มหาวิทยาลัยไทยบนเวทีโลก : บทเรียนจากเดนมาร์ก



          เมื่อวันที่ ๒๐ - ๒๑ ม.ค. ๕๔ สคช. จัดประชุมในชุด มหาวิทยาลัยไทยบนเวทีโลก โดยเรียนรู้จากประเทศเดนมาร์ก ในเรื่องการปฏิรูประบบอุดมศึกษา และการปฏิรูประบบวิจัย  วิทยากรได้แก่ Ms. Pernille Meyn Milthers, Special Advisor, Danish University and Property Agency, Ministry of Science Technology and Innovation (www.ubst.dk)   และ Ms. Karin Kjaer Madsen, Head of Section, Danish Agency for Science Technology and Innovation (www.fist.dk)

          ผมมีโอกาสไปร่วมประชุมเฉพาะวันที่ ๒๐ ซึ่งว่าด้วยเรื่องการปฏิรูประบบอุดมศึกษา   ส่วนวันที่ ๒๑ ว่าด้วยเรื่องระบบวิจัยผมไม่มีโอกาสไปร่วม

          ประเทศเดนมาร์ก เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่  และเดนมาร์ก รวมทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ เปลี่ยนแปลงสังคม/ประเทศ โดยใช้

          ความท้าทายมาจากวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ของสหภาพยุโรป ที่เริ่มปี ๒๐๐๙  ที่จะต้องมีการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ และระบบต่างๆ ของประเทศอย่างขนานใหญ่

          แต่การปฏิรูปอุดมศึกษาของ เดนมาร์ก เกิดขึ้นตอนที่ระบบอุดมศึกษาทำหน้าที่ผลิตผลงานวิชาการได้ดีเป็นเยี่ยม   คือเด่นด้านความเป็นเลิศ (excellence)  แต่ไม่เด่นนักในการทำหน้าที่อุดมศึกษาเพื่อปวงชน (mass)  คือเดนมาร์กมีคนช่วงอายุ ๓๐ – ๓๔ ปี เพียง ๓๐% ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ตัวเลขนี้ของสหรัฐอเมริกา ๔๐  ของญี่ปุ่นมากกว่า ๕๐

          มาตรการสำคัญของการปฏิรูปมหาวิทยาลัยคือ ยุบรวม  ให้โฟกัสมากขึ้น และให้อิสระเพิ่มขึ้น

          การปฏิรูประบบมหาวิทยาลัยของเดนมาร์กเริ่มปี ค.ศ. 2003 นับเป็นครั้งแรกของการปฏิรูปตั้งแต่เริ่มตั้งมหาวิทยาลัในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕   เป็นการเริ่มปฏิรูปในช่วงเวลาที่ระบบอุดมศึกษามีผลประกอบการดี  เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต   ด้วยการปฏิรูปให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทำหน้าที่ดูแลมหาวิทยาลัยวิจัย   ส่วนมหาวิทยาลัยที่ไม่เน้นการวิจัยอยู่ใต้กระทรวงศึกษาธิการ

          ผมมองว่าจุดนี้สำคัญที่สุดของการปฏิรูปอุดมศึกษาของเดนมาร์ก คือมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศ   กับมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชนอยู่ภายใต้ต่างกระทรวง   ใช้หลักการสนับสนุนและเรียกร้องผลงานแตกต่างกัน   ตรงนี้แหละที่น่าจะเป็นข้อเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย

          มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของ Knowledge strategies   ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญคือ   เดนมาร์ก สร้างความรู้ 1% ของโลก ซึ่งนับว่ามาก หากคำนึงว่าพลเมืองของเดนมาร์กไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของโลก  แต่ยุทธศาสตร์สำคัญคือเดนมาร์ก ต้องมีความสามารถใช้ความรู้อีก 99% ของโลก   และในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยวิจัยก็เป็นส่วนหนึ่งของ Globalisation strategy ของประเทศเดนมาร์ก

          สิ่งที่เดนมาร์กปฏิรูป ในอุดมศึกษา ได้แก่


               ๑.   ระบบกำกับดูแล


               ๒.   การจัดการศึกษา


              ๓.   ยุบรวมมหาวิทยาลัย

          การยุบรวมมหาวิทยาลัย ใช้เวลา ๖ เดือนก็ตกลงกันได้   โดยรัฐบาลจัดให้เป็นการยุบรวมกันแบบสมัครใจ ไม่บังคับว่าใครต้องรวมกับใคร   ผมนั่งฟังแบบตั้งใจมองให้ทะลุไปที่บริบทของสังคมของเขา เทียบกับของเรา   ผมคิดว่า ทักษะ และวัฒนธรรมด้านการจัดการต่างกับบ้านเรา   ความเข้าใจคุณประโยชน์ของการยุบรวม ทำให้ตกลงกันไม่ยาก   และระดับพัฒนาการของการวิจัยในอุตสาหกรรมก็ต่าง อุตสาหกรรมของเขาต้องการให้ มหาวิทยาลัยทำวิจัยพื้นฐาน ส่วนประยุกต์อุตสาหกรรมทำเอง   โดยที่เขาลงทุนวิจัยร้อยละ ๓ ของ จีดีพี   ในจำนวนนี้ร้อยละ ๒ ลงทุนโดยภาคอุตสาหกรรม   รัฐลงทุนเพียงครึ่งเดียวของภาคอุตสาหกรรม คือร้อยละ ๑

          เมื่อพูดถึง university ranking เห็นชัดเจนว่า เขาเลือกใช้ ranking system โดยดูจาก indicators ที่ใช้  สำหรับเอามาใช้พัฒนาตนเอง ไม่ใช่ใช้อันดับที่เพื่อหลอกตัวเอง

          ระหว่างฟังการนำเสนอ ผมสัมผัสสังคมคนซื่อสัตย์  ตรงไปตรงมา  ไม่ศรีธนญชัย  ไม่โอ้อวด

          การประเมินมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน เขาประเมินเพื่อดูผลของการปฏิรูป ว่าได้ผลที่ต้องการไหม ใช้ international panel เปิดเผยใน www.ubst.dk   ผมเข้าไปดูแล้ว เป็นภาษาแดนิช

          เป้าหมายของการปฏิรูปมหาวิทยาลัย คือ More autonomous, more accountable, more goal-steering, better decision-making   สร้างฐานสังคมเชื่อถือไว้วางใจกัน

          กฎหมายของเขาป้องกันไม่ให้การเมืองแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย   ให้สภามหาวิทยาลัยชุดเดิมแต่งตั้งเองจากรายชื่อคนที่เหมาะสม และสภามหาวิทยาลัย มี international representation ด้วย   ระหว่างฟังผมจับเค้าได้ว่าสังคมของเขาหวงแหนคุณค่าของความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย

          เมื่อมีคนถามเรื่อง incentive ต่อการปฏิรูปเขาอธิบายว่า มี Incentives based on quality  และ excellence not end goal, but a drive  เขาหาทางได้ better quality จาก same resources ตลอดเวลา   ผมปิ๊งแว้บกับตนเองว่าเขาคุ้นเคยกับ resources scarcity  คุ้นเคยกับแรงกดดันที่มีอยู่ตลอดเวลา    แตกต่างจากสังคมไทย ที่ผู้คนคุ้นเคยกับความร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ

          เพราะความขาดแคลน และแรงบีบคั้นจากสังคมหรือประเทศอื่นรอบด้าน เดนมาร์กจึงต้องตื่นตัว ปรับตัว ตลอดเวลา   ตระหนักในความเร่งด่วนที่จะต้องปรับระบบอุดมศึกษา ระบบวิจัย ไปสู่สังคม knowledge-based   ประเทศไทยเรามี sense of urgency นั้นหรือยัง

 

วิจารณ์ พานิช
๒๐ ม.ค. ๕๔
         
                  


ซ้าย Ms. Pernille  ขวา Ms. Karin

หมายเลขบันทึก: 424654เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับที่ได้นำเรื่องที่ดีเช่นนี้มาให้ทราบ  ของไทยเราน่าเป็นห่วงว่ามี

อาจารย์สักกี่คนที่เข้าใจในระบบการศึกษา  เดนมาร์คยังมีชื่อด้านการเรียนการสอน

แบบ problem based learning and project oriented learning(PBL/POL)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท