จุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิรูปภาครัฐ


จุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิรูปภาครัฐ

 

 

 

 "จุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิรูปภาครัฐ"

  

                จุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิรูปภาครัฐ  คือ  เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความเป็นอยู่ดี มีความสุข สังคมไทยมีเสถียรภาพ ประเทศชาติมีเกียรติภูมิ มีความสามารถสูงในการแข่งขันกับเวทีโลกได้

                เมื่อปี พ.ศ. 2545 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบราชการไทยร่วมสมัยและเป็นการนำร่องกระบวนการพัฒนาระบบราชการ มีการกำหนดให้กระทรวงและส่วนราชการจัดให้เป็นระบบที่ชัดเจน ลดความซ้ำซ้อนในเชิงบทบาท ภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ วางรากฐานการทำงานของส่วนราชการในอนาคตให้เป็นเอกภาพมากขึ้น  สร้างจิตสำนึกในเรื่องคุณภาพการให้บริการ โดยปรับบทบาทหน้าที่ของภาครัฐจากผู้ปฏิบัติและควบคุมมาเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนและประชาชน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อลดขั้นตอนและลดรอบเวลาในงานบริหารทุกประเภท รวมทั้งให้ความสำคัญในการสร้างระบบราชการให้ใส่สะอาด โปร่งใส ตรวจสอบได้ (Good governance)

                ในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2551 รัฐบาลได้จัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินและแผนปฏิบัติราชการใช้เป็นกรอบแนวทางที่ชัดเจนและกำหนดทิศทางในการบริหารราชการต่าง ๆ ไปในแนวทางและเป้าหมายเดียวกัน โดยวางระบบการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อเสริมสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและการบริหารงานแนวใหม่ เพื่อนำระบบราชการไทยให้ก้าวเข้าสู่ราชการยุคใหม่ที่ทันสมัยและเป็นสากล สามารถทำงานและให้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพพร้อมด้วยสมรรถนะสูงและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี (High performance organization ; HPO) มีการประเมินผลการดำเนินงาน ความคุ้มค่าและการจัดสรรเงินรางวัลตามผลงานของส่วนราชการที่ทำได้ในปีงบประมาณนั้น ๆ การที่องค์กรภาครัฐจะมีสมรรถนะสูงนั้น จะต้องเป็นองค์การที่มีความยืดหยุ่น มุ่งเน้นนวัตกรรม และสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงตามบริบทต่าง ๆ รวมทั้งสามารถพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารราชการแนวใหม่และสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ ๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนไปได้

                นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการได้สำรวจ ตรวจสอบและทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและประกาศที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อดำเนินการยกเลิก ปรับปรุงหรือจัดให้มีกฎหมาย กฎ ระเบียบขึ้นใหม่ให้ทันสมัยและเหมาะสมกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

                กลยุทธ์หลักที่ใช้ในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามมาตรา 3/1 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบราชการไทยในฐานะเป็นกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ ได้แก่ “การคิดเชิงยุทธศาสตร์” “การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง” และ “การบริหารการเปลี่ยนแปลง” แล้วนำมาหลอมรวมเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2546 – 2550) ขึ้น เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยม  โดยมีเป้าประสงค์ 4 ประการ คือ

  พัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น

   ปรับบทบาทภารกิจและขนาดให้มีความเหมาะสม

   ยกระดับขีดความสามารถและมาตรฐานการทำงานให้อยู่ในระดับสูงและเทียบเท่าเกณฑ์สากล และ

    ตอบสนองต่อการบริหารปกครองในระบอบประชาธิปไตย

                อย่างไรก็ตาม  ก็ยังขาดการประเมินแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย ระยะที่ 1

                ปัจจุบัน การพัฒนาระบบราชการอยู่ในช่วง 5 ปี ของระยะที่ 2 ที่นำเอามาตรการรองรับยุทธศาสตร์  การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมของระบบราชการ (พ.ศ. 2551 – 2555) มาใช้ โดยไม่สามารถทำได้โดยวิธีการใช้อำนาจสั่งการ การถ่ายทอดความรู้ในลักษณะให้การศึกษา ฝึกอบรม หรือการรณรงค์แต่เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องบริหารให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยยึดหลักให้ “ผู้บริหาร” ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้บริหารสามารถเรียนรู้และปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้วยตนเองด้วยความเต็มใจ การเรียนรู้จึงเป็นเรื่องของผู้บริหารโดยแท้  ทั้งนี้ต้อง

             สร้างรูปแบบการเรียนรู้ของผู้บริหารระดับสูง

             จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อ และ

              เปิดโอกาสให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม

            สำนัก ก.พ.ร. ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารการเปลี่ยนแปลงในแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาระบบราชการไทย ระยะที่ 2 โดยวางแผนการปรับแต่งองค์กร...กระบวนการที่ทำให้องค์การและบุคลากรสามารถปรับตัว เกิดการยอมรับและร่วมกันวิเคราะห์และประเมินขีดความสามารถและปริมาณทรัพยากรที่ส่วนราชการมีอยู่ (ทั้งคน – เงิน – ของ – กฎระเบียบ – ค่านิยมและทัศนคติของข้าราชการและพนักงาน) แล้วประเมินหาสิ่งที่ยังขาด (Gap) หรือไม่เพียงพอ เพื่อกำหนดแนวทางหรือวิธีการลดช่องว่างนั้น โดยการจัดทำเป็นข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง (Blueprint for change) เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพของส่วนราชการไปพร้อมกับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดิน 4 ประเด็น ดังนี้

                 ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 (ทันต่อการเปลี่ยนแปลง) เพื่อยกระดับการให้บริการและการทำงาน เพื่อตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของประชาชนที่มีความสลับซับซ้อนหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ การรณรงค์ให้ข้าราชการมีจิตสำนึกในการบริการประชาชนและมีการมอบรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน

                  ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 (มีส่วนร่วม) เพื่อปรับรูปแบบลักษณะเชิงบูรณาการเกิดจากการแสดงความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการระดับนานาชาติ

                  ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 (เก่ง) มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง บุคลากรมีความพร้อมและความสามารถในการเรียนรู้ คิดริเริ่ม เปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้แก่ แผนบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาโครงสร้างระบบบริหารงานแบบกลุ่มภารกิจและการติดตามและประเมินผลของส่วนราชการ

                  ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 (ดี) สร้างระบบการกำกับดูแลตนเองที่ดี เกิดความโปร่งใส มั่นใจและสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งทำให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อประชาชนและต่อสังคมโดยรวม ได้แก่ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมในการทำงานของข้าราชการ คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) และนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี

                โดยสรุปภาพรวมของการพัฒนาคุณภาพของระบบราชการ มีความหมายของคำว่า “คุณภาพ” ต้องเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง (Continuous) หรือทำให้ดีขึ้นรวมอยู่ด้วยเสมอและกินความไปถึงทุกมิติในการดำเนินงานในแต่ละเรื่อง (Homogenous) และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (Alignment)

 

 

 

ที่มา  :  หนังสือ KPI รายบุคคล : สุดยอดบริหารผลลัพธ์ขององค์กร.

กรุงเทพฯ : สินทวีกิจ พริ้นติ้ง, 2553.

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 427171เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2011 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนอาจารย์บุษยมาศ ผมเคยเอาไปอ้างอิงบทความเรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์การ เพื่อรองรับการปฏิรูประบบราชการ เมื่อเขาปฏิรูปใหมๆ ครับ

สวัสดีค่ะ...ท่าน ผอ.พรชัย...Ico48...

  • ค่ะ...เพราะการบริหารส่วนราชการเป็นการปรับเปลี่ยนการบริหารราชการ ซึ่งไม่เหมือนก่อนเลยค่ะ...
  • ในแต่ละส่วนราชการต้องมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง โดยทำให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วยค่ะ
  • ซึ่งยุทธศาสตร์เดิม มีมาตั้งแต่ ปี 2545 ค่ะ...สำหรับยุทธศาสตร์ปัจจุบันนี้ ใช้ตั้งแต่ ปี 2551 - 2555 ค่ะ...แต่ก็ยังเห็นไม่เป็นรูปธรรมเท่าไหร่ค่ะ...
  • ขอบคุณที่นำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันค่ะ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท