ทุนมนุษย์กับการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว


สถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจท่องเที่ยวไทยด้านทุนมนุษย์

ทุนมนุษย์ กับการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว

Education-Architecture of Human Resource

บทที่ 1 สถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจท่องเที่ยวไทยเรื่องทุนมนุษย์

ธุรกิจหลักของธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวของไทย ได้แก่ ธุรกิจบริการที่พัก ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ผู้ประกอบการธุรกิจเหล่านี้กว่าร้อยละ ๙๙ เป็นผู้ประกอบการ SMEs และ MSEs  รูปแบบของการประกอบธุรกิจจะมีลักษณะเป็นกิจการในครอบครัวไม่ได้มีระบบการบริหารจัดการตามระบบทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ การดำกิจการจะเป็นรูปแบบง่ายๆไม่ซับซ้อน เนื่องจากจะใช้แรงงานของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารงานกันตามความสมัครใจหรือความสามารถของสมาชิกในครอบครัวกันอย่างง่ายๆหรืออาจจะเป็นการให้ความช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อนบ้านใกล้เคียงหรือคนในท้องถิ่นนั้นๆ โครงสร้างองค์กรหรือ Organization Chart จะมีลักษณะที่ค่อนข้างราบไม่ได้มีการแบ่งแยกเป็นสายงานหรือสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจนหรือยุ่งยากซับซ้อนดังเช่นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หากงานในส่วนไหนยังขาดคนรับผิดชอบก็สามารถเข้าไปทำแทนกันหรือแรงงานหนึ่งคนสามารถรับผิดชอบในหลายหน้าที่ในเวลาเดียวกันได้เนื่องจากไม่ได้แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบกันอย่างเด็ดขาดชัดเจนนัก ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการ SMEs บางรายจะมีการจ้างแรงงานเพิ่มเติมจากการใช้แรงงานในครอบครัวก็จะเป็นการจ้างงานเพียงชั่วคราวในฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการมาก ไม่ได้มีการจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการขยายการบริหารงานหรือการบริการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ไม่มีการกำหนดตำแหน่งงานหรือการปรับระดับและอัตราเงินเดือนตามโครงสร้างองค์กรหรือหลักเกณฑ์ในการบริหารงานขององค์กรธุรกิจทั่วไป รวมทั้งอาจไม่ได้มีการทำสัญญาจ้างงานและให้สวัสดิการต่าง ๆ ตามกฎหมายแรงงาน โดยอาจจะเป็นการเจรจาตกลงราคาค่าจ้างและขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบกันง่าย ๆ เท่านั้น หากทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้างตกลงกันได้ก็เข้ามาร่วมงานกัน ไม่ใช่เป็นการหาแรงงานมาบรรจุตามตำแหน่งที่ว่างตามโครงสร้างองค์กร หากต้องการขยายงานหรือขยายการประกอบธุรกิจในส่วนไหนก็จะทำตามที่เจ้าของกิจการต้องการโดย ไม่ได้มีการวางแผนงานไว้ล่วงหน้า

 

สำหรับปัญหาหลักในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการSMEในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวที่สำคัญน่าจะมีอยู่สองประเด็นด้วยกัน คือ ผู้ประกอบการมักขาดความรู้ทางด้านการบริหารจัดการ และผู้ประกอบการ SMEs ยังไม่มีการนำระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศมาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจมากนัก การขาดความรู้ทางด้านการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจ การเดินทางและท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นการขาดความรู้และทักษะในด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้ประกอบการSMEsส่วนใหญ่เห็นว่าการบริหารงานเป็นการอาศัยแรงงานภายในครอบครัวเป็นหลักจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยหลักการบริหารจัดการตามหลักวิชาการหรือกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการให้ยุ่งยาก เพราะบุคลากรก็มีจำกัดและสามารถผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปรับผิดชอบหรือปฏิบัติงานในหน้าที่ต่างๆทดแทนกันได้ตลอดเวลา อีกทั้งในแต่ละวันก็มีการปรึกษาหารือหรือพูดคุยเกี่ยวกับการบริหารงานและการปฏิบัติงานตลอดเวลาหรือหากจะต้องมีการประสานงานก็เป็นลักษณะอาศัยความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการเป็นส่วนใหญ่โดยจะเน้นความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งระหว่างเครือญาติและคนในท้องถิ่น อีกทั้งจากการที่ไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลหรือสถิติสำคัญเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของตนเอง อย่างเป็นระบบ ผู้ประกอบการ SMEs จึงไม่เห็น ความสำคัญของการที่จะต้องมีการจัดทำแผนงานหรือวางแผนเกี่ยวกับการดำเนินกิจการรวมทั้งการขยายกิจการในอนาคต ดังนั้น จึงควรมีการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวหันมาให้ความสนใจที่จะศึกษาและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการสมัยใหม่เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการประกอบธุรกิจ ประเด็นเกี่ยวกับผู้ประกอบการ SMEs ไม่เห็นความสำคัญของการนำระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ อาจเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวโดยผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็กและใช้เงินลงทุนไม่มากนัก ขณะที่การจะนำระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินงานจะต้องลงทุนเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก จึงอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุนอีกทั้งผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่จึงเห็นว่าการลงทุนใน ด้านระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศไม่น่าจะคุ้มค่าและอาจจะไม่เหมาะสมกับกิจการขนาดเล็ก อีกทั้งรูปแบบของการบริหารจัดการก็ไม่ได้มีความซับซ้อนจนต้องนำระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศมาช่วยในการบริหารจัดการ แต่หากหน่วยงานภาครัฐจะมีการจัดทำระบบงานหรือพัฒนาระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศที่ราคาไม่แพงรวมทั้งมีฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศสำหรับใช้ในการประกอบธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวก็น่าจะช่วยลดปัญหาในด้านนี้ลงได้

การจัดการด้านการตลาดของผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่เรียบง่ายไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการนัก โดยอาจอาศัยการบอกต่อโดยนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการแล้วเกิดความประทับใจจึงแนะนำให้บุคคลใกล้ชิดหรือนักท่องเที่ยวรายอื่น หรือผู้ประกอบการ SMEs อาจจัดทำเป็นใบปลิวหรือแผ่นพับที่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์หรือถ่ายเอกสารแล้วนำไปแจกจ่ายแก่นักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวหรือติดไว้ตามสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนั้นผู้ประกอบการ SMEs มักไม่ได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดอย่างเฉพาะเจาะจง ดังเช่นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และหากจะดำเนินกลยุทธ์ด้านการตลาดโดยใช้ราคาเป็นปัจจัยดึงดูดลูกค้าก็อาจทำได้ยากเนื่องจากมีเงินลงทุนไม่มากนัก หรือหากจะปรับตัวให้สอดคล้องกับแคมเปญที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยใช้โปรโมทการท่องเที่ยวของไทยในแต่ละปีก็น่าจะทำได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านเงินลงทุนอีกเช่นกัน ดังนั้นการจัดการด้านการตลาดของผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวจึงทำได้อย่างจำกัด อาจจะต้องมีการรวมกลุ่มกันในชุมชนหรือท้องถิ่นแล้วร่วมกันทำหรือขอความสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลรับผิดชอบด้านการท่องเที่ยว

 

สำหรับด้านทรัพยากรมนุษย์จะเน้นบริหารจัดการจากกําลังแรงงานที่มีอยู่ในครอบครัวก่อน อาจจะมีการจ้างแรงงานเพิ่มแต่ก็อาจไม่มากนัก เนื่องจากเป็นกิจการขนาดเล็กหากมีการ จ้างงานเพิ่มอาจเป็นการสร้างภาระด้านต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs มากเกินไป ดังนั้น แรงงานในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวที่มีผู้ประกอบการเป็น SMEs ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแรงงานชั่วคราว ที่มีอาชีพหลักอย่างอื่นอยู่แล้ว และเข้ามาประกอบอาชีพในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวเฉพาะในช่วงที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวเท่านั้น เมื่อหมดฤดูกาลท่องเที่ยวก็กลับไปประกอบอาชีพหลักของตนตามเดิม   ดังนั้น แรงงานส่วนใหญ่จึงมักขาด ความรู้และทักษะในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ ได้แก่ความรู้ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เป็นต้น การที่แรงงานส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแรงงานชั่วคราว จึงทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะฝึกฝนหรือพัฒนาทักษะเพิ่มเติมโดยเฉพาะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากแรงงานในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวมองไม่เห็นความก้าวหน้าทางอาชีพ (career path) ของตนเองอย่างชัดเจนในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว จึงอาจเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ก็ไม่อยากเพิ่มต้นทุนในการประกอบการโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวให้แก่แรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่มีแรงจูงใจที่จะส่งเสริมหรือลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะการให้บริการที่สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แก่แรงงาน เพราะ ไม่มั่นใจว่าแรงงานที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะการให้บริการที่สูงขึ้นจะทำงานอยู่นานเพียงพอที่จะ คุ้มค่ากับการลงทุนพัฒนา

 

(เรียบเรียงจากโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs สาขาธุรกิจบริการการท่องเที่ยว ของ สสว)

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

15 มีนาคม 2554

 

 

หมายเลขบันทึก: 431479เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2011 02:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2013 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณ ดร.จันทวรรณ ที่ให้ดอกไม้เป็นกำลังใจครับ เอกสารที่นำเสนอเป็นเอกสารที่ผมรวบรวมจากรายงานการทำวิจัยของหลายๆหน่วยงานเพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาจัดทำแผนของคณะอนุกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อนำเสนอคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจแห่งชาติ กรอบการนำเสนอแบ่งเป็น 4 บท ด้วยกัน บทที่หนึ่งที่นำเสนอไปแล้ว เป็นเรื่องของการนำเสนอสถานการณ์ปัจจุบัน ที่อธิบายให้เห็นภาพของระบบการศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยในการสร้างทุนมนุษย์ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว บทต่อไปจะเป็นเรื่องของการนำเสนอเป้าหมายในการพัฒนาทุนมนุษย์ในส่วนของภาคการศึกษาที่ควรจะดำเนินการเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาทุนมนุษย์ให้กับธุรกิจท่องเที่ยว หลังจากนั้นก็จะเป็นบทที่นำเสนอถึงกลยุทธ์ในการพัฒนา และตามด้วยแนวทางการขับเคลื่อน ผมจะนำมาเผยแพร่ต่อไป โปรดติดตามในเร็วไนี้

ปัจจุบันภาคการศึกษาในระบบ มีส่วนสร้างทุนมนุษย์เพื่อมารองรับธุรกิจท่องเที่ยวได้น้อยมาก เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้

1.โครงสร้างของธุรกิจเอง โดยเริ่มจากผู้ประกอบการส่วนมากเป็น SMEs และ MSEs ที่มีรูปแบบของการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นกิจการในครอบครัว เน้นการใช้แรงงานของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก แรงงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัวขาดความก้าวหน้าทางอาชีพ ผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจที่จะส่งเสริมหรือลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะการให้บริการที่สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แก่แรงงาน เพราะ ไม่มั่นใจว่าแรงงานที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะการให้บริการที่สูงขึ้นจะทำงานอยู่นานเพียงพอที่จะคุ้มค่ากับการลงทุนพัฒนา

2.สถาบันการศึกษาเน้นที่กระแสความต้องการของลูกค้า (นักศึกษา และผู้ปกครอง) เป็นหลัก ไม่ได้เน้นที่การสร้างทุนมนุษย์เพื่อรองรับภาคธุรกิจอย่างแท้จริง แรงงานเบื้องต้นต้องการผู้ที่จบแค่อาชีวะ หรือต่ำกว่า แต่กระแสความต้องการของสังคม ต้องการระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของแรงงาน  

บทที่ 2 เป้าประสงค์ของการพัฒนาทุนมนุษย์ในระบบการศึกษาเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว

1.สถาบันการศึกษาสามารถพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ (มีความรู้และ ทักษะ ในแต่ละตำแหน่งงาน) ในจำนวนที่พอเพียงกับความต้องการของภาคธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต และแรงงานได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมพอเพียงกับค่าครองชีพในแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง

2.สถาบันการศึกษาสามารถพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้และทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจและบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างมืออาชีพ ที่มีคุณธรรม และจริยธรรม มีความพร้อมในการบริหารการเปลี่ยนแปลงและสามารถรองรับธุรกิจระหว่างประเทศ

3.สถาบันการศึกษาสามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่อยู่ในธุรกิจให้มีทุนมนุษย์เพิ่มขึ้นมีความก้าวหน้าในตำแหน่งงานที่สูงขึ้นและพัฒนาจนถึงระดับผู้บริหารสูงสุดหรือออกไปเปิดธุรกิจของตัวเองได้

4.คนไทยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทุนมนุษย์จากสถาบันการศึกษาที่เท่าเทียมกัน

5.สถาบันการศึกษาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อความเข้มแข็งของธุรกิจและสังคมอย่างแท้จริงไม่หวังผลทางการค้าจนเกินไป

 

บทที่ 3 กลยุทธ์การพัฒนาทุนมนุษย์ในระบบการศึกษาเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว

1.ปรับโครงสร้างและแนวทางการบริหารจัดการ ของอาชีวะศึกษา ให้สามารถผลิตคนไทยให้เข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่มีคุณภาพ (มีความรู้และทักษะในแต่ละตำแหน่งงาน) จำนวนพอเพียงกับความต้องการของธุรกิจ

2.กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่อยู่ในภาคธุรกิจอยู่แล้วให้มีการพัฒนาเพิ่มทุนมนุษย์อย่างต่อเนื่อง มีขบวนการในการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์มีความก้าวหน้าทางอาชีพ และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมและพอเพียงต่อการดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

3.รัฐร่วมมือกับเอกชนและสถาบันการศึกษาจัดตั้งองค์กร เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์แบบบูรณาการ   ที่หน่วยงานปกติในข้อ 1 และ 2 ไม่สามารถจัดการให้เป็นไปตามความต้องการของภาคธุรกิจได้

4.ประชาสัมพันธ์และปลูกจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนเข้าใจเรื่องทุนมนุษย์ และหันมาพัฒนาทุนมนุษย์ให้กับตัวเอง และคนรอบข้าง เพื่อเพิ่มทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางสังคมควบคู่ กันไปอย่างเหมาะสม มีความสมดุล อย่างสม่ำเสมอ

บทที่ 4 แผนปฏิบัติการเพื่อความสำเร็จ แนวทางการขับเคลื่อน

1.จัดตั้งสถาบัน หรือ สภา พัฒนาทุนมนุษย์แห่งชาติ

2.จัดตั้ง ศูนย์บูรณาการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว

3.สสว และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้การสนับสนุนภาคเอกชนในด้านงบประมาณการอบรมและจัดกิจกรรมเพื่อ พัฒนาทุนมนุษย์ธุรกิจท่องเที่ยว อย่างต่อเนื่องและตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจและตอบสนองความพอใจของนายจ้างและลูกจ้าง

4.สถาบันอาชีวะที่จัดสอนวิชาการท่องเที่ยว ต้องมีสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเครือข่ายและมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรและร่วมเป็นหุ้นส่วนดำเนินการพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้และทักษะตามมาตรฐานของสถานประกอบการนั้นๆ นักศึกษาจบการศึกษาต้องมีงานทำในตำแหน่งงานที่เรียนมา และได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม

5.ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมีสถาบันการศึกษาเป็นเครือข่ายให้การสนับสนุนด้านการบริหารจัดการทุนมนุษย์

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

17 มีนาคม 2554

สวัสดีค่ะ ม.ล.ชาญโชติ

ขอโทษนะคะที่แวะมาอ่านช้าไปนิด  มัวยุ่งๆ เรื่องงาน

ดิฉันสนใจเรื่อง "การพัฒนาคน" เป็นอย่างมาก  และเชื่อว่าสิ่งที่คุณพูดมาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นหลัก   ไม่ว่าในธุรกิจอะไรจำเป็นต้องมีทักษะการบริหาร และ การจัดการนะคะ  การทำงานในระบบราชการยิ่งต้องการทั้งทักษะ การบริหาร และ การจัดการ ซึ่งเราขาดจริงๆ มันทำให้งานเดินไปได้ไม่ดี  ดิฉันอยู่ในระบบราชการมานานกล้าพูดได้เต็มปากนะคะว่า  หน่วยราชการเกือบทั้งหมดเดินไปเรื่อยๆ แบบไร้การบริหารค่ะ  งานที่ออกมาดีจึงมาจากคุณภาพเฉพาะตัวของบุคลากรมากกว่าเกิดจากพลังขับเคลื่อนระดับองค์กร

คุณมองทะลุและวิเคราะห์ทั้งปัญหาและทางออกให้เบ็ดเสร็จนะคะ  แต่แม้เราจะพัฒนาตามทิศทางที่คุณมองได้สำเร็จ  แต่มีปัจจัยอีกตัวที่ทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้ไม่ทั้งหมดคือ คุณภาพพื้นฐานของคนค่ะ  ทุกวันนี้เรา (คนรุ่นเก่า) มักจะบ่นๆ กันเองว่า คุณรุ่นใหม่ๆ ไม่สู้งาน ไม่อดทน  ไม่เสียสละ มุ่งผลตอบแทนเป็นตัวเงินเป็นหลัก 

ดิฉันคิดว่า นี่จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตค่ะ

สวัสดีครับคุณ NUI

ขอบคุณครับที่คุณ NUI ให้ความสนใจและแสดงข้อคิดเห็น เมื่อวานผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็น"ยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11" ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้จัดงานได้แบ่งการประชุมออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่กลุ่ม เศรษฐกิจ กลุ่มสังคม และกลุ่มสิ่งแวดล้อม ผมได้เข้าร่วมประชุมในกลุ่มเศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมที่เห็นพร้อมกันว่า แผนพัฒนาในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องคนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนนำแผนไปปฎิบัติ หลังจากมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดประธานอนุกรรมการร่างแผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เห็นด้วยว่าต้องใส่เรื่องทรัพยากรมนุษย์เข้าไปในส่วนของเศรษฐด้วย ถือว่าเป็นครั้งแรกของการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่จะมีการกล่าวถึงคนในหมวดของเศรษฐกิจ จึงถือว่าเป็นนิมิตดี  สำหรับปะเด็นที่คุณ Nui แสดงความคิดเห็นในช่วงสุดท้ายนั้นผมได้จัดทำบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ ดังนี้ครับ

ประเด็นพิจารณาเรื่องทุนมนุษย์กับการศึกษา –Architecture of Human Resource 

            .สถานการณ์ปัจจุบัน        คนไทยได้รับการพัฒนาศักยภาพ แต่มีปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาและสติปัญญา เด็กและเยาวชนมีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น  แต่คุณภาพการศึกษายังมีปัญหามาก เด็กมีพัฒนาการด้านความสามารถทางเชาว์ปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ค่อนข้างต่ำ คนไทยเกือบร้อยละ ๖๐ ของผู้มีอายุเกิน ๑๕ ปีขึ้นไป ไม่สามารถคิดเป็น ทำเป็น ทำให้ขาดทักษะในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ผลิตภาพในวัยแรงงานต่ำ 

                ๒..ปัญหา                                มาจากระบบครอบครัวไทยมีความเปาะบางทั้งจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กระแสโลกาภิวัตน์ และความจำเป็นในการประกอบอาชีพ ส่งผลให้ครอบครัวไทยเปลี่ยนจากการอยู่ร่วมกัน ของ พ่อ แม่ ลูก หลาน ที่มีการสืบทอดมรดกทั้งวิถีการดำรงชีวิต ค่านิยม วัฒนธรรม และทรัพย์สิน กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมีน้อยลง ขาดกลไกการอบรมที่เชื่อมโยงกันในลักษณะบ้าน วัด โรงเรียน ส่งผลให้ขาดพื้นฐานที่ดีที่จะเป็นปัจจัยหล่อหลอมให้เกิดการพัฒนาทางกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ

                ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในโรงเรียน สถานศึกษา ที่เพิ่มขึ้น ยาเสพติดมีส่วนทำลายพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสมอง  ของเด็กและเยาวชน ทำให้เยาวชนที่จะเป็นกำลังแรงงานใหม่ทดแทนผู้สูงอายุ มีคุณภาพด้อยลง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว

                ๓.สิ่งที่ควรจะเป็น                 มีขบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกันในลักษณะ บ้าน วัด โรงเรียน ครอบครัวเข้มแข็ง ดำรงชีวิตโดยยึดหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  คนเป็นศูนย์การของการพัฒนา สร้างสมดุลการพัฒนา ในทุกมิติ

                ๔.ทำอย่างไร                        พัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน  พัฒนาคนไทยทุกกลุ่มวัยให้มีศักยภาพ ด้วยการเสริมสร้างทักษะให้มีจิตสาธารณะ เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต คิดเป็น ทำเป็น การสังเคราะห์ความรู้สั่งสม และต่อยอดสู่นวัตกรรมความรู้ ฝึกฝนจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ เปิดใจกว้างพร้อมรับทุกความคิดเห็น และการปลูกฝังจิตที่มีคุณธรรม รวมทั้งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางครอบครัว ชุมชน และสังคมให้มั่นคง และเอื้อต่อการพัฒนาคนอย่างสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

                ๕.ทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างไร           พัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประเทศในอนาคต  สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้สู่วัฒนธรรมการเกื้อกูล ด้วยการเสริมสร้างทักษะคนให้มีจิตสาธารณะ  การสร้างเสริมสุขภาวะคนไทยให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต สร้างความเข้มแข็งให้สถาบันหลักของสังคมทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ให้มีบทบาทหลักในการหล่อหลอม บ่มเพาะเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวม สร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้คนทุกกลุ่มทุกวัยสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และองค์ความรู้ใหม่ สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ด้วยการสร้างกระแสสังคมให้การเรียนรู้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน สร้างนิสัยใฝ่รู้ตั้งแต่วัยเด็ก ควบคู่กับการส่งเสริมให้องค์กรและสื่อทุกประเภทเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สร้างปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบบริหารจัดการการศึกษาทางเลือกเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๖ มีนาคม ๒๕๕๔

เรียบเรียงจาก ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท