มาทำนาเกลือวันเดียวกันไหม


บันทึกนี้พูดถึงเกลืออีกครั้งค่ะ แต่เป็นเรื่องวิธีทำนาเกลือ

 หลังจากเด็กๆออกไปเรียนรู้ที่นาเกลือ

ซึ่งอยู่ห่างรร.ประมาณ 1 กิโลเมตร

ได้เตรียมตัวเด็กน้อยก่อนออกไปสัมภาษณ์ภูมิปัญญา

เด็กน้อยได้ฝึกตั้งคำถาม ฝึกการทักทาย บอกจุดประสงค์การมาเรียนรู้ กล่าวขอบคุณ

และทดลองทำกิจกรรมต่างๆในนาเกลือเช่น วัดดีกรีน้ำทะเล

เรียนรู้การทำงานของรถกลิ้ง ความแตกต่างของนาที่ใช้คนกลิ้งกับใช้รถ

การทำเครื่องมือ ไม้ลุนเกลือ กระทารื้อเกลือ แบบพื้นบ้านของภูมิปัญญา

เทคนิคการโกยเกลือ  การรื้อเกลือ  การสุ่มเกลือบรรจุถุง

ปริมาณเกลือผลผลิตที่ได้ต่อไร่ ต่อปี และเฉลี่ย

รายได้ รายจ่าย การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการทำนาเกลือ ฯลฯ

เด็กๆแบ่งกลุ่มเรียนรู้ การรวบรวมความรู้ และสรุป

ที่สำคัญเมื่อได้คำตอบที่ต้องการ ก็อย่าลืมจดบันทึกไว้

จัดเรียงข้อมูล สรุปความรู้ที่ได้ สิ่งที่ได้ขณะเรียนรู้

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเรียนรู้ ความเข้าใจ ความพึงพอใจ

ทักษะ ความคิด บันทึกสิ่งที่เห็นที่ได้ยินได้ฟัง และคำถามเมื่อเกิดความสงสัย

หลังการตรวจสอบความรู้ของนักเรียนเรื่องอาชีพทำนาเกลือจากโครงงาน

พบว่านักเรียนชอบการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ สนุก และไม่เบื่อ

ข้อบกพร่องที่พบยังเป็นเรื่องของการเก็บข้อมูลได้ไม่ครบ

เด็กๆบอกว่าเรียนรู้วันเดียวมันน้อยไปอยากให้เรียนสักสองวัน

อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าอยากเอาเต้นท์ไปนอนเฝ้าดูเขากันน้ำเข้านา

เมื่อได้ข้อมูลไม่ครบก็ต้องกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม

แต่ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการทำนาเกลือที่น่าสนใจ

ซึ่งเป็นของกลุ่มน้องแมน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กับเพื่อนอีก 5 คน

สรุปมาเป็นข้อๆ จึงให้ช่วยกันเรียบเรียงข้อมูลใหม่

ข้อมูลวันนี้ดิบๆ ที่ได้พบได้สัมผัสได้เรียนรู้จากของจริงของเด็กน้อย

กระทา  คือไม้ที่ใช้รื้อเกลือ สุ่มให้เป็นกองกลมรูปทรงคล้ายปิรามิด

ไม้ลุน คือไม้ที่ใช้ดันไปบนผืนนาเพื่อให้แผ่นเกลือแตกเป็นเม็ดเล็กๆ บางนาเขาตอกตะปูตัวโตๆลงไปในเนื้อไม้เพื่อเฉาะๆๆลงไปบนผืนนาเกลือให้เกลือแตก

 เครื่องมือที่อยู่ในมือคนทำนาในภาพนี้ มีลักษณะเป็นด้ามยาว

ปลายด้ามถูกผ่าให้แผ่ออก

ด้วยเลื่อย แล้วเอาไปลนไฟดัดให้มีรูปคล้ายเสียม ทำจากท่อพีวีซีประโยชน์ของมัน

คือทำหน้าที่แซะดินโคลนที่ติดล้อค่ะ

 

รถกลิ้ง เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งสำหรับกลิ้งนา

ล้อของมันมีรูปร่างคล้ายล้อรถบดถนน  

ขับเคลื่อนได้ด้วยน้ำมันรถ มีคนขับทำหน้าที่บังคับทิศทาง 

ประโยชน์ของมันคือช่วยให้

ผืนนาให้เรียบ และแน่นได้รวดเร็วกว่าการกลิ้งโดยใช้แรงงานคน

เขาจะกลิ้งนาและตากนาให้แห้งขั้นตอนนี้ใช้เวลา 2วัน

หลังจากนั้นจึงปล่อยน้ำทะเลเข้านา  รถกลิ้งราคาประมาณคันละ 50,000 บาท

การตรวจสอบน้ำที่มีความเค็มกลายเป็นเกลือได้ 

น้ำต้องแก่(มีความเค็มสูงมาก) 25 - 26 ดีกรี

โดยใช้เครื่องมือวัดค่าความเข้มของน้ำ ชาวบ้านเรียกว่าน้ำแก่ค่ะ   

ภูมิปัญญาบอกว่ามันจะเป็นเกลือเม็ดได้ภายใน 1 วัน ถ้าแดดจัด

ลมแรงและน้ำเค็มมีดีกรีสูงถึง 26 ดีกรี

ลองเอานิ้วจิ้มลงไปเกลือเกาะติดนิ้วเป็นเกล็ดเล็กๆ ขึ้นมาเลยค่ะ

โดยปกติชาวนาจะปล่อยน้ำเข้านา แล้วตากจนเห็นดอกเกลือขาวลอยหน้านา

ตากให้เกลือแห้งพรุ่งนี้ก็รื้อได้แล้วค่ะ

  โดยพรุ่งนี้เขาระดมคนมาช่วยกันลุนเกลือ และรื้อเกลือ

โกยเกลือเป็นกองๆ ตากไปด้วยให้เกลือที่กองนั้นแห้งสนิท

 ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 15 วัน แล้วจึงขนเกลือเก็บในยุ้งฉาง  

กังหันลมที่เห็นอยู่ปลายนา ทำหน้าที่ฉุดน้ำเข้านาตามความต้องการ

ความสามารถในการผลิตเกลือขึ้นอยู่กับแสงแดดว่าจะแจดจ้าเพียงไร

สำหรับนาที่นี้ เจ้าของบอกว่า ทำนาเกลือได้ ปีละ 7-8 ครั้ง : 1 ไร่

ค่าจ้างจะจ่าย 2 ครั้งคือ

ครั้งที่ 1 จ้างรื้อเกลือ 

ครั้งที่ 2 จ้างขนเกลือเข้ายุ้ง

ราคาค่าจ้างรื้อเกลือวันละ 100 บาท: 1ไร่ ใช้คนประมาณ 5-7 คน

แล้วก็ขนเกลือเข้ายุ้งอีก ส่วนราคาค่าขนเกลือเข้ายุ้ง

เจ้าของนาจะให้ค่าจ้างขนเกวียนละ 100 บาท ไร่หนึ่งจะได้เกลือ 7 เกวียน

ใช้เวลาขนประมาณไม่เกิน ชั่วโมงครึ่งต่อไร่ก็แล้วเสร็จ

การซื้อขายเกลือจะมีคนมาซื้อถึงที่ สมัยก่อนบางคนอาจเห็นเรือเกลือ

ล่องไปตามลำคลองอย่างช้าๆเพื่อไปส่งตามที่ที่ลูกค้าสั่งซื้อ หรือไม่ก็เป็นเรือที่ชาวนา

ล่องเกลือไปขายเองตามบ้านเรือนที่อยู่ริมคลอง

คำว่าเรือเกลือนี้ยังมีคนนำไปเป็นคำพูดเหน็บแนมคนทำงานช้าๆว่า

"ช้าเหมือนเรือเกลือ"

ย้อนหลังไปประมาณ 30 ปี ฉันยังเห็นเรือบรรทุกเกลือ

แล่นตามแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านไปทางเมืองประทุม

ฉันก็เห็นว่าเรือแล่นช้าจริงๆ

แต่เกลือสมัยนั้นเขาโกยลงเรือโดยไม่ต้องใส่ถุงกระสอบเหมือนปัจจุบัน

การบรรจุเกลือเพื่อสะดวกในการขนส่งและการค้า

นิยมบรรจุเกลือลงในถุงลักษณะคล้ายถุงปุ๋ย

ถุงแต่ละถุงบรรจุเกลือ 35-40 กิโลกรัม ส่วนราคาที่พ่อค้ารับซื้อไปขายต่อนั้น

ยังไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องของพ่อค้า ชาวนาบอกว่าไม่เคยรู้

รู้แต่ว่าปีนี้จะขายเท่าไร่

ถ้าถามหาราคาเกลือว่าเกวียนละเท่าไรนั้น

ขอตอบว่าราคาเกวียนละ ประมาณ 1,400 บาทค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และชาวนาเกลือทุกท่าน

ขอบคุณค่ะ

 

 เกลือถูกบรรจุลงถุงเตรียมออกสู่ตลาด

เกลือแต่ละถุงมีน้ำหนักประมาณ35 - 40 กิโลกรัม

แล้วแต่นาใครจะบรรจุเท่าไรตามตกลง

นี่เป็นศาลเซ่นไหว้นาเกลือ คล้ายชาวเรือเซ่นไหว้แม่ย่านางที่หัวเรือ

แต่ที่นี่เขาเรียกศาลนาเกลือเพื่อขอพรวิงวอนให้ได้เกลือมากๆ

ปีไหนได้เกลือมากตามเป้าหมาย บางนาก็จะเอาหนังกลางแปลง

มาฉายเป็นการเซ่นไหว้เจ้าที่ก็มี

แต่โดยปกติแล้วทุกครั้งที่ปล่อยน้ำทะเลมาตามรางลำเลียงเขาก็จะไหว้ขอพร

รางลำเลียงเกลือจะถูกปูด้วยผ้ายางค่ะ

เพื่อไม่ให้น้ำเค็มมีดินปนค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านค่ะ

หมายเลขบันทึก: 429078เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2011 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ประสบการณ์ตรงจากแหล่งเรียนรู้จะช่วยครูได้มาก

รวมทั้งเด็กก็ได้เห็นของจริงและมีความสุขกับการเรียนรู้

ขอบคุณกับบันทึกที่พลอยทำให้ได้เรียนรู้ไปด้วยค่ะพี่ครูต้อยติ่ง...

 

สวัสดีค่ะ

ยังไม่เคยลงไปสัมผัสนาเกลือจริง ๆ เลยค่ะ ได้แต่นั่งรถผ่าน  สนใจเรื่อง"ดอกเกลือ" เป็นพิเศษค่ะ

ส่วนคิมไปเรียนการทำนาข้าวค่ะ

Ico48

ขอบคุณค่ะ

เด็กๆเกือบทั้งหมดที่นาเกลือ มี 2คนเท่านั้นค่ะ

ที่รู้เรื่องนาเกลือ แต่ก็เรียนรู้เพิ่มเติมอีกหลายมุม

พี่เองเคยมองข้ามเรื่องนี้นะคะ คิดว่าเด็กอยู่ใกล้ความรู้ เขาจะรู้ได้เอง

คราวก่อนพาไปทะเล น้องอ.ขจิตไปด้วยค่ะ

ปรากฏว่าเด็กที่นี่ไม่เคยไปทะเลบ้านตัวเอง

ทำเอาน้องอ.ขจิตขำกลิ้งเลย

เด็กสองคนที่กล่าวถึงเลยทำหน้าที่มัคคุเทศก์ให้กับเพื่อนๆค่ะ

 

Ico48

โชคดีนะคะได้ทำนาข้าว

พี่แพ้ละอองเกสรข้าวค่ะ

น้องชายบอกว่าเรามาหัดทำนากันไหม

ลูกหลานจะได้ไม่ต้องซี้อข้าวต่างประเทศกิน(ในอนาคต) อิอิ

พี่เพิ่งมีเวลาไปทำตามใจปรารถนาค่ะ

ขอบคุณ

  • สวัสดีค่ะ
  • มาชื่นชมกับข้อค้นพบของคุณครูค่ะ
  • เด็กๆชอบเรียนจากแหล่งเรียนรู้
  • การเรียนรู้จากของจริง สร้างการเรียนรู้ที่ฝังลึกค่ะ
  • ยอดเยี่ยมค่ะคุณครูต้อยติ่ง
  • สวัสดีค่ะ
  • บุษราแวะมาขอบคุณพี่สาวคนสวยที่ไปทักทายและไปเป็นกำลังใจอย่างไม่ขาดสายชื่นใจมากมายสำหรับมิตรภาพที่มอบให้กัน
  • "อ่านบันทึกนี้แล้วทำให้นึกถึงเพลง "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ"  อิอิ
  • อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ รักษาสุขภาพด้วยค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

                            

สวัสดีค่ะ

ได้รับเงินจากพี่ต้อยส่งเข้าบัญชี  อยากเรียนถามว่าพี่จะร่วมทำบุญที่สถานสงเคราะห์ใช่ไหมคะ เพราะวันเกิดคิมเดือนนี้จะไปเลี้ยงอาหารที่นั่นค่ะ

Ico48 ลำดวน

ขอบคุณค่ะน้องศน.

เด็กๆเรียนรู้อย่างมีความสุข

พวกเขามีมุมคิดที่หลากหลาย

เมื่อได้สัมผัสประสบการณ์ตรง

จากภูมิปัญญาผู้มีประสบการณ์ตรงค่ะ

มันทำให้พวกเขาประทับใจค่ะ

วันข้างหน้าหากเกลือมีราคาสูงกว่า1,400บาท ต่อเกวียน

หรือมีการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อการทำนาเกลือในวันนี้

พี่คิดว่าเด็กที่ได้เรียนรู้อย่างจากแหล่งเรียนรู้ จะเป็นพลังรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีค่ะ

 

Ico48

น้องบุษราคนงาม

ดอกบัวบานดอกนี้ส่งพลังใจให้พี่

ได้รับรู้ว่าเจ้าของกำลังอิ่มบุญค่ะ

ในภาพเป็นหนุ่มนาเกลือ

เอ..แล้วสาวนาข้าวอยู่ไหนเอ่ย อิอิ

Ico48

ค่ะน้องครูคิม

ร่วมบุญร่วมกุศลทำบุญให้กับสถานสงเคราะห์

และอวยพรให้น้องครูคิมมีความสุข สุขภาพแข็งแรงค่ะ

ขอบคุณค่ะ

Ico48

ขอบคุณค่ะ

สุขกายสบายใจนะคะน้องคุณยาย

นางสาวมินตรา ลัดดากูล

อยากทราบน้ำหนักของรถกลิ้งนาเกลือว่าหนักประมาณเท่าไหร่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท