แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

โยคะง่ายๆ ทุกที่ทุกเวลา by ครูเละ (๒/๒)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ

 
โยคะง่ายๆ ทุกที่ทุกเวลา

ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์
คอลัมน์ "โยคะวิถี"
โยคะสารัตถะ ฉ. กรกฏาคม ๒๕๕๑

 

(๒)

สามวันก่อนระหว่างที่กำลังแลกเปลี่ยนกับมิตรรุ่นน้องอีกคนเกี่ยวกับเรื่องโยคะและอาสนะอย่างออกรส ตอนหนึ่งเธอบอกว่าเวลาพูดถึงโยคะในแง่ของอาสนะนั้นมันไม่ได้อยู่กับเราตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง พูดง่ายๆ ความเป็นโยคะในแง่ของอาสนะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่เราฝึกท่าโยคะหรืออาสนะเท่านั้น

ผมบอกเธอว่าระยะหลังมานี้ ผมรู้สึกว่าอาสนะไม่น่าจะเป็นแค่การฝึกท่วงท่าโยคะเท่านั้น หากน่าจะครอบคลุมถึงการจัดร่างกายให้สมดุล ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถไหนหรืออยู่ในท่วงท่าใดในชีวิตประจำวัน ความสมดุลที่ว่านี้ก็คือคุณสมบัติของอาสนะที่จารึกเป็นโศลกในคัมภีร์โยคะว่าอาสนะต้องมั่นคงและผ่อนคลาย

ผมเคยแลกเปลี่ยนกับคนที่หันมาฝึกอาสนะเพราะคิดและหวังว่าจะช่วยปรับโครงสร้างร่างกายหรือฟื้นฟูสุขภาพให้ดีขึ้นได้ว่า ลำพังการฝึกอาสนะหรือทำท่าโยคะเพียงอย่างเดียวอาจช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น สมมุติว่าเราฝึกอาสนะวันละหนึ่งชั่วโมง เราก็อาจจดจ่อเพื่อจัดปรับร่างกายในหนึ่งชั่วโมงนั้น แต่ถ้าอีกหลายชั่วโมงที่เหลือของวัน เรายังคงนั่งหลังงุ้มไหล่งอ หรือยืนเดินโดยทิ้งน้ำหนักไปที่ร่างกายข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า หากเป็นเช่นนี้โครงสร้างร่างกายหรือบุคลิกของเราไม่น่าจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้มากนัก

เพราะฉะนั้นอาสนะในความหมายของการจัดการกับร่างกายจึงไม่น่าจะอยู่กับเราเฉพาะเวลาฝึกอาสนะอย่างเป็นกิจลักษณะเท่านั้น พูดอีกอย่างว่าอาสนะหรือการจัดท่วงท่าที่มั่นคงและสบายหรือผ่อนคลายควรเกิดขึ้นกับเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตลอดเวลา

เนื้อหาหลักของหนังสือ"โยคะง่ายๆ ทุกที่ทุกเวลา"เป็นการแนะนำการฝึกอาสนะในลักษณะของการประยุกต์ท่วงท่าเพื่อนำไปฝึกในช่วงเวลาต่างๆ ของวัน แม้ว่าท่วงท่าจะไม่หนักหน่วงหรือดูท้าทายเมื่อเปรียบเทียบกับแนวการฝึกอาสนะที่กำลังได้รับความนิยม แต่ก็สอดรับกับชื่อและแนวคิดหลักของหนังสือที่เชิญชวนให้ผู้อ่านนำท่าโยคะแบบง่ายๆ ไปฝึกในช่วงเวลาและสถานที่ต่างๆ โดยที่ท่วงท่าที่ผู้เขียนเลือกสรรมาบรรจุในหนังสือและวีซีดีนี้ น่าจะเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่เราสามารถปรับเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

เมื่อไรที่เราเริ่มเคยคุ้นกับการตระหนักรู้ถึงร่างกายและจัดปรับให้มันมั่นคงและผ่อนคลายได้ทุกขณะ เมื่อนั้นเราอาจค้นพบและเข้าถึงขอบเขตที่เรียกว่าไร้ท่วงท่าก็คือท่วงท่า คือไม่จำเป็นต้องยึดติดกับท่วงท่าตามแบบแผนอีกต่อไป

สำหรับผม ความลุ่มลึกของหนังสือเล่มนี้ที่ผมมองเห็นและสัมผัสได้อยู่ที่ชื่อที่ฟังดูเรียบง่ายว่า "โยคะ...ง่ายๆ ทุกที่ทุกเวลา"

การฝึกอาสนะแบบง่ายๆ และทุกที่ทุกเวลา คล้ายกับสะกิดให้ตระหนักว่าอาสนะหาได้จำกัดอยู่แค่การกลับบนลงล่างวางศีรษะลงกับพื้นแล้วยกขาขึ้นชี้ฟ้า หรือก้มตัวลงจนอกและท้องแนบชิดติดกับขา หรือแอ่นตัวเป็นรูปสะพานโค้ง โดยเฉพาะถ้าเป็นการฝึกอาสนะโดยที่จิตใจไม่ได้รู้สึกถึงการไปสู่ท่วงท่าอย่างเหมาะสมและรับรู้อยู่กับร่างกายและลมหายใจในระหว่างที่ค้างอยู่ในท่า หรือมัวแต่พะวักพะวงว่าตัวเองจะทำท่าสมบูรณ์เหมือนคนที่ฝึกอยู่ข้างๆ หรือไม่

ทว่าอาสนะอาจเป็นอะไรง่ายๆ อย่างเช่น การหันศีรษะไปมาระหว่างกำลังขับรถแล้วติดแหงกอยู่กลางถนนที่มียวดยานนับร้อยห้อมล้อมรถคันที่เราขับ การลุกขึ้นเหยียดยืดร่างกายหลังจากนั่งทำงานติดต่อกันนานๆ ไปจนถึงการฝึกอาสนะในสถานฝึกสอนโยคะหรือในห้องส่วนตัวเล็กๆ หรือในสวนสาธารณะ

อาสนะยังอาจหมายถึงการยืนแปรงฟันโดยใช้มือจับแปรงสีฟันอย่างมั่นคงโดยที่ไหล่ไม่รั้งเกร็งโดยไม่รู้ตัว การหย่อนตัวลงวางของลงกับพื้นหรือเก็บของขึ้นจากพื้นด้วยท่วงท่าที่สมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้หลังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือการนั่งทำงานด้วยกายที่ตั้งตรงแต่ไม่ตึงเกร็ง ไปจนถึงการยืนและเดินถือสายยางฉีดรดน้ำต้นไม้หน้าบ้านด้วยท่ายืนและท่าเดินที่หนักแน่นเต็มสองเท้า

ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นความหมายด้านลึกที่หญิงสาวเจ้าของงานเขียนอยากจะสื่อสารกับเราว่าเราสามารถเข้าถึงสภาวะแห่งโยคะผ่านท่วงท่าง่ายๆ ได้ทุกที่และทุกเวลาในชีวิตประจำวัน

พฤศจิกายน ๒๕๕๐ 

 


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 428619เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 02:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน ครูเละคะ

อยากทราบว่าในเมื่ออาสนะเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกโยคะ จะมีช่วงเวลาใดบ้างที่สามารถฝึกอาสนะได้ดีได้ เพราะเคยฝึกช่วงเช้า ก็ตัวแข็ง ตึงๆ ตอนเย็นฝึกแล้วก็จะไม่ค่อยง่วง หลับช้า ที่ชอบฝึกอาสนะ เพราะรู้สึกว่าเป็นการฝึกสมาธิให้จดจ่อกับการกระทำอยู่ที่จุดๆเดียวได้ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท