Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คำว่า “คนไร้สถานะ” อาจสื่อสารความเข้าใจผิดต่อแนวคิดในการจัดการประชากรไร้รัฐโดยรัฐไทย


โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ในการอ่านงานวิจัยของนักศึกษาหรือนักวิจัยเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ  ผู้เขียนมีความเห็นว่า การใช้คำว่า “คนไร้สถานะ” อาจสื่อสารความเข้าใจผิดต่อแนวคิดในการจัดการประชากรไร้รัฐโดยรัฐไทย ผู้เขียนขอเสนอให้ใช้คำว่า “คนไร้สถานะทางกฎหมาย” หรือ “คนไร้สถานะตามกฎหมาย” แทนคำว่า “คนไร้สถานะ” ทั้งนี้ เพราะเป็นถ้อยคำที่ชัดเจนกว่าและสอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดในประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการประชากรของรัฐไทย

เราพบเสมอว่า มีความไม่เข้าใจว่า ทำไมมนุษย์จึงไร้สถานะ ?  สถานะที่กล่าวถึงคืออะไร ? โดยความหมายทั่วไปของ “สถานะ” อาจไม่ใช่เรื่องของกฎหมายก็ได้ เช่น สถานะความเป็นญาติ หรือสถานะความเป็นหญิงหรือชาย แต่เรื่องของคนไร้สถานะทางกฎหมาย เป็นเรื่องที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงสิทธิทางกฎหมาย และเป็นสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) สิทธิในสถานะบุคคลบุคคลตามกฎหมายเอกชน และ (๒) สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน

ขอให้สังเกตว่า มนุษย์ในสังคมไทยไม่อาจไร้สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน เพราะมีการเลิกทาสบนแผ่นดินไทยตั้งแต่ พ.ร.บ.การเลิกทาส พ.ศ.๒๔๔๘ และมีการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนสำหรับมนุษย์ทุกคนตั้งแต่การปรากฏตัวของมาตรา ๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๖๘

มีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะเข้าไม่ถึงสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนเท่านั้น กล่าวคือ มนุษย์ที่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ความไร้สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร (๒) ความไร้สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ และ (๓) ความไร้สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมือง

จึงจำเป็นที่จะมีการทบทวนกรอบความคิดและทฤษฎีเพื่อสร้างความเข้าใจในปัญหาความไร้สถานะทางกฎหมายแต่ละประเภท ทั้งนี้ เพื่อที่บรรลุถึงชุดความคิดที่จะแยกแยะคนไร้สถานะทางกฎหมาย

ในสถานการณ์ที่การจัดการประชากรในประเทศไทยคืบหน้าอย่างมาก แรงงานต่างด้าวอาจมีสถานะเป็นคนไร้รัฐก่อนปี พ.ศ.๒๕๔๗ แต่เมื่อพวกเขาได้รับการบันทึกใน ท.ร.๓๘/๑ โดยรัฐไทย พวกเขาจึงมีสถานะเป็น “คนมีรัฐ” แต่ยัง “ไร้สัญชาติ” และใน พ.ศ.๒๕๔๘ แรงงานคนเดียวกันนี้อาจได้รับการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง จนมีสถานะเป็น “คนสัญชาติลาวที่เข้าเมืองไทยและอาศัยอยู่ในไทยอย่างถูกกฎหมายคนเข้าเมือง” แต่ใน พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งแรงงานคนนี้จะต้องออกไปจากประเทศไทยเพราะทำงานตาม MOU มาครบ ๔ ปีแล้ว แต่เขายังไม่ยอมกลับออกไป เขาจึงกลับมามีสถานะเป็นคนต่างด้าวสัญชาติลาวเข้าเมืองไทยและอาศัยอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมาย

ขอให้สังเกตในท้ายที่สุดว่า แรงงานต่างด้าวที่เราศึกษากันนี้ พวกเขาไม่เคยไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน แต่เขาอาจจะตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐต้นทาง จึงไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนในราวก่อน พ.ศ.๒๕๔๗ แต่เมื่อมีเหล่ามติคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดระบบแรงงานต่างด้าว พวกเขาย่อมไม่ไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนโดยสิ้นเชิง ปัญหาของเขาอาจเหลือแค่ “ความไร้สัญชาติ” และ “ความไร้ความชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง” แม้ประเทศต้นทางยังไม่ยอมรับ พวกเขาก็มีสถานะเป็น “ราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวอยู่ชั่วคราว” ซึ่งพวกเขาจะถูกบันทึกในฐานะข้อมูลหนึ่งตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยที่เรียกว่า “ท.ร.๓๘/๑” และเมื่อพวกเขาผ่านการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง พวกเขาก็จะไม่ไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนอีกต่อไป เว้นแต่ว่า พวกเขาจะกระทำผิดเงื่อนไขการเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง “ความไร้ความชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง” ก็อาจย้อนกลับมาเป็นปัญหาของเขาและของรัฐปลายทาง อันได้แก่ รัฐไทย แต่พวกเขาจะไม่ไร้รัฐไร้สัญชาติอีกต่อไป

ดังนั้น การใช้คำว่า “คนไร้สถานะ” โดยไม่ระมัดระวัง ก็อาจสื่อสารความเข้าใจผิดต่อแนวคิดในการจัดการประชากรไร้รัฐโดยรัฐไทยที่ไม่หยุดนิ่ง เพราะมนุษย์ที่เป็นแรงงานต่างด้าวก็ไม่หยุดนิ่งเช่นกัน ปัญหาสถานะทางกฎหมายจึงมิใช่ปัญหาที่หยุดนิ่งเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 433070เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2011 03:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท