ลดความแออัด ในรพ.


เทียบกับบริการดูแลคนไข้เบาหวานทั่วไปที่พึ่งแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น คนไข้เบาหวานในความดูแลของ UHC ควบคุมน้ำตาลในเลือดดีกว่า(ร้อยละ 95 เทียบกับร้อยละ 57) ขาดนัดตรวจกับแพทย์น้อยกว่า เสียเวลาตรวจรักษาและรอคิวสั้นกว่า(48นาที เทียบกับ ทั้งวัน) รบกวนห้องฉุกเฉินน้อยกว่า เป็นต้น

เก้าหมื่นหมู่บ้านทั่วไทย ส่วนใหญ่มีอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม)  พวกเธอ/เขามีบทบาทสำคัญมากขึ้นทุกทีในการดูแลสุขภาพชุมชนและคนเจ็บไข้  

การมาบรรจบกันของสองกระแสแห่งสังคมได้แก่   โรคเรื้อรังระบาด และ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้สถานพยาบาลน้อยใหญ่ แออัดไปด้วยคนไข้โรคเรื้อรัง นอกจากนี้ห้องฉุกเฉินตามรพ.ต่างๆก็แออัดด้วยคนไข้กลุ่มนี้ทั้งที่ตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน(หัวใจขาดเลือดฉับพลัน หมดสติเพราะน้ำตาลในเลือดต่ำ  ติดเชื้อที่เท้าแล้วลามเข้ากระแสเลือด เป็นต้น) หรือไม่ฉุกเฉิน (ขาดยา ไม่สะดวกมาเวลาราชการ เป็นต้น)

สภาพ “รอเป็นชั่วโมง ตรวจแว๊ปเดียว” จึงดาษดื่น และดูเหมือนไม่มีทางออก เป็นทุกข์ทั้งฝ่ายคนไข้และแพทย์/พยาบาล บริการแบบนี้ก็ยากจะให้ได้คุณภาพไม่ว่าแพทย์จะเก่งแค่ไหน ยาดีแค่ไหน เครื่องมือทันสมัยเพียงใด

กระนั้นก็ตาม ในมืดมีสว่าง ในที่สิ้นหวังยังมีความหวัง  ตัวอย่างบริการดีมีคุณภาพก็พอมีให้เห็นกระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กๆ  เช่น

  • อำเภอกุฉินารายณ์  อสม.เป็นหูเป็นตา ค้นหาผู้พิการให้รพ.เพื่อหาทางแก้ไข ฟื้นฟู จนบางรายกลับมาช่วยตนเองได้ หลายรายมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแม้ยังพิการ ครอบครัวจึงได้แบ่งเบาภาระการดูแล และความหวังได้กลับคืนมา
  • อำเภอยางตลาด อสม.เจาะเลือดคนไข้เบาหวานในหมู่บ้าน คนไข้จึงไม่ต้องลำบากตื่นก่อนไก่ขัน อดข้าว แล้วไปแย่งคิวเจาะเลือดที่สถานีอนามัย
  • ที่นครสวรรค์ อสม. ประสานสถานีอนามัย หาทางช่วยคนบ้าให้กลับมาใช้ชีวิตดังคนปกติ โดยส่งไปพบจิตแพทย์

ฯลฯ

 

ผมเชื่อว่า ประกายแห่งความหวังดังกล่าวมิได้เกิดโดยบังเอิญ แต่มีรากเหง้ามาจาก หลักการทำงานที่ไม่ยอมศิโรราบกับอุปสรรคปัญหา แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขจำนวนหนึ่งจึงกล้าคิดกล้าลองจนได้หนทางใหม่ๆเพื่อสนองความต้องการของชุมชนอยู่เสมอ

บทบาทอสม ที่ยกตัวอย่างมานี้ เกิดขึ้นจากการคิดนอกกรอบ  กรอบใหญ่ที่ครอบงำความเชื่อของคนไทยและคนชาติอื่นในวันนี้ คือ การเห็นรพ.คือคำตอบเดียวของบริการสุขภาพที่ดี ผู้คนจึงแห่แหนกันไปรพ.ไม่ว่าจะยากลำบากอย่างไร

การคิดนอกกรอบมีมานาน และไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยฉันใด  อสม ก็หาได้มีตัวตนเฉพาะในประเทศไทยฉันนั้น

ในสหรัฐอเมริกา แรงกดดันจากรายจ่ายสุขภาพที่มหาศาลที่สุดในโลก ทำให้มีความพยายามหาหนทางใหม่เพื่อจัดบริการที่ประหยัดและมีคุณภาพ

UNITE HERE HEALTH CENTER (UHC) เป็นบริการแบบใหม่ในสหรัฐฯ  ความใหม่อยู่ที่

  • การฝึกอสม(patient care assistant/health coaches)ให้รู้จักวิธีแนะนำคนไข้เบาหวานที่มีปัญหาซับซ้อนและใช้บริการรพ.บ่อยกว่าเพื่อน ให้ดูแลตนเองในเรื่องการเลือกกิน เลือกออกกำลังกาย กินยาสม่ำเสมอ ไปพบแพทย์ตามกำหนด คอยประสานกับแพทย์เพื่อนัดหมายคนไข้    
  • การวางระบบสนับสนุนการดูแลคนไข้ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยแพทย์ติดตามผลการรักษา นัดหมายคนไข้ เตือนแพทย์/พยาบาลให้แก้ปัญหาคนไข้แต่ละราย(เช่น ส่งต่อคนไข้ไปยิงเลเซอร์ป้องกันตาบอดจากเบาหวาน  ทบทวนรายการยาเพื่อแก้ไขหรือป้องกันปัญหายาตีกัน ฯลฯ)
  • การให้น้ำหนักกับคนไข้เบาหวานที่มีปัญหาซับซ้อน จนต้องเข้ารพ.บ่อย มาห้องฉุกเฉินบ่อยๆ ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายมากเกินจำเป็น
  • ระบบส่งต่อคนไข้เบาหวานที่ยากเกินความสามารถของแพทย์ใกล้บ้านไปพบแพทย์เฉพาะทาง(ไม่ได้แปลว่าเก่งกว่าแพทย์ใกล้บ้านในทุกเรื่อง  ทำนองเดียวกับ ช่างประปา ช่างไฟฟ้า ช่างเฟอร์นิเจอร์ ก็เก่งเฉพาะทาง แต่ผู้ควบคุมการสร้างบ้าน รู้รอบ ประสานเก่ง เห็นภาพรวมเก่ง แต่ไม่เก่งเฉพาะทาง)

 

เทียบกับบริการดูแลคนไข้เบาหวานทั่วไปที่พึ่งแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น  คนไข้เบาหวานในความดูแลของ UHC ควบคุมน้ำตาลในเลือดดีกว่า(ร้อยละ 95 เทียบกับร้อยละ 57) ขาดนัดตรวจกับแพทย์น้อยกว่า  เสียเวลาตรวจรักษาและรอคิวสั้นกว่า(48นาที เทียบกับ ทั้งวัน)  รบกวนห้องฉุกเฉินน้อยกว่า เป็นต้น

ถ้ารพ.อำเภอทั้งเจ็ดแปดร้อยแห่งทั่วประเทศ กล้าคิดกล้าทำนอกกรอบ บริการสุขภาพที่เก้าพันตำบล เก้าหมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศก็จะพลิกโฉม ความแออัดในรพ. ในห้องฉุกเฉินจะคลี่คลาย คุณภาพบริการจะดีขึ้น  แพทย์เฉพาะทางตามรพ.ใหญ่ก็จะได้ทำงานสมกับความชำนาญเฉพาะทาง 

“ถ้า” คำนี้ จะออกหัว หรือ ก้อย ย่อมขึ้นกับ รัฐบาลว่าจะเอาจริงสักเพียงใดกับการทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องระหว่างกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าของสถานพยาบาลนับพันแห่งทั่วประเทศ  กับสามกองทุนสุขภาพใหญ่ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง  

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 425834เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2011 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท