นำร่อง EdPEx


คำถามแต่ละคำถามของพี่เลี้ยงทำให้เรามองเห็นจุดเล็กจุดน้อยหลายๆ จุดที่เราไม่เคยสนใจหรือไม่รู้มาก่อน

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มอบหมายให้สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์เป็นคณะวิชานำร่องเข้าโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ EdPEx ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้จัดขึ้น

ตอนที่ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการถามมา เราไม่ปฏิเสธเพราะคิดว่าการเข้าโครงการฯ น่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย และมอบหมายให้ ผศ.ดร.วิภาวรรณ ชะอุ่ม เพ็ญสุขสันต์ รองคณบดี ซึ่งเป็นผู้มีพื้นฐานด้านระบบคุณภาพของ ISO ดีอยู่แล้วเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

สกอ. ได้จัดให้ รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ และ นพ.กิตติพงษ์ เรียบร้อย จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นพี่เลี้ยง เรามีกิจกรรม visit ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๔ มีเจ้าหน้าที่จาก สกอ. และสถาบันเพิ่มผลผลิตมาด้วย เราคุยกันถึงเหตุผลที่ต้องมีโครงการนี้ว่าเพื่อสร้างความท้าทายให้กับสถาบันการศึกษา ก่อนที่จะเลือกสถาบันใดเข้าโครงการนำร่อง มีการสอบถามความสนใจ บอกให้รู้เกณฑ์ แนวทาง และสัมภาษณ์ผู้บริหารสถาบันด้วย ครั้งแรกจะทำระดับสถาบัน แต่คิดว่าจะขับเคลื่อนได้ยาก จึงทำในระดับคณะวิชา

โครงการมีระยะเวลา ๑๘ เดือน หลังดำเนินการแล้วคาดหวังว่าคณะวิชานำร่องจะสามารถขยายผลในสถาบันของตนเองได้ ระบบคุณภาพ TQA เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปสู่ Excellence ในกระบวนการทำงานของโครงการจะเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน

จุดเด่นของ EdPEx คือเริ่มต้นให้รู้จักตัวเองก่อน เวลาพูดเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่เป็นส่วนที่ยากที่สุด พี่เลี้ยงแนะนำให้ทำก่อนเสมอ แต่ไม่จำเป็นต้องเขียนยาว ให้รู้ว่าเราอยู่ในลู่วิ่ง สภาพการณ์ที่ต้องวิ่ง ผู้ร่วมวิ่งเป็นใคร ทุกคนในองค์กรต้องรู้จัก แต่ระดับไม่เท่ากัน ให้รู้ว่าห้องของเขาอยู่ส่วนไหนของเรือ...

เราได้รับคำแนะนำจากพี่เลี้ยงให้เข้าใจเรื่องโครงร่างองค์กรหรือ Organizational profile (OP) คำถามแต่ละคำถามของพี่เลี้ยงทำให้เรามองเห็นจุดเล็กจุดน้อยหลายๆ จุดที่เราไม่เคยสนใจหรือไม่รู้มาก่อน ดิฉันรู้สึกชอบใจระบบนี้ที่ทำให้เรารู้ว่าหากจะพัฒนาคุณภาพจะต้องทำงานเรื่องอะไรบ้าง

เราใช้เวลาตั้งแต่ ๐๙.๓๐ ถึงประมาณ ๑๗.๓๐ น. ในการทำงานร่วมกันในห้องประชุม ทุกคนแทบไม่ได้ลุกไปเข้าห้องน้ำเลย

Visit ที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ในช่วงเช้ามีอาจารย์ของเราเข้าร่วมประชุมได้หลายคน พี่เลี้ยงชื่นชมที่เรา (อาจารย์วิภาวรรณ) สามารถเขียน OP ได้แล้วเสร็จโดยใช้เวลาไม่นาน แม้จะยังไม่สมบูรณ์แต่สาระที่เขียนบ่งบอกว่ามีความเข้าใจระบบเป็นอย่างดี อาจารย์วิภาวรรณก็บอกว่าการทำงานนี้ทำให้ตนเองเข้าใจมหาวิทยาลัยมากขึ้น

 

บรรยากาศการทำงานร่วมกับพี่เลี้ยง

อาจารย์วิภาวรรณเล่าถึงวิธีการทำงานว่าตนเองยกร่างขึ้นมาก่อน เมื่อติดขัดตรงไหนก็ขอให้เจ้าหน้าที่ส่วนส่งเสริมวิชาการ (คุณอวยพร เรืองศรี) ช่วยเหลือ ใช้เอกสารของ Nightingale College of Nursing ที่พี่เลี้ยงมอบไว้ให้เป็นต้นแบบ รู้สึกว่าตนเองยังร้อยเรียงไม่ค่อยดีและยังแบ่งเวลาในการทำงานไม่ดี ได้ทำงานนี้วันละประมาณ ๑ ชม. รวมแล้วเท่ากับ ๑๐ ชม.

ข้อที่ทำยากคือ (๑) ความต้องการที่สำคัญของผู้เรียน ซึ่งเราพอมีข้อมูลของนักศึกษาปี ๑ และปี ๒ อยู่บ้างจากการกิจกรรมประจำภาคการศึกษา ยังขาดข้อมูลของนักศึกษาปี ๓ และปี ๔ ในส่วนนี้ทำให้เราเห็นว่าจะต้องมีการสำรวจความต้องการของผู้เรียนและผู้ปกครองด้วย (๒) ความต้องการของ Partners

ในเรื่อง OP พี่เลี้ยงได้ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์และกระตุ้นให้เราฮึกเหิมหลายเรื่อง เช่น

  • สำนักวิชาฯ มีจำนวนอาจารย์ประจำน้อย เมื่อเทียบกับสถาบันการศึกษาพยาบาลอื่นๆ สัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาเต็มเวลาเทียบเท่ายังไม่ได้ตามเกณฑ์ของสภาการพยาบาล เป็นความท้าทายที่ควรพิสูจน์ตัวเองว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” ผลิตบัณฑิตได้ดีแม้ว่าคนจะน้อย
  • ใน Workforce profile ควรจะรวมพยาบาลพี่เลี้ยงด้วย
  • ในเรื่องเทคโนโลยี อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญ ที่ว่า “จำเป็น” และ “ครบถ้วน” นั้น รู้ได้อย่างไร
  • การเขียนไดอะแกรมแสดงความสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ยังมีลักษณะเป็นมุมมองของมหาวิทยาลัย และไดอะแกรมที่แสดงความสัมพันธ์ระดับองค์การ ไม่ได้แสดงความสัมพันธ์แนวราบ ควรนำเสนอโครงสร้างแนว matrix และแสดงความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นตาม function ของงาน มองจากมุมของตัวเรา รวมทั้งต้องเขียนให้ simple คือให้เข้าใจตนเอง (เป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก)
  • การนำเสนอข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญของนักศึกษา ควรแยกเป็นรายปี ซึ่งจะทำให้เห็นแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลง
  • การระบุความต้องการที่สำคัญของผู้เรียนประเภทต่างๆ เช่น นักศึกษาอิสลาม ต้องนึกถึงเรื่องอาหาร พื้นที่ละหมาด การแต่งกายเวลาเรียน เวลาขึ้น ward กลไกการสื่อสารในการตกลง ทำความเข้าใจ
  • การหาข้อมูลสภาพการแข่งขัน เช่น ต้นทุนนักศึกษาต่อหัวของคู่แข่ง เป็นการเอากลไกภายนอกมาพัฒนาภายใน ต้องมีวิธีคิดแบบเดียวกับคู่แข่ง
  • ความร่วมมือกับแหล่งฝึกฯ เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยแห่งความสำเร็จ โรงพยาบาลที่เป็นแหล่งฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษา เป็นคู่ความร่วมมือที่สำคัญ ความยากของการทำงานร่วมกันคือการรู้ใจเพื่อน (และชมว่าพยาบาลเก่งเรื่องนี้อยู่แล้ว) ถ้า state ตรงนี้แม่น จะตัดสินใจได้ถูก ความต้องการของแหล่งฝึกฯ แต่ละที่ไม่เหมือนกัน
  • ควรนำเรื่อง Medical hub นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เช่น รพ.สต. มาเป็นความท้าทายด้วย
  • ระบบการปรับปรุงผลการดำเนินการ เรายังเขียนเป็น “What” ไม่เป็น “How” และต้องมีกรอบระยะเวลาด้วย

หลังจากนั้นได้ร่วมกันประเมินองค์กรตาม Sim Checklist ตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๖ (ได้เคล็ดจากพี่เลี้ยงว่าต้องใส่วิญญาณของ Client center) สรุปจุดอ่อน จุดแข็ง และโอกาสในการปรับปรุง มีการบ้านให้ไปทำแผนการปรับปรุง/พัฒนา และเตรียมตัวไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถาบันอื่นในวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่โรงแรมสยามซิตี้

จบการตรวจเยี่ยมในเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น.

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 429859เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2011 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท