แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

นิยามความเป็นครู by ครูพรรณ



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถ


นิยามความเป็นครู

ครูพรรณ
คอลัมน์ "เทคนิคการสอน"

โยคะสารัตถะ ฉ.ส.ค.๕๒ 

 

เมื่อสมัยเด็กๆ พอมีคนถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ได้ยินเพื่อนๆ หลายคนตอบว่า “อยากเป็นครู” คาดว่าส่วนหนึ่งคงมาจากเด็กๆ ได้มีโอกาสพบเห็นอาชีพไม่มากนัก ไม่รู้ว่ายังมีทางเลือกอีกมากมายในชีวิต เมื่อได้ใกล้ชิดกับครู และครูสร้างความประทับใจให้ ก็เลยรักครู อยากเป็นอย่างครูบ้าง แต่เมื่อฉันเติบโตขึ้นจนถึงวันที่ต้องเลือกทางเดินในการเรียนต่อ สอบเข้ามหาวิทยาลัย ภาพที่เห็นเกี่ยวกับอาชีพที่เพื่อนๆ อยากจะเป็น อยากจะสอบเข้าไปเรียนกลับกลายเป็นว่า ใครที่เรียนไม่เก่ง สอบเข้าอะไรไม่ได้ ก็เลือกครูไว้ตบท้ายกันพลาด ไม่มีใครอยากเป็นครูอย่างที่เคยได้ยินแจ่วๆ เมื่อสมัยเป็นเด็กกันอีกแล้ว อาชีพครูกลายเป็นเครื่องรองรับคนไม่มีทางไป ในตอนนั้นฉันเศร้ากับอนาคตของประเทศจริงๆ ว่าสมองของประเทศจะต้องอยู่ในกำมือคนที่ไร้ความรู้ ความสามารถ และขอโทษเถอะ ไร้ความคิดพวกนี้น่ะหรือ แต่ฉันก็ไม่เคยมีซักครั้งเลยที่คิดอยากจะเป็นครู ก็ฉันไม่ใช่คนไม่มีทางไปนี่นา นั่นไงความคิดของฉันเอง ก็ไม่ต่างไปจากหลายๆ คนในยุคสมัยนั้นเลย

 จนเมื่อฉันได้มีโอกาสเป็นนักวิจัย เมื่อได้ผลสำเร็จออกมาในเชิงการนำไปใช้งานฉันก็ต้องการอย่างมากที่จะบอกเล่าให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ เข้าใจถึงสิ่งที่ฉันทำแล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ฉันมองภาพตัวเองว่าความเป็นครูจริงๆ คงหมายถึงความปรารถนาดีๆ เหล่านี้นี่เอง ที่จะพาให้ผู้คนได้รับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ของเขาเหล่านั้นเอง ของประเทศ ของใครๆ ก็ตาม โดยสิ่งที่จะถ่ายทอดไปต้องได้รับการยืนยันความถูกต้องอย่างแน่นอนแล้ว ฉันรู้สึกสุขใจที่ได้ถ่ายทอดผลงานวิจัยให้เป็นที่รู้จัก นั่นคงเป็นความรู้สึกของครูที่ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของตนให้แก่ลูกศิษย์

 วันเวลาผ่านพ้นไปวิถีชีวิตของฉันก็เปลี่ยนไป เพราะการเป็นนักวิจัยกว่าจะได้เรื่องที่มีผลสรุปสักครั้งใช้เวลาถึงเกือบ 3 ปี แล้วคนที่จะนำผลสรุปเหล่านี้ไปใช้ก็อยู่ในวงแคบๆ ฉันอยากให้งานของฉันขยายกว้างขึ้นเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากขึ้นจึงเปลี่ยนไปทำงานเป็นวิทยากรที่ปรึกษาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม คราวนี้ไม่ต้องเสียเวลายืนยันผลการวิจัยเองแล้ว เพราะมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมมีคณะทำงานวิเคราะห์วิจัยกันมาจนเป็นมาตรฐานแล้ว เราเพียงแต่ศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง แม้เราจะไม่เคยลงมือทำกับสิ่งที่เราสอนเลย เราก็สามารถสอนคนอื่นให้ทำได้ เช่น ขยะทิ้งปนกันทั้งขยะที่นำกลับไปใช้ได้ ทั้งขยะอันตราย ทำให้กลายเป็นขยะอันตรายกันไปหมด แล้วกฎหมายก็บังคับให้ต้องกำจัดขยะอันตรายเพื่อไม่ให้ไปปนเปื้อนสภาวะแวดล้อม ฉันก็แค่อธิบายให้ผู้ที่ควบคุมขยะเหล่านั้นเข้าใจว่าเรื่องราวเป็นอย่างนี้ ข้อเสียจากการที่เราทิ้งรวมๆ กันมันเป็นอย่างนี้ เราต้องเสียเงินในการกำจัดขยะอันตรายมาก ทั้งที่ถ้าเราแยกขยะที่ไม่อันตรายออกมาไม่ให้ถูกปนเปื้อนด้วยขยะอันตราย เราก็ลดปริมาณสิ่งที่ต้องกำจัดลงไปได้เยอะเลย แล้วยิ่งถ้าเราแยกเอาขยะที่นำกลับไปใช้ซ้ำได้ออกมา จะยิ่งได้ประโยชน์ขึ้นมาอีก เพียงเท่านั้น ฉันไม่ต้องลงมือไปคุ้ยขยะเพื่อจัดการใดๆ ไม่ต้องมีระบบการจัดการขยะที่บ้านของตัวเอง ฉันก็สามารถทำให้ผู้เรียนนำสิ่งที่ฉันสอนไปใช้เกิดประโยชน์แก่ตัวเขาได้ ด้วยความที่เขาเป็นผู้ที่รู้จักบริษัทของเขาดีที่สุด เข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมของพนักงานในบริษัทตัวเองดีกว่าเราซึ่งเป็นแค่คนนอก สารเคมีตัวนั้นต้องทำลายความเป็นพิษด้วยวิธีนั้น ขยะกลุ่มนั้นสามารถลดปริมาณลงได้ตั้งแต่ในสายการผลิต พื้นที่บริเวณนี้เหมาะแก่การนำขยะประเภทนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เจ้าของบริษัทและคณะทำงานของบริษัทซึ่งก็คือผู้เรียนของฉัน ต้องการแค่คนมาชี้ประเด็นในจุดที่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนแล้วเขาก็จัดการต่อเองโดยไม่ต้องการฉันอีกแล้ว

 ในตอนนั้นนิยามความเป็นครูของฉันเปลี่ยนไปอีกแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญชำนาญในเรื่องนั้นที่สุด ไม่ต้องเคยลงมือก็สามารถสอนคนอื่นให้ทำได้ เปรียบเหมือนกับเราเป็นผู้เปิดไฟให้แสงสว่างเข้ามาในห้องมืด ภายในห้องนั้นอาจเต็มไปด้วยทรัพย์สิน เครื่องเรือน ที่เจ้าของบ้านไม่เคยเห็น เพราะความมืด เขาก็เลยไม่เคยได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ เมื่อเราช่วยเขาเปิดไฟ เมื่อเขาเห็นแล้วว่าห้องที่เขามีอยู่มันสกปรก เขาอาจจะทำความสะอาด เมื่อเขาเห็นว่ามีเครื่องเรือนที่ไม่เคยหยิบมาใช้งานก็อาจหยิบมันออกมาใช้งาน ถ้าเขาเห็นแล้วไม่ลงมือทำอะไรเลย ฉันก็มีหน้าที่ชี้ประโยชน์และโทษให้เห็น แต่จะลงมือทำหรือไม่ลงมือทำเป็นเรื่องของเขาเอง ฉันจับมือทำแทนไม่ได้ นั่นเองหน้าที่ความเป็นครู ศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน แล้วหาวิธีการปลุกจิตสำนึกให้เขาเห็นในสิ่งที่มองข้ามไป ส่งเสริมกำลังใจให้เขาคิดค้นวิธีการที่เหมาะกับเขาเอง แต่ต้องทำใจเมื่อเขารู้แล้วยังไม่ทำ เพราะไม่มีใครทำแทนใครได้ อย่าทำตัวเองให้เศร้าหมอง

 ความสับสนเกิดขึ้นกับฉันเมื่อสิ่งที่ฉันสอนเปลี่ยนไป ฉันไม่ได้เป็นวิทยากรด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแล้ว ชีวิตที่ผกผันเปลี่ยนให้นักวิทยาศาสตร์อย่างฉันกลับกลายเป็นวิทยากรด้านบริหารจัดการ ไปสอนผู้บริหารให้บริหารองค์กร ฉันเห็นความล้มเหลวในการสอนของตัวเอง นิยามความเป็นครูตามแบบเดิมที่ฉันมีมาก่อนหน้านี้สั่นคลอนลง เพราะไม่มีใครเชื่อถือหลักการดีๆ ที่ฉันศึกษาเรียนรู้เพื่อมาบอกต่อแก่เขาอีกต่อไป เพราะอะไร ก็เพราะเขาไม่เชื่อถือฉันตั้งแต่ฉันยังไม่ทันอ้าปากพูดเลยด้วยซ้ำ คนที่ไม่เคยเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ ไม่เคยเรียน MBA จะมาสอนคนที่เรียนจบมาแล้วได้อย่างไร จะมาสอนคนที่บริหารองค์กรจนกำไรมาเป็นนานสองนานแล้วได้อย่างไร

 ฉันแก้ปัญหานี้ด้วยการไปลงทะเบียนเรียนปริญญาโทด้านการบริหารจัดการ แม้สิ่งที่ฉันสอนจะยังคงเป็นหลักการเดียวกันกับตอนก่อนที่ฉันไปเรียน แต่กลับดูน่าเชื่อถือมากขึ้น คนเรียนเปิดใจฟังฉันมากขึ้น แต่ก็อาจไม่ใช่เหตุผลเดียว เพราะประสบการณ์การสอนในเรื่องนี้ของฉันก็พัฒนาขึ้น การเรียนรู้ในแต่ละครั้งที่เข้าไปช่วยประเมิน ช่วยวางแผนการทำงานให้กับองค์กรต่างๆ ก็เพิ่มพูนขึ้น แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ดีกรีปริญญาโท หรือการที่ได้รับตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิจากสังคมก็มีผลด้วยส่วนหนึ่ง

 ผลจากการสอนด้านการบริหารจัดการทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่าไม่ใช่แค่ใครก็ได้ ไม่ใช่แค่ใครซักคนที่จะมาเปิดไฟแห่งการเรียนรู้ในห้องแห่งปัญญาของผู้เรียนได้ คนคนนั้นต้องเป็นคนที่สร้างความยอมรับให้เข้าไปในห้องเสียก่อน จึงจะไปกดสวิทซ์เปิดไฟได้ ทำอย่างไรให้ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องนั้นได้ ประวัติความเป็นมาของเขาเป็นใบเบิกทางที่ดี คนเราไม่ว่าจะไปทำอะไรอยู่ที่ไหน ประวัติชีวิตเขา ติดตามเขาไปทุกที่ ทำวันนี้ให้ดี เพื่อมีประวัติที่ดี ไว้เป็นใบผ่านสู่ความเป็นครูที่ผู้เรียนเปิดใจรับฟัง

 นานหลังจากนั้นมา พระอาจารย์ได้ให้โอกาสฉันไปคุยธรรมให้ผู้ที่มาทำบุญระหว่างพระฉันเพล และให้ออกอากาศรายการวิทยุชุมชน ฉันก็พูดคุยธรรมะตามทัศนะของฉันไป แต่สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้คือ “การทบทวนศีล” ของตัวเอง แล้วฉันก็ขออนุญาตจากพระอาจารย์ว่าอย่าให้ฉันพูดธรรมะสอนใครๆ เลย เพราะฉันละอายใจมากที่สิ่งที่รู้ว่าดีๆ ทั้งหลายที่เราพูดสอนไป ตัวเราเองยังไม่ได้ทำ ยังทำไม่ได้ แล้วก็ตั้งใจว่าจะไม่สอนธรรมะใครอีกจนกว่าจะปฏิบัติเองได้ดีพร้อม สอนตัวเองให้ได้ก่อน ค่อยไปสอนคนอื่น

 มาเรียนโยคะกับสถาบันโยคะวิชา เรียนเป็นครู และครูก็เปิดโอกาสให้ไปสอนโยคะ แต่เราก็ยังไม่สามารถสอนได้ ถ้าให้เราไปสอนตามแบบที่ได้เรียนรู้มา เรียนมาอย่างไรก็สอนอย่างนั้น ก็คิดว่าทำได้ แต่ที่บอกว่าไม่สามารถสอนได้ เพราะเรายังติดอยู่ที่นิยามความเป็นครูฉบับล่าสุดที่เรายึดไว้ว่า สอนตัวเองให้ได้ก่อน ค่อยไปสอนคนอื่น ในตอนนี้ด้านร่างกายของตัวเองเราก็รู้สึกว่าเรียนรู้หาข้อสรุปใดๆ ไม่ได้อยู่เลย การต่อสู้กันระหว่างความรู้ที่สมอง กับกิเลสที่จิตใจ เกิดขึ้นตลอดเวลา จะดีแก่ร่างกายถ้าไม่ทำอย่างนี้ อย่านะ อย่านะ อย่า บอกว่าอย่า เอาละสั่งร่างกายสำเร็จครั้งที่ 1 อีกแป๊บนึงกิเลสตัวเก่าก็ออกมาใหม่อีกละ สมองสั่งอย่าทำ อย่าทำ อย่า  เฮ้อ! แพ้กิเลสจนได้ แล้วบางทีที่สมองสั่งว่าทำอย่างนี้แล้วจะดี พอดูผลครั้งที่ 1 ก็ใช่นะ ครั้งที่ 2 อ้าว! ทำไมเป็นอีกอย่างหนึ่งแล้ว  ยิ่งเรียนก็ยิ่งรู้ว่าเรารู้จักมันน้อยเพียงใด แล้วจะเอาอะไรไปสอนได้ แล้วจะการเรียนรู้ด้านจิตใจ การเรียนรู้ด้านสังคม ยิ่งเรียน ยิ่งต้องยอมรับว่าเรารู้น้อยแค่ไหน จนเริ่มสงสัยว่า อัตตา กับ ความมั่นใจในตัวเอง มันเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไรนะ

 วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ฉันได้ทบทวนความเป็นครูอีกครั้ง เมื่อฉันเห็นว่ามีโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อสอนเยาวชนให้มีคุณธรรมโดยไม่แสวงหาผลกำไร ก็เกิดกิเลสอีกแล้ว อยากไปช่วยเขาสอน ก็เลยเขียนอีเมล์ไปขออาสาเป็นครูช่วยสอนให้ เพราะก็มีคนชมบ่อยๆ ว่าทักษะในการสอนของเราสนุกสนาน น่าจะใช้ประโยชน์กับกลุ่มเยาวชนได้ดี เจ้าของโรงเรียนก็ตอบกลับมาว่าถ้าศีลบริสุทธิ์ก็มาช่วยสอนได้ ฉันก็รับไปตามตรงว่าศีลไม่บริสุทธิ์หรอก เพราะคำว่าศีลบริสุทธิ์ของแต่ละชุมชนก็ตีความต่างกัน ฉันก็ยังไปอุดหนุนร้านอาหารทะเลที่อาหารสดอร่อย แม้จะไม่ได้ชี้ว่าฆ่าตัวนี้มาให้ฉันที แต่พอเขาทำอาหารสดอร่อย เรากินแล้ว มากินซ้ำ สั่งเพิ่ม เจ้าของร้านก็ยิ่งไปหาของสดๆ มาให้ลูกค้ากินอยู่แล้ว เจ้าของโรงเรียนก็เลยตอบกลับมาว่า สอนตัวเองให้ได้ก่อน ค่อยไปสอนคนอื่น ศีลบริสุทธิ์เมื่อไรค่อยติดต่อเข้าไปใหม่ละกัน

 ย่อมดีมากแน่นอนที่เราบรรลุธรรมแล้วค่อยนำสิ่งที่ผ่านการพิสูจน์จากเราไปสอนคนอื่น แต่จะหาคนที่บรรลุธรรมมาสอนผู้คนได้มากเพียงพอต่อความไม่รู้ของโลกนี้ได้อย่างไรกัน คนไม่รู้ที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ หรือคนที่รู้ว่าตัวเองไม่รู้แต่ต้องการผลประโยชน์ก็ตั้งตัวเป็นครูบาอาจารย์สอนผู้คนเต็มไปหมด เมื่อนึกทบทวนมาถึงตรงนี้ฉันก็เลยได้นิยามของความเป็นครูของวันนี้ว่า ต้องมีความปรารถนาดีต่อผู้เรียน (เหมือนตอนที่ฉันเอาผลงานวิจัยไปนำเสนอ) แม้จะไม่ได้ลงมือทำเองจนได้ผลกับตัวเอง แต่ศึกษาเรียนรู้สิ่งที่จะสอนเต็มที่ ก็สามารถนำไปกระตุ้น ปลุกเร้าให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ แล้วนำความรู้จากเราไปประยุกต์ใช้ได้ตามสภาพของแต่ละคน (เหมือนตอนที่สอนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม) ปฏิบัติตามวิถีที่เราจะไปสอนเขาตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้มีประสบการณ์ตรงมากเพียงพอที่จะสร้างความยอมรับจากผู้เรียน ยิ่งได้มากยิ่งดี แต่ถึงไม่มากก็ต้องสั่งสมเอา (เหมือนตอนที่ไปสอนด้านการบริหารจัดการ) แต่ฉันจะไม่รอให้ตัวเองสมบูรณ์แบบเสียก่อนจึงเริ่มสอนคนแล้ว เพราะยิ่งไม่พาตัวเองเข้าไปสู่ความละอายใจ วินัยก็เลยบางเบา Tomorrow Never Come ไม่มีวันที่ฉันจะสมบูรณ์แบบ อย่างไรฉันก็ต้องมีโอกาสพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าวันนี้อยู่เสมอ พรุ่งนี้ฉันจะต้องดีกว่าวันนี้ทุกวัน ยังมีคนที่มีศักยภาพ เสมือนบ้านมืดที่เต็มไปด้วยทรัพย์สินที่เขามองไม่เห็นอีกมาก ถ้าฉันไม่เป็นส่วนหนึ่งในการไปเปิดไฟในจิตสำนึกของเขาคิดดูว่าช่างน่าเสียดายโอกาสในการนำทรัพย์สินในบ้านไปทำให้เกิดประโยชน์ขนาดไหน ฉันจะใช้ความละอายใจเป็นตัวผลักดันให้ฉันพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น เร็วขึ้น ฉันจะเป็นครู

ปล. นิยามในวันนี้เกิดขึ้น แล้วก็อาจเปลี่ยนไป ใครจะรู้ว่านิยามตอนฉันอายุ 70 ปี จะออกมารูปแบบไหน




    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 427477เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2011 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีแตงไทย

หายหน้าไปนาน พลันคิดถึง

วันนี้เห็นหน้าก็หายนึง (คนึง)

จึงมาแลกเปลี่ยนเรื่องครู

คิดให้ดีอีกทีหนึ่ง เราทุกคนต่างเป็นครู

เราทุกคนต่างเป็นศิษย์

ครูคือผู้ให้

เรียนคือผู้รับ

กับความคิดนี้ที่คิดรู้........

สวัสดีค่ะ  วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

แตงมัวแต่ไปหลงลม พริ้งเพริศ อยู่ที่ FB ค่ะ
เพราะมีเพื่อนๆ ที่รู้จักกันตัวเป็นๆ อยู่ในนั้นหลายคนค่ะ...อิ อิ

ตอนนี้แตงเข้าใจคำว่า "ตัวเราคือครู" ได้มากขึ้นค่ะ ท่านผู้เฒ่า
หลายอย่างความรู้อยู่ภายในตัวเรานี่เอง ไม่ต้องเสาะแสวงหาที่ไหนเลยค่ะ

ท่านผู้เฒ่าดูแลสุขภาพตัวเองมากๆ นะคะ 

สิ่งที่ครูเป็น...ครูทำ...สำคัญมากกว่า...สิ่งที่ครูสอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท