ทำอย่างไรถึงจะ...แข็ง..อย่างยั่งยืน


การทำชุมชนให้เป็นชุมชนเข้มแข็งไม่ใช่เรื่องยากหากมีความตั้งใจจริงของผู้นำ และผู้ตามในชุมชน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้แข็งนาน หรือเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

      ชุมชนเข้มแข็ง เป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ และแสวงหา

    “ความเข้มแข็งของชุมชน” ตามแต่สถานภาพของสังคมและชุมชนโดยทั่วไปจะมีความแตกต่างกันตามแต่ศักยภาพของทุนทางสังคมของแต่ละชุมชนที่เรียกว่าวัฒนธรรมชุมชน

      “ ความเข้มแข็งของชุมชน” เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้คนในชุมชนหลายๆคน ทั้งผู้นำ และผู้ตามของชุมชน มีความต้องการและคาดหวังอยากให้มี อยากให้เป็น ความเข้มแข็งของชุมชน บางครั้งจำเป็นจะต้องอาศัย ความรู้ ความคิดเห็นของผู้คนจากนอกชุมชน ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือบางทีที่เรียกกันว่าผู้มีส่วนได้เสีย กับชุมชนนั้นๆด้วยความจริงจังตั้งใจ

     การทำชุมชนให้เป็นชุมชนเข้มแข็งไม่ใช่เรื่องยากหากมีความตั้งใจจริงของผู้นำ และผู้ตามในชุมชน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้แข็งนาน หรือเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

     ในกระบวนการนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายความคิด อย่างความคิดของ อาจารย์หมอประเวศ พูดว่า หากชุมชนใดผู้คน “ไม่โง่ ไม่จน ไม่เจ็บ” ก็ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้ สูตรของอาจารย์หมอ เอาเรื่องของ “ความรู้” เป็นตัวตั้ง ในทางตรงกันข้ามองค์กรท้องถิ่นหลายๆท้องถิ่น วางนโยบายให้ชุมชนในท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มุ่งเน้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน ที่เป็นวัตถุ จึงเน้นหนักไปที่งบประมาณ ซึ่งเป็นการใช้ “เงินตรา” เป็นตัวตั้งในการพัฒนาท้องถิ่น ซึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งท้องถิ่น หรือชุมชนที่ไม่ค่อยตรงประเด็นนัก เป็นการพัฒนาชุมชนที่ไม่ยึดหลัก “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” คือยังคงพึ่งพาทุน และปัจจัยต่างๆจากนอกชุมชนเป็นส่วนใหญ่ หรือที่เรียกว่า พึ่งจมูกคนอื่นเพื่อหายใจ แต่ที่พูดมานี่ไม่ได้สรุปว่าอันใด ผิด หรือ ถูก อันนี้ขึ้นกับวิธีคิดของแต่ละชุมชน หากชุมชนใดโชคดี ผู้คนมีวิธีคิดดี ก็จะพบหรือได้ผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาของคนยุคใหม่ในปัจจุบัน ชุมชนใดที่มีผู้คนมีความเข้มแข็งทางความคิดนับว่าโชคดีความจริงโดยธรรมชาติโครงสร้างของชุมชนมีความหลากหลายตามแต่สภาพของชุมชนในกระบวนการพัฒนาชุมชนจึงน่าจะมีเรียงลำดับตามความสำคัญก่อนหลัง เช่น อาจจะเป็นเรื่อง : สุขภาพ–การศึกษา–ภูมิปัญญา–อาชีพ–สิ่งแวดล้อม–สังคม- การเมือง,การปกครอง ตามลำดับ

  และชุมชนใดที่ “มีผู้คนมีความเข้มแข็งทางความคิด มักจะไม่หลงทิศในการพัฒนา”  ช่วยกันสำรวจแบบไม่เข้าข้างตัวเองดูว่า ชุมชนของเราเป็นเช่นนี้หรือไม่ และท่านอยากเห็นชุมชนของท่านเป็นอย่างไร

    แต่เป็นที่น่าเสียดายในหลายสิบปีที่ผ่านมาในการพัฒนาเมืองไทย มีนักพัฒนา นักวิชาการ ที่นำตำรา ลอกแนวคิดของฝรั่งยุโรป ตะวันตก มาพัฒนาเมืองไทยที่ขัดแย้งกับวิถีอยู่วิถีกินของไทย บอกให้คิดแบบฝรั่ง ทำแบบฝรั่ง ทั้งๆที่อาศัยอยู่กันคนละเส้นรุ้ง เส้นแวง ทดลองวิชากันคนละอุณหภูมิ เรียกว่าแตกต่างกันในเชิงวัฒนธรรม ฝรั่งรักสะดวก อยากอยู่สบาย ทดลองเพื่อสร้างสิ่งของเครื่องใช้โดยทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ สำเร็จได้นวัตกรรมยิ่งกลับทำลาย เพราะ ภูมิปัญญาฝรั่งคิดแบบทุนนิยมเป็นสังคมนายทุนที่ต้องแข่งขัน เอาชนะ ขาดความกตัญญู วัดค่าที่เงินตราและความร่ำรวย ขณะที่ภูมิปัญญาไทยคิด แบบแบ่งปัน ตามวัฒนธรรมตะวันออกที่มีความพอเพียงในทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่

     จึงส่งผลให้คนไทยปัจจุบัน ต้องแข่งขัน ไม่ปันแบ่งดังแต่ก่อน ขาดความกตัญญูรู้คุณแผ่นดินเกิด ยิ่งเรียนสูง ยิ่งเข้าไม่ถึงตัวเอง,ครอบครัว,ชุมชน และสังคม ขาดน้ำใจ ไร้จรรยา เห็นเงินตราเป็นพระเจ้า และน่าเศร้าที่ไม่คิดทำดีเพื่อทดแทนแผ่นดินเกิด

หมายเลขบันทึก: 427833เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2011 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท