สมองกับความจำ


ปัญหาของคนไทยจำนวนไม่น้อยอยู่ที่เราต้องการเฉพาะคำตอบสุดท้ายที่เป็นคำตอบสำเร็จรูป

       เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ขณะนอนรอฉายรังสีเอกซ์เพื่อดูแผลในกระเพาะอาหาร อาจารย์หมอพานักศึกษาแพทย์กลุ่มหนึ่งมายืนล้อมเตียงผมและอธิบายด้วยคำไทย กับ อังกฤษปนกัน ภาษาอังกฤษนั้นมีคำที่สร้างจากคำลาตินหลายคำที่กลายเป็นคำเฉพาะสาขาอาชีพสำหรับหมอทั้งหลาย ถึงผมจะไม่รู้ศัพท์หมอ แต่ก็พอรู้ว่าถูกนินทาว่าอย่างไรบ้าง

       หลังจากนั้นไม่นาน มีข่าวว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเยาวชนไทยสู้ชาติอื่นๆไม่ได้ในด้านการวิเคราะห์ มีดีแค่ด้านความจำ ข่าวนี้ทำให้ผู้คนในหลายวงการออกมาเป็นข่าวต่อทั้งทางสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ว่าต้องเน้นการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ เน้นการ วิเคราะห์ และเลิกเน้นท่องจำ....แล้วก็ค่อยๆ ซาไป

       ผมเห็นด้วย แต่ไม่เชื่อว่าเราจะเลิกการท่องจำได้ เพราะแม้แต่หมอเอง (ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว) ยังเลิกไม่ได้ แค่ชื่ออวัยวะภายในและภายนอกตัวเรานับพันชื่อ (ซึ่งสร้างจากคำลาตินเสียด้วย) หมอก็ต้องท่องจำให้ได้หมด นี่ยังไม่นับคำศัพท์ลักษณะเดียวกันอีกหลายกระบุงโกย ส่วนวิศวกรก็ต้องจำสูตรคณิตศาสตร์สำคัญๆที่เป็นพื้นฐานนำไปหาสูตรที่ซับซ้อนขึ้นอีก ทันตแพทย์ก็ต้องจำศัพท์ทั้งหมดที่ใช้เรียกทุกอย่างที่อยู่ในช่องปาก และจำคุณสมบัติโลหะต่างๆอีกจำนวนหนึ่งด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ฟันปลอมขนาดไม่ถึงครึ่งซีซีมีราคาหลายพันบาท นี่ยังไม่รวมชื่อเครื่องมือที่เห็นแล้วชวนขนลุกอีกหลายกำมือ

       ไม่ว่าเราจะพูดให้ร้ายอย่างไร ความจำก็ยังจำเป็นอยู่ เพราะมันเป็นทักษะขั้นแรกของสมอง ไม่มีความจำ สมองก็ทำงานอื่นต่อไม่ได้ คอมพิวเตอร์เองยังต้องมีหน่วยความจำเลยครับ แถมเป็นตัววัดราคาด้วยอีกต่างหาก

       ความจำในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่กล่าวข้างต้น เป็นต้นทางของโจทย์ให้ศึกษาต่อ คิดต่อ จนเกิดองค์ความรู้ และ กระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งนำไปสู่คำตอบสุดท้าย

       ปัญหาของคนไทยจำนวนไม่น้อยอยู่ที่ เราต้องการเฉพาะคำตอบสุดท้ายที่เป็นคำตอบสำเร็จรูป ไม่ต้องการคิดและทำเพื่อหาคำตอบให้ได้ด้วยตัวเอง แม้แต่สิ่งที่เราชอบจำเราก็มักเป็นสิ่งที่เอาไปใช้ต่อได้ทันที ไม่ค่อยชอบจำสูตรหรือทฤษฎี

       การใช้ความจำอย่างตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน แบบจำแล้วเอาไปใช้ต่อทั้งกระบิที่คนไทยถนัด ได้แก่การสวดมนตร์ของพระ การอาราธนาศีลอาราธนาพระปริต ฯลฯ ของมรรคนายก การร้องเพลงของนักร้องและของพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านทุกภาค การท่องอาขยานและสูตรคูณของนักเรียน และการเลียนคำพูดมนุษย์ของนกแก้วนกขุนทอง เป็นต้น สิ่งที่ต้องจำในกรณีเหล่านี้ เกือบทั้งหมดเป็นของสำเร็จรูปพร้อมใช้ มีเฉพาะสูตรคูณเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเป็น ต้นทาง ของการคิดต่อและทำต่อได้อีก แต่เดี๋ยวนี้ ดูเหมือนเราจะรักษาสูตรคูณไว้ไม่ได้ เพราะเราปล่อยให้เครื่องคิดเลขทำหน้าที่แทนเสียแล้ว

       การเอาความจำไปคิดและทำต่อจนได้ผลงานใหม่มิได้มีแต่ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น ด้านที่เน้นนามธรรมซึ่งบางอย่างอยู่คนละขั้วก็ใช้ความจำเป็นหลักเช่นกัน คนที่เป็นกวีได้ คือคนที่จำฉันทลักษณ์ของร้อยกรองประเภทต่างๆ ได้ คนที่เป็นจิตรกรได้ คือคนที่จำทฤษฎีสีและอารมณ์กับบรรยากาศที่เกิดจากสีได้ นักเรียบเรียงดนตรีคือคนที่จำอารมณ์ที่เกิดจากการวางลำดับคอร์ดและการเลือกใช้เสียงของเครื่องดนตรีได้ เป็นต้น สิ่งที่ต้องจำในสาขาเหล่านี้ก็คล้ายกับสาขาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คือ จำสูตรหรือทฤษฎี ศิลปินในย่อหน้านี้ต้องเป็นคนที่จำทฤษฎีแล้วเอาไปคิดต่อและทำต่อเอง มิฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องการละเมิดกรรมสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

      ที่คนไทยมีความจำดีนั้น ผมว่าดีอยู่แล้ว สิ่งที่ยังต้องทำต่ออีกมากคือ เปลี่ยนหรือเพิ่มสิ่งที่ต้องจำ ให้มีสูตรหรือทฤษฎีมากขึ้น และเพิ่มกระบวนการคิดต่อและทำต่อเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ให้ได้อย่างจริงจัง แทนที่จะปล่อยให้รอหยิบฉวยเอาแต่ความรู้หรือคำตอบสำเร็จรูปไปใช้ต่อแบบ copy & paste (ซึ่งพบแม้กระทั่งในการศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัย)

      นี่คือวิธีใช้การศึกษาพัฒนาคุณภาพมนุษย์เพื่อให้มีภูมิก่อนแล้วค่อยมีวุฒิ 

หมายเลขบันทึก: 424584เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2011 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"ปัญหาของคนไทยจำนวนไม่น้อยอยู่ ที่เราต้องการเฉพาะคำตอบสุดท้ายที่เป็นคำตอบสำเร็จรูป ไม่ต้องการคิดและทำเพื่อหาคำตอบให้ได้ด้วยตัวเอง แม้แต่สิ่งที่เราชอบจำเราก็มักเป็นสิ่งที่เอาไปใช้ต่อได้ทันที ไม่ค่อยชอบจำสูตรหรือทฤษฎี"

ยืนยันครับ เป็นเช่นนั้นจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท