“อรนลิน ปานาที: ลูกพ่อไทยที่ต้องตกเป็นคนไร้สัญชาติมากว่า 19 ปี”


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และกลไกการทำงานเครือข่ายด้านสถานะบุคคลและสิทธิเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ

ในแต่ละวันที่ห้องทำงานของอาจารย์แหวว[1] ที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มักจะมีคนที่มีปัญหาด้านสิทธิและสถานะบุคคลเข้ามาร้องขอความช่วยเหลือโดยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 1 ราย ไม่ว่าจะเป็นทางอีเมล ทางจดหมาย หรือมาด้วยตัวเองเลยก็มี 

‘อรนลิน ปานาที’ หรือ ‘น้องหญิง’ สาวน้อยวัย 19 ปี ก็เป็นอีกคนที่ติดต่อเข้ามาหาอาจารย์แหววทางอีเมล เธอเล่าให้ฟังเบื้องต้นว่าเธอมีพ่อเป็นคนสัญชาติไทยโดยกำเนิดแต่แม่เป็นคนที่อพยพมาจากประเทศลาว เธอเข้าใจว่าการที่แม่เธอไม่มีสัญชาติไทยอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอก็ยังไม่สามารถได้สัญชาติไทยเช่นเดียวกัน

“แต่ทำไมน้องชายและน้องสาวของหนูซึ่งเกิดจากพ่อและแม่คนเดียวกันถึงมีสัญชาติไทย แต่หนูต้องตกเป็นคนไร้สัญชาติเล่า??”

นี่เป็นสิ่งเดียวที่เธอข้องใจ และเธอขอให้เรา[2]ช่วย

28 พฤษภาคม 2553 เป็นวันที่เราตัดสินใจเดินทางไปหาเธอและครอบครัวซึ่งอาศัยอยู่ภายในห้องเช่าเล็กๆ ของโรงงานผลิดโลหะแห่งหนึ่งในย่านนิคมอุสาหกรรมอมตะนคร อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี

เมื่อเดินทางมาถึง เราถึงกับชะงักเล็กน้อย มองไปรอบๆ แล้วคาดคะเนด้วยสายตา ขนาดของห้องที่พวกเขาอยู่ไม่น่าจะถึง 28 ตารางเมตร ห้องเดี่ยวโล่งมีแค่ตู้เก่าๆ สองใบเอาไว้กั้นพื้นที่ให้ดูเป็นสัดเป็นส่วนขึ้นมาอีกหน่อย พื้นที่ด้านหน้าใช้เป็นทั้งที่นอน ที่นั่งเล่น ที่เขียนหนังสือ และที่กินข้าว อีกส่วนหนึ่งด้านหลังเป็นห้องครัว ห้องน้ำ และมีมุมเล็กๆ เพื่อเอาไว้เปลี่ยนเสื้อผ้า และภายในห้องเช่าเล็กๆ นี้เองที่ครอบครัวปานาทีทั้ง 5 ชีวิต พ่อ แม่ และลูกๆ อีก 3 คน อาศัยอยู่รวมกันอย่างเบียดเสียด แต่ความรู้สึกที่ผู้มาเยือนได้รับกลับเป็นความอบอุ่นที่ไม่น่าอึดอัดแต่อย่างใด

และแล้วเรื่องราวของน้องหญิงและครอบครัวก็ได้ถูกเปิดเผยที่นี่อย่างละเอียด..

.....................................................

ย้อนกลับไปเมื่อ 19 ปีที่แล้ว (8 เมษายน 2534) ณ โรงพยาบาลแม่และเด็ก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ลูกสาวคนโตของครอบครัวปานาทีได้ถือกำเนิดขึ้น จาก ‘นางชมพู่ บุรีรมณ์’ ผู้เป็นแม่ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาว และในขณะที่ให้กำเนิดน้องหญิง แม่ชมพู่ก็ยังไม่มีเอกสารอะไรเลยที่ออกให้จากรัฐบาลไทย ส่วนพ่อ คือ ‘นายปรีชา ปานาที’ นั้นเป็นคนไทยสัญชาติไทยมาตั้งแต่กำเนิด

เมื่อตอนน้องหญิงเกิด ทางโรงพยาบาลก็ออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ให้ตามปกติประเพณีของโรงพยาบาลซึ่งมีหน้าที่ต้องออกให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในสถานพยาบาลโดยไม่ต้องคำนึงว่าพ่อแม่ของเด็กจะมีสถานะอะไร หลังจากที่ได้ ท.ร.1/1 มาแล้ว พ่อปรีชาก็ทราบดีว่าจะต้องนำเอกสารชิ้นนี้ไปที่เทศบาลนครเชียงใหม่ซึ่งเป็นสำนักทะเบียนในท้องที่ที่น้องหญิงเกิด เพื่อขอให้นายทะเบียนออกสูติบัตรให้กับน้องหญิง จากนั้นจึงดำเนินเรื่องเพื่อเพิ่มชื่อน้องหญิงเข้าทะเบียนบ้านเดียวกับตนผู้เป็นพ่อซึ่งมีทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) อยู่ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

เรื่องราวไม่ง่ายดายอย่างที่คิด เพราะเมื่อน้องหญิงอายุได้ 2 เดือน (5 มิถุนายน 2534) พ่อปรีชาได้นำ ท.ร.1/1 ของน้องหญิงไปแจ้งเกิดเพื่อขอรับสูติบัตรและเพิ่มชื่อ แต่ทางสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่กลับออก ‘สูติบัตรสำหรับบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือในลักษณะชั่วคราว (ท.ร.3 ตอน 1)’ ซึ่งในนั้นระบุในช่องสัญชาติว่า ‘ไม่ได้สัญชาติ’ และกำหนดให้น้องมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 7 ซึ่งหมายความถึงลูกของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย

เหตุผลเดียวที่ทางเทศบาลไม่ออกสูติบัตรสำหรับบุคคลที่มีสัญชาติไทยให้กับน้องหญิงและตอกย้ำว่าน้องหญิงไม่มีสิทธิในสัญชาติไทย นั่นคือ “เพราะแม่ยังไม่ได้สัญชาติไทย”

แม้พ่อปรีชาจะไม่รู้เรื่องกฎหมายเท่าไรนัก แต่ก็รู้สึกกังขากับเหตุผลที่ทางอำเภอบอกไม่น้อย 

“แล้วพ่อที่มีสัญชาติไทยจะไม่มีสิทธิอะไรในตัวลูกเลยหรือ..!?!”

3 เดือนถัดมา เมื่อทางรัฐบาลไทยได้เปิดให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนให้แก่คนที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้วประเภท ‘บุคคลบนพื้นที่สูง’ ในเขตจังหวัดเชียงราย พ่อปรีชารีบพาแม่ชมพู่ไปรับการสำรวจในทันที เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2534 แม่ชมพู่จึงได้มีบัตรบุคคลบนพื้นที่สูงไว้เป็นบัตรในการแสดงตน

ภายหลังจากที่แม่ชมพู่ได้มีบัตรประจำตัวแล้ว พ่อปรีชาก็ทดลองไปที่อำเภอเวียงป่าเป้าอีกหลายต่อหลายครั้งเพื่อที่จะดำเนินเรื่องให้น้องหญิงได้สัญชาติไทยเหมือนกับตนให้ได้ แต่คำตอบที่ได้จากอำเภอทุกครั้ง ก็คือ “รอไปก่อน”

4 ปีต่อมา (8 กันยายน 2538) ณ โรงพยาบาลเดียวกัน (โรงพยาบาลแม่และเด็ก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่) ‘พสิษฐา ปานาที’ ลูกชายคนที่สองของครอบครัวปานาทีได้ถือกำเนิด แต่เรื่องราวกลับดำเนินไปคนละทิศคนละทาง เมื่อลูกชายคนนี้ได้รับสูติบัตรสำหรับบุคคลที่มีสัญชาติไทย (ท.ร.1 ตอน 1) จากสำนักทะเบียนเดียวกับน้องหญิงผู้เป็นพี่สาว (สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่) และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านในสถานะของคนสัญชาติไทย (ท.ร.14) ที่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ตามนายปรีชาผู้เป็นพ่อภายในไม่กี่วันถัดมา

“น้องหญิงไม่มีทางที่จะไม่มีสัญชาติไทยในเมื่อน้องชายที่เกิดห่างกันเพียง 4 ปี เกิดที่โรงพยาบาลเดียวกัน เกิดจากพ่อแม่คนเดียวกัน ยังได้สัญชาติไทยเลย” ผู้เป็นพ่อมั่นใจยิ่งขึ้นว่าต้องมีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นในกรณีของน้องหญิงแน่ๆ

ต้นปี 2540 พ่อปรีชาผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวตัดสินใจขายบ้านที่อำเภอเวียงป่าเป้าและพาทั้งครอบครัวย้ายมาอยู่ที่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยความหวังว่าในเมืองอุตสาหกรรมเช่นนี้ น่าจะสามารถหางานทำได้ง่ายขึ้นและน่าจะสามารถหาเงินได้มากขึ้นเพื่อเลี้ยงครอบครัว

หลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการไม่นานนัก อีกหนึ่งสมาชิกของครอบครัวปานาที ‘กนกรัชต์ ปานาที’ ลูกสาวคนสุดท้องได้ถือกำเนิดขึ้น (17 มีนาคม 2540) ณ โรงพยาบาลบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลูกสาวคนเล็กก็เช่นกัน เธอได้รับสูติบัตรสำหรับบุคคลที่มีสัญชาติไทย (ท.ร.1 ตอน 1) และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านในสถานะของคนสัญชาติไทย (ท.ร.14) ที่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยมิได้มีปัญหายุ่งยากแต่ประการใด และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้พ่อปรีชายิ่งมั่นใจว่าอย่างไรลูกสาวคนโตน่าจะมีสัญชาติไทยเช่นเดียวกัน

พ่อปรีชาไม่ละความพยายามที่จะติดต่อกลับไปยังอำเภอเวียงป่าเป้าเสมอๆ เพื่อถามเรื่องสัญชาติไทยให้แก่ลูกสาว แม้ว่าทุกครั้งจะได้คำตอบเหมือนเดิมว่าให้รอไปก่อนก็ตาม

7 ปีต่อมา (ปี 2547) น้องหญิงอายุครบ 15 ปีแล้ว จากเด็กน้อยเริ่มเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น พ่อปรีชาเริ่มคิดหนัก เพราะนี่หมายความถึงบัตรประชาชนของลูกสาวที่ควรจะได้เหมือนเพื่อนๆ ในปีนี้ พ่อรู้ดีว่าอย่างไรตอนนี้น้องหญิงก็ยังทำบัตรประชาชนไม่ได้ 

“แล้วถ้าลูกถามจะตอบลูกว่าอย่างไร..!?!”

พ่อปรีชาเริ่มกังวลไปต่างๆ นานา กลัวเหลือเกินว่าการที่ลูกสาวยังไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีบัตรประชาชนจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนของลูก

พ่อปรีชาจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปที่อำเภอเวียงป่าเป้าอีกครั้ง ตั้งใจว่าอย่างไรก็จะต้องไปติดต่อดำเนินเรื่องสัญชาติไทยให้น้องหญิงให้ได้ และในคราวเดียวกันนี้เองพ่อปรีชาและแม่ชมพู่ตัดสินใจจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย (27 กรกฎาคม 2547) ณ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ด้วยความหวังว่าอาจจะทำให้เรื่องของน้องหญิงง่ายขึ้นมาบ้าง 

“แม่ต้องมีสัญชาติไทยก่อน ลูกถึงจะได้สัญชาติไทย” ทางอำเภอยังพร่ำบอกเงื่อนไขที่ดูจะไม่สมเหตุสมผลเช่นเดิม 

“แล้วทำอย่างไรเมียผมถึงจะได้สัญชาติไทย ผมจะขอให้เมียผมและจะขอให้ลูกด้วยเลยวันนี้” ครั้งนี้พ่อปรีชายังตื้อต่อไป จนกระทั่งทางอำเภอได้ยื่นเอกสารให้ทั้งแม่ชมพู่และน้องหญิงนำไปเขียนรายละเอียดเพื่อร้องขอสัญชาติไทย

แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลและเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกลับแจ้งแม่ชมพู่และน้องหญิงว่าไม่สามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้..!!!

ความหวังที่เลือนลางแทบจะดับลงในทันใด..

ไม่ง่ายเลยกว่าที่ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวอย่างพ่อปรีชาจะสะสมเงินให้ได้สักก้อนเป็นค่าเดินทางกลับขึ้นไปเชียงรายทั้งครอบครัวเพื่อไปจัดการเรื่องราวต่างๆ  

“เวลาจะขึ้นไปเชียงรายทีหนึ่ง เราก็ต้องหอบกันไปทั้งหมดครับ ลูกผมยังเล็กไม่มีใครดูแล แล้วที่เสียทุกครั้งมันไม่เฉพาะค่ารถนะ ค่ากินอยู่ แล้วผมก็ต้องให้ทางผู้ใหญ่บ้านเขาบ้าง เขาบอกว่าเป็นค่าดำเนินการ ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร”

แต่คำตอบสุดท้ายที่ได้มาทำให้ครอบครัวปานาทีเกือบจะเลิกล้มความตั้งใจ

ปี 2550 ครอบครัวปานาทีย้ายที่อยู่อีกครั้งจาก อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มาอาศัยอยู่ที่ห้องเช่าเล็กๆ ของโรงงานผลิดโลหะในย่านนิคมอุสาหกรรมอมตะนครซึ่งเป็นสถานที่ทำงานใหม่ของพ่อปรีชา

จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ชีวิตของครอบครัวปานาทียังดำเนินไปตามปกติ

พ่อปรีชา.. ทำงานในโรงงานผลิตโลหะตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ และมักจะทำงานล่วงเวลาทุกวัน กว่าจะได้กลับบ้านก็เกือบ 2 ทุ่มเห็นจะได้

แม่ชมพู่.. ขายอาหารในโรงงานเดียวกันกับพ่อเพื่อช่วยหารายได้อีกทาง

น้องหญิง อรนลิน.. กลางวันเรียนหนังสือ ตกเย็นประมาณ 6 โมง ถึง 2 ทุ่ม จะไปทำงานพิเศษที่ร้านอินเตอร์เน็ตแถวๆ บ้าน เพื่อหาเงินมาช่วยที่บ้าน

ปลายปี 2552 ขณะที่ทั้งครอบครัวกำลังนั่งกินข้าวหน้าโทรทัศน์เช่นทุกวัน แต่รายการโทรทัศน์ที่ได้ดูในวันนั้นทำให้ครอบครัวปานาทีเริ่มมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง

“หนูเองก็เพิ่งกลับมาจากร้านอินเตอร์เน็ตพอดี รายการที่เราดูกำลังอยู่ในช่วงการพูดคุยกับแขกรับเชิญ คืออาจารย์แหวว แล้วอาจารย์แหววก็ได้ให้คำแนะนำกับคนที่ประสบปัญหาไร้สัญชาติ หนูฟังแล้วรู้สึกว่าเหมือนปัญหาที่หนูเจอเลย คืนนั้นในหัวของหนูมีแต่ชื่อของอาจารย์แหวววนเวียนไปมาตลอด หนูหารือกับพ่อว่าจะลองหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตดู”

น้องหญิงจึงได้เริ่มติดต่อเข้ามาทางอีเมลและทำให้เราต้องเดินทางมาพบเธอกับครอบครัวในวันนี้..

.......................................................

ภายหลังเมื่อเราเริ่มทำความรู้จักอรนลินและครอบครัว รวมทั้งทำความเข้าใจในเอกสารของพวกเขามากขึ้น จึงทำให้สามารถสรุปสถานะทางกฎหมายของอรนลินได้ว่า..

“อรนลินย่อมได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของมาตรา 11 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535  ทั้งนี้เพราะพ่อของอรนลินเป็นคนสัญชาติไทย แม้จะมิใช่พ่อที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม  แต่การมีพ่อเป็นคนสัญชาติไทยทำให้อรนลินไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา 7 ทวิ วรรค 1 จึงมีผลทำให้อรนลินกลับมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนเพราะเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย การปฏิรูปกฎหมายสัญชาติใน พ.ศ.2535 จึงทำให้อรนลินได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นมา อันทำให้ความไร้สัญชาติโดยข้อกฎหมายสิ้นสุดลง เหลือเพียงความไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง เนื่องจากการเพิ่มชื่อของอรนลินในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยอันเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนราษฎรยังไม่เกิด[3]

เราจึงเริ่มแนะนำพ่อปรีชาย้ายชื่อของตัวเองและลูกที่มีสัญชาติไทยแล้วอีก 2 คน จากทะเบียนบ้านที่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มาอยู่ที่ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี โดยการแจ้งย้ายปลายทาง เพื่อสะดวกต่อการดำเนินการลงรายการสัญชาติไทยให้แก่อรนลินที่อำเภอพานทองโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปถึงเชียงรายอีก

เมื่อได้ทำการย้ายทะเบียนบ้านจาก อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มาที่ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เรียบร้อยแล้ว พ่อปรีชาและน้องหญิงไม่รอช้าที่จะไปติดต่อขอยื่นเรื่องลงรายการสัญชาติไทยตามที่เราได้ให้คำแนะนำไว้

“เพิ่งเคยเจอกรณีแบบนี้ ขอทำความเข้าใจข้อกฎหมายก่อนแล้วจะติดต่อกลับไป” ประโยคสั้นๆ ห้วนๆ ที่ทางอำเภอบอกกับพ่อปรีชาและน้องหญิง

วางสายจากน้องหญิงซึ่งโทรมาบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอให้ฟัง.. เราถึงกับต้องมานั่งทบทวนเรื่องราวอยู่นาน..

จะว่าไปนี่ก็เกือบจะ 20 ปีแล้วที่พ่อสัญชาติไทยต่อสู้เพื่อให้ลูกสาวสามารถใช้สิทธิในสัญชาติไทยได้เช่นเดียวกับตน แต่ไม่ว่าจะ อำเภอเวียงป่าเป้า หรือ อำเภอพานทอง ก็ได้แต่พูดประโยคเดิมว่า รอไปก่อน

“หรือประชาชนที่เดือดร้อน เช่น อรนลิน จะต้องรอให้อำเภอค่อยๆ ทำความเข้าใจและเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบเสียก่อนหรือนี่..??”

.................................................

-- เก็บตกจากการติดตามความคืบหน้า --

(16 มกราคม 2554)

จากวันที่ปลัดคนก่อน บอกว่า "ขอทำความเข้าใจในข้อกฎหมายอันเกี่ยวข้องกับกรณีน้องหญิงก่อน" จนถึงวันนี้ ก็ปาเข้าไป 7 เดือน กับอีก 16 วัน แล้ว เรายังไม่พบความคืบหน้า

จนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 มกราคม 2554) ปลัดคนใหม่ย้ายเข้ามาแทนปลัดคนเก่า ก็ได้โทรมาหาน้องหญิงและพูดประโยคเดียวกัน

"พอดีเพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ อย่างไรจะขอทำความเข้าใจเอกสารและข้อกฎหมายสัก 1 อาทิตย์ก่อน"

แต่ปลัดท่านนี้ยืนยันว่าจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดและมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือน้องหญิง แต่ท่านแจ้งว่าพอเรื่องมาถึงท่าน ท่านก็ไม่เห็นคำร้องที่น้องหญิงยื่นเพื่อขอลงรายการสัญชาติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 แล้ว

โชคดีที่เราให้น้องหญิงเก็บสำเนาคำร้องเอาไว้..

อาทิตย์หน้าเราบอกให้น้องหญิงยอมหยุดเรียนสักหนึ่งวัน เอาไปยื่นให้ท่านอีกรอบด้วยตัวเอง

ถึงวันนั้นเราคงจะได้รู้กันถึงความจริงใจของท่านปลัดอำเภอพานทองคนใหม่..!!

แล้วจะมาเล่ารู้กันฟังอีกทีค่ะ..

 

 

 


[1] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] คณะทำงานโครงการบางกอกคลินิก (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งเป็นที่รวมตัวของบรรดาอาสาสมัคร นักศึกษาเพิ่งจบปริญญาตรี หรือนักศึกษาปริญญาโท ที่มีความสนใจศึกษางานด้านสถานะและสิทธิบุคคล และงานหนึ่งที่คณะทำงานฯ ได้ทำมาโดยตลอดจนเป็นปกติประเพณี คือ การให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่คนที่มีปัยหาสถานะบุคคลที่เข้ามาร้องขอความช่วยเหลือที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[3] ตัดตอนและเรียบเรียงมาจาก “กรณีศึกษานางสาวอรนลิน ปานาที: จากคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาตามข้อเท็จจริงสัญชาติไทย สู่คนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 และคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551” โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เริ่มเขียนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2552 เขียนเสร็จในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553

หมายเลขบันทึก: 420644เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2011 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท