จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ : ๖. สอนให้เหมาะต่อความแตกต่างของศิษย์


          หนังสือ Why don't students like school? เขียนโดยศาสตราจารย์ Daniel T. Willingham ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัย เวอร์จิเนีย บททึ่ ๗ เรื่อง How Should I Adjust My Teaching for Different Types of Learners?  บอกเราว่า ศิษย์มีความแตกต่างกันหลากหลายด้านมาก  เราต้องปรับการสอนให้เหมาะต่อความแตกต่างนั้น

          ผมอ่านบทนี้จบแล้ว บอกตัวเองว่า ความแตกต่างระหว่างเด็กในสังคมไทยมีมากกว่าที่บอกไว้ในหนังสือเล่มนี้  เรามีเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่ครบองค์ประกอบ   มีเด็กที่มีบาดแผลทางใจ   มีเด็กที่ด้อยโอกาสทางสังคม ฯลฯ ที่เป็นความจริงของเรา แต่ไม่เป็นความจริงของสหรัฐอเมริกา ที่ผู้เขียนเน้น

          ครูเพื่อศิษย์ไทยต้องเอาความเป็นจริงเกี่ยวกับความแตกต่างของศิษย์ในทุกด้าน มาเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบการเรียนรู้   และในการพัฒนาความเป็น “ครูเพื่อศิษย์” ของตน

          หนังสือเล่มนี้บอกว่านักเรียนมีความแตกต่าง ๓ แนว ได้แก่


๑. ความสามารถทั่วไปในการเรียนรู้ อาจเรียกว่าเด็กฉลาด เด็กหัวไว เด็กหัวช้า
๒. สไตล์การเรียน ตามทฤษฎี Visual, Auditory, and Kinesthetic Learners
๓. ความฉลาด ๘ ด้าน ตามทฤษฎี Multiple Intelligences

          อ่านหนังสือบทนี้แล้ว ผมสรุปกับตัวเองว่า ศ. Willingham ต้องการบอกว่า   ครูมักจะสับสนกับทฤษฎีการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมาย   และมีการตีความผิดๆ ก่อความยุ่งยากให้แก่ครูโดยไม่จำเป็น   ทำให้มีความซับซ้อนในการจัดการเรียนการสอน โดยที่เด็กอาจไม่ได้รับประโยชน์

          ความสามารถ (ability) กับสไตล์ ของการเรียนรู้ (learning style) แตกต่างกัน เขายกตัวอย่างนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลล์ในตำแหน่งป้องกัน ที่เล่นเก่งพอๆ กัน คือความสามารถเท่าๆ กัน แต่เล่นด้วยสไตล์ที่ต่างกันสุดขั้ว คือคนหนึ่งเล่นเกมเสี่ยง อีกคนหนึ่งเล่นเกมรอบคอบ  ผมเคยเห็นเพื่อนที่เรียนเก่งพอๆ กัน โดยที่คนหนึ่งเน้นท่องจำรายละเอียดเป็นข้อๆ  แต่อีกคนหนึ่งเน้นทำความเข้าใจสาระหรือหัวใจของเรื่อง

          สไตล์การเรียนที่เขายกมาเป็นตัวอย่างคือ เรียนแบบเน้นทำความเข้าใจเป็นลำดับขั้นตอน (sequential) กับเรียนแบบเน้นทำความเข้าใจภาพรวม (holistic)

          สไตล์ที่แตกต่างกันด้านพฤติกรรมของคนมีมากมาย เช่น ตัดสินใจเร็ว - ตัดสินใจช้า เน้นความรอบคอบ คิดแล้วคิดอีก, มีมุมมองสิ่งต่างๆ อย่างซับซ้อน - เน้นความเรียบง่าย, คิดเป็นรูปธรรม - คิดเป็นนามธรรม, เป็นต้น  นักจิตวิทยาได้รวบรวม cognitive style ไว้ ๑๒ คู่ ดังนี้


          ระหว่างที่ผมแปลข้อความในตารางข้างบน ก็อดนึกไปด้วยมาได้ ว่า จริงๆ แล้วคนเราควรฝึกคิดหลากหลายสไตล์ ฝึกคิดทุกแบบที่เป็นขั้วตรงกันข้าม ตามข้างบน  ผมเองมีบุคคลที่เป็นแบบอย่างให้ผมจดจำเอามาใช้ในเรื่องวิธีคิดบางสไตล์   เช่นสไตล์มองภาพรวม (holistic)  สไตล์คิดอย่างซับซ้อน เป็นต้น

          หนังสือบอกว่าข้อพึงตระหนักในเรื่อง cognitive style ก็คือ (๑) เป็นคุณลักษณะประจำตัวตลอดชีวิต (๒) คนที่มี cognitive style ต่างกัน มีกระบวนการคิดและกระบวนการเรียนแตกต่างกัน. (๓) ไม่ใช่เรื่องความสามารถ 

          ผมเองมองต่าง (อาจผิด)  โดยเชื่อว่าเราสามารถฝึกฝนตนเองให้คิดตามหลากหลายสไตล์ที่เป็นขั้วตรงกันข้ามได้   และผมหมั่นฝึกตนเองมาตลอดชีวิต ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

 

ทฤษฎีผู้เรียนแบบเน้นจักษุประสาท แบบเน้นโสตประสาท และแบบเน้นการเคลื่อนไหว

          มีข้อสังเกตว่า คนบางคนเรียนได้ดีหากได้เห็นรูป (visual learner) ในขณะที่บางคนจะเรียนได้ดีต้องได้ฟังเสียง (auditory learner)  และบางคนต้องเคลื่อนไหว เช่นได้จับต้องสิ่งของ หรือกระโดดโลดเต้นไปด้วย (kinesthetic learner)

           มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ kinesthetic learner ชนิดรุนแรงสุดกู่  ที่ตอนเป็นเด็กพ่อแม่กลุ้มใจมากที่ลูกเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง   แต่เมื่อพาลูกสาวไปปรึกษานักจิตวิทยา   นักจิตวิทยาสังเกตเห็นลักษณะพิเศษบางอย่างของเด็ก ที่นั่งนิ่งๆ ไม่ได้ จึงแนะนำให้ไปเรียนบัลเล่ต์  และกลายเป็นนักเต้นบัลเล่ต์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก

          ศ. Willingham ให้ข้อมูล ผลการวิจัย และข้อสรุปว่า ทฤษฎีนี้ไม่เป็นความจริง ผลการรวบรวมข้อมูลที่ให้ผลบวกเป็นอคติ   ในความเป็นจริงแล้ว เด็กต้องเรียนรู้ความหมายของสิ่งที่เห็น ได้ยิน หรือลูบคลำ   ไม่ใช่จำภาพหรือเสียงโดยตรง คำแนะนำคือ อย่าหลงใช้ทฤษฎีนี้กับตัวเด็กเป็นรายคน แต่ให้ใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อใช้การกระตุ้นประสาททั้ง ๓ แบบ นำไปสู่ความเข้าใจที่ลึก ในระดับคุณค่าหรือตวามหมาย และเกิดการจดจำประทับฝังใจในสมองเด็ก

          ความเข้าใจผิดเรื่อง visual learner ที่เข้าใจผิดกันแพร่หลายมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากความสับสน คิดว่า visual memory กับ visual learner เป็นสิ่งเดียวกัน จริงๆ แล้วเป็นคนละเรื่อง

 

ทฤษฎีความถนัด ๘ ด้าน (Multiple Intelligences)

          ความถนัด ๘ ด้านที่เสนอโดย ศ. Howard Gardner มีดังตาราง

          จากทฤษฎีดังกล่าว นำไปสู่การตีความเชิงประยุกต์ ๓ ข้อ ได้แก่

๑. รายการตามในตาราง เป็นความฉลาด (intelligence) ไม่ใช่ความสามารถ (ability)  ไม่ใช่ความถนัด (talent)
๒. โรงเรียนควรสอนความฉลาดให้ครบทั้ง ๘ ด้าน
๓. เมื่อสอนความรู้ใหม่ ควรใช้หลายๆ ความฉลาด หรือทุกความฉลาด เป็นท่อต่อการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้เลือกใช้สำหรับทำให้การเรียนรู้ของตนบรรลุผลอย่างสูงสุด

 

          ที่น่าแปลกใจก็คือ ศ. Willingham บอกว่า ศ. Howard Gardner เจ้าของทฤษฎี Multiple Intelligence ไม่เห็นด้วยกับการตีความข้อ ๒  เพราะท่านบอกว่า เป้าหมายของการศึกษาต้องไม่ใช่เอาตัวบุคคลเป็นเป้าหมายหลัก แต่ต้องยึดถือผลประโยชน์ของสังคมเป็นเป้าหมายหลัก   ซึ่งก็ตีความต่อได้ว่า การใช้ทฤษฎีนี้ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็ก เป็นเรื่องที่ครูเพื่อศิษย์ต้องตระหนัก ต้องฝึกฝน และเรียนรู้  ท่านที่อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด จะเห็นว่า การวิจัยด้าน learning psychology ให้ความรู้ที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อตามๆ กันมามากมาย  ช่วยให้ครูจัดการเรียนรู้แก่ศิษย์ได้อย่างมีหลักการมากขึ้น

          คำแนะนำ สำหรับนำความรู้เรื่องความฉลาด ๘ แบบ ไปใช้ในห้องเรียนคือ  (๑) ให้นำไปใช้ในการออกแบบหรือเลือกเนื้อหาสำหรับการเรียนรู้   ไม่ใช่นำไปใช้แยกแยะเด็ก  (๒) เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้เป็นครั้งคราว เพื่อลดความจำเจน่าเบื่อหน่าย  (๓) เด็กทุกคนมีคุณค่า แม้บางคนจะเรียนช้า  (๔) อย่าหลงเสียเงินค่าใช้จ่ายกับเรื่องการเรียนรู้ cognitive styles และ multiple intelligences

          ผมตีความต่อว่า เรื่องการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะต่อความแตกต่างของศิษย์นี้ สามารถทำวิจัยจากปฏิบัติการจริงได้อีกมาก  เป็นโอกาสที่ครูเพื่อศิษย์จะฝึกฝนทักษะด้านการวิจัยปฏิบัติการของตน   ทั้งเพื่อประยุกต์ใช้ในการทำงาน และเพื่อเป็นผลงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนเอง

 

วิจารณ์ พานิช
๑ ก.พ. ๕๔ 

          
           
        
         
             


 

หมายเลขบันทึก: 427716เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2011 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2018 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • บ้านเรามีมากกว่านี้จริงๆด้วยครับ
  • ความแตกต่างระหว่างเด็กในสังคมไทยมีมากกว่าที่บอกไว้ในหนังสือเล่มนี้  เรามีเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่ครบองค์ประกอบ   มีเด็กที่มีบาดแผลทางใจ   มีเด็กที่ด้อยโอกาสทางสังคม ฯลฯ
  • เอาการเรียนภาษามาเพิ่มครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/23753
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/23779
  • ได้รับความรู้มากมายจากการอ่านนี้
  • ขอบคุณเรื่องดีๆจากอาจารย์ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท