ฟังเสียงจากภายในและภายนอก...สู่การพัฒนาคุณภาพรพ.สต.


การฟัง เป็นศิลปะชั้นสูง ที่คอยบ่มเพาะความดีงามให้เกิดขึ้นในตัวเรา การฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อให้ได้ยินสิ่งที่เขาพูดและไม่ได้พูดนั้น เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการสุนทรียสนทนา(Dialogue) การพัฒนาคุณภาพระบบบริการก็เช่นกัน การรับฟังความคาดหวังจากทั้งตัวผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือที่เราเรียกว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น เป็นกระบวนการสำคัญในการที่จะนำเอาความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาปรับระบบบริการให้สอดคล้องกับความต้องการนั้นๆ

 

หลังจากที่ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติพัฒนาศักยภาพทีมกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนารพ.สต.ระดับอำเภอ ด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนาไปเมื่อวันที่ ๒๐-๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ ไปแล้ว พร้อมกับการบ้านที่ให้แต่ละทีม กลับไปทบทวนว่าแต่ละอำเภอมีจุดดีดีในการพัฒนาสุขภาพเป็นอย่างไร พร้อมกับทบทวนว่ากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการพัฒนาสุขภาพในอำเภอตนเองมีใครบ้าง แล้วไปรับฟังความคาดหวังของผู้มีส่วนเสียส่วนเสียนั้นว่าเขามีความคาดหวังอย่างไรต่อระบบบริการสุขภาพของเรา เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ๒ เดือนกว่าผ่านไป จึงได้นัดแนะเชิญทีมกระบวนการเรียนรู้ระดับอำเภอ (อำเภอละ ๕ คน จาก รพ. สสอ. และรพ.สต.) เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน การอบรมทีมกระบวนการเรียนรู้อำเภอในการพัฒนารพ.สต.สู่เกณฑ์ PCA ครั้งที่ ๒ในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมเทวราช อำเภอเมืองน่าน ในบรรยากาศสบายๆ โดยมีทีมกระบวนกรจาก รพร.ปัว นำโดยคุณหมอกิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ คุณหมอมยุเรศ  เกษตรสินสมบัติ คุณทัศนีย์  สิงห์ธนะ และคุณประนอม บัณฑิต, คุณฌัชชภัทร พานิช สสอ.ภูเพียง, คุณชัยวุฒิ  วันควร สสอ.ท่าวังผา, คุณยุพิน  แตงอ่อน และผู้เขียนจาก สสจ.น่าน มีทีมกระบวนการระดับอำเภอเข้าร่วมเรียนรู้ ๗๐ คน โดยครั้งนี้เป็นการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมอำเภอแต่ละทีมว่าได้ไปดำเนินการอย่างไร ผลเป็นอย่างไร เป็นการมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมกับเติมศักยภาพการเรียนรู้เพื่อกลับไปทำงานขับเคลื่อนงานคุณภาพในรพ.สต.กันต่อ

กระบวนการเริ่มต้นด้วยการทักทายและแจ้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในครั้งนี้ หลังจากนั้นคุณหมอมยุเรศ ได้ชักชวนทุกคนได้เริ่มกิจกรรมสมาธิ โดยเชิญชวนทุกคนนั่งหลับตาทำสมาธิ พร้อมกับเสียงเพลง ผ่อนคลาย Smile meditation” ของศิลปิน รุจ ดุลยากร และศุภกร ธรรมชูวงศ์ สร้างความสบายๆ ผ่อนคลาย วางทุกอย่างทิ้งไป ได้ดียิ่งนัก  

กิจกรรมสันทนาการเรียกความตื่นตัว พอให้ได้เสียงหัวเราะและรอยยิ้ม

กิจกรรมวันเกิด โดยแจกกระดาษให้คนละแผ่นให้เขียน ชื่อตนเอง วันเกิด และลักษณะเด่น ๓ อย่าง หลังจากนั้นให้ไปหาเพื่อนๆ ว่ามีใครที่มีสิ่งที่เหมือนเราบ้าง หากพบว่ามีลักษณะเหมือนกันก็ไปตีมือแสดงความยินดีกัน แต่ถ้าไม่มีอะไรเหมือนกันก็ให้ยกมือไหว้กัน หลังจากให้รวมกลุ่มตามวันเกิด แล้วลองเล่าสู่กันฟังว่าตนเองมีลักษณะเด่นอะไรบ้าง แล้วลักษณะเด่นเหล่านี้จะนำไปช่วยในการพัฒนาคุณภาพบริการได้อย่างไร ให้สรุปเป็นภาพรวมของกลุ่ม แล้วนำเสนอที่ในวงใหญ่

ซึ่งสรุปภาพรวมได้ดังนี้

วันจันทร์

          หน้าตาดี พูดน้อย มุ่งมั่นในการทำงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทักษะในการประนีประนอมดี เจรจาไกล่เกลี่ย 

 

วันอังคาร

          โกรธง่าย หายเร็ว เชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก เซ็กซ์จัด ชอบความสุขสบาย ร่าเริง ชอบหัวเราะ จิตใจอ่อนโยน ชอบช่วยเหลือผู้อื่น พูดมาก คิดเร็ว ทำเร็ว ไม่ละเอียด รักพวกพร้อง ใจใหญ่ 

 

วันพุธ

          ใจดี จริงใจ ร่าเริง มนุษยสัมพันธ์ดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีศิลปะในการพูด พูดจริงทำจริง  ไม่ทิ้งงาน สนใจใฝ่รู้ รักความยุติธรรม ไม่ชอบความรุนแรง มีเหตุมีผล

 

วันพฤหัสบดี

          ยิ้มง่าย มีน้ำใจ ชอบคิดชอบทำ ยอมรับความคิดของผู้อื่น เป็นผู้ฟังที่ดี

 

วันอาทิตย์

          ใจเย็น ฟังความคิดเห็น ยอมรับการเปลี่ยนแปลง มนุษยสัมพันธ์ดี

 

วันเสาร์

          อดทน หนักแน่น มั่นคง เอื้อเฟื้อ ใจใหญ่

 

 วันศุกร์

          ยิ้มง่าย ร่าเริง พูดเก่ง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ชอบของแปลกใหม่ ตรงต่อเวลา ชอบเขียน อ่าน มีเสน่ห์ มองโลกในแง่ดี

 

คุณหมอกิติศักดิ์ ได้สรุปสาระสำคัญช่วงนี้ว่า ในความเป็นลักษณะเด่นของแต่ละวัน หากพิจารณาจากลักษณะของสัตว์สี่ทิศที่ได้อบรมในครั้งแรก จะเห็นว่าแต่ละวันก็มีลักษณะของสัตว์ต่างๆ อยู่ในตัว สิ่งสำคัญคือเราจะนำเอาข้อดีของสัตว์แต่ละตัวที่เรามี ซึ่งบางอันอาจจะมีน้อยมาขยายเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ให้เป็นสัตว์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นอยู่ในตัว ลดข้อด้อยต่างๆ ลงไป

หลังจากนั้นก็นั่งล้อมลงใหญ่วงเดียว ให้แต่ละทีมอำเภอได้เล่าสู่กันฟังว่าแต่ละทีมหลังการอบรมครั้งแรกแล้วได้กลับไปดำเนินการอย่างไร ได้ผลอย่างไรบ้าง ซึ่งพอสรุปคร่าวๆ ได้ว่า

 

๑. อำเภอบ่อเกลือ

เริ่มจากการลงไปรับฟังความคาดหวังของกลุ่มประชาชนในตำบลภูฟ้าก่อน โดยมีทีมจากทั้ง ๔ รพ.สต.ในอำเภอเข้าร่วมเรียนรู้ด้วย โดยจัดร่วมกับกิจกรรมอสม. งานปีใหม่ มีกลุ่มแกนนำชุมชน อสม. และบุคลากรสาธารณสุขเข้าร่วมกิจกรรม ระยะเวลา ๑ วัน รูปแบบเป็นการนั่งคุยกันแบบสุนทรียสนทนา และเฮฮาปาร์ตี้ และแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นเป็นรายหมู่บ้าน วิเคราะห์จุดดีจุดอ่อนของรพ.สต. หาแนวทางการพัฒนารพ.สต.ร่วมกัน มีการนำห่อข้าวมานั่งกินข้าวด้วยกัน และสรุปกิจกรรมร่วมกัน โดยครั้งต่อไปก็จะลงไปทำในพื้นที่รพ.สต.ที่เหลือต่อไป

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวง

- การนำการแพทย์ทางเลือกมาใช้

- การบูรณาการ PCA เข้ากับงานประจำ

- การนำคนหลากหลายภาคส่วนมาร่วมกิจกรรม

- การนำห่อข้าวมากินร่วมกัน

- กิจกรรมเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ นั่งคุยกันแบบสบายๆ เป็นลานกิจกรรม ไม่ใช่ห้องประชุม

- เปลี่ยนจากคนที่ไปให้ความรู้ แต่เป็นคนที่รับฟัง

 

๒. อำเภอปัว

อำเภอปัวเคยประชุม PCA อบรม Dialogue ทั้ง CUP แต่อาจไม่ได้คุยเรื่องภายในตัวเอง จึงจัดกระบวนการทั้งอำเภอ บุคลากรในรพ.สต.และลูกจ้างทุกคน หัวหน้ากลุ่มงานในรพ. โดยใช้กระบวนการ Dialogue ระยะเวลา ๑ วัน มีการสอบถามความคาดหวังของผู้เข้าอบรม มีกิจกรรมสร้างบ้าน ค้นหาศักยภาพและให้กำลังใจให้แก่กัน สอบถามความคาดหวังของบุคลากร มีความต้องการอะไร ต้องการการสนับสนุนอะไร การประสานกับรพร.เป็นอย่างไร และสอบถามความคาดหวังกันและกันว่า รพ.สต.คาดหวังอะไรจากสสอ. และรพร. ,สสอ.คาดหวังอะไรจากรพ.สต. และ รพร., รพร.คาดหวังอะไรจากสสอ. รพ.สต. แล้วนำมาสรุปหาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน

สรุป มีการทบทวนสิ่งดีดีที่มีอยู่ ปรับปรุงสิ่งที่เป็นจุดอ่อน การประสานสัมพันธ์ระหว่างรพร.กับ สสอ., รพ.สต.

 

๓. อำเภอเวียงสา

ได้นำทีมที่ผ่านการอบรมจากจังหวัดมานั่งคุยกันก่อนว่าจะทำอะไร อย่างไร แล้วก็เริ่มจากกลุ่มบุคลากรก่อน เพราะว่ามีสถานบริการมาก คนเยอะ จึงอยากปรับความเข้าใจในการทำงานร่วมกันก่อน โดยจัดอบรม ๑ วัน ให้ทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมโดยเหลือให้มีคนอยู่รพ.สต. ๑ คน มีทีมจากรพ.เข้าร่วม มีการให้ความรู้พื้นฐานเรื่อง PCA ก่อน เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานเท่าทันกัน มีจัดทำข้อตกลงร่วมกัน มีกิจกรรมสัตว์ ๔ ทิศ วิเคราะห์ข้อดีข้อด้อยของตนเอง และให้คนอื่นมอง วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับอำเภอ และเลือกรับฟังจากกลุ่มบุคลากรก่อน แล้วได้สร้างทีมวิทยากรตำบลให้ไปดำเนินการรับฟังความคาดหวังของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ของตนเอง แล้วให้กลับนำมาสรุปร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

 

๔. อำเภอทุ่งช้าง

ได้มีการทบทวนกระบวนการกันก่อนว่าจะนำเอากระบวนการใดมาใช้ สรุปได้ใช้ AIC และ OM มาใช้กับกลุ่มคณะกรรมการพัฒนารพ.สต. โดยคิดว่าควรจะมีการพัฒนาคณะกรรมการรพ.สต.ก่อน จึงจัดเวทีนำคณะกรรมการรพ.สต.ทุกแห่งมาร่วมกัน ระยะเวลา ๑ วัน โดยให้ทุกคนมองอดีต ปัจจุบัน อนาคต เรื่องสุขภาพ แล้วหากลวิธีการพัฒนา แล้วนำไปมอบหมายไปดำเนินการในแต่ละพื้นที่

สิ่งที่ได้เรียนรู้ การได้รับฟังจากคณะกรรมการรพ.สต.

 

๕. อำเภอแม่จริม

จากทีมที่เข้ามาอบรมระดับจังหวัด หลังการอบรมแล้วก็ยังงงๆ มาถามกันว่า PCA มันคืออะไร แล้วจะไปทำอะไรดี ก็มานั่งคุยกันว่าจะเริ่มจากกลุ่มไหนก่อน ก็คุยว่าจะเริ่มจากบุคลากรทุกคน โดยให้ผู้ผ่านอบรม ๕ คน เป็นวิทยากร ให้บุคลากรทุกคนเหลือไว้เฝ้ารพ.สต. ๑ คน รวม ๒๐ กว่าคน ระยะเวลา ๒ วัน ใช้กระบวนการ Dialogue เริ่มกิจกรรมสันทนาการผ่อนคลาย ถามความคาดหวัง จับคู่พูดถึงคนที่เราคิดถึง มีบางคนร้องไห้ระหว่างกระบวนการด้วย จับกลุ่ม ๓ คน (ใช้ก้อนหิน) พูดสิ่งที่ภาคภูมิใจ ผลัดเปลี่ยนกันพูดความดี สะท้อนกันให้ฟัง เข้ากลุ่มรพ.สต.คิดสิ่งดีดีในรพ.สต.ของตนเองแล้วแลกเปลี่ยนกันให้คนอื่นเพิ่มเติม กิจกรรมสัตว์สี่ทิศให้รู้ตัวตนของตนเอง สุดท้ายได้คุยกันถึงปัญหาสุขภาพของอำเภอ ซึ่งได้มา ๕ ปัญหา ได้แก่ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร, ปวดข้อกล้ามเนื้อ, NCD, วัคซีนไม่ครอบคลุม สุดท้ายเลือกเรื่องการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร แล้ววางแผนว่าจะนำเอากระบวนการ Dialogue มาใช้กับชุมชนในพื้นที่ และคิดว่าจะไปทำกับเจ้าหน้าที่ให้ครบทุกคนทั้งรพ.และรพ.สต. สสอ.

สิ่งที่เรียนรู้

- กระบวนการอะไรก็ได้ หัวใจสำคัญคือได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้

- วิทยากรกระบวนการไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง แต่ขอให้ฟังเก่ง การเริ่มงานจากความสับสนก็เหมือนทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos theory)

...................................................................

พักเติมอาหารกาย

....................................................................

ช่วงบ่าย

เริ่มด้วยกระบวนการผ่อนพักตระหนักรู้ หลังจากนั้นทำกิจกรรมสลัดความง่วงนอนด้วยกิจกรรม กรรไกร ไข่ ผ้าไหม เรียกความตื่นตัวกลับมาได้อย่างดี หลังจากนั้นก็นั่งวงเล่าสู่กันฟังต่อ

 

๖. อำเภอเมืองน่าน

อำเภอเมืองเป็นอำเภอใหญ่ มีคำสองคำ คือ การคุยกัน กับการพูดคุยกัน (มุก คุยกัน ภาษาเหนือ หมายถึง ชวนทะเลาะกัน) ทีมอำเภอเมืองหยิบเอาประเด็นจากการอบรมไปเล่าสู่กันฟังในการประชุมประจำเดือนของผู้บริหาร แล้วก็ได้สรุปกันว่าน่าจะมีเวทีพูดคุยกันมากขึ้นระหว่างผู้ปฏิบัติ ผู้บริหาร ร่วมกันทั้งอำเภอเมืองและรพ.น่าน (แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ) แล้วก็มีการรับฟังความคาดหวังของบุคลากร และทบทวนสิ่งดีดีที่มีอยู่ สิ่งที่จะทำต่อไปคือการเอาคนในองค์กรทั้งหมดมาพูดคุยกัน

 

๗. อำเภอสองแคว

เน้นบุคลากรสาธารณสุขให้ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข เริ่มจากบุคลากรและลูกจ้าง เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน เรียนรู้ผู้ป่วย และเรียนรู้ชุมชน ได้แบ่งกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ๖ กลุ่ม เริ่มจากกลุ่มเจ้าหน้าที่จากบริบท คนไม่พอ ย้ายบ่อย จึงคิดกันว่าจะจัดงานให้เป็นระบบ เช่น ANC สุขภาพจิต NCD ระบบยา ระบบห้องชันสูตร เป็นต้น เป็นการรับฟังจากผู้ปฏิบัติงานโดยตรง นำมาสู่การปรับกระบวนการทำงานร่วมกัน ทำให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้ง CUP ทำงานให้เป็นระบบโดยที่ใครจะมาเป็นผู้บริหารก็ต้องใช้ระบบนี้ แบ่งการทำงานเป็น ๔ ระยะ

๑.      ทำความเข้าใจ PCA

๒.      คืนข้อมูลสู่ชุมชน แลกเปลี่ยนข้อมูลรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน

๓.      เอาความคาดหวังมาพัฒนางานให้เหมาะสม

๔.      ติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่าย ถอดบทเรียน และทำให้เป็นงานวิจัย

สำหรับเรื่องที่จะดำเนินการ

๑.      ระบบการดูแลผู้ป่วย NCD

๒.      งานทันตกรรมใน รพ.สต.

๓.      งานสุขภาพจิต

ระบบงานทันตกรรมในรพ.สต. เริ่มจากการใช้กระบวนการ OM ซึ่งจากการสำรวจสภาวะฟันผุ พบว่า ตำบลยอดมีมากที่สุด นำเอาข้อมูลไปคืนชุมชน (ก่อนหน้านั้นได้มีการเลือกอสม.มาให้ความรู้และไปทำงาน แต่ไม่ได้ถามว่าเขาต้องการอะไร งานเลยไม่ค่อยได้ผลมากนัก) ก็เลยเอาคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาคุยกัน กำหนดเป้าหมายร่วมกัน และจะทำอะไรร่วมกัน ก็มี ๕ ภาคี คือ ร้านค้า เทศบาล/ผดด. ชุมชน โรงเรียน ผู้ปกครอง ก็ได้แนวทางของแต่ละภาคีว่าจะทำอะไร การใช้ OM ทำให้ได้คุย ได้มีเป้าหมายร่วมกัน ผลการดำเนินงานต้องใช้ระยะยาวในการติดตาม ซึ่งเป็นการทำโดยไม่ใช้คำว่า OM

 

๘. อำเภอภูเพียง

เริ่มจากการประเมิน PCU ก่อน นำมาเป็นฐานก้าวไปสู่ PCA นำเอาส่วนขาดมาปรับปรุง ซึ่งเริ่มปลายปีงบประมาณ ๕๓ และได้มีการอบรม Dialogue โดยกระบวนกรรพร.ปัว และมีการวางแผนอบรม Dialogue กลุ่มลูกจ้าง และมีการกระตุ้นทีมภายในมาตลอด เช่น มีการจัดกระบวนการ KM และมีทีม QRT ลงไปสนับสนุน ซึ่งหลังอบรมจากจังหวัดได้มีการจัดวิเคราะห์องค์กร ใช้กระบวนการ Dialogue แล้ว SWOT นำ 7S มาวิเคราะห์ศักยภาพขององค์กร และ PEST มาวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมภายนอก ครั้งต่อไปก็จะไปรับฟังความคาดหวังกลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆ อีกครั้ง เพื่อนำเอาข้อมูลเหล่านี้มากำหนดรูปแบบการพัฒนาต่อไป

 

๙. อำเภอสันติสุข

เป็นอำเภอเล็ก มี ๓ รพ.สต. ๑ สสช. บุคลากรรวมลูกจ้างมีทั้งหมด ๒๑ คน ก็เริ่มมานั่งคุยกันเล็กๆ ใช้กระบวนการ Dialogue จำลองกิจกรรมจากจังหวัดลงไปดำเนินการ มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมบ้าง ได้มีการเปิดใจกัน มีกิจกรรมร่วมกัน เน้นการมองเจ้าหน้าที่ด้วยกันว่าเราคงต้องให้กำลังใจแก่กันก่อน ได้รอยยิ้ม ได้กำลังใจ ส่วนงานวิชาการก็ค่อยพูดกันอีกที ซึ่งต่อไปแต่ละสถานบริการก็จะไปดำเนินการรับฟังกลุ่มผู้รับบริการ กลุ่มคณะกรรมการรพ.สต.อีกครั้งหนึ่ง

 

๑๐. อำเภอเชียงกลาง

การรับฟังความคิดเห็นของชุมชนก็ได้ทำมาก่อนแล้ว มีการชักชวนผู้นำชุมชนมาทานข้าวด้วยกันที่ รพ. ๒ ครั้ง เริ่มจากบุคลากร โดยการจูนความคิดเรื่องการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ โดยไม่ได้บอกว่าจะทำ PCA เสร็จแล้วมามองตัวเองว่าเป็นใคร มีบทบาทหน้าที่อะไร พื้นที่เราเป็นอย่างไร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีใครบ้าง แล้วให้รพ.สต.ไปคุยกันและรับฟังความคิดเห็นในชุมชนต่อไป อีกกิจกรรมหนึ่งคือการออกไปให้กำลังใจ ออกไปติดตามประเมิน PCU ทั้งนี้ได้กำหนดไว้ว่ากลางเดือนมีนาคมก็จะมีกิจกรรมอีกครั้งมาเล่าสู่กันฟัง

 

๑๑. อำเภอนาน้อยได้มานั่งคุยกัน ระยะเวลา ๑ วัน คล้ายๆ จังหวัด โดยเชิญบุคลากร และแกนนำชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรม เริ่มจากทำข้อตกลงร่วมกัน สัตว์สี่ทิศ รู้จักตนเอง รู้จักคนอื่น กิจกรรมสร้างบ้าน ทำ ๒ รอบ และการรับฟังความคาดหวังต่อรพ.สต. และร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนารพ.สต.ร่วมกัน

 

๑๒. อำเภอนาหมื่น

หลังจากการอบรมก็ไปคุยกันในคปสอ.ทุกคนเข้าใจ รับหลักการ แต่ก็รับไว้ ยังไม่ได้ดำเนินการ สิ่งที่ได้ทำคือการชวนกันเอาข้อมูลความพึงพอใจของผู้รับบริการทุก ๖ เดือน นำมาวิเคราะห์และเอาใช้พัฒนา แล้วเอาตัวชี้วัดที่ต้องทำอยู่แล้ว นำเอาเวที/กิจกรรมที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สิ่งที่จะต้องทำต่อคือการพัฒนาทีม ทำความเข้าใจในทีม

 

๑๓. อำเภอท่าวังผา

หลังจากกลับไปก็ทำกำหนดการอบรม โดยมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ และผอ.รพ.สต. ได้เชิญกระบวนกรจากรพร.ปัว ๒ ท่าน ใช้กระบวนการ Dialogue ได้ความคาดหวังจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ กลุ่มผู้รับบริการ กลุ่มผู้ที่ต้องติดตามในชุมชน และกลุ่มที่เราต้องประสานการทำงานร่วมกัน แล้วมอบหมายให้แต่ละรพ.สต.กลับไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละที่ แล้วก็ได้ความคาดหวังในภาพรวม ต่อไปจะนำข้อมูลไปนำเสนอผู้บริหาร คปสอ. แล้วนำบางประเด็นไปพัฒนาต่อไป

 

๑๔. อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

แผนงานรพ.กับรพ.สต.ไม่สอดคล้องกัน ก็เลยแยกทำ รวมกันตี ในส่วนรพ.ก็ลงไปสนับสนุนรพ.สต. กลุ่มงานทันตกรรม จะลงไปสนับสนุนเดือนละ ๒ ครั้ง กลุ่มงานเภสัช ก็เข้าไปสนับสนุนระบบคลังยาเวชภัณฑ์ ใช้ระบบเบิกจ่ายแบบ Online มีปัญหาสามารถติดตามสนับสนุนได้ตลอด ต่อไปก็จะมีการดำเนินงานคบส. ซึ่งมีตัวประสานระหว่างรพ.สต.กับรพ.

 

ยังขาดทีมอำเภอบ้านหลวงที่ไม่ได้ร่วมกระบวนการในครั้งนี้ เนื่องจากติดภารกิจเตรียมรับเสด็จงาน พอสว.ในช่วง

 

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากวง

- จังหวัดเรียกประชุมบ่อย มีภาระกิจในพื้นที่มาก ทำให้ไม่ได้ทำงานตามที่วางไว้

- อยากให้จังหวัดสนับสนุนบุคลากรในพื้นที่เพิ่ม (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ)

- กระบวนการแลกเปลี่ยนแบบนี้อาจใหญ่ไป อาจเอาคู่บั๊ดดี้อำเภอไปแลกเปลี่ยนกันอาจจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่ต้องเปิดใจร่วมกัน กระบวนการแบบนี้สำคัญให้ได้ใจคน ได้รวมคน ได้มานั่งฟังความคิดร่วมกัน ส่วนงานจะตามมาทีหลัง

................................................................................

หลังจากฟังเรื่องเล่าดีดี ก็จัดกิจกรรมผ่อนคลาย กิจกรรมเป็ดชิงพื้นที่ กติกามีอยู่ว่า มีเป็ดเดินในอัตราคงที่ ทุกคนมีเบาะ สามารถย้ายไปมาระหว่างเบาะได้ มีเบาะว่าง ๑ เบาะ ทุกคนต้องช่วยกันรักษาเบาะไว้ ห้ามให้เป็ดไปชิงเบาะมาได้ ห้ามทำร้ายเป็ด ห้ามกีดขวางทางเดินเป็ด

สรุปการเรียนรู้จากกิจกรรม

- ได้วางแผน สนุกแต่ได้งาน ไม่เคร่งเครียดเกินไป ไม่หย่อนเกินไป

- การทำแบบช้าๆมีคนคุมจังหวะ ช่วยบอก สื่อสารกันตลอด ใช้ภาษากาย หลอกล่อ

- อยากช่วยเหลือ แต่ลืมรักษาพื้นที่ของตนเอง (มัวแต่คิดช่วยคนอื่น จนลืมภาระหน้าที่ของตนเอง)

- การทำความเข้าใจในกิจกรรม ในงาน ให้โอกาสทุกคนได้ทำ ไม่โทษคนอื่น

- ไม่อยากให้การทำงานเป็นลักษณะ งานได้ผล คนบาดเจ็บ

- เบาะที่ว่างลงทุกครั้งจะมีคนมาแทนพื้นที่อย่างรวดเร็วจะทำให้เป็ดไม่สามารถชิงเบาะไปได้ เช่นเดียวกันกับการทำงานของเรา ถ้าเราไม่ว่างมีคนสามารถเข้ามาแทนที่ได้เลยไม่ว่าจะเป็นบุคลากรด้วยกันหรืออสม. คนในชุมชนก็แล้วแต่ จะเป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำงานในการพัฒนารพ.สต.

...........................................................................  

หลังจากนั้นได้ให้จับคู่บั๊ดดี้อำเภอ เพื่อให้การช่วยเหลือสนับสนุน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทีมอำเภอ แล้วให้แต่ละคู่บั๊ดดี๊ร่วมวางแผนร่วมกันว่า หลังจากไปรับฟังเสียงความคาดหวังจากภายในและภายนอกแล้ว ได้ฟังเรื่องเล่าของแต่ละทีมอำเภอแล้ว เราจะกลับไปทำอะไรกันต่อหลังจากนี้อีก ๒ เดือน ก่อนที่จะกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งที่ ๓ ช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งสรุปผลการประชุมกลุ่มดังนี้

          อำเภอสองแคว / บ้านหลวง จะจัดเวทีทบทวนความสุขของทีมทำงานในระดับอำเภอ และจะเข้าสู่ระยะที่ ๒ ของการดำเนินงานคือการคืนข้อมูลสู่ชุมชนและการรับฟังความคาดหวังจากชุมชนเพื่อนำมาปรับระบบบริการ นอกจากนี้จะนัดหมายอำเภอบ้านหลวงในการขยับการทำงานร่วมกัน

 

          อำเภอท่าวังผา / บ่อเกลือ ทีมอำเภอบ่อเกลือจะพากันไปดูงานที่ อ.ท่าวังผา ๑ ครั้ง และทีมอำเภอท่าวังผาจะขึ้นไปช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้รับฟังความคาดหวังของทีมอำเภอบ่อเกลือ โดยกระบวนการ Dialogue ๑ ครั้ง หลังจากนั้น ทีมอำเภอบ่อเกลือจะลงพื้นที่ไปรับฟังความคาดหวังของชุมชนในพื้นที่ รพ.สต.ที่เหลืออีก ๓ รพ.สต.

 

          อำเภอเชียงกลาง / ปัว ทีมอำเภอเชียงกลางจะเรียนรู้จากทีมอำเภอปัวที่เป็นทีมพี่เลี้ยง ในกลางเดือนมีนาคม จะจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับอำเภอให้แต่ละรพ.สต.มาเล่าสู่กันฟังว่าหลังจากลงพื้นที่ไปรับฟังความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ผลเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่การปรับระบบบริการต่อไป

 

          อำเภอแม่จริม / สันติสุข จะจัดอบรม Dialogue ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ให้ได้ครบ ๑๐๐ % (รพ.ครอบคลุมผอ. หัวหน้าฝ่าย) เพื่อรับฟังความคาดหวัง ความต้องการ และปรับระบบการทำงานร่วมกัน หลังจากนั้นก็จะลงไปรับฟังความคาดหวังของเครือข่ายต่อไป

 

          อำเภอทุ่งช้าง / เฉลิมพระเกียรติ ที่ผ่านมายังไม่ได้ดำเนินการ ส่วนที่ทำเป็นภาระกิจเดิมที่ทำอยู่แล้ว ทีมอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จะกลับไปฟอร์มทีมงานใหม่ มาคุยกันแล้วค่อยลงไปทำงาน ส่วนอำเภอทุ่งช้าง หลังจากรับฟังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว นำแนวทางนั้นกลับไปพัฒนาต่อในพื้นที่ และกลับมาสรุปร่วมกันในเดือนพฤษภาคม

 

          อำเภอเมือง / ภูเพียง ที่ผ่านมาได้มีการสลับกันประเมิน PCU แล้วนำเอาส่วนขาดนั้นมาวางแผนพัฒนา และช่วยเหลือกัน และจะมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง ๒ อำเภอ เพื่อนำเอาสิ่งดีดีมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีการจัดกิจกรรมการถอดบทเรียนการทำงาน และประเมินผลการดำเนินงาน นำเอส่วนขาดมาวางแผนพัฒนาต่อไป

         

          อำเภอเวียงสา / นาน้อย / นาหมื่น ทีมอำเภอนาน้อยและเวียงสา จะช่วยกระตุ้นให้ทีมอำเภอนาหมื่นจัดกระบวนการ Dialogue ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ก่อน หลังจากนั้นแต่ละอำเภอจะจัด กระบวนการ Dialogue โดยนำเอากลุ่มหัวหน้าฝ่ายในรพ.เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับแนวคิด รับฟังความคาดหวังของกันและกัน และหาแนวทางการทำงานร่วมกัน และหลังจากนั้นก็จะจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ๓ อำเภอ

......................................................................

          ช่วงท้าย คุณหมอกิติศักดิ์ ได้พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า น้ำตกที่สวยงามได้เพราะ น้ำมันตกลงมา น้ำที่ตกลงมาในแต่ละชั้นไม่เคยหวงน้ำกักเก็บไว้ แต่จะปล่อยให้ไหลตกไปในชั้นต่อๆ ไป ยิ่งมีหลายชั้นเท่าใด น้ำตกยิ่งสวยงามเท่านั้น เช่นกันถ้าเรามีความรู้แล้วไม่หวงวิชาไว้แต่รู้จักแบ่งปันให้คนอื่นๆ ยิ่งแบ่งปันมากเท่าใด ความรู้ยิ่งพอกพูนมากยิ่งขึ้น

          และช่วงท้ายจริงๆ ผมได้ชักชวนให้ทุกคนได้บันทึกการเรียนรู้ที่ได้ในวันนี้ว่าแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรบ้าง และได้พัฒนาตนเองเพิ่มขึ้นอย่างไรลงในกระดาษ หลังจากนั้นชักชวนทุกคนดูวีดิทัศน์ “From a Note to a SonG” ของดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ เป็นการสร้างพลังใจในการทำความดีร่วมกันก่อนแยกย้ายกันกลับไปดูแลตนเอง ครอบครัว และงานต่อไป

          หวังว่าเรื่องเล่าดีดี ประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกันในวันนี้จะเป็นเชื้อเพลิงเติมพลังในการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพ รพ.สต.ของเมืองน่านให้สามารถสร้างความสุขของผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้

............................................................................

ขอขอบคุณทีมกระบวนกร รพร.ปัว

ทีมกระบวนการระดับอำเภอทุกอำเภอ

ทีมงาน HRD สสจ.น่าน

ที่ร่วมกันรังสรรค์เรื่องราวดีดี

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 429477เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

พี่ถนัด

ต้องขอบคุณบันทึกที่ให้รายละเอียดที่ดีมากครับ ผมสนใจ “From a Note to a SonG”  ไม่เคยชม..

----------------------------------------

วันจันทร์ > หน้าตาดี พูดน้อย มุ่งมั่นในการทำงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทักษะในการประนีประนอมดี เจรจาไกล่เกลี่ย ----> น่าจะจริงครับ :)

 

     เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสดีๆในการเข้าร่วมกระบวนการทั้ง 2 ครั้งขอบคุณพี่ถนัดมากๆคะที่สรุปเนื้อหาเพราะบางกิจกรรมมัวแต่สนุก จนเพลินหรือบางครั้งแอบเม้าท์กับคนข้างๆบ้าง ก็จะได้อ่านทบทวนคะ

วันจันทร์**คนหน้าตาดีเช่นกัน

ถือว่าตนเองโชคดีมากๆที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมกระบวนการ และต้องขอบคุณที่สรุปทุกกิจกรรมทุกรายละเอียด ให้กลับมาทบทวน ถึงแม้จะกำลังหัดตั้งไข่เป็นกระบวนกรแต่ก้อยังดีกว่าไม่ลงมือทำอะไรเลย

ขอบคุณสำหรับการบันทึกและแบ่งปัน....อยากได้ดู  from a note to a song บ้างค่ะ  ยังไม่เคยเห็นเลย ...ขอบคุณค่ะ

อยากให้ลงรูปมากกว่านี้ครับ อาจใช้ประโยชน์ได้

ลำดวน วงค์กองแก้ว

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆที่แบ่งปัน อ่านแล้วอยากจะอยู่ร่วมกระบวนการด้วย แต่้เสียดายที่ติดภาระกิจ ประชุมงานเอดส์ อะไรๆกสำคัญแต่ทำไงได้ มีบุคคลากรน้อย ยังไงก็จะติดตามผลงานนะคะ อยู่พื้นที่ลำบากมากๆ

ว่างๆ...อยากเชิญร่วมเครือข่ายปฐมภูมิครับ อาจารย์

https://sites.google.com/site/pcunet/km6-nan

ถึงแม้จะไม่ได้เข้ารับการอบรมแต่ก็มีโอกาสเห็นบรรยายกาศแห่งการเรียนรู้

ขอบคุณ ๆ สำหรับบรรยากาศดีๆ ที่ควรเรียนรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานที่เป็นความหวังของคนชายขอบ 

 

                                       จากใจคนเกิดวันเสาร์

                                                                    

สวัสดีค่ะ

    กิจกรรมที่ดีมากเลยนะคะ แล้วทุกจังหวัดจะจัดอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดหรือเปล่าค่ะ ขอบคุณมากค่ะ  อ่านได้วันศุกร์ ก็ได้ยิ้มค่ะ

     น้องซอมพอปิดเทอมแล้วพาไปแอ่วไหนบ้างค่ะ คิดถึงน้องซอมพอเสมอ เพราะปลูกต้นซอมพอไว้หลายต้น ที่บ้านสุพรณโตเร็วมากค่ะ ไปย้ายต้นหนึ่งโดนหนามมาหลายจุด  ชวนน้องซอมพอทำมะม่วงแผ่นกับคุณย่าคุณยายนะคะ

   

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท