บทบาทของรังสีเทคนิคในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา


Interventional Radiology Technician

บทบาทของรังสีเทคนิคในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา

Role of Interventional Radiology Technician

เอนก สุวรรณบัณฑิต วท.บ.รังสีเทคนิค

วิธวัช หมอหวัง        วท.บ.รังสีเทคนิค

สมจิตร จอมแก้ว      อนุ.รังสีเทคนิค

 

เอนก สุวรรณบัณฑิต,วิธวัช หมอหวัง และ สมจิตร จอมแก้ว. บทบาทของรังสีเทคนิคในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550, 1(1) : 9-13

 

บทบาทของรังสีเทคนิคในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษานั้นมีบทบาทอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ หากแต่ขาดการรวมตัวกันอย่างจริงจัง ทางชมรมฯ จึงเป็นแนวประสานในการรวมตัวกันและได้กำหนดบทบาทหน้าที่ในส่วนงานที่สำคัญ ทางชมรมฯ จึงได้กำหนดบทบาทหลักของรังสีเทคนิคที่จะต้องควบคุมดูแลเครื่องมือ อุปกรณ์และระบบงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา ออกเป็น 9 ด้าน ดังต่อไปนี้

1.งานควบคุมระบบฐานข้อมูล

(Data system control) เป็นบทบาทที่สำคัญในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดเนื่องจากงานรังสีวิทยาหลอดเลือดเป็นหัตถการที่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ป่วยที่มารับการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาอย่างต่อเนื่อง การจัดเก็บ วางระบบและการบริหารฐานข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเป็นตัวตั้งต้นต่อกระบวนการจัดเก็บข้อมูลทั้งในเชิงกระดาษและดิจิตอลต่อไป อีกทั้งด้วยระบบการประมวลผลของเครื่องตรวจรังสีหลอดเลือด (angiographic machine) ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บในรูปแบบ DICOM ซึ่งต้องอ่านจากโปรแกรมเฉพาะ จึงต้องมีการจัดเก็บให้สามารถใช้งานได้โดยง่าย หากในผู้ป่วยที่มีการรักษาอย่างต่อเนื่อง การจัดเก็บขั้นที่ 2 ก็คือการเลือกรูปที่สำคัญจัดเก็บเป็นไฟล์รูปภาพ (jpeg) จะทำให้ใช้พื้นที่จัดเก็บไม่มาก ซึ่งหากจัดหมวดหมู่ตามกลุ่มโรค (Image Patient Categories) จะทำให้การใช้ข้อมูลเพื่อการรักษา หรือการวิจัยเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมไปถึงสถิติทั่งไปของหน่วยงาน ซึ่งการใช้โปรแกรมเพื่อการคำนวณอย่างง่ายจะทำให้ได้ผลสถิติที่ง่าย โปรแกรมที่มักใช้ในการจัดการสถิติหนึ่งก็คือ SPSS นั่นเอง และหากจัดเก็บฐานข้อมูลผลการวินิจฉัยและรักษาไว้ในฐานข้อมูลเฉพาะจะทำให้การเลือกใช้ทำได้ง่ายขึ้น อาจใช้โปรแกรม Microsoft access หรือ FileMaker pro ก็ได้ อย่างไรก็ตามฐานข้อมูลเหล่านี้อาจจัดเก็บกับฐานความจำหลักของหน่วยงาน (main server) หรือแยกจัดเก็บไว้ใน hard copy เช่น DVD ก็ได้ เพื่อเป็นการป้องกันการสูญหายของข้อมูลผู้ป่วย

2.การจัดการระบบควบคุม

ทั่วไป (control system reliability) เป็นการควบคุมระบบสำรองต่างๆ เพื่อช่วยให้อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุปกรณ์หลักเช่น เครื่องตรวจรังสีหลอดเลือด เป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ซึ่งมีตัวแปรที่ทำให้มีอายุงานมากหรือน้อย ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น กระแสไฟฟ้า ดังนั้นรังสีเทคนิคจะต้องควบตรวจสอบและดูและการทำงานของเครื่องปรับอากาศโดยต้องตั้งอุณหภูมิของห้องให้อยู่ระหว่าง 18-22 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องมืออิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ  การดูแลเครื่องดูดความชื้น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ความชื้นของห้องอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์สัมพัทธ์ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดสนิมที่แผงวงจรอิเล็คทรอนิคส์ และสุดท้ายการดูแลระบบไฟฟ้า หากกระแสไฟฟ้าตกจะทำให้วงจรไฟฟ้าขาดเสถียรและอาจนำไปสู่อายุการใช้งานของเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ลดน้อยลงได้

3.การตรวจสอบดูแลเครื่อง

ตรวจรังสีหลอดเลือด (machine check) งานสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการดูแล ตรวจสอบเครื่องตรวจรังสีหลอดเลือด ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อ อย่างไรก็ตามชื่อหนึ่งที่ใช้กันมากก็คือ DSA ซึ่งย่อมาจาก Digital Subtraction Angiographic machine การดูแลเครื่องให้พร้อมใช้งานเป็นหน้าที่สำคัญ ซึ่งรังสีเทคนิคจะต้องมีการจัดทำ logbook หรือ e-logbook เพื่อเป็นประวัติของเครื่องว่าเป็นเช่นไร มีการบำรุงรักษาอย่างไร หรือเกิดอาการเสียอย่างไร ต้องติดต่อหรือแก้ไขเบื้องต้นอย่างไรด้วย ซึ่งการนี้จะต้องมีการติดต่อกับผู้ดูแลจากบริษัทอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการทำงานประจำวันจะต้องตรวจสอบการเปิดเครื่องว่าเป็นไปอย่างปกติหรือไม่ (start and primary check) โปรแกรมที่ปรากฏที่หน้าจอครบถ้วน (appearance function check) และสามารถใช้งานได้จริงทุกโปรแกรม (functional programme check) รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลและระบบการพิมพ์ภาพลงแผ่นฟิล์ม (printing) อีกด้วย

4. การดูแลการทำงานของเครื่อง

ตรวจรังสีหลอดเลือด (operation) เพื่อให้การทำหัตถการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เครื่อตรวจรังสีหลอดเลือดจะต้องทำงานได้ปกติ การจัดการเรื่อง acquisition จะต้องถูกต้องเพื่อการจัดหมวดไฟล์ของผู้ป่วยให้อยู่ในจุดเดียวกันของฐานข้อมูลของเครื่อง การดูแลบังคับเครื่องในด้านต่างๆ การปรับมุม การปรับเตียงตรวจ การเรียกภาพต่างๆ การใช้แป้นบังคับอย่างถูกต้อง รวมไปถึงการจัดเครื่องเพื่อการตรวจหลอดเลือดแบบ 3 มิติ

5. การดูแลท่าทางของผู้ป่วย

(patient position) เป็นงานที่รังสีเทคนิคจะต้องคอยตรวจสอบและจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่ถูกต้อง ส่วนที่จะตรวจต้องอยู่ในขอบเขตของการสร้างภาพ หากผู้ป่วยรู้สึกตัวและมีการขยับ ซึ่งจะทำให้สร้างภาพได้ยาก จะต้องมีการยึดตรึงผู้ป่วยให้อยู่นิ่ง หากแต่ไม่เป็นการทำอันตรายแก่ผู้ป่วยได้

6. การส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยกลับคืน

(patient’s radiographic data turnkey) เนื่องจากในขั้นตอนการตรวจ แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางรังสีอื่นร่วมในการวินิจฉัยหรือตัดสินใจในการรักษา เช่น CT หรือ MRI ดังนั้นรังสีเทคนิคจะต้องจัดวางให้ถูกต้อง รวมไปถึงการส่งคืนอย่างครบถ้วนเมื่อเสร็จจากการทำหัตถการ

7. การบันทึกข้อมูลเชิงเทคนิค

(technical note) ในระหว่างการทำหัตถการ รังสีเทคนิคจะต้องบันทึกข้อมูลระหว่างการตรวจ ชนิดของเส้นเลือด ปริมาณสารทึบรังสีที่ใช้เป็นมิลลิลิตร (volume)  อัตราการให้สารทึบรังสีเป็นมิลลิลิตรต่อวินาที (flow rate) และความดันต่อหน่วยพื้นที่ (Pound per Square Inches) รวมไปถึงอัตราความเร็วในการเก็บภาพเป็นภาพต่อวินาที เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ป่วยในกรณีที่มาตรวจซ้ำหรือเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยรายอื่นได้

8. การพิมพ์ภาพลงแผ่นฟิล์ม

และการสร้างภาพ 3 มิติ (filming and 3D imaging) เป็นการพิมพ์ภาพลงบนแผ่นฟิล์มหรือกระดาษเพื่อเป็นเอกสารให้แก่แพทย์เจ้าของไข้เพื่อการรับต่อข้อมูลผู้ป่วยภายหลังการตรวจหรือการรักษา โดยรังสีเทคนิคจะต้องเลือกภาพที่แสดงรอยโรคหรือบ่งความปกติ/ความผิดปกติได้อย่างถูกต้อง ในกรณีภาพ 3 มิติจะต้องเลือกชนิดของภาพ (MPR, Rendering, transparent) รวมไปถึงมุมต่างๆ เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างถูกต้อง

9. การดูแลระบบคลังอุปกรณ์

(logistics) เพื่อให้ระบบการจัดการงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ  ความพร้อมใช้ของอุปกรณ์ สายสวน ขดลวดนำ และการทำความเข้าใจต่อความแตกต่างของอุปกรณ์เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นรังสีเทคนิคจะต้องมีความรู้ในด้านอุปกรณ์ ซึ่งรวมไปถึงการดูแลระบบคลังให้มีความพร้อมใช้อยู่เสมออีกด้วย ซึ่งการพิจารณางบประมาณที่ดี การวางมาตรการจัดซื้อ การกำหนดแนวทางการใช้อุปกรณ์ รวมไปถึงการติดต่อกับตัวแทนของบริษัทจัดจำหน่ายเพื่อทราบถึงสถานการณ์การผลิต การขนส่งอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อการกำหนดแนวทางการใช้ และการสำรองอุปกรณ์ต่างๆ

 

ทางชมรมฯ เชื่อว่าหากรังสีเทคนิคมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ทั้ง 9 ด้าน จะทำให้ระบบงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการดูแลผู้ป่วยของพยาบาล ภายใต้การควบคุมของรังสีแพทย์ จะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ และมีผลลัพธ์ที่ดีทั้งในด้านผลต่อผู้ป่วยและผลที่มีต่อระบบงาน อย่างไรก็ตามในโรงพยาบาลที่ไม่มีพยาบาลในงานรังสีวิทยาหลอดเลือด รังสีเทคนิคจะต้องแสดงบทบาทครอบคลุมงานของพยาบาลด้วย

 

 

คำสำคัญ (Tags): #intervention#technician
หมายเลขบันทึก: 420302เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2011 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท