โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย และการรับมือ


โรคซึมเศร้า หรือ ภาวะซึมเศร้ารุนแรง (อังกฤษ: Major depressive disorder)
เป็นความผิดปกติของจิตใจ ซึ่งมีลักษณะโดยรวมคือ
มีภาวะซึมเศร้าร่วมกับขาดความเคารพตนเอง รวมทั้งมีภาวะสิ้นยินดี (anhedonia)
คือไม่มีความสนใจหรือพึงพอใจในกิจกรรมที่โดยปกติเป็นที่น่าพึงพอใจ
โรคซึมเศร้าเป็นภาวะผิดปกติซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ป่วย
ชีวิตการเรียนหรือการทำงาน พฤติกรรมการนอนและการกิน รวมทั้งสุขภาพโดยทั่วไป
ในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึงประมาณร้อยละ 3.4 ที่ฆ่าตัวตาย
และมากถึงร้อยละ 60 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายมีภาวะซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางอารมณ์อื่นๆ

สำหรับโรคซึมเศร้า ในปี 2551 พบผู้ป่วยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปถึง 1,311,797 คน
ปี 2547 โรคซึมเศร้าก่อให้เกิดความสุญเสียปีสุขภาวะของคนไทยมากเป็นอันดับ 4
และผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง จบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จ
มากกว่าคนทั่วไปถึง 20.38 เท่า
...
เรามาดูว่า พื้นที่ไหน ในประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายสุงสุด

...
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลปี 2552 วิธีการดูแผนที่ ให้ดูตามโทนสี
พื้นที่ที่มี Tone scale เข้มขึ้นมาทางสีฟ้า - น้ำเงิน
นั่นคือพื้นที่ที่มีสถิติการเสียชีวิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
ยิ่งพื้นที่ไหนมีสีฟ้าหรือน้ำเงินเข้มมาก
พื้นที่นั้นยิ่งมีสถิติการเสียชีวิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมาก

ส่วนในพื้นที่ที่มี Tone scale เข้มขึ้นมาทางสีเหลือส้ม - เลือดหมู
นั่นคือพื้นที่ที่มีสถิติการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
ยิ่งพื้นที่ไหนมีสีเหลือส้มหรือสีเลือดหมูเข้มมาก
พื้นที่นั้นยิ่งมีสถิติการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมาก
...
SMR หรือ standard mortality ratio คือ การเปรียบเทียบอัตราตายจากโรคนั้นๆ
ในจังหวัดนั้น คำนวณจาก จำนวนตายที่เป็นจริงของพื้นที่
หารด้วยจำนวนตายที่ควรจะเป็นของพื้นที่
ถ้าพื้นที่นั้นมีการตายมากกว่าที่ควรจะเป็นค่า SMR จะมากกว่า 1
และยิ่งมากกว่า 1 เท่าใด แปลว่ามีการตายมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าพื้นที่นั้นมีการตายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ค่า SMR จะต่ำกว่า 1
และยิ่งต่ำกว่า 1 แสดงว่ายิ่งมีการตายที่ลดลงเพิ่มมากขึ้น
ถ้า SMR < 1 : จำนวนตายในพื้นที่ต่ำกว่าประชาชนทั่วไป,
SMR = 1 : จำนวนตายในพื้นที่เท่ากับประชาชนทั่วไป,
SMR > 1 : จำนวนตายในพื้นที่สูงกว่าประชาชนทั่วไปโดยสรุป
ถ้า SMR อยู่ในโทนสีฟ้า อัตราตายของคนในจังหวัดนั้นต่ำกว่าประชากรมาตรฐาน
แสดงว่าสถานะสุขภาพของคนในจังหวัดนั้นดีกว่าประชากรโดยรวม
และถ้า SMR อยู่ในโทนสีเหลืองแดง
แสดงว่าสถานะสุขภาพของคนในจังหวัดนั้นแย่กว่าประชากรโดยรวม


...
การตรวจสอบอาการของโรคซึมเศร้าเบื้องต้นนั้น สามารถทำได้ ดังนี้
หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 5 อาการ เกิดขึ้นแทบทั้งวัน
เป็นเกือบทุกวันติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ คุณมีสิทธิเป็นโรคซึมเศร้า
โปรดปรึกษาแพทย์

1. มีอารมณ์เศร้า ทั้งที่ตนเองรู้สึกและคนอื่นสังเกตเห็น

2. ความสนใจหรือเพลิดเพลินในการกิจกรรมปกติที่เคยทำทั้งหมด
    หรือแทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก

3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้น (มากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) เบื่อหรืออยากอาหารมากขึ้น

4. นอนไม่หลับหรือหลับมาก

5. ทำอะไรช้า เคลื่อนไหวช้าลง หรือกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข

6. เหนื่อยอ่อนเพลียหรือไม่มีแรง

7. รู้สึกตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากเกินควร

8. สมาธิหรือความคิดอ่านลดลง

9. คิดถึงเรื่องการตายอยู่ซ้ำๆ หรือคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายหรือมีแผน
...
คำถามในการตรวจสอบทัศนคติ หากเผชิญคนที่เป็นโรคซึมเศร้า
และมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย
 

- เริ่มคำถามโดยการถามเกี่ยวกับความรู้สึกเกี่ยวกับการอยู่อาศัยของผู้ป่วย
          คุณเคยมีความรู้สึกว่าไม่อยากอยู่หรือไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปทำไมไหม
          คุณเคยรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ต่อไปไหน
          คุณเคยคิดอยากนอนหลับแล้วไม่ตื่นเลยมั้ย
(หากผู้ป่วยมีทัศนคติในเชิงลบ แลดูหมดหวังกับชีวิต ให้ถามต่อ)

- จากนั้นถามต่อด้วยคำถามที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับความคิดที่อยากตาย ทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
          คุณคิดถึงกับการอยากตายให้พ้นๆ ไปไหม
          คุณคิดถึงเกี่ยวกับการตายใช่ไหม
          คุณคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตนเองใช่ไหม
(หากผู้ป่วยมีคำตอบในเชิงอยากตาย อยากทำร้ายตนเอง ให้ถามต่อ)

- แนวการถามสำหรับผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตาย
          คุณเริ่มคิดตั้งแต่เมื่อไหร่
          มีเหตุการณ์หรือเรื่องกดดันอะไรที่ทำให้คุณเกิดความคิดนี้
          คิดเรื่องนี้บ่อยแค่ไหน
          ฝืนหรือห้ามไม่ให้คิดได้ไหม
          คิดไหมว่าจะทำเมื่อไหร่
          เคยถึงกับทดลองไหม
          เคยวางแผนไหม แผนการเป็นอย่างไร
          คุณมีปืน หรืออุปกรณ์สำหรับการทำร้ายตัวเองไหม
          คุณเคยเตรียมจดหมายลาตายไว้บ้างไหม
          คุณเคยบอกใครเกี่ยวกับแผนการทำร้ายหรือฆ่าตัวตายไหม
          อะไรที่ทำให้คุณมีหวังมากขึ้น
          ถ้าคุณคิดอยากทำร้ายหรืออยากฆ่าตัวตายอีก คุณจะทำอย่างไร
(เก็บข้อมูลทั้งหมดไปปรึกษาแพทย์ และดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ให้กำลังใจและทำตามคำแนะนำของแพทย์)

หากมีคนกำลังจะฆ่าตัวตาย เราควรทำอย่างไร
อ่านคำแนะนำได้ที่ คลิก

โรคซึมเศร้านั้น เป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตาย ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ง่าย
ทั้งสังเกตตนเอง และสังเกตคนรอบข้าง การรู้จักจัดการกับจิตใจของตนเองและการ
ดูแลเอาใจใส่คนรอบข้าง ทำให้เราสามารถรู้ทันกับการเกิดขึ้นของปัญหา
และสามารถยับยั้งการฆ่าตัวตายได้

ร่วมเป็นเครือข่ายกับเรา Facebook: BOD

อ้างอิง 

ธรณินทร์ กองสุข และคณะ (2551). ความชุกของโรคซึมเศร้าในคนไทย: การศึกษาระดับชาติ ปี 2551

The Thai working group on BOD (2004). Burden of disease and injuries in Thailand: Priority setting for policy

เอกสารระบบดูแลเฝ้าระวังเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าในประเทศไทย นพ.ธรณินทร์ กองสุข รพ.ศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

เอกสารโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในภาวะวิกฤต รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ร่วมกับ รพ.พระศรีมหาโพธิ์

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B6%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2



หมายเลขบันทึก: 433723เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2011 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท