศาสตร์  ไม่ได้มีปรัชญาการสอนแบบองค์รวมที่เข้มแข็ง  ในขณะที่การอ่านยังไม่เข้มแข็ง  สิ่งอื่น ๆ จึงเข้ามาได้ง่าย…”
 
            ผศ.ดร.วิลาสินี  พิพิธกุล  ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสาธารณะเพื่อสังคมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส. ) เคยกล่าวไว้ว่า
 
             “...ปัญหาเกี่ยวกับการอ่านหนังสือของเด็กไทยที่มีจำนวนน้อยลงเริ่มเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น เมื่อมีการเข้ามาแทนที่ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ตั้งแต่สื่อพื้นฐานอย่างวิทยุ โทรทัศน์ หรือล่าสุดอย่างอินเทอร์เน็ตและเกมออนไลน์...”

 

 

จากการวิจับพบว่า การเปิดรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มากเกินไป โดยเฉพาะในเด็กวัย 2-6 ปี จะส่งผลให้มีพัฒนาการของสมองที่ด้วยกว่าการอ่านหนังสือ เพราะเด็ก ๆ จะไม่มีการพัฒนาทักษะกระบวนการคิด จินตนาการ การวิเคราะห์ มีแต่การรับเพียงด้านเดียว  ไม่มีความกระตือรือร้น  และเปิดรับเรื่องที่รุนแรงได้ง่ายกว่าเด็กที่อ่านหนังสือ  ดังนั้นการส่งเสริมให้เกิดการอ่านหนังสือโดยเฉพาะในวัยเด็ก  จึงเป็นเรื่องจำเป็นไม่ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารจะพัฒนาไปมากเพียงใดก็ตาม
 
             ในช่วยปลายปี พ.ศ. 2551  นี้  เราคงจะได้ทราบกันว่า  การอ่านหนังสือของคนไทยได้ก้าวไปในทางบวกหรือลบอย่างไร  เพราะเมื่อวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดประชุมพิจารณาแบบสอบถามโครงการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร  พ.ศ. 2551 ขึ้น และมีแผนการจะเก็บรวบรวมข้อมูลภายในเดือน เมษายน–มิถุนายน พ.ศ.2551  นี้
 
             อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร การส่งเสริมให้ผู้คนรักการอ่านก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ดังที่ สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  นักเขียนเจ้าของฉายาสิงห์สนามหลวงกล่าวไว้ว่า
 
             “ต้องเริ่มที่จิตวิญญาณและค่านิยมที่ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก อำนาจวรรณกรรมก่อให้เกิดความรู้และจินตนาการเหมือนอย่างที่ไอน์สไตน์พูดไว้ว่าอำนาจของคุณขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการอ่านที่ไม่ควรหยุดนิ่งอยู่กับที่ ”

 


เกร็ดน่ารู้

  •    คนไทยอ่านหนังสือประมาณ  2 – 5  เล่มต่อคนต่อปี  ขณะที่สิงคโปร์     อ่าน 17  เล่มต่อคนต่อปี  สหรัฐอเมริกาอ่าน 50  เล่มต่อคนต่อปี

  •    สถิติการใช้ห้องสมุดของคนไทย  พบว่ามีคนไทยต่ำกว่าร้อยละ  3  ที่เข้าใช้บริการห้องสมุดสม่ำเสมอ
 
  •    จำนวนหนังสือออกใหม่ที่เข้าสู่ร้านหนังสือในแต่ละปีของไทยมีประมาณ  900  ปก  ขณะที่อังกฤษมี  104,000  ปก  เยอรมนี 78,000 ปก และญี่ปุ่น  65,000 ปก

  •    ปัจจุบันประชากรเกือบ  1  ใน  7  ของโลก  อ่านหนังสือไม่ออก

 

 

คัดลอกบทความดีๆแบบนี้ จากเว็บ วิชาการ.คอม

www.vcharkarn.com/verticle/37011

หมายเลขบันทึก: 434343เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2011 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รวมถึงการอ่าน...fecbook..ด้วยไหม

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท