รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

ปริศนาธรรมหลังการตายกรณีไทยพุทธภาคใต้ : (๔) การเผาศพ การทำโลงศพ


        

            จะไม่พูดถึงการตั้งศพ การสวดศพ เพราะดูแล้วในส่วนนั้นมิได้มีปริศธรรมใด ๆ ขอข้ามไปในส่วนขอการเผาศพเลยนะคะ

 วันเผาศพ  การเลือกวันเผาศพ ทางภาคใต้ถือเอาวันขึ้นแรมเป็นสำคัญ คือ ข้างขึ้นห้ามเผาวันเลขคี่  ข้างแรมห้ามเผาวันเลขคู่

การนำศพไปเผา   สมัยก่อนมักนิยมจัดงานศพที่บ้านผู้ตาย  เวลาจะนำศพออกจากบ้านต้องทำ "ประตูพราง" คือเอาไม้สี่อันทำเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าทาบไว้ที่ประตูเรือนข้างนอกที่จะนำศพออกไป ประตูพรางนี้เมื่อนำศพออกแล้วให้เอาออกทิ้งเสีย  เมื่อเคลื่อนศพจต้อให้ลูกสุดท้องหรือหลานคนสุดท้องของผู้ตายถือ"ข้าวบอก" ตามศพไปด้วย ผู้ถือข้าวบอกต้องนุ่งขาวห่มขาว ศพที่จะนำออกจากบ้  านให้เอาเท้าไปก่อน และให้กลบลบรอยคนหามเสียด้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผีกลับบ้านถูก

ต้องมีพระนำศพเรียกว่า "พระเบิกทาง" เดินนำศพ มักเลือกพระเถระที่ผู้ตายนับถือ มีข้าวตอกโปรยไปตลอดทาง เป็นเสมือนว่าโปรยปรายพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้แก่เวไนยสัตว์ เพื่อให้คนที่พบเห็นเกิดศรัทธาและสำนึกในความตายอันเป็นที่สุดของสังขาร

เมื่อนำศพไปถึงป่าช้าแล้วจะหามศพเวียนที่เผาเป็นอุตราวรรต ๓ รอบ(ตรงข้ามกับเวียนทักษิณาวรรตที่ใช้กับเรื่องมงคล)  จึงยกศพขึ้นตั้งบนที่เผา ต้องหันศีรษะของศพไปทางทิศตะวันตก เป็นนัยว่า เมื่อผู้ตายเกิดใหม่ให้ได้พบกับดวงอาทิตย์ในเวลาเช้า(พบกับแสงสว่างหรือแสงธรรม) จึงเกิดเป็นคติว่า คนเป็นไม่ควรนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก

ที่เผาศพ  สมัยก่อนทางภาคใต้ไม่มีเชิงตะกอนถาวร นิยมทำขึ้นชั่วคราวเท่านั้นโดยปักเสาขึ้นสี่ ๔ ต้น  มีเพดานดาดบน เรียกว่า "สามส้าง" หรือ "สามสร้าง" เป็นปริศนาธรรมว่า  เสาทั้ง ๓ เสา แทน การสร้างภพและชาติ ส่วนเสาที่ ๔ เป็นเสาพิเศษ ที่ให้หลุดพ้นจากการสร้าง กล่าวคือ

                   เสาที่ ๑ หมายถึงกิเลสตัณหา  อุปาทาน

                   เสาที่ ๒ ได้แก่ กรรม (การกระทำ)

                   เสาที่ ๓ ได้แก่วิบาก (ผลของกรรม)

           เสาที่ ๔ หมายเอาพระนิพพาน คือผู้ที่หมดกิเลสตัณหา ลอยบุลอยบาปได้แล้ว เป็นการสิ้นภพสิ้นชาติ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด

การประชุมเพลิง  เมื่อประชุมเพลิง ห้ามมิให้จุดไฟต่อจากคนอื่น  ปริศนาธรรมตรงนี้ได้รับคำอธิบายว่า 

          ไฟ  หมายถึง  ราคะ  โทสะ  โมหะ  เป็นไฟที่ไม่พึงไปต่อจากใครมาสู่ตนและเมื่อไฟเริ่มติดลุกลาม  จะใช้ผ้าที่ปิดฝาโลงซัดข้ามยอดเปลวไฟกลับไปกลับมา๓ ครั้ง (ตอนครูอิงเด็ก ๆ ก็เคยเห็นเขาทำแบบนี้ เราเด็ก ๆ ไม่ทราบว่าเขาทำไปเพื่ออะไร)เพิ่งทราบภายหลังว่า  การทำเช่นนี้เป็นนัยบอกให้รู้ว่า

                  ไฟทั้ง ๓ กอง คือ ราคะ  โทสะ และโมหะ    นั้นอาจหลีกข้ามเสียได้

 การทำโลงศพ  เคยเฝ้าสังเกตเวลาพ่อทำโลงศพ พบว่า การทำโลงศพ ต้องทำให้ปากโลงผายกว่าก้นเล็กน้อย   เอาดินเหนียวมาตำผสมกับใบบอนและใบฝรั่ง เพื่อให้ดินเหนียว ยาตามแนวก้นโลงและข้าง ๆ  เอาปูนขาวผสมด้วยสิ่งที่ดูดซึมได้โรยรองไว้อีกทีหนึ่ง ซึ่งสมัยนั้นนิยมใช้ใบฝรั่งตำ หรือ ขี้เลื่อยก็ได้  ใบฝรั่งช่วยแก้กลิ่นเหม็นได้

        ฉันเคยเห็นพ่อเอาไม้รอด ๔ อัน ตอกตั้งขวางไว้ในโลง  พ่อบอกว่าเป็น "ไม้ข้ามเล"(ทะเล) ฉันไม่เข้าใจความหมายมากนัก แต่พ่อก็อธิบายว่า ไว้ให้คนตายใช้เป็นเครื่องข้ามโอฆะ ๔ ได้แก่

                    กามโอฆะ  ภวโอฆะ  ทิษฐิโอฆะ  และ อวิชชาโอฆะ

        บางครั้งฉันยังเคยช่วยพ่อนำฟาก ๗  ซี่ วางลงบนไม้รอดอีกทีหนึ่ง  ฟาก๗ ซี่นั้นต้องถักด้วยเชือกเป็น ๓ แห่ง พ่อบอกว่าที่ต้องกรอง ๓ เปลาะ  เพราะหมายถึง

                            พระสูตร พระวินัย  และพระปรมัตถธรรม

        รวมความก็คือไม้รอด  และ ไม้ซี่นี้ ใส่เอาไว้เพื่อให้ผู้ตาใช้เป็นเครื่องข้ามโอฆะนั่นเอง  จึงห้ามมิให้กรองฟากกลับไปกลับมาก็เป็นปริศนาธรรมว่าผู้ตายจะได้ไม่ต้องเกี่ยวพันกับโลกอีกต่อไปนั้นเอง

       เมื่อศพบรรจุลงในโลงแล้ว ต้องนิมนต์พระมาสวดอภิธรรม ๑ จบ  ภาคใต้จะเรียกว่า ๑ เตียงเป็นการ "สวดหน้าศพ"  หรือ "สวดหน้าไม้"

     

หมายเลขบันทึก: 424560เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2011 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ได้ความรู้เรื่องนี้มากเลยค่ะ พี่ดายังไม่เคยอ่านหรือทราบรายละเอียดอย่างนี้มาก่อน 

 ขอบคุณมากๆค่ะ  ภาพตะวันงามมากค่ะ

 

คุณครูอิงจันทร์ ครับ

  • พิธีกรรมเกี่ยวกํบความตายในลักษณะนี้ อาจยังคงมีอยู่ในแถบชนบทภาคใต้ แต่ถ้าเป็นในตัวเมือง ส่วนใหญ่จะตั้งศพที่วัด พระสวดเสร็จก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ทิ้งศพไว้ตามลำพังที่ศาลา เหมือนที่กรุงเทพทุกประการ
  • เคยเห็นการสวดศพแบบชาวบ้านภาคใด้ คือ สวดกันหลายคืน 7 คืน 9 คืน หรือบางคน 15 คืนก็มี ในงานศพ(ที่บ้าน) เล่นการพนันเป็นเพื่อนศพกันจนสว่าง
  • แต่ในทางสังคมวิทยา คงเป็นเรื่องของความรัก ความสามัคคี ผูกพันของคนในชุมชน ซึ่งก็มีคุณค่าไปอีกลักษณะหนึ่ง

คุณครูอิงจันทร์ ครับ

  • พิธีกรรมเกี่ยวกํบความตายในลักษณะนี้ อาจยังคงมีอยู่ในแถบชนบทภาคใต้ แต่ถ้าเป็นในตัวเมือง ส่วนใหญ่จะตั้งศพที่วัด พระสวดเสร็จก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ทิ้งศพไว้ตามลำพังที่ศาลา เหมือนที่กรุงเทพทุกประการ
  • เคยเห็นการสวดศพแบบชาวบ้านภาคใด้ คือ สวดกันหลายคืน 7 คืน 9 คืน หรือบางคน 15 คืนก็มี ในงานศพ(ที่บ้าน) เล่นการพนันเป็นเพื่อนศพกันจนสว่าง
  • แต่ในทางสังคมวิทยา คงเป็นเรื่องของความรัก ความสามัคคี ผูกพันของคนในชุมชน ซึ่งก็มีคุณค่าไปอีกลักษณะหนึ่ง

สวัสดีค่ะ  ครูอิง  ขอบคุณความรู้เรื่องปริศนาธรรม...ฯ

พิธีกรรมในงานศพทางใต้ ดิฉันก็ไม่มีความรู้มาก่อน

ทั้งที่เกิดทางใต้  เห็นงานศพมาตั้งแต่เป็นเด็ก

จำได้ว่าสมัยก่อนงานศพมีหลายวันกว่าจะเผา  ถ้าเป็นแถวชนบท  เขาจะล้มวัว/หมู  เลี้ยงคนในงาน  มีการเล่นการพนัน  เป็นเพื่อนศพเหมือนที่คุณสันติสุขเม้นท์ค่ะ  แต่ไม่ค่อยตั้งศพในบ้าน  จะกางเต๊นท์ตั้งศพนอกบ้าน  ประตูพรางจึงไม่ค่อยเห็น

แต่ถ้าในเมือง  ส่วนใหญ่หลายบ้านเขาตั้งศพที่วัด  ตั้งตามบ้านก็มี  โดยมักจะเป็นผู้มีฐานะ  เป็นที่รู้จักของคนในเมืองนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมเหล่านี้ก็ยังมีความต่างกันในแต่ละจังหวัดนะคะ

 

 

  • สวัสดีครับ
  • พูดถึงการจูงศพ บ้านผมจะมีคนแก่ถือตุงสามหาง เดินนำมาก่อน มีคติแฝงเหมือนกันแต่ผมจำไม่ได้แล้ว 
  • ก่อนเอาศพลงจากบ้านก็จะมีการเอาหม้อน้ำโยนลงมาก่อน แตกกระจัดกระจาย มีความหมายเหมือนกันครับ

     

พระมหาวินัย ภูริปญฺโญ

มีบทกล่อมลูกหรืออะไรนี่แหละของคนใต้ ที่มีคำว่า "มะพร้าวนาฬิเกร์ โด่เด่อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้องน้ำท่วมไม่ถึง " แล้วก็ตอนสุดท้าย มีคำว่า จะถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย ดูแล้วบทกล่อมลูกบทนี้น่าจะมีอะไรให้ศึกษานะ คุณครูก็ลองขยายความดูบ้าง เนื้อที่ยกมาไม่สมบูรณ์ขออภัยด้วย.ที่ว่าเป็นบทกล่อมลูกหรือไม่นั้นก็ไมชัดเจนนะ อาจจะเป็นบทอะไรสักอย่าง

สวัสดีค่ะพี่ดาIco48

  • ขอบพระคุณค่ะที่มาเยี่ยมเยือน
  • ภาพตะวันตกดิน หมายถึงสุดท้ายแห่งชีวิต
  • พี่ดาสบายดีนะคะ

เมื่อคืนกลับจากรุงเทพฯ ช่วงลำเขื่อนลำตะคองระหว่างสระบุรีกับโคราชได้พบเห็นอุบัติเหตุ จากนั้นเขาก็เอาคนไม่นอนราบที่ข้างถนนไม่รู้เป็นตายร้ายดีอย่างไร สภาพรถเสียหายมาก คนก็นอนแน่นิ่งไม่ไหวติงแต่ประการใด และช่วงนั้นขาเข้ากรุงเทพฯรถติดมาก พูดถึงอุบัติเหตุ ถ้าหากชายคนนั้นได้เสียชีวิตลง การตายในลักษณะนี้ทางพระศาสนาท่านว่า..อุปัจเฉทมรณะ สิ้นชีวิตเพราะอุบัติเหตุมาตัด หรือบางครั้งเรียกว่ากรรมหนักมาตัดรอน. ต้องขออภัยคุณครูด้วยที่เอาเรื่องตายมาพูด แต่รับฟังไว้ด้วยใจที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เวลาขับรถให้มีสติ ไม่ขับเร็วจนเกินไป..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท