ผู้บริหารยุคใหม่ 2


ความรู้คู่คุณธรรม
7. มองโลกในแง่บวก (Positive Thinking)
                                บัญชา อึ่งสกุล  (อ้างในมหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543) ผู้บริหารที่ดีต้องสร้างความเข้าใจกันและกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน จะต้องใช้หลักการประสานสัมพันธ์เชิงบวกโดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารมีความจำเป็นต่อชีวิตทั้งในส่วนบุคคลและในระหว่างการปฏิบัติงาน ผู้บริหารต้องมีความเข้าใจในพฤติกรรมความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งทางกาย อารมณ์ สติปัญญา และความสามารถในการเข้าสังคม ผู้บริหารต้องใจกว้าง ไม่หูเบา ไม่เชื่ออะไรโดยไม่มีเหตุผล  ถ้าพิจารณาตามหลักจิตวิทยา Thomas Harris ได้แบ่งคนไว้ 4 ประเภทด้วยกันคือ 1) คนที่ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง (I’m not OK you are OK) ได้แก่คนที่พยายามหาจุดข้อบกพร่องต่าง ๆ มาให้ตนเองต่ำลง 2) คนที่มองโลกในแง่ร้าย (I’m not OK you are not OK) คนที่มองตนเองว่าไม่ดีคนอื่นก็ไม่ดี ไม่อยากพบปะสังสรรค์กับผู้ใด อยากหลีกหนีสังคมให้ห่างไกล หรืออยากอยู่มุมใดมุมหนึ่งคนเดียว 3) คนที่มองตนเองดีเลิศ (I’m OK you are not OK) ได้แก่คนจองหอง มองคนอื่นไม่ได้เรื่องหมด เก่งอยู่คนเดียว ดูถูกคนอื่น 4) คนที่มองทุกคนก็ล้วนแต่พี่งพาอาศัยกันได้ (I’m OK you are OK) ได้แก่คนที่มีวุฒิภาวะสมบูรณ์ (Mature) มองว่าคนเรามีความแตกต่างกัน คนเราไม่ดีไปทุกอย่าง อาจจะดีเป็นบางเรื่อง  อาจจะผิดพลาดเป็นบางเรื่องได้ คนเรามีความแตกต่างกัน ย่อมมองเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกัน ในเรื่องเดียวกัน บางคนมองเป็นสีขาว  บางคนมองเป็นสีดำ ผู้บริหารชั้นนำมักจะให้ความสำคัญในการสื่อสารที่ดีเพราะเป็นหนทางนำไปสู่การเกิดผลผลิต (Productivity) ที่เป็นเป้าประสงค์ของหน่วยงานเพิ่มขึ้น หลักการที่ผู้บริหารจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ประสานสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างบุคคลในหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นดังนี้ 1) การใช้หลักของ Ego State คนเราทุก ๆ คนจะมี Ego State 3 ส่วน เสมอในคนคนเดียวกัน คือ  บุคลิกภาพของความเป็นพ่อแม่ (Parent) บุคลิกภาพของความเป็นเด็ก (Child) และบุคลิกภาพของความเป็นผู้ใหญ่ (Adult) แต่ Ego State เหล่านี้จะปรากฏในตัวบุคคลได้ดีก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีวุฒิภาวะที่สมบูรณ์  2)  การใช้หลักของการสัมผัสกายสัมผัสใจ (Stroking) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ ทั้งทางบวกและทางลบ เมื่อใดคนไม่ได้ทางบวกคนจะไขว่คว้าหาทางลบทันที ผู้บริหารชั้นนำที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารงานจะให้ Stroking แก่ผู้ร่วมงานในทางบวกทั้งกายและใจตลอดเวลา และจะให้เป็น 2 เท่าจากภาวะปกติ เช่น ผู้บริหารต้องชื่นชม ให้กำลังใจ เอื้ออาทร หรือแสดงความยินดีกับผู้ร่วมงานที่ประสบความสำเร็จเป็นต้น  การให้ Stroking หรือการสัมผัสกายใจต่อผู้ร่วมงานในแง่ลบเพียงอย่างเดียว จะทำให้เกิดภาวะที่ส่งผลทางด้านกายและใจที่ไม่ดีตลอดเวลา โดยเฉพาะความรู้สึกโกรธ เฉื่อยชา เศร้าหมอง และอิจฉาริษยา  ผู้บริหารต้องมีสติและควรระลึกอยู่เสมอว่า คนทุก ๆ คนต่างต้องการให้คนอื่นมองว่าเป็นบุคลสำคัญเสมอ
                                จากหลักการและทฤษฏีดังกล่าวสรุปได้ว่า ผู้บริหารจะต้องมีหลักการในการเข้าใจคนโดยใช้ทฤษฏีของ Thomas Harris และมีทักษะความรู้ในการติดต่อสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานการประสานสัมพันธ์ใช้หลัก Ego State และหลักการสัมผัสกายใจ Stroking ในทางบวก มีวิธีการคิด วิธีการมองสถานการณ์ มีการยอมรับฟังความคิดของผู้อื่นโดยใช้หลักการและเหตุผล คำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล มีความคิดดี มองผู้ร่วมงานและสถานการณ์ในทางบวก  หากพบอุปสรรคในการบริหารงานให้แก้ปัญหาในทางสร้างสรรค์ ผู้บริหารก็จะสามารถพัฒนาหน่วยงานหรือองค์การให้บรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ
 
  8. การทำงานร่วมกันเป็นทีม  (Team Work)
                ความหมายของคำว่า ทีม (Team) นิพนธ์ , 2528 (อ้างถึงใน ธีระ รุญเจริญ. 2550 : 219-223) ให้ความหมายของคำว่าทีมไว้ว่า การทำงานเป็นทีม คือการที่บุคคลหลายบุคคลมาทำงานด้วยกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างเดียวกัน ทุกคนในทีมมีใจตรงกัน ทำงานร่วมกันให้เต็มที่ สุดฝีมือ และประสานงานกันอย่างดีเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ สมชาย ( 2524) ให้ความหมายของไว้ว่า  “ทีม” ไว้ว่าการทำงานเป็นทีมคือกลุ่มบุคคลที่เข้ามาร่วมกันในการปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามวัตถุประสงค์                     ที่ตั้งไว้  ธีระ รุญเจริญ (2550)  ได้สรุปไว้ว่า ทีม คือคณะบุคคลหรือกลุ่มคนที่ทำงานภายในองค์การใดองค์การหนึ่ง เพื่อพัฒนาการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
              ดังนั้นสรุปได้ว่า ทีม คือการที่บุคคลหลายคนมาร่วมมือกันในการทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
                              ว่าองค์ประกอบของการทำงานเป็นทีม อุทัย (2532)  ได้ให้รายละเอียดดังนี้  1) ผู้นำทีมหรือหัวหน้าทีม จะต้องมีความสามารถสูงเฉพาะตัวในด้าน การวางแผน การกระจายงานการติดตามกำกับและการประเมินงาน  การเสริมแรง การจูงใจให้ลูกทีมใช้ความรู้ ความสามารถ ความพยายามอย่างเต็มที่ในการทำงาน และการเผชิญปัญหาในการทำงานและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  2) สมาชิกในทีมงานจะต้องมีเจตนาดี มีความตั้งใจจริงในการทำงานกลุ่ม  มีความรู้ความชำนาญในงานนั้นๆโดยเฉพาะ และสำนึกตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการทำงานเป็นทีม  3) การจัดรูปแบบของกลุ่มหรือทีมงานมีประเด็นที่สำคัญคือ ลักษณะของกลุ่มหรือทีมงาน และขนาดของกลุ่มเหมาะสมกับขนาดงาน  มีเป้าหมายของการทำงานที่ตรงกัน ชัดเจน มีกำหนดขั้นตอนในการทำงานที่แน่นอน  มีการประสานงานกันในลักษณะที่มีการร่วมมือกันทำงานไปสู่เป้าหมายร่วมกันของสมาชิกทุกคน มีการแสวงหาวิธีการปรับปรุงแก้ไข ประชุมปรึกษาหารือกันในรูปแบบต่าง ๆ
                                            ทีมงานจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมีองค์ประกอบ 3 ลักษณะคือ (นิพนธ์, 2528) องค์ประกอบด้านสมาชิกในกลุ่ม องค์ประกอบด้านผู้นำกลุ่ม และองค์ประกอบด้านการจัดกลุ่ม  1) องค์ประกอบด้านสมาชิกในกลุ่ม คือ มีเจตนาที่ดีและตั้งใจในการทำงาน มีทักษะในการทำงาน มีความร่วมมือและประสานงานกันอย่างดี และมีมนุษยสัมพันธ์ดี  2) องค์ประกอบด้านผู้นำกลุ่ม คือ ผู้นำทีมงานต้องมีลักษณะของผู้นำที่ดี อดทน ตั้งใจจริง ไม่หงุดหงิดในความล่าช้า พยายามให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ไม่บังคับกลุ่มในการตัดสินใจมีความสามารถชักจูงสมาชิกให้เกิดความร่วมมือ ผู้นำสามารถขจัดความขัดแย้งของกลุ่ม  เอาใจใส่กลุ่มมีเทคนิคในการจูงใจสมาชิก มีความเข้าใจในพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคน  มีความรอบรู้และมีความรู้ในการวางแผนการปฏิบัติงาน การติดตามประเมินผล 3) องค์ประกอบด้านการจัดกลุ่ม มีเป้าหมายของกลุ่มชัดเจนมีขอบเขตแน่นอน มีกลไกลย้อนกลับเพื่อปรับปรุงแผนงาน  มีวิธีการทำงานของกลุ่มมีตัวอย่าง มีระบบ ซึ่งสมาชิกเข้าใจดี มีรูปแบบการประสานงานอย่างดี เกิดการยึดเหนี่ยวกันในกลุ่ม  มีการแสวงหาวิธีที่เหมาะสมอยู่เสมอ และมีการจัดเงื่อนไขในการเสริมพลังกลุ่มให้ดี
                             แนวทางสร้างความร่วมมือปฏิบัติงานเป็นทีม  การที่จะสร้างความร่วมมือร่วมใจให้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานนั้น  (สมพงษ์  เกษมสิน, 2521) มีข้อควรคำนึงถึง  สร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างชัดเจน มีความยืดหยุ่นในอันที่จะเลือกวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมกับงาน จัดให้มีการติดต่อสื่อสารที่ดี เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างสมาชิก มีความสามารถในการริเริ่มให้มีการวินิจฉัยสั่งการอย่างมีประสิทธิภาพ  สร้างความสมดุลที่พอเหมาะพอสมระหว่างผลิตภาพของกลุ่มและความพอใจของแต่ละบุคคล มีการมอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นำให้แก่ผู้ร่วมงานต่างๆ มีความยึดโยงที่เหนียวแน่นระหว่างสมาชิก  มีความสามารถที่แตกต่างกันของสมาชิก มีความชัดเจนระหว่างผู้นำและสมาชิก มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวิธีการดำเนินงาน และมีความสมดุลระหว่างสภาพอารมณ์และเหตุผล
                             กล่าวโดยสรุป การทำงานร่วมกันเป็นทีมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้นำจำเป็นต้องนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการที่จะทำให้องค์การบรรลุเป้าหมาย ซึ่งการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นทุกคนในทีมต้องมีความคิด มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้จะต้องอาศัยผู้นำทีมที่มีความสามารถ สมาชิกในทีมมีความตั้งใจ มีความรู้ความชำนาญเห็นคุณค่าของการทำงานเป็นทีม และผู้นำมีการจัดรูปแบบของกลุ่มหรือทีมงานที่เหมาะสมกับกลุ่มและลักษณะของงาน มีการประสานงานและปรึกษาหารือกันในการปรับปรุงงานนอกจากนั้น ทีมงานจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องมีองค์ประกอบด้านสมาชิกในกลุ่ม องค์ประกอบด้านผู้นำกลุ่ม องค์ประกอบด้านการจัดกลุ่ม และสร้างความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติงานให้เกิดความร่วมมือกันยิ่งขึ้น
 
9.  เห็นคุณค่าของการฝึกอบรม (Training)
                                สมาน อัศวภูมิ (2551:259-260)  ได้กำหนดขั้นตอน การพัฒนาบุคลากรดังนี้  1) กำหนดเป้าประสงค์และวัตถุประสงค์ 2) ศึกษาความต้องการจำเป็น 3) กำหนดเป้าประสงค์และวัตถุประสงค์การฝึกอบรม 4) ออกแบบวิธีการฝึกอบรม 5) ดำเนินการฝึกอบรม 6) ประเมินผลการฝึกอบรม   สำหรับกิจกรรมการฝึกอบรมมีหลายแนวทาง คือ การอบรมเป็นหลักสูตร และมีรายวิชาที่กำหนดไว้ การประชุมสัมมนา การประชุมปฏิบัติการ การประชุมคณะทำงาน การอ่านเอกสารวิชาการ การศึกษาดูงาน การฝึกประสบการณ์ การเข้าร่วมโครงการครูแลกเปลี่ยน การวิจัย การเขียนงานวิชาการ การหาประสบการณ์ทางวัฒนธรรม การเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมบุคลากรในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การฝึกอบรมระหว่างงาน (On the Job Training) เป็นการพัฒนาบุคลากรระหว่างปฏิบัติงานจริง เป็นการเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการตามวาระหน้าที่ที่ตนเกี่ยวข้องในขณะปฏิบัติงาน เช่น การเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ การเข้าร่วมประชุมคณะทำงาน การศึกษาวิจัย การใช้บทเรียนด้วยตนเอง เป็นต้น การหมุนเวียนงาน (Job Rotation) หมายถึงการฝึกอบรมบุคลากรโดยการให้โอกาสได้เปลี่ยนหน้าที่การงานที่รับผิดชอบจากที่เคยปฏิบัติมาไปสู่งานใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน โดยการฝึกอบรมเบื้องต้นเกี่ยวกับงานใหม่ก่อนไปฝึกปฏิบัติ นอกจากนี้การมอบหมายงานให้บุคลากรไปปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ที่ลางาน หรือขาดงาน ก็ถือเป็นการหมุนเวียนกันทำงาน ซึ่งจะทำให้บุคลากรเรียนรู้งานต่าง ๆ ในองค์การได้มากขึ้น การแสดงบทบาทสมมุติ (Role Play) เป็นกิจกรรมที่บังคับให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทแทนบุคคลอื่นได้มีโอกาสได้รับรู้ และมีประสบการณ์ในฐานะบุคคลอื่น จะทำให้ได้ประสบการณ์และรับรู้บทบาทหน้าที่และอารมณ์ของการทำหน้าที่ในตำแหน่งที่ได้แสดงบทบาทสมมุติได้ การใช้ชุดฝึกอบรมด้วยตนเอง (Self – Study and Learning Program) เป็นการใช้ชุดฝึกอบรม หรือโปรแกรมการเรียนรู้เป็นสื่อในการให้การเรียนรู้แก่บุคลากรในองค์การ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรในองค์การ
                                จากแนวการพัฒนาบุคลากรดังกล่าว พอสรุปได้ว่าการเห็นคุณค่าของการฝึกอบรมอย่างมีขั้นตอนของบุคลากรจะทำให้ผู้ที่ได้รับการอบรม ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพโดยผ่านกิจกรรมและวิธีการฝึกอบรมหลากหลายรูปแบบ ที่จะส่งผลให้บุคลากรได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกประสบการณ์จนสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้บุคลากรมีคุณภาพและผลสำเร็จของงานก็จะมีประสิทธิผลสูง  
 
 
 
10. พัฒนาตนเองตลอดเวลา  (Self Development)
                พะยอม วงศ์สารศรี (2540:139) ให้ความหมายการพัฒนาบุคคลไว้ว่า หมายถึง การดำเนินงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถและเจตคติที่ดีต่อการทำงานที่รับผิดชอบให้มีคุณภาพ และประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจต่อองค์การ
                                สมชาติ กิจยรรยง (2547:7) ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาครูในโรงเรียนในภาพรวมสามารถกำหนดแนวทางดังนี้ 1) การฝึกอบรม (Training) การฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การฝึกอบรมภายนอกโรงเรียน และการฝึกอบรมภายในโรงเรียน 2) การให้การศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Education) เป็นโครงการเพิ่มพูนความรู้ทักษะด้วยการศึกษาเพิ่มเติมในสถาบันอุดมศึกษา และ 3) การจัดกิจกรรมเสริม  (Supplement Activity) เป็นการให้ความรู้เพิ่มเติมในด้านข่าวสาร ข้อมูล กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติใหม่ๆ การจัดทำเอกสารคู่มือประกอบการปฏิบัติงาน
                                ดังนั้นการพัฒนาตรู หมายถึง การเสริมสร้างความรู้ ความสามารถ ทักษะ เจตคติให้แก่ตรู เพื่อให้ทำงานตามหน้าที่ได้เต็มศักยภาพและผลงานมีคุณภาพ ตามความต้องการของโรงเรียนหรือผู้เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลให้งานประสบผลสำเร็จ
            ขณะเดียวกันผู้นำก็ต้องรับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มีการพัฒนาตนเองตลอดเวลาเพื่อจะได้เป็นผู้นำที่มีความรอบรู้ มีทักษะ มีสมรรถนะในทุกด้านในการที่จะบริหารงานและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและยังนำองค์การให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
 
11.  บทสรุป
  
                        คุณลักษณะของผู้บริหารยุคใหม่ ทั้ง 10 ลักษณะ กล่าวโดยสรุปแล้ว จะเห็นว่าผู้บริหารจะต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม  ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีจิตใจที่ดีงาม  มีวินัย มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีเหตุผล ซื่อสัตย์ พากเพียร อดทน เสียสละ ขยัน ประหยัด ตรงต่อเวลา  และช่วยเหลือผู้อื่น มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เคารพความคิดเห็นและสิทธิของผู้อื่น รักษาสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูพลังงานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง ผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ /มองไกล มีความชัดเจนในการกำหนดภาพอนาคตเพื่อที่จะสามารถก้าวไปโดยมีความมุ่งมั่นที่จะทำฝันให้เป็นจริง  รู้เท่าทันเหตุการณ์ สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงองค์การไปสู่การพัฒนาที่ดี เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างวิสัยทัศน์กับกลไกต่าง ๆ ที่จะทำให้วิสัยทัศน์ขององค์การถูกนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้บริหารการศึกษาจึงต้องมีทักษะที่สำคัญในการกำหนดเป้าหมายในการทำงาน กำหนดนโยบายและวิธีการทำงานที่ชัดเจน ผู้บริหารจะต้องมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท อุทิศตน ในการทำงาน จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย และประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีในองค์การ  ทำให้เกิดความร่วมมือในการที่จะพัฒนาองค์การ ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ ผู้บริหารต้องมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำซึ่งจะทำให้องค์การได้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ จะทำให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาเกิดความมั่นใจในการทำงาน มีความกระตือรือร้น เมื่อมีอุปสรรคก็จะสามารถแก้ไขบัญหาต่าง ๆได้โดยไม่ท้อถอยจะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิผลสูงและเจริญก้าวหน้าต่อไป ผู้บริหารจะต้องบริหารแบบ การมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของผู้บริหารโรงเรียนในการที่จะให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในงานของโรงเรียน ร่วมคิด ร่วมทำ ช่วยเหลือและมีความผูกพันกันในองค์การ  ซึ่งจะนำความสำเร็จมาให้องค์การ ผู้บริหารยุคใหม่มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงองค์การทั้งในด้านการบริหารหน่วยงานและในด้านการบริหารบุคลากรโดยสร้างความตระหนัก รับรู้ในการเปลี่ยนแปลงและผลของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  มีวิธีการคิด วิธีการมองสถานการณ์ มีการยอมรับฟังความคิดของผู้อื่นโดยใช้หลักการและเหตุผล คำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล มีความคิดดี มองผู้ร่วมงานและสถานการณ์ในทางบวก  หากพบอุปสรรคในการบริหารงานให้แก้ปัญหาในทางสร้างสรรค์ ผู้บริหารก็จะสามารถพัฒนาหน่วยงานหรือองค์การให้บรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ  ผู้บริหารจะต้องมองโลกในแง่บวก วิธีการมองสถานการณ์ มีการยอมรับฟังความคิดของผู้อื่นโดยใช้หลักการและเหตุผล คำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล มีความคิดดี มองผู้ร่วมงานและสถานการณ์ในทางบวก  หากพบอุปสรรคในการบริหารงานให้แก้ปัญหาในทางสร้างสรรค์ ผู้บริหารก็จะสามารถพัฒนาหน่วยงานหรือองค์การให้บรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ การทำงานร่วมกันเป็นทีม เป็นปัจจัยหนึ่งของผู้บริหารที่จำเป็นต้องนำไปใช้ในการบริหารยุคใหม่ เพื่อที่จะทำให้องค์การบรรลุเป้าหมาย การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นทุกคนในทีมต้องมีความคิด มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้จะต้องอาศัยผู้นำทีมที่มีความสามารถ ผู้บริหารจะต้องเห็นคุณค่าของการฝึกอบรม  การเห็นคุณค่าของการฝึกอบรมอย่างมีขั้นตอนของบุคลากรจะทำให้ผู้ที่ได้รับการอบรมได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพโดยผ่านกิจกรรมและวิธีการฝึกอบรมหลากหลายรูปแบบ ที่จะส่งผลให้บุคลากรได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกประสบการณ์จนสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้บุคลากรมีคุณภาพและผลสำเร็จของงานก็จะมีประสิทธิผลสูง  การพัฒนาตนเองตลอดเวลา ผู้บริหารและบุคลากรต้องรับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จะทำให้เกิดมีการพัฒนาตนเองตลอดเวลาเพื่อจะได้เป็นผู้นำที่มีความรอบรู้ มีทักษะ มีสมรรถนะในทุกด้านในการที่จะบริหารงานและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและยังนำองค์การให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
                                กล่าวโดยสรุป ผู้บริหารยุคใหม่จะต้องใช้รูปแบบการบริหารงานโดยมีปัจจัยหลายอย่างและมีขั้นตอน กระบวนการในการบริหารงานที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ  ผู้บริหารจึงต้องใช้ทักษะความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ  การบริหารจึงต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารงาน เข้าใจหลักทฤษฎีต่าง ๆ ในการบริหารอย่างมืออาชีพ และจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรม การบริหารการศึกษาในปัจจุบันมีความยากลำบากในหลายเรื่อง ระบบบริหารด้านต่าง ๆ ในโรงเรียน การติดต่อสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะในเรื่องพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอยู่ในระดับลดลง ส่งผลกระทบกับคุณภาพของการศึกษาในองค์รวมและมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับชาติ    ดังนั้นผู้เขียนได้ออกแบบการบริหารงานที่ผู้บริหารยุคใหม่ควรมี 10  คุณลักษณะที่จะให้การบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ ภายใต้ปรัชญาการศึกษา “คุณธรรมนำความรู้” เพื่อใช้ในการบริหารการศึกษาต่อไป (ดังภาพประกอบ)
 
 
 
 
แผนภาพประกอบ   Model   รูปแบบผู้บริหารยุคใหม่    “คุณธรรมนำความรู้”
หมายเลขบันทึก: 430695เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2011 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท