แลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต้นแบบ ๑ อำเภอ ๑ รพ.สต.


มีโจทย์มากมายและคำตอบมีหลากหลาย ยังไม่รู้ว่าคำตอบ วิธีการใดดี เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ และพัฒนาต่อไป....หัวใจสำคัญคือ การพัฒนา เรียนรู้ และตกผลึกเป็นบทเรียน

การแบ่งปันความรู้เชิงปฏิบัติ เป็นกระบวนการสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้มีโอกาสเอาสิ่งดีดีที่ได้สรรค์สร้างขึ้นในพื้นที่เอามาแบ่งปันกัน สร้างแรงบันดาลใจและแนวทางการทำให้งานพื้นที่อื่นๆ ได้เรียนรู้ นำไปสู่การปรับ ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนเองต่อไป

ท่ามกลางอากาศที่แปรปรวนเดี๋ยวหนาว เดี๋ยวหนาวมาก แต่ที่ห้องประชุม ๑ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน วันนี้ (๑๒ มกราคม ๒๕๕๔) กลับอบอุ่นไปด้วยมิตรภาพ รอยยิ้ม และประกายแห่งความหวังของคนทำงานในการที่จะนำเอาบทเรียนจากการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ตามแนวทางการพัฒนา ๑ อำเภอ ๑ รพ.สต.ต้นแบบของจังหวัดน่าน แต่ละรพ.สต.ก็เก็บเกี่ยวเอาเรื่องราวดีดีมาแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ หลังจากได้ลงมือปฏิบัติมาครบ ๑ ปี  

 

นายแพทย์พิศิษฐ์  ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน ได้กล่าวเปิดเวทีเรียนรู้ตอนหนึ่งว่า .....มีโจทย์มากมายและคำตอบมีหลากหลาย ยังไม่รู้ว่าคำตอบ วิธีการใดดี เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ และพัฒนาต่อไป....หัวใจสำคัญคือ การพัฒนา เรียนรู้ และตกผลึกเป็นบทเรียน .....หากจะแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ ต้องเชื่อมโยงในมิติอื่นๆ ด้วย โดยใช้เครื่องมือ ๗ ชิ้น มาวิเคราะห์วิถีชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร (ความรู้ อาชีพ รายได้ สิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิต ฯลฯ)  โดยนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบในการวางแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพ ซึ่งเป็นบทบาทของ ผอ.รพ.สต.ที่ต้องคิดกว้าง คิดครอบคลุม คิดเชื่อมโยงด้วย.....

 

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นการให้รพ.สต.ต้นแบบ ๑๕ แห่ง มาเล่าสู่กันฟังว่า แต่ละที่ได้มีกระบวนการพัฒนาในเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างไร แล้วได้ผลอย่างไร มีบทเรียนอะไรที่น่าสนใจ โดยมีหัวเรื่องดังนี้

 

 

. รพ.สต.บ่อสวก เรื่อง ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (การเชื่อมต่อระหว่างรพ.แม่ข่ายกับรพ.สต.และชุมชน) เป็นการดูแลป่วยโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ทั้งระบบที่เชื่อมต่อกับ รพ.น่าน โดยมีทีมที่ปรึกษาจาก รพ.น่าน ประกอบด้วย แพทย์ ๓ คน, ทันตแพทย์ ๑ คน, เภสัชกร ๑ คน ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ และ skype โดยให้การรักษาดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ต่อเนื่องตามโปรแกรมของ รพ.น่านที่กำหนด (บันทึกข้อมูลให้ครบถ้วน ให้ความรู้เป็นรายกลุ่ม/บุคคล  มาตามนัดต่อเนื่อง ทุกเดือน) และมีการส่งต่อเพื่อดูแลต่อเนื่องในชุมชน  ให้ อสม.ดูแล เยี่ยมบ้าน ให้คำแนะนำ เมื่อผู้ป่วยผิดปกติจะแนะนำมา รพ.สต. ผลการดำเนินงาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ ร้อยละ ๙๘

 

 

. รพ.สต.น้ำแก่น เรื่อง โรงพยาบาล ๓ ดี ที่ได้พัฒนาคุณภาพการรักษา คุณภาพเสมอภาค ใกล้บ้าน ใกล้ใจ มีกระบวนการพัฒนาสู่ รพ.๓ ดี  

การปรับภูมิทัศน์  ได้แก่ ป้าย รพ.สต.  ขยายถนนภายใน รพ.สต. จัดสถานที่จอดรถให้เป็นระเบียบ   

การให้บริการ  ห้องบัตรจัดให้ผู้รับบริการใช้บริการได้สะดวก  ปรับจุดให้บริการที่ห้องฉุกเฉิน  จัดห้องทันต กรรมมาอยู่ชั้นล่างของอาคาร ห้องตรวจจัดแบบ one stop service

การให้บริการที่บ้าน  โดยมีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้าน ให้การดูแลที่บ้าน เยี่ยมผู้ด้อยโอกาส

การสร้างสุขภาพในชุมชน การฟื้นฟูสุขภาพ โดยจัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกาย ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ

จัดตั้งโรงเรียนนวตกรรม โดยมีหลักสูตรอาหารลดโรค โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

 

. รพ.สต.ตาลชุม เรื่อง รร.นวัตกรรมสุขภาพชุมชน....บทเรียนหมู่บ้านต้นแบบลดเสี่ยงลดโรค โดยได้จัดตั้งโรงเรียนนวตกรรมสุขภาพชุมชนบ้านนากอก ซึ่งเป็นหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลดโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน  เป้าหมาย  เพื่อให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมี ๓ หลักสูตร ได้แก่ 

หลักสูตรด้านการอาหารปลอดภัย

          - ส่งเสริมปลูกผักกินเองทุกหลังคาเรือน(ปลอดสารพิษ) ร้อยละ ๑๐๐ (๑๘๕ หลังคาเรือน)

          - จัดกิจกรรมครัวเลี้ยงปลอดภัย ผู้พิทักษ์อาหารบ้านนากอก

          - จัดทำมาตรการ ข้อตกลงร่วมกันในหมู่บ้าน 

หลักสูตรการดูแลสุขภาพป้องกันโรคด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ๘ อ. โดยการวิเคราะห์ธาตุเจ้าเรือน และส่งเสริมการกินอาหารตามธาตุ  ผู้ร่วมเรียนรู้ ๑๙๓ คน อยู่ระหว่างการประเมินผล

หลักสูตรไร้พุง โดยการคัดกรองโดยวัดรอบเอว  อบรมให้ความรู้ จัดกิจกรรมออกกำลังกาย เข้าร่วม ๒๖ คน ลดลง ๒๑ คน

ทั้งนี้ได้มีแผนการขยายผลโรงเรียนนวัตกรรม จะขยายให้ครบทั้งตำบลต่อไป

 

 

. รพ.สต.ศรีษะเกษ เรื่อง รร.นวัตกรรมสุขภาพชุมชน โดยการนำทุนทางสังคมที่ชุมชนอยู่กับป่าอย่างกลมกลืน มีหมอพื้นบ้านที่สามารถถ่ายทอดและรักษาด้วยพืชสมุนไพร การถ่ายทอดความรู้จากภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน รวมไปถึงการใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์เป็นเส้นทางการพัฒนา และพัฒนาหลักสูตรอาหารปรับสมดุลร่างกาย ซึ่งได้เรียนรู้จากหมอเขียว  โดยเทศบาลตำบลนาน้อยมามีส่วนร่วมดำเนินการ  โดยมีหมอภูมิปัญญาของหมู่บ้านมาร่วม กิจกรรมออกกำลังกายด้วยโยคะ เดินเร็ว

 

 

. รพ.สต.ปิงหลวง เรื่อง ต้นต้อง Model…บทเรียนหมู่บ้านจัดการสุขภาพ บ้านต้นต้อง มีประชากร ๕๑๙ คน มีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช ดื่มสุรา สูบบุหรี่ อ้วน ปัญหาทะเลาะวิวาท  อุบัติเหตุ  สิ่งที่อยากให้เกิด คือ ลดละเลิกการดื่มสุราหลังเลิกจากการทำงานในช่วงเย็น จึงได้มีการจัดเวทีประชาคม  มีมาตรการสังคมของหมู่บ้านต้นต้องขึ้น ซึ่งชาวบ้านให้ความร่วมมือ สนใจโดยเฉพาะแม่บ้าน  ผู้นำชุมชนไม่ดื่มสุรา เป็นแบบอย่างที่ดี   อสม.มีบทบาทในการดำเนินงาน  เป็นปัญหาที่ชาวบ้านต้องการให้แก้ไขอยู่แล้ว  ชาวบ้านมองเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือ ทำให้ลดปัญหาลงได้ 

 

. รพ.สต.สวด เรื่อง การดำเนินงานชุมชนลดเสี่ยงลดโรค....บทเรียนเรื่องสุขาภิบาลอาหาร โดยการดำเนินกิจกรรมการคัดกรองสุขภาพ  ให้การดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และจัดทำ โครงการอาสาสมัครสร้างเสริมและดูแลสุขภาพผู้พิการ รณรงค์ออกกำลงกายด้วยฮูลาฮุบ โครงการชาวบ้านหลวงปลอดภัยใส่ใจสุขาภิบาลอาหาร ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งผลการประเมินความพึงพอใจของประชาชนพบว่า  

  • ร้อยละ 92 เห็นด้วย ต่อการนำโครงการสุขาภิบาลอาหารมาทำในพื้นที่ 
  • ร้อยละ 97 เห็นด้วย ที่ไม่ให้มีการเลี้ยงอาหารดิบ หรือสุกๆดิบๆในงานพิธีต่างๆ
  • ร้อยละ 98 เห็นด้วย ที่ไม่มีการเลี้ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในงานศพ
  • ร้อยละ 76 เห็นด้วย ที่จะไม่มีการเลี้ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในงานพิธีอื่นๆด้วย
  • ร้อยละ 100 เห็นด้วย ที่จะไม่เลี้ยงขนมปังปี๊บหรือลูกอม ในงานพิธีต่างๆ ควรใช้ขนมพื้นบ้านหรือผลไม้ตามฤดูการแทน

 

 

. รพ.สต.น้ำพาง เรื่อง การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่  ที่พบว่ามี ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เรียนหนังสือไม่จบ มีลูกแล้วเลี้ยงไม่เป็น หลังคลอดไปทำงานต่างจังหวัด ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปัญหาความอบอุ่นของลูก  ข้อมูลสนับสนุน ปี ๒๕๕๒ จำนวน ๒ คน  ปี ๒๕๕๓ จำนวน ๖ คน กลุ่มเป้าหมาย หญิงอายุ ๑๕- ๑๘   ปี  จึงได้ตั้งทีมงาน จัดเวทีเสวนาโดยมีตัวแทนจากครู ผู้ปกครอง นักเรียน  เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ประกวดคำขวัญ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการนักเรียน ม.๓-ม.๖ เพื่อระดมความคิดเห็นและแนวทางการแก้ไข

 

 

. รพ.สต.พงษ์  เรื่อง รพ.สต.กับการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในชุมชน จากบริบทของชุมชน ด้านบวกมีภูมิปัญหาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพ   ด้านลบพฤติกรรมดื่มสุรา สูบบุหรี่ พบปัญหาสุขภาพ  ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง  เบาหวาน โรคหัวใจ  และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง  เมื่อคัดกรองสุขภาพ จำแนกได้ดังนี้ ปกติ ๕๙%  จึงได้รณรงค์ลดละเลิกสุรา จัดเวทีประชาคม กำหนดมาตรการชุมชน และดำเนินการคลินิกอดบุหรี่ ผ่านการประเมิน ร้อยละ ๕๐ (จำนวน ๖ คน ผ่านการบำบัด ๓ คน) ในชุมชนได้ส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ ปลูกสมุนไพรทุกหลังคาเรือน และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาดูแลสุขภาพ เช่น อบสมุนไพร นวดแผนไทย ประคบสมุนไพร

 

 

. รพ.สต.จอมพระ เรื่อง รร.นวัตกรรมสุขภาพชุมชน....บทเรียนการขับเคลื่อนงานบวชปลอดเหล้า โดยจัดกิจกรรมการดำเนินงานสู่โรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชน เริ่มจากการจัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์สร้างเสริมสุขภาพตำบลจอมพระ โดยการชี้แจง แลกเปลี่ยน ร่วมคิด ร่วมกำหนดทิศทาง และได้แผนปฏิบัติการที่นำไปสู่ประชาชนมีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์ลดลง  โดยนำสู่เวทีเสวนาแกนนำชุมชน ภาคีเครือข่ายในชุมชน ออกประชาคมทุกหมู่บ้าน คัดเลือกบุคคลต้นแบบ ออกรณรงค์งดการดื่มเหล้าในงานบวช การประเมินการดำเนินงาน  ทีมงาน/จิตอาสา เข้าไปพูดคุยกับเจ้าภาพในการจัดงานบวชปลอดเหล้า เช่น พิมพ์การ์ด อนุโมทนางดเหล้า จากการประเมินความคิดเห็น มากกว่าร้อยละ ๙๐ เห็นด้วยกับกิจกรรมงานบวชปลอดเหล้า

 

 

๑๐. รพ.สต.ยอด เรื่อง ระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home visit, Home Ward)” จากที่มีกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยจิตเวช  เบาหวาน  อัมพาต   โรคปอดอุดกันเรื้อรัง ผู้พิการ  มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านในรูปแบบเดิม(Home Health Care)ไม่สามารถช่วยให้การบริการเพื่อการดูแลผู้ป่วยที่บ้านให้ฟื้นคืนสภาพได้รวดเร็ว จึงได้พัฒนาทีมเยี่ยมบ้านขึ้น ประกอบด้วย อสม. เยี่ยมบ้าน, เยาวชนจิตอาสา, ญาติผู้ป่วย, พยาบาลเยี่ยมบ้าน/เจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย และทีมสหสาขาวิชาชีพ ในการออกไปเยี่ยมบ้านโดยการประสานงานกับ อสม.  การสื่อสารกับญาติผู้ป่วย ติดตาม ประเมินการปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้ ประเมิลผลสภาพของผู้ป่วย และทักษะที่เกิดขึ้นจากการพยาบาลผู้ป่วยที่บ้านแล้วหาวิธีการปรับปรุงต่อไป รวมทั้งการให้บริการผู้ป่วยด้วยหัวใจของความมนุษย์โดยการใช้ธรรมะกล่อมจิตใจ  ให้โอกาสผู้ป่วยได้ทำบุญ ถวายสังฆทาน ร่วมกับญาติตามความต้องการและจากไปอย่างสงบ

 

 

๑๑. รพ.สต.เจดีย์ชัย เรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนและอปท.ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยกระบวนการจัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ โดยมีการชักชวนคณะกรรมการพัฒนา รพ.สต.เข้ารับการพัฒนาความรู้ในการจัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ จาก สสม.นครสวรรค์ และ อสม. /แกนนำชุมชน  ได้รับการพัฒนาความรู้ในเรื่องนี้ด้วย และร่วมกันวิเคราะห์บริบทของชุมชน  

พบว่ามีปัญหาสุขภาพ  โรคไม่ติดต่อมากขึ้น โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ  จากประชาชนนิยมดื่มสุราในโอกาสต่างๆ ครอบครัวทะเลาะวิวาท  สารเคมีตกค้าง ได้ประเด็นที่จะขับเคลื่อน  คือ พฤติกรรมสุขภาพ (ลดเหล้า ,ไร้พุง ,ลดโรคเอดล์)  ลดการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกร แล้วนำไปบรรจุในแผนของอบต.

 

 

๑๒. รพ.สต.ภูฟ้า เรื่อง ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (การเชื่อมต่อระหว่างรพ.แม่ข่ายกับรพ.สต.และชุมชน) ในพื้นที่ห่างไกล โดยได้ดำเนินการคัดกรองโรคไม่ติดต่อของประชาชนตำบลภูฟ้า  พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ๗ คน ,เบาหวาน ๓ คน ซึ่งรพ.บ่อเกลือ ได้วินิจฉัยและรักษา แล้วส่งผู้ป่วยมาให้ รพ.สต. เยี่ยมบ้าน และให้การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน

 

 

๑๓. รพ.สต.พระธาตุ เรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนและอปท.ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยกระบวนการจัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทในการดูแลสุขภาพตนเอง จากการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพของพื้นที่ คือ วัยรุ่นดื่มเหล้าอย่างเสรี มีโรงกลั่นในชุมชน ดื่มเหล้าลงแขก ป่วยด้วยโรคเอดส์ มีผู้ติดเชื้อในชุมชน จากการทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ร่วมกันได้กำหนดเป้าหมายการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยชุมชน จำนวน ๔ เรื่อง ได้แก่ อาหารปลอดภัย โดยกลุ่มสตรี  โดยใช้บ้านหลวงเป็นต้นแบบ, ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ โดยแกนนำสุขภาพ  เรื่องไร้พุง, ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกลุ่มผู้นำชุมชน, ลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ (เอดส์) โดยแกนนำชุมชน

 

 

๑๔. รพ.สต.ปางแก เรื่อง ระบบการรักษาผู้ป่วยทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วย เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงและห่างไกลห่างจากรพ.แม่ข่าย ๔๖ กม. ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า ๑ ชม. ดังนั้นการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วยจึงมีความสำคัญยิ่ง จึงใช้ระบบ skype, มีระบบ EMS ,เน้นทักษะการให้บริการด้านการรักษามากขึ้น ,ทีม OTOS ,  รถ refer ในการเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลแม่ข่าย ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

๑๕. รพ.สต.บ้านด่าน เรื่อง ระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home visit, Home Ward) ในพื้นที่ห่างไกล….บทเรียนการดูแลผู้ป่วยไตวาย ซึ่งเป็นผู้ป่วยบ้านห้วยปูด ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลัวะ ตั้งอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,250 เมตร ระยะทางจาก รพ.สต.บ้านด่าน 4 กิโลเมตร การเดินทางลำบาก ใช้เวลาเดินเท้า 2 ชั่วโมง มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่บ้าน ๑ ราย ที่ต้องล้างไตทุกวัน ได้วางแผนช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่บ้าน โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ชุมชน  ใช้ผังเครือญาติมาวิเคราะห์ แผนที่ชุมชน  มาช่วยในการวางแผนดำเนินการ เริ่มจากจัดสภาพแวดล้อมภายใน/ภายนอกของบ้านให้สะอาดเพื่อลดการติดเชื้อ สอนวิธีการล้างไตที่บ้านที่ถูกวิธี ผลการดำเนินงาน ผู้ป่วยมีชีวิตดีขึ้น ลดการติดเชื้อ  ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ทำงานเบาๆ ได้ มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคมากขึ้น ปัจจุบันผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลือจากภาคีในชุมชน เช่น กศน., อบต.

..................................................................

          มีเรื่องราวดีดีที่แต่ละพื้นที่ได้เล่าสู่กันฟัง แม้จะเป็นรพ.สต.ห่างไกล ที่มีคนน้อย เจ้าหน้าที่ใหม่ แต่สดด้วยเรื่องราวที่ทุ่มเททำงานด้วยใจ ไม่แพ้รพ.สต.รุ่นใหญ่ที่มากด้วยประสบการณ์และบุคลากร  

          หลังการนำเสนอในแต่ะช่วงได้ชักชวนให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้บันทึกความรู้ด้วยกันว่า ได้แนวคิดหรือวิธีปฏิบัติสำคัญอะไรที่ฟังแล้วปิ๊ง จะนำเอาไปใช้ในพื้นที่ตนเองบ้าง เป็นการสรุปความรู้ที่ได้จากการฟังร่วมกัน

          แล้วตอนท้ายสุดของกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ทุกคนโหวตให้คะแนน รพ.สต.ที่เล่าได้ประทับใจที่สุด ๓ อันดับ ผลปรากฏว่า รพ.สต.ปางแก ได้คะแนนโหวตอันดับ ๑ รองลงมาได้ รพ.สต.น้ำแก่น และรพ.สต.ตาลชุม ตามลำดับ ได้พัดลมไปพัดคลายหนาว

          เรื่องราวบทเรียนการพัฒนารพ.สต.ต้นแบบแต่ละแห่งจะพยายามทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังผ่านบล็อกนี้ครับ

          กระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนารพ.สต.ยังไม่ปิดลง แม้เวทีเรียนรู้ในห้องประชุมเสร็จสิ้น แต่การเรียนรู้ในการปฏิบัติการดูแลส่งเสริมป้องกันสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ยังคงเดินหน้าต่อไป เอาความรู้ ประสบการณ์เหล่านี้เป็นบทเรียนไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

 ...............................................

ขอขอบคุณทีมบูรณาการขับเคลื่อนรพ.สต.เชิงรุกทุกคนทุกอำเภอ

ขอบคุณ บุคลากร รพ.สต.ต้นแบบ ที่นำเสนอเรื่องราวดีดี และเอื้อเฟื้อภาพประกอบ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 420287เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2011 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณสำหรับเรื่องงราวดีๆๆ ที่มาฝากกัน ที่ถืมตอง หัวหน้าสถานีอนามัย กำลังปั่นให้ภูมิทัศน์ ให้เป็นโรงพยาบาล ชุมชนเป็นโรงเรียนนวตกรรม นักศึกษาทันตแพทย์มาศึกษาในชุมชน และในวันที่20 มกรานี้นักพัฒนาชุมขนจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ถืมตอง

ฝากบอกทุกท่านว่าคนถืมตอง

ยินดีต้อนรับ ที่ท่านมาดูเราทำให้เราต้องทำให้ดีกว่าเดิม เสียงวิพากษ์ เป็นความรู้ที่เราเอามาใส่ใจพัฒนา

ฝากบอกพี่ตุ้ม เก่งจัง และสองแควสุดยอดจริงๆๆ ปีใหม่นี้ทุกท่านช่วยดูแลว่าที่ผู้อำนวยรพ.สต.คนใหม่ด้วย กำลังเครียดหลายเรื่องงบประมาณ

ขอแสดงความยินดี กับรพ.สต.ปางแกด้วยค่ะ

และขอให้กำลังใจน้อง ๆ ทุกคนที่ตั้งใจปฏิบัติงาน

สู้ ๆ

ขอเป็นกำลังใจให้ทีม รพสต.สวด ครับ ไม่ได้เข้าร่วมฟังด้วยครับเพราะติดประชุมที่เชียงรายแต่น้องๆที่เข้าร่วมก็บรรยายถึงบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ทราบ ก็สำหรับทีมบ้านหลวงเรื่องสารวัตรอาหารเราคงจะต้องพูดกันต่อไปและตลอดไปเพราะว่าในสารวัตรอาหารมีอะไรอีกมายมายที่จะสานต่อในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพต่อไปไม่เฉพาะในบ้านหลวงนะครับแต่ยังรวมถึงเครือข่ายหลายอำเภอที่ได้ดำเนินงานอาหารปลอดภัยในชุมชนได้เป็นอย่างดีเช่น นาหมื่น เชียงกลาง ท่าวังผา ภูเพียง แม่จริม เมือง ซึ่งหลายพื้นที่ท้องถิ่นได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ขอบคุณสำหรับเสียงวิพากย์ที่อาจจะบั่นทอนกำลังใจผู้นำเสนอและทีมงานบ้าง แต่ก็ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ และก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เืพื่อการพัฒนาต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท