ผู้นำกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง


ผู้นำกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง

นัทธี จิตสว่าง

ในความคิดเห็นที่ตอบในแบบสำรวจและการสัมมนาของผู้บริหารระดับกลางของหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานที่เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนักบริหารระดับสูงหลักสูตรหนึ่งแล้ว ส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้นำองค์กรเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กร โดยผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์ ที่จะต้องมองการณ์ไกลและคาดการณ์ถึงภัยคุกคาม หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้นำต้องเอาใจใส่ และสนใจถึงการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่อนาคตที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม บางส่วนของผู้บริหารระดับกลาง กลับมองว่า ความพร้อมและคุณภาพของบุคลากรภาครัฐโดยส่วนรวมนับเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง

แต่ที่สำคัญ คือ ผู้นำจะต้องตัดสินใจและผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่เหมาะสม จะต้องทำก่อนที่ปัญหาจะเกิดเพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มิฉะนั้นจะเป็นเพียงการตามแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ โดยผู้นำองค์กรจะต้องทำให้คนในองค์กรทุกระดับตระหนักถึงภัย หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และจะต้องทำให้ผู้คนทุกระดับเห็นความจำเป็นในการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะ “ถูกเปลี่ยนแปลง”

ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคในการบริหารการเปลี่ยนแปลงสำหรับองค์กรภาครัฐนั้น ส่วนใหญ่มองว่า การแทรกแซงและการลงรายละเอียดของฝ่ายการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพราะการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ทำให้การพัฒนาองค์กรของภาคราชการชะงักงัน ผู้บริหารมุ่งแต่จะตอบสนองนโยบายทางการเมืองมากกว่าการวางวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ขององค์กรตามหลักเหตุและผล หากเป็นนโยบายที่ดีก็จะเกิดผลดีต่อองค์กร แต่ถ้าไม่ใช่นโยบายที่ดีก็จะส่งผลในทางลบต่อองค์กรเช่นกัน อีกประการหนึ่ง การลงรายละเอียด หรือการล้วงลูกจะทำให้ผู้นำองค์กรหมดความสำคัญลง และขาดความกระตือรือร้นที่จะวางวิสัยทัศน์ขององค์กร หากแต่รอรับคำสั่งการแต่ฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับกระแสการตรวจสอบร้องเรียน ทำให้ผู้นำองค์กรตลอดจนผู้นำในระดับต่างๆ ไม่กล้าที่จะริเริ่ม หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่จะหันไปยึดกฎระเบียบ และไม่กล้าทำอะไรที่แตกต่างไปจากที่เคยปฏิบัติมา เพราะหลายกรณีที่กระแสการตรวจสอบร้องเรียน ถูกนำไปใช้ในทางลบ เช่น การกลั่นแกล้ง สะกัดกั้นคู่แข่ง ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการบริหารการเปลี่ยนแปลง จึงต้องขับเคลื่อนองค์กรอย่างระมัดระวังโดยยึดหลัก และระเบียบกฎเกณฑ์เป็นที่ตั้ง

ในส่วนของวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร มีหลายกรณีปัญหาอยู่ที่ผู้นำเอง บ่อยครั้งที่ผู้นำองค์กรขึ้นมาดำรงตำแหน่งเมื่อใกล้จะเกษียณอายุราชการ จึงทำให้แยกตัวและไม่เสี่ยงพอที่จะริเริ่มสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนา ในขณะที่ผู้นำรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต มีวิสัยทัศน์ไม่ได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ หากจะมีความพยายามในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นการดำเนินการภายใต้ “กรอบ” ที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง หรือองค์กรกลาง เมื่อขาดการสื่อสารที่ทั่วถึงและ ขาดการตระหนักและเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงของข้าราชการระดับล่าง จึงทำให้การดำเนินการในการบริหารการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในลักษณะของการดำเนินการตามคำสั่ง และมักจะมีคำถามว่า “ทำไปทำไม งานเดิมก็เยอะอยู่แล้ว” ผลที่ตามมาคือ การขาดความร่วมมือและขาดผู้นำในการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น บทบาทผู้นำในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการขับเคลื่อนและบริหารการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ ก็คือ ผู้นำจะต้องสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงขึ้นในทุกระดับ ทั้งระดับบน ระดับกลาง และระดับล่างคือ ระดับปฏิบัติการ ซึ่งก็สามารถที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องมีตำแหน่งระดับสูง หากแต่เป็นเครือข่ายในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเร่งเร้าให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ตลอดจนทัศนคติ ค่านิยมในการทำงานของเพื่อนร่วมงานใหม่ โดยนัยนี้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในองค์กร จะต้องจัดให้มีทีมงานในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เพราะผู้นำคนเดียวไม่อาจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้ ทีมงานที่ประกอบไปด้วยบุคลากรทุกระดับ ทั้งระดับสูง ระดับกลาง และระดับปฏิบัติการต่างเข้ามีส่วนร่วมในการสื่อสารและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ความสำเร็จของการบริหารการเปลี่ยนแปลงในองค์กรภาครัฐประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนยิ่งชึ้น เพราะสิ่งสำคัญของการบริหารการเปลี่ยนแปลง คือ ต้องทำอย่างมีแผน เป็นระบบ และมีกลยุทธ์นั้นเอง...

หมายเลขบันทึก: 427599เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2011 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีจำนวนผุ้เข้าร่วมสัมมนาเท่าไรครับ ห้องใหญ่เชียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท