ถอดบทเรียน GotoKnow (1): การสร้างชุมชนออนไลน์สำหรับองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร


ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดเว็บชุมชนออนไลน์ ทำอย่างไรให้เกิดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นในชุมชนออนไลน์อย่างยั่งยืน เป็นคำถามที่ทำให้สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์ฯ ของ สสส. ขอให้ GotoKnow มาช่วยให้ความรู้และสกัดความรู้จากภาคีของ สสส. ที่เคยทำเว็บไซต์ชุมชนออนไลน์มาหรืออาจจะมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางออนไลน์เกือบ 100 คน เมื่อ 17 กพ. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมอมารีดอนเมือง

ดิฉันขอเร่ิมต้นถอดบทเรียน 6 ปีจากการพัฒนาชุมชนออนไลน์ GotoKnow เพื่อเป็นประโยชน์แก่องค์กรที่ไม่หวังผลกำไรต่างๆ ของไทย ด้วยความหวังว่าองค์กรเหล่านี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ของคนไทย และร่วมการสร้างคลังความรู้เชิงประสบการณ์ออกมาอีกหลากหลาย

ดิฉันมองจากผลลัพธ์ที่ผู้ใช้อยากได้จากชุมชนออนไลน์เป็นหลักในการถอดบทเรียนครั้งนี้ ดิฉันเชื่อว่าผู้ใช้ต้องการเว็บไซต์ที่

ใช้งานง่าย เนื้อหาดี บริการดี คนจิตใจดี มีคนคุยด้วย มีเรื่องจะคุย

โดยภาพรวม ดิฉันคิดว่าชุมชนจะต้องมีปัจจัยด้านล่างต่อไปนี้ค่ะเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์

  • ชุมชนต้องมีวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
  • ทีมดูแลชุมชนออนไลน์ต้องมีใจรักในงานบริการอย่างมากและเห็นผู้ใช้เป็นสำคัญ
  • ทีมพัฒนาระบบต้องเห็นผู้ใช้เป็นสำคัญเช่นกันและยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของ user requirement
  • เว็บต้องใช้งานง่ายสะดวกและเห็นความเคลื่อนไหวของกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างดี
  • เว็บต้องตอบสนองความต้องการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้เป็นอย่างสะดวกอยู่เสมอ
  • ต้องมีเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยต่อการเผยแพร่ข้อมูลต่อได้โดยสะดวก
  • เทคโนโลยีต้องเอื้ออำนวยต่อการสร้างความน่าเชื่อถือของสมาชิก
  • เว็บที่พัฒนาต้องมีโครงสร้างข้อมูลที่เข้าถึงง่ายทั้งผู้ใช้และ search engines
  • มีทีมสร้างเนื้อหาอย่างน่าเชื่อถือ น่าสนใจและทำอย่างต่อเนื่อง
  • มีทีมดูแลชุมชนออนไลน์โดยตลอด ทำหน้าที่ ตอบคำถาม ต้อนรับสมาชิก ดูแลความเรียบร้อย และกระตุ้นชวนคุยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • มีกิจกรรมรวมกลุ่มพบปะพูดคุยกันจริงๆ

เมื่อเว็บไซต์มีเนื้อหาที่สดใหม่และน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง จึงค่อยเริ่มการประชาสัมพันธ์สู่กลุ่มเป้าหมาย โดยใช้การประชาสัมพันธ์ทางออฟไลน์และออนไลน์ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้ต้นทุนต่ำ เช่น การเข้าร่วมงานประชุมและสัมมนาต่างๆ การเป็นวิทยากร การออกบูธ การจัดเสวนา  การใช้ mailing list และการใช้ social webs เช่น Twitter, Facebook, Stumbleupon, YouTube, และ Flickr เป็นต้นค่ะ

หมายเลขบันทึก: 428946เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2011 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2014 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ป้าแดง เข้ามาใช้ gotoknow สม่ำเสมอ เพราะใช้ง่าย บล็อกเกอร์ก็รู้จักตัวตนของกันและกัน ระดับหนึ่ง 
  • อีกอย่างรู้สึกว่าเป็นเหมือน งานอย่างหนึ่ง ที่อยากถ่ายทอดงานที่เราคิดว่าดี ไปยังเพื่อนร่วมงาน เพื่อช่วยกันต่อยอดหรือนำไปใช้ และพัฒนาปรับปรุงกันต่อๆไป
  •  ขอบคุณค่ะ 

ขอบคุณค่ะป้าแดง คำถามหนึ่งที่เราพูดคุยกันในวันนั้นคือ อะไรเป็นตัวดึงให้ bloggers ที่มีใจจะให้ความรู้ที่ตนเองมีอยู่เข้ามารวมตัวอยู่ด้วยกัน

วิภาดา วาสินธุ์( อายุ 50ปี ค่ะ)

รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้ามา เพราะได้เห็นคนที่ทำกิจกรรมดีๆ และพร้อมที่จะถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับทราบ

ป้าติ๋ม เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานด้านครอบครัว อยากแบ่งปันประสบการณ์ด้วย เมื่อมีเวลา ( คงต้องจัดสรรเวลา)

ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์อีกคนนะคะ

ป้าติ๋ม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท