HA Forum 2011 (3.2) สลัดสะบัดสี เพื่อสุนทรีย์แห่งชีวิต


สลัดสะบัดสี เพื่อสุนทรีย์แห่งชีวิต

การจะทำอะไรสุนทรีย์ ขึ้นกับสติเป็นสำคัญ ไม่ได้ขึ้นกับอารมณ์เสียทีเดียว บางคนจะ "สุนทรียสนทนา" ก็พาลนึกไปถึงพูดจาประสาดอกไม้ พูดสุภาพ อะไรไปนั่น แต่หากยังยึดนิยามเดิมของผมจากตอน 3.1 จะพบว่าไม่เกี่ยวกันทั้งหมด ยังอยู่ที่ KPI เดิมคือ "จิตอันละเอียดอ่อน" ที่ทำหน้าที่รับรู้อยู่ ณ ขณะนั้นมีหรือไม่มี

Workshop สลัดสะบัดสี เพื่อสุนทรีย์แห่งชีวิต

ไหนๆจะทำศิลปบำบัด เราก็เลยนำพาผู้เข้าร่วมลดอายุลงไปสัก 20-30-40 ปี เพื่อไปละเลงสีน้ำกัน ก่อนจะทำ ตามคติเดิมก็คือ เรา slow down mode อารมณ์และความคิด ดึงสติของผู้เข้าร่วมก่อนพอสมควรด้วยอุบายต่างๆ (เนื่องจากรูปในงาน HA ไม่ได้ถ่าย แต่เราพึ่งทำกิจกรรมคล้ายๆกันที่นครปฐม เลยเอามาปนกันซะยังงั้น นัยว่าขี้เกียจเขียนซ้ำไปซ้ำมา)

เตรียมกระดาษ

เตรียมใจ เตรียมจิต เตรียมสติ

ให้ทุกคน "จบ" สีด้วยความรัก ความปราถนาดี ความสุข

คนพร้อม สีก็พร้อม

ใครอาจจะสงสัย ทำไมมันต้องมีพิธีรีตองกันเยอะแยะ ก็ไม่ใช่ไร เพียงแต่การที่มนุษย์มี "พิธีกรรม" มันเป็นอุบายที่เวลาเราต้องการสัมผัสกับอะไรที่ลึกซึ้งเกินกว่าผัสสะทั้งห้า เมื่อนั้นเราต้องหา "สัญญลักษณ์" แสดงว่ามันไม่ใช่แค่สี ไม่ใช่แค่เสียง ไม่ใช่แค่กลิ่น รส สัมผัส แต่มีความหมายมากไปกว่านั้น คล้ายๆกับเรื่องที่ผมเขียนบทความ "กราบ" ไปเมื่อไม่นานมานี้ กิริยาทั้งหมดของกราบ โดยตัวมันเองไม่ได้มีความหมายอะไรเลย หากแต่เราทำพิธีกรรมนี้ เป็นสัญญลักษณ์แห่งการศิโรราบ อ่อนน้อม และด้วยสมาธิ ด้วยความตั้งใจนั่นเอง

หลังจากนั้น เราก็ให้แต่ละคนใช้กระบวนท่าของตนเองในการ "สลัดสะบัดสี" ลงไปบนกระดาษที่เตรียมไว้ พยายามคงสติ สมาธิ ความรัก และความปราถนาดีให้อยู่ตลอดกิจกรรมให้ได้

 

 

เราค่อยๆเห็น "งานศิลป" ผุดปรากฏขึ้นเบื้องหน้าเราทีละน้อยๆ สีสันหลากสี แฝงพลัง แฝงจิตใจ ลงไปบนกระดาษสีขาว บางส่วนก็เป็นความตั้งใจ บางส่วนก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ มีทั้งความชำนาญและความบังเอิญมาเกี่ยวข้อง มีทั้งที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้มาต่อเติมเสริมกัน

เนื่องจากสีที่ใช้เป็นสีน้ำ มันจึงสลัดสะบัดได้ถึงใจทีเดียว แต่ก็มีบางส่วนกลายเป็นแอ่ง กลายเป็นเจิ่ง บางสีก็เข้ามารวมร่วมประสมประสานกันเอง ดีบ้าง แปลกตาบ้าง เน่าบ้าง!! ตามยถากรรม เราก็เลยขอให้เจ้าของผลงาน ช่วยกันซับ ช่วยกัน rescue งานข้างหน้าให้ดีที่สุด

ในงาน HA Forum ช่วงนี้เราให้ทำกันทั้งห้อง คือทุกคนช่วยกันทำได้ทุกแผ่นที่เราเห็นว่าควรทำ แต่ในงานที่นครปฐม เราให้ซับของใครของมัน ซึ่งตรงนี้เราพบว่าเป็นประเด็นคนละเรื่องกันทีเดียว

ช่วยกันบรรจงซับอย่างตั้งใจ เพื่อผลงานขั้นสุดท้าย

REFLECTION

แต่ละคนก็วิพากษ์ผลงานของกลุ่มอย่างน่าสนใจ

ประการแรกที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเราเห็นกองกระดาษสีแบบนี้ ตกอยู่ข้างถนน เราจะหยิบมาสนใจและวิพากษ์ หาจุดชมกันแบบนี้หรือไม่?

ถ้าไม่? เป็นเพราะอะไรเราจึงได้ทำกับงานชิ้นนี้? เพราะเราทำ? เพราะเรา "ตั้งใจ" ทำ เพราะความหมาย ความรู้สึกที่เราให้? เพราะเราทราบทัศนคติของคนที่ทำงานชิ้นนี้?

เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะว่าการ "ตัดสิน" ที่มี "เกณฑ์" ชัดเจน (หรือเป็น "ปรนัย") นั้นไม่ใช้อารมณ์ แต่ใช้ไม้บรรทัด ใช้กฏ ใช้ระเบียบ ใครทำ ใครรู้สึกอย่างไรตอนทำไม่นำเอามาคิด นำเอามาพิจารณา การตัดสินการแข่งขันหลายๆอย่างทำกันแบบนั้น บอกว่าเป็นวิธีที่แฟร์ ยุติธรรมที่สุด มีแม้แต่การประกวดโรงพยาบาล มีการวัดเอา outcome ปลายมาตัดสินจัดลำดับขั้นโรงพยาบาลกัน ไม่ได้คำนึงว่าคนที่อยู่ก้นตารางนั้น มี resources มีทรัพยากรมากน้อยแค่ไหน ทุ่มเทไปขนาดไหนจึงได้่อย่างที่ได้ ดันเอาไปเปรียบเทียบกับ รพ.ที่มีทรัพยากรมากกว่าเป็นร้อยเป็นพันเท่า ทำไปทำไม? (เขาว่าทำเพื่อจะได้เกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนา!!) ถ้าจะให้ดี เอาคนที่อยู่ รพ.ที่รวยๆ มาลองอยู่แบบ รพ.เล็กๆท้ายตาราง ดูสิว่ายังจะทำได้เหมือนเดิมหรือไม่น่าจะดี

ประการที่สอง ผลงานชิ้นหนึ่ง สามารถถูกให้ความหมายได้มากกว่าหนึ่งแบบ

ในตอนนำเสนองาน ปรากฏว่าคนนำเสนอต้องบอกขาตั้ง (เราใช้ขาตั้งมีชีวิต คือเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆนั่นเอง) ว่าจะให้ถือแกนไหน เพราะอันนี้เป็นศิลปแบบ Abstract ยืนกันคนละด้าน มองกันคนละจุด จะเห็นคนล่ะอย่างกัน ก็น่าทึ่งที่พอเจ้าของภาพอธิบาย narrative คนที่เหลือก็พลอยคล้อยตาม แล้วก็เกิดอาการ "อ๋อ" กันเป็นแถวๆ

บางทีการมองชีวิตจากหลายมุมก็มีประโยชน์ ในมุมหนึ่งที่ดูเศร้าซึม โศกสลด มองจากอีกมุมกลับกลายเป็นโอกาสก็เป็นได้ อำนาจแห่งการชี้นำของสมองนั้นน่าทึ่งมาก จะเรียกว่าเป็นอำนาจแห่งการเยียวยาก็ได้ เพราะสามารถฉุดเปลี่ยนความรู้สึก การรับรู้ได้คนละขั้วเลยทีเดียว การสร้างความหมายใหม่จากรูปเดิม ทำได้ทั้งเปลี่ยนมุม เปลี่ยนคนมอง มองคนละจุด มองที่ภาพรวม หรือมองที่ส่วนย่อย มองที่สี หรือมองที่ช่องว่างระหว่างสี ฯลฯ สารพันเทคนิกที่เรานำมาใช้และเกิดผลที่แตกต่างไปอย่างมหัศจรรย์

ประการสาม ชีวิตที่ถูกเยียวยาในระบบสาธารณสุข ก็เหมือนภาพเหล่านี้

เราพอจะอนุมานได้อย่างสมเหตุสมผลพอสมควรว่าในบรรดาผู้ให้บริการสุขภาพของเรานั้น มีคนตั้งใจดี ปราถนาดีจำนวนมาก และผลงานการดูแลของคนไข้คนหนึ่งๆนั้น มักจะไม่ได้เป็นผลงานของคนๆเดียว ไม่ได้เป็นแม้แต่ผลงานของคนกลุ่มเดียว แต่เป็นผลงานของคนหลายคนและมากกลุ่ม ทุกกลุ่มหวังดีต่อคนไข้ไม่แพ้กัน

ทว่า....

การหวังดีไม่ได้การันตีผลลัพธ์เสมอไป... รึเปล่า?

ลองพิจารณาสมมติฐานข้างบนว่าจริงอยู่สักชั่วขณะหนึ่ง เพื่อลองพยายามอธิบายว่าเป็นยังงั้นได้ยังไง

บางทีการดูแลคนๆหนึ่ง ก็เหมือนกับการสะบัดสี เป็นอะไรที่ต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ความชำนาญพอสมควร แต่กระนั้น ไม่ว่าจะมีความรู้ดีเพียงใด ทักษะดีเพียงใด เราก็ไม่สามารถ "ควบคุมผลงาน" ได้ร้อยเปอร์เซนต์ มันจะมีปัจจัยมากมายที่ละเอียดอ่อนที่เราไม่สามารถจะควบคุมได้ร้อยเปอร์เซนต์นั่นเอง เราไม่ได้มีสติพอที่จะควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการสะบัดได้ทุกมัด ได้ตลอดเวลา เราไม่สามารถควบคุมความเร็ว แรง ทิศทางของลมขณะที่เราสะบัด เราไม่สามารถการันตีว่ากระดาษที่วางจะไม่ขยับ ปลิว หรืออยู่กับที่ เราไม่ทราบว่าความเข้ม ความหนืด ของสีจะเท่ากันหมด และเสมอต้นเสมอปลายแค่ไหน ฯลฯ กฏแห่งความยุ่งเหยิงโกลาหล (chaos) จะปรากฏตลอดเวลาในการทำงาน

นั่นขนาดของเราคนเดียว

ถ้าหากการดูแลคนไข้เป็นสหสาขา เรายิ่งเห็นความ "ควบคุมไม่ได้" ที่พิศดารมากยิ่งขึ้น คนทุกคนปราถนาดี แต่ส่วนผสมของความปราถนาดีสิบทิศทางออกมาเป็นอะไร ดีหรือไม่ดี เป็นอะไรที่บอกพยากรณ์ยากมาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้

เราก็เห็นกระดาษบางใบออกมาเป็น consensus เป็นเสียงเดียวกันว่า "เน่า"

แต่เชื่อหรือไม่ ทั้งๆที่เน่า เราก็ยังสามารถพิจารณา หามุม ให้ความหมาย จนมันเน่าน้อยลง กลายเป็นพอทน กลายเป็นพอใช้ได้ หรือบางกรณี กลายเป็นดีไปก็มี นี่อาจจะเป็น mechanism เดียวกันกับที่คนไข้ของเราใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะเขาต้องอยู่กับผลลัพธ์โดยรวมของ "ความหวังดีทั้งหมด" ของพวกเราที่ดูแลเขาให้ได้ หากไม่สามารถเห็นอะไรดีๆ ก็จะอยู่ได้ยาก จึงต้องใช้ power of mind ในการจัดการหาความหมายดีๆออกมา

เราในฐานะผู้ดูแลที่จะได้มามะรุมมะตุ้มในแต่ละ case สมควรที่มองไม่เพียงแต่เรากำลังทำอะไร แต่อาจจะต้องมองว่า "สิ่งที่เราทำ เมื่อไปรวมกับของคนอื่นๆ มันจะเป็นอย่างไร?" หรือไม่?

ประการที่สี่ และขออภิปรายเป็นประการสุดท้าย (ที่จริงมีเยอะกว่านี้เยอะ) ก็คือ ทั้งๆที่เราทำด้วยความตั้งใจ และระบายให้สวยงาม เพื่อนระบายออกมาแล้วบอกว่าสวยแล้ว แต่พอเราสั่งให้ "แก้" ทุกคนสามารถหา "จุดที่ต้องแก้ หรือจุดที่ควรแก้" ออกมาได้หมด ไม่มีปัญหา!!!!

สำหรับผมแล้ว ปรากฏการณ์นี้เป็นอะไรที่น่าสนใจสุดๆ มันเป็นเพราะอะไร? มันเป็นเพราะเราเชื่อว่า "เราเป็นนักแก้ นักซ่อม" หรือไม่ พอให้หาจุดที่ควรแก้ ต้องแก้ เราสามารถหาได้ตลอดเวลา....

ใน workshop มีพี่คนหนึ่งบอกว่า "ตอนที่พี่พึ่งซับเสร็จ มองซ้าย มองขวา อืม.. สวยแล้ว อย่างนี้แหละที่เราต้องการ พอเราขยับตัวออกจากที่ไปยังแผ่นต่อไป ก็เห็นน้องเข้ามาที่แผ่นที่เราพึ่งทำเสร็จ แล้วก็ซับโน้น ซ้บนี่ต่อจากของเรา พี่จี๊ดขึ้นมาเลย อุตส่าห์ทำไว้สวยๆ" (ทำนองนี้นะครับ พูดจริงๆว่าไงผมลืมไปแล้ว)

ในความเป็นจริง มันมีบางส่วนของกระดาษที่ "เน่า" หรือ "เจิ่งนอง" ชัดเจน อันนั้นไม่ได้แปลกอะไรที่เราจะซับมันออก แต่ที่น่าสนใจก็คือ อีกหลายๆแผ่นที่ไม่ถึงกับเน่า ไม่ถึงกับนอง ทันทีที่เราหยุดดู ทุกๆคนสามารถหาจุดแต่ง จุดซับ ที่ตนเองคิดว่าจะทำให้ดีขึ้นเสมอ!

อันนี้เป็นทัศนคติของพวกเราเผ่านักซ่อมจริงๆเลยนะนี่!!

ฉะนั้นปรากฏการณ์อย่างที่พี่คนที่พูดขึ้นมาก็พบได้ เพราะขนาดคนหนึ่งพึ่งแต่งเสร็จ บอกว่าเริ่ดแล้ว อีกคนมาดู ก็จะหาที่แต่งต่อไปอีกได้เสมอ เพราะ "สวยที่สุด"​ ของแต่ละคนมันต่างกันไป และที่เราไม่พอใจที่มีคนมาแต่งของเราเพิ่มนั้น บางทีเราก็ลืมไปว่า เราเองก็ไปแต่งของคนอื่นเพิ่มเหมือนกัน!!

มีอีกหลายๆปัญหา ที่วิธีแก้ อาจจะไม่ใช่ไปปรับเปลี่ยนอะไรกับมัน แต่เป็นการ "ปรับเปลี่ยนมุมมอง" ของคนมองนั่นเอง มองๆไปสักพัก ไอ้ที่คิดว่าต้องแก้ ต้องซับ ต้องเช็ด ต้องเอาออก อือ.... มันอยู่อย่างนั้นของมันก็พอทน พอใช้ได้เหมือนกันนี่นา

แต่ที่เด็ดมากก็คือทันทีที่เรา "จี๊ด" และเราเท่าทันว่าเรากำลังจี๊ด จี๊ดนั้นก็หยุดไป และถ้าเรา "ฉวยโอกาส" นั้นมาวิเคราะห์ว่าทำไมเราจี๊ด ทำไมเราไม่ปล่อย บางทีจะเป็นโอกาสทองที่เราจะทำให้เราไม่ต้่องจี๊ดเรื่องทำนองนี้อีกเลย ทั้งชีวิต ก็เป็นไปได้

คำสำคัญ (Tags): #Aesthetic for healing#HA forum 2011
หมายเลขบันทึก: 433684เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2011 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับอาจารย์

การ reflection ของอาจารย์ลุ่มลึกและน่าสนใจมาก ๆ เลยครับ 
แหะ แหะ ขอลอกเอากิจกรรม รวมทั้งแนว reflection ไปใช้ต่อนะครับ...  

อยากทำมั่งจังค่ะ

สวัสดีค่ะ

     อ่านแล้วชอบจังค่ะ

เคยเห็นหลายคน..จิ๊ด.แล้ว..สงสารค่ะ

แต่ลืมไปว่าตัวเองก็เคยเป็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท