จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

การศึกษาอิสลามจะเป็นไปในทิศทางใด 1


โดยส่วนตัวตอนนี้ยอมรับผิดหวังกับตัวเองในหลายๆ เรื่องที่เริ่มจะทำได้ไม่ค่อยสำเร็จหรือสมบูรณ์เท่าไรครับ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องเขียนบันทึกความรู้ในบล็อกนี้แหละครับ เหตุผลง่ายๆ สำหรับเรื่องนี้ก็เพราะว่า งานช่วงนี้มันยุ่งและเครียด กลับถึงบ้านก็เกือบจะไม่มีพลังเหลือแล้วครับ แต่จริงๆ ต้องเหลือไว้นิดหนึ่งครับสำหรับเล่นกับลูกๆ จากนั้นก็ทิ้งตัวลงนอนทันที งานต่างๆ ไม่ว่าด่วนหรือเร่งจึงไม่สามารถทำได้เลยในช่วงเวลากลางคืน เป็นอย่างนี้มาระยะหนึ่งแล้วครับ (ต้องขออภัยสำคัญคนเฝ้าคอยด้วยครับ) อีกเหตุผลหนึ่งเฉพาะสำหรับที่ไม่ค่อยได้เขียนบันทึกก็คือ ช่วงหลังงานวิชาการลดลงไปครับ จมอยู่กับงานบริหาร จนบางทีเสียดายเวลาที่ผ่านไปครับ แต่ว่าไปก็เท่านั้นครับ 

สำหรับวันนี้ถือเป็นวันดีของผมวันหนึ่งครับ ที่สามารถสลัดคราบนักบริหารไปนั่งคุยประเด็นวิชาการได้เต็มคราบ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยการจัดการศึกษาอิสลามเปรียบเทียบฯ (ชื่อยาวครับ จำไม่ได้ ส่วนใหญ่เราเรียกชื่อย่อกันครับว่า comsist) งานวิจัยนี้ต้องเรียกว่างานวิจัยยักษ์สำหรับผมเลยทีเดียว ซึ่งผมได้เป็นนักวิจัยร่วม มี ผศ.สุกรี หลังปูเต๊ะเป็นหัวหน้าทีมวิจัยครับ กิจกรรมวันนี้เราไปนำเสนอภาพการจัดการศึกษาอิสลาม เพื่อฟังความเห็นว่า คนที่นราธิวาสคิดอย่างไรกับความเห็นของทีมวิจัย  (ออ. คนนราธิวาสอาจจะเป็นตัวแทนของสามจังหวัดเลยครับ) 

ก่อนหน้างานวันนี้ ทีมวิจัยได้นั่งถกกันมา หนักๆ จริงๆ จังๆ ก็ครั้งหนึ่งครับ ต้องเรียกว่าคุยกันนานมาก แต่ผมว่าครั้งนั้นมันยังไม่ตกผลึกดีเท่าไร ยังมีความเห็นต่างกันในหลายประเด็น ซึ่งเราก็ปล่อยให้เป็นความเห็นที่แตกต่างกันอย่างนั้นแหละครับ แล้วตั้งใจว่าจะมานำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ร่วมเวทีในครั้งที่จะจัดนี้

อ.เจ๊ะเหล๊าะ แขกพงศ์ รักษาการ ผอ.สถาบันอิสลามและอาหรับ มนร. ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยและรับเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ โทรหาผมแจ้งว่า ท่านจะเอาบทความหนึ่งของผมที่เคยเขียนไว้นานแล้วประกอบในเอกสารการประชุมครั้งนี้ด้วย แต่ความจริงผมนะอยากเขียนใหม่ครับ (ตั้งใจเขียนมาสามสัปดาห์แล้ว ได้เพียงหน้าเดียว ฮือ) เพราะท่านบอกกับผมว่า แนวคิดในบทความนั้นมันโอเคใช้ได้เลย (ผมก็จำไม่ได้แล้วว่าเขียนอะไรไปบ้าง ฮา) ก่อนจะขึ้นเวที อ.มูฮำมัดรูยานี บากา นักวิชาการจาก สบย.12 หนึ่งในทีมวิจัยก็เอากระดาษชุดหนึ่งให้ผม พร้อมกับบอกว่า บทความอาจารย์อันนี้น่าสนใจ ฮือ สรุปว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ อ.เจ๊ะเหล๊าะแจ้งไว้ครับ ผมเริ่มจะเดางานวันนี้ออกแล้วครับว่ามันจะออกรูปไหน ฮิฮิ แล้วก็สอดคล้องกับแนวคิดหัวหน้าทีมวิจัยที่ต้องการให้เปลี่ยนผู้ดำเนินรายการ เดิมกำหนดไว้เป็นผมครับ กลายเป็นผมต้องเป็นคนพูด ส่วนหัวหน้าจะเป็นผู้ดำเนินรายการเอง ผมเริ่มเครียด เครียดว่าจะพูดยังงัยให้คนเข้าใจไม่คลาดเคลื่อนกับความตั้งใจของผมในเวลาที่จำกัด (เกริ่นยาวเหลือเกิน เข้าเรื่องเลยแล้วกันครับ)

ประเด็นที่ 1 เราเห็นอะไรจากการจัดการศึกษาอิสลามในปัจจุบัน

ประเด็นสภาพการจัดการศึกษาอิสลามในประเทศไทย ผมว่าส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกันครับ แต่ประเด็นที่จะสร้างความแตกต่างกันคือ แนวทางการแก้ไขและพัฒนามากกว่าว่าจะไปในทิศทางใด สำหรับสภาพการจัดการศึกษาอิสลามในปัจจุบัน ผมขอนำเสนอเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

1. ระบบโครงสร้างการบริหารจัดการมีปัญหา ประเด็นนี้ อ.เจ๊ะเหล๊าะ แขกพงศ์ นำเสนอประเด็นไว้น่าสนใจครับว่าในความจริงการจัดการศึกษาอิสลามในบ้านเราขาดการกำหนดโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจน ที่สำคัญการจัดการศึกษาอิสลามกลับต้องไปอิงกับกลไกรัฐในการบริหารจัดการหรือแม้กระทั่งในการกำหนดรูปลักษณ์ ปัจจุบันการจัดการศึกษาอิสลามได้รับอิทธิพลจากการจัดการศึกษาภาครัฐมากขึ้น และการมองจากมุมของรัฐ ถึงแม้จะผ่านการออกความคิดเห็นจากมุสลิมกลุ่มหนึ่งแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนให้การศึกษาอิสลามบรรลุเป้าหมายสำคัญของมันได้ แต่กลับถูกนำไปใช้เพื่อการผลักดันการจัดการศึกษาตามเป้าหมายของรัฐเท่านั้นเอง 

อ่านข้อความข้างต้นอาจจะเกิดคำถามว่า ระหว่างรัฐกับชุมชนมุสลิมมีเป้าหมายการศึกษาต่างกันหรือ? อันนี้ขอตอบว่า ต่างกันบ้าง แต่คำว่าบ้าง บางครั้งอาจจะอยู่ในประเด็นสำคัญ เช่น รัฐต้องการให้เด็กเยาวชนใช้ภาษาไทยได้ดีเหมือนๆ กันทั้งประเทศ ในขณะที่ชุมชนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความต้องการสำคัญคือ การที่เยาวชนสามารถอ่านออกเขียนได้ด้วยภาษามลายูถิ่นและด้วยอักษรยาวี (แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธการเรียนภาษาไทย) แต่กลไกการจัดการศึกษาของรัฐกลับมีมุมมองว่า การสอนภาษามลายูถิ่นอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเรียนภาษาไทยไม่ประสบความสำเร็จ ผลก็คือ ชุมชนจึงยังคงต้องอาศัยสถาบันการศึกษาของชุมชนเองในการถ่ายทอดภาษาถิ่นสู่เยาวชน (อันนี้แค่ตัวอย่างนะครับ)

ต่อจากนั้นเมื่อโจทย์ความต้องการในการจัดการศึกษาของชุมชนชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะมีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมหลักเข้ามามากขึ้น ชุมชนแต่ละชุมชนก็ใช้การจัดการศึกษาของชุมชนสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชน แต่ทั้งนี้อันเนื่องจากโครงสร้างเชิงระบบของการจัดการศึกษาในชุมชนแต่ละชุมชนยังเป็นอิสระต่อกัน ทำให้รูปแบบการดำเนินการออกมาหลากหลาย

ต้องยอมรับครับว่า ในความหลากหลายการดำเนินการ (แต่อยู่ในชื่อเรียกเดียวกัน) ภาครัฐกลับใช้แนวนโยบายเดียวเพื่อการขับเคลื่อน ผลก็คือ การแก้ปัญหาก็กลายเป็นการแก้ปัญหาจากการแก้ปัญหา เพราะทุกครั้งที่มีการดำเนินการกลับก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ในขณะที่รากของปัญหาก็ยิ่งถูกกลบและฝั่งลึกลงไปในชุมชน

ทั้งนี้ปัญหาโครงสร้างเชิงระบบ โทษไปที่ภาครัฐอย่างเดียวก็คงไม่ได้ครับ เพราะต้องยอมรับว่าในฝั่งของชุมชนเอง ไม่ได้สร้างหรือมีกลไกใดๆ ที่มีประสิทธิภาพสำหรับเรื่องนี้เลย เอาง่ายๆ ครับ ในการจัดการศึกษาอิสลามในแต่ละระดับของชุมชนมุสลิม เราจะพบว่ามีองค์กรมากกว่าหนึ่งกลุ่มในการดูแล และการมีหลายกลุ่มไม่ได้สร้างทางเลือกแต่กลับสร้างความแตกต่าง สร้างนิยามใหม่สำหรับการจัดการศึกษา ก่อนให้เกิดความแตกต่าง ขาดเอกภาพในการจัดการศึกษา เช่น ในการจัดการศึกษาระดับตาดีกา รูปแบบการสอน เป้าหมายการสอนของแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกันมาก ในขณะเดียวกันบางโรงเรียนก็มีการรวมกลุ่มเป็นชมรม สมาคม แต่การรวมตัวดังกล่าวจะอยู่ในรูปของกลุ่มขนาดเล็ก และยากที่จะทำให้เกิดการประสานความคิดเห็นระหว่างกลุ่ม ซึ่งตอกย้ำว่า ปัญหาโครงสร้างถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับการจัดการศึกษาอิสลามในประเทศไทย 

ที่กล่าวมาข้างต้นเฉพาะในการศึกษระดับเดียว แต่ในความจริงการจัดการศึกษาอิสลามยังมีปัญหาการเชื่อมโยงการศึกษาในแต่ละระดับด้วย ต้องยอมรับว่า การจัดการศึกษาอิสลามในประเทศไทย ผู้รับผิดชอบภาครัฐในแต่ละระดับการศึกษามักจะเป็นคนละหน่วยงานกัน หนึ่งหลักสูตรก็หนึ่งหน่วยงานรับไป ที่แน่ๆ การถามหาการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานนั้นทำได้ยากยิ่งนัก

(ขออนุญาตค้างไว้เพียงแค่ประเด็นที่ 1 ก่อนนะครับ ไม่ไหวแล้ว ง่วงสุดๆ ขอไปนอนเอาแรงก่อน)

(การเขียนอ้างอิงบทความ: จารุวัจน์ สองเมือง.2554. การศึกษาอิสลามจะเป็นไปในทิศทางใด 1. (ออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.muallimthai.com/?p=154 )

หมายเลขบันทึก: 425167เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2011 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ประเด็นที่หนึ่งนี้ อาจารย์มองเหมือนผมเลยครับ ผมคิดว่าเรามีผู้รู้หลายคน หลายคนพยาแก้แล้ว แต่ไม่สำเร็จสุดท้ายต่างคนต่างก็พาไปด้วยวิธีของตนเองทั้งที่เป้าหมายเดียวกัน

วิธีของผม คือ ห่างๆมันออกมาแล้วไปอยู่ระดับอุดมศึกษาที่ วอย.(มอย.ในอดีต)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท