ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ธรรมะกับผู้บริหารข้าราชการไทย


     เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๔ นั้น ผู้เขียนได้เดินทางไปบรรยายธรรมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับข้าราชการไทย ๒ หน่วยงานด้วยกัน กล่าวคือ (๑) หลักสูตรเจ้าหน้าที่บริหารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และ (๒) กรมกำลังพลทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม

     "ธรรมะสำหรับผู้บริหารข้าราชการไทย" เป็นหัวข้อที่ผู้เขียนได้รับนิมนต์จากท่านผู้อำนวยการทั้งสองกรม   ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้นเป็นผู้เข้ารับการพัฒนาและฝึกอบรมเป็นผู้บริหารระดับกลาง จำนวนทั้งสิ้น ๘๐ ท่านซึ่งได้เข้ารับการฝึกอบรมในวิชาการต่างๆ เพื่อนำไปบริหารหน่วยงานในภูมิภาคต่างๆ เช่น วิชาการเกี่ยวกับบริหารจัดการ การบริหารความปลอดภัย และการบริหารความเสี่ยง  โดยประยุกต์หลักการบริหารเชิงกายภาพและจิตภาพเข้าด้วยกัน

     ส่วนกรมกองบังคับการกองทัพไทยนั้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมประกอบด้วยผู้บริหารระดับรองผู้อำนวยการสำนัก, ผู้อำนวยการกองชั้นยศ พันเอก (พิเศษ) นาวาเอก (พิเศษ) , นาวาอากาศเอก (พิเศษ) จำนวน ๑๐๐ นาย รวมไปถึงผู้สนใจอีกจำนวนเกือบ ๗๐ ท่านเข้าร่วมรับฟัง  ในการนี้ พลอากาศโทอดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ เจ้ากรมกำลังพลทหาร ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการได้เข้าร่วมให้เกียรติรับฟังด้วย

     ประเด็นสำคัญที่ผู้เีีขียนได้พยายามเน้นในเบื้องต้นเกี่ยวกับ "ข้าราชการไทย" คือ ย้ำเตือนให้ข้าราชการทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารได้ตระหนักรู้ถึงพระปฐมบรมราชโองการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ตรัสในวันเสด็จขึ้นครองราชย์ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

     เพื่อสืบสานพระปณิธานของพระองค์ที่ทรงสละเวลาที่เวลา ทุ่มเทพระวรกาย และแรงใจของพระองค์เพื่อพสกนิกรชาวไทยอันเป็นที่รัก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ข้าราชการไทยคนตะหนักรู้และย้ำเตือนตัวเองในทุกวินาที และทุกย่างก้าวในการทำงานเพื่อรับใช้เบื้องพระยุลบาทให้สมกับคำว่า "ข้าราชการ"  เพราะ "ข้าราชการคือคนของประชาชน" ฉะั้นั้น ข้าราชการจึงมีหน้าที่ "หยิบยื่นความสุขให้แก่ปวงประชาอย่างเสมอภาค ยุติธรรม และเท่าเทียม" ดังคำกล่าวที่เรามักได้ยินเสมอว่า "หน้าที่ของข้าราชการคือต้องรับใช้ประชาชน" (http://www.youtube.com/watch?v=3ZKGaJPV2qc)

    ในหน่วยงานของกรมบรรเทาสาธารณภัยนั้น (http://www.disaster.go.th/dpm/) ผู้เขียนได้ยกประเด็นเรื่อง "ความซื่อตรง" นำเสนอ เนื่องจากได้มีกล่าวถึง "ความซื่อตรงของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง" โดยการจัดทำ "แผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ" (http://www.thaireform.in.th/reform-the-news-new-mental-sense/item/3587-2010-09-11-12-51-06.html) เพื่อย้ำเตือนให้ทุกท่านได้ตระหนักว่า การทำหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้นจำเป็นจะต้องมีความซื่อตรงต่อตัวเอง หน้าที่ เวลา เป้าหมาย สังคม และประเทศชาติ ซึ่งคำว่า "ซื่อตรง" (อาชชวะ) ในหลักของพระพุทธศาสนานั้น หมายถึง "ซื่อตรงต่อคน และต่อธรรม" ซึ่งในประเด็นนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า "บุคคลผู้ตั้งตนไว้ชอบ ซื่อตรงดุจกระสวย  รังเกียจบาปกรรมทั้งหลาย พิจารณาเห็นกรรมที่เสมอและไม่เสมอ นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่าเป็นมุนี" (๒๕/๒๑๗/๕๕๐) ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนได้นำประเด็นนี้มานำเสนอเพราะว่าข้าราชการส่วนใหญ่มักคิดว่า "คนซื่อตรงขาดความยืดหยุ่น  หัวเก่าสมัยโบราณ ไร้เพื่อนคบค้าสมาคม และขาดการพลิกแพงจึงทำให้ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในการทำงาน"

     ในส่วนของหน่วยงานกองบัญชาการกองทัพไทยนั้น (http://www.rtarf.mi.th/index_new.htm)  ผู้เขียนได้ยกประเด็น ๓ ครอง คือ "ครองตน ครองคน และครองงาน" ตามหลักสัปปุริสธรรม (รู้เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคล) มาอธิบาย โดยย้ำว่า การที่ผู้บริหารจะสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องมีอย่างน้อยสามครอง อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ผู้เขียนได้ย้ำคือ การใช้ "อำนาจ" ของผู้บริหาร พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนว่า "ผู้บริหารได้ยศแล้วไม่ควรมัวเมา"  ยศในบริบทนี้มาพร้อมกับคำว่า "อำนาจ" การใช้อำนาจควรจะมีธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะธรรมจะทำให้การใช้อำนาจมีความยืดหยุ่น นุ่มนวล และตระหนักรู้ในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ในการทำงานควรตระหนักรู้ว่า "อำนาจที่มาพร้อมกับตำแหน่ง" (Position Power) และ "อำนาจส่วนตัว" (Personal Power) มีเส้นแบ่ง และควรระมัดระวังในการใช้อย่างไร ดังนั้น ควรใช้อำนาจร่วม (Power with) และอำนาจทางปัญญา (Power wisdom) ให้มากยิ่งขึ้น แต่ควรพยายามเว้นอำนาจเหนือคนอื่น (Power over)

     ผู้เขียนขออนุโมทนาหน่วยงานทั้งสองแห่งที่ได้เปิดโอกาสให้ไปทำหน้าที่ พบปะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้น และแต่ละท่านนั้นล้วนมีประสบการณ์ที่ยาวนานในวงข้าราชการ  และที่น่าสนใจคือ ท่านเหล่านี้ ล้วนฟังอย่างตั้งใจ และเชื่อมั่นว่าจะเกิดผลต่อการนำหลักการต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #Dhammatalk#hansa#peace#power
หมายเลขบันทึก: 433382เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2011 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

หากเรามี"ความซื่อตรงต่อตัวเองได้"

ความซื่อตรงต่อบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นๆก็ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ

สาธุเจ้าค่ะ @(*_*)@

โยมน้ำเกลือหวาน

เห็นด้วยว่า "การซื่อตรงต่อตัวเอง มีผลต่อการซื่อตรงต่อคนอื่น" ถือเป็นการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก

ด้วยสาราณียธรรม

นมัสการพระคุณเจ้า

  • แวะเข้ามาอ่านธรรมะดี ๆ ครับ
  • เพื่อเก็บเกี่ยวไปปฏิบัติ

โยมประหยัด

อนุโมทนาสำหรับความตั้งใจดี หวังว่าจะเกิดประโยชน์แก่พวกเราเท่าที่ประสบการณ์จะพึงมี

 

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท