ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๗๐. ชีวิตที่พร่ามัว



          เพิ่งตระหนัก ว่าผมมีนิสัยชอบอยู่กับความไม่ชัดเจน   ตรงไหนที่มีความชัดเจนตายตัว มีแบบแผนแน่นอนผมจะไม่ชอบ   พูดแรงๆ คือ เป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอย   เพราะคิดว่าเป็นการตกร่องเดิมๆ ที่เรียกว่าแผ่นเสียงตกร่อง   ผมไม่ชอบความจำเจ

          นิสัยแบบนี้ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นเด็กหัวดื้อ   แม่จะเข้าใจผิด เกรงว่าลูกคนโตจะเสียคน   จึงพยายามดัดสันดานโดยการเฆี่ยนตีอย่างรุนแรง   ก็ไม่ทำให้นิสัยเปลี่ยน   แต่ทำให้ตอนเป็นเด็กผมสงสัยว่าผมเป็นลูกแม่จริงหรือเปล่า   เพราะแม่เฆี่ยนตีรุนแรงเหลือเกิน   แต่เมื่อโตขึ้นพฤติกรรมทางอ้อมของแม่ทำให้ใครๆ ก็รู้ว่าผมเป็นลูกที่แม่รักและภูมิใจที่สุด   
 

          เพราะไม่ชอบปฏิบัติตามแบบแผนที่สังคมยึดถือต่อๆ กันมา   ผมจึงเป็นคนชายขอบของทุกวงการที่ผมเกี่ยวข้อง   ตรงนี้เป็นตำแหน่งที่ผมชอบที่สุดเพราะมันเปิดโอกาสให้เราทำอะไรใหม่ๆ   โดยที่เราเองก็ทำไม่เป็น มองเห็นไม่ชัด   รู้แต่ว่ามันเป็นโอกาสที่จะทำอะไรๆ ที่ไม่เหมือนเดิมๆ 

          ส่วนใหญ่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะพอทำไปๆ ก็รู้ว่าที่เราคิดไว้มันไม่เหมาะสมกับสถานการณ์แวดล้อม   หรือทำไปไม่นานเราก็หมดหน้าที่ คนที่มาทำต่อเขาก็ทำตามแนวของเขา คือกลับสู่แนวทางกระแสหลัก 

          หลายๆ เรื่องที่ทำ บางทีก็เป็นที่ตลกขบขันเยาะเย้ยของคนบางคน   หรือบางทีก็ไปก่อความอึดอัดขัดข้องหรือขัดผลประโยชน์ของเขา   แต่ผมก็โชคดีที่ไม่โดนทำร้าย เพราะผมสื่อสารชัดเจน ว่าทั้งหมดนั้นเพื่อประโยชน์ขององค์กร และเพื่อสังคมวงกว้าง   ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว   ผมโชคดีที่มีทักษะในการสื่อสารพอสมควร 

          แต่เมื่อคิดไตร่ตรองให้ลึกจริงๆ   ที่ผมสื่อสารว่าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวนั้นไม่จริง   ผมได้รับประโยชน์มากจากการทำงานตามแนวทางที่ฉีกแนวไปจากกระแสเดิมๆ   คือได้เรียนรู้อย่างมากมาย   และการเรียนรู้นี้ก็ต่อยอดมาเรื่อยๆ จนตอนแก่ผมได้เสวยผลประโยชน์จากการทำงานในจุดเริ่มต้นที่พร่ามัวนี้

          คือตอนหนุ่ม ทำงานแบบพร่ามัว คนไม่เชื่อถือ   แต่พอแก่ ทำงานสไตล์เดิม คนเชื่อถือมากเกินไป   เขาคิดว่าเราคิดล้ำยุค มีมุมมองที่ลึกซึ้งเชื่อมโยง   ซึ่งไม่จริง   ความจริงคือความพร่ามัว ไม่ชัดเจน   แต่ความพร่ามัวไม่ชัดเจนร่วมกันการลงมือทำและปรับตัวไปเรื่อยๆ มันจะไปสู่ความสำเร็จที่แปลกใหม่เสมอ   อาจแปลกใหม่นิดหน่อย หรือแปลกใหม่มาก   เกิดผลดีต่องาน และส่วนรวม  

          หัวใจคือการเรียนรู้และปรับตัว   เพราะเราตระหนักในความพร่ามัว หรือความไม่รู้ หรือรู้ไม่จริง   จึงมีสติพร้อมเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาท  เรียนรู้จากทุกคนที่เข้ามาสัมพันธ์ เรียนรู้จากทุกเรื่องที่ชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้อง   ทำให้เป็นชีวิตที่มีคุณค่าสูง เปลี่ยนแปลงสูง

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ ธ.ค. ๕๓
          
            

หมายเลขบันทึก: 422420เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2011 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อย่างน้อยก็มีความชัดเจนว่าชอบความพร่ามัวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท