ยินดีในทุกข์


คำเทศน์ของพระอาจารย์ชยสาโร อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากคำสอนที่เข้าใจง่าย เน้นการประยุกต์ในชีวิตประจำวัน และส่งเสริมการพัฒนาในส่วนของพฤติกรรม จิตใจและปัญญา

ยินดีในทุกข์

        ครั้งหนึ่งสามสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนที่สร้างโบสถ์วัดหนองป่าพงใหม่ๆ มีคณะญาติโยมจากกรุงเทพฯ ไปกราบนมัสการหลวงพ่อชา เมื่อสนทนาธรรมได้พอสมควรแล้ว หลวงพ่อชวนไปชมโบสถ์
       เดินขึ้นไปบนโบสถ์แล้ว โยมคนหนึ่งมองไปข้างบนเห็นรอยร้าว โยมบอกว่า เสียดาย โบสถ์สร้างไม่นานมีร้าวเสียแล้ว หลวงพ่อท่านตอบว่า อ้าว ไม่มีร้าว ก็ไม่มีพระพุทธ นี่คือคำตอบของท่าน แปลว่าอะไร?
             ก็คือ การที่โบสถ์เกิดมีร้าว ในสายตาของโยมก็คือ แหม ช่าง(ก่อสร้าง)ไม่เก่ง ไม่ดี เสียดายของใหม่ก็มีมลทินเสียแล้ว แต่ความคิดของหลวงพ่อไม่เป็นอย่างนั้น ท่านเห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา นั่นโบสถ์ก็ต้องมีความเสื่อมเป็นธรรมดา จะเสื่อมเร็วหรือเสื่อมช้า เป็นเรื่องที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าสร้างโบสถ์แล้ว ไม่มีร้าว ไม่มีเสื่อม แสดงว่า ไม่มีอนิจจัง แล้วก็ไม่มีพุทธศาสนา
             เพราะศาสนาพุทธตั้งไว้บนฐานแห่งการรู้เท่าทันความจริงของธรรมชาติ แม้ในเรื่องเล็กเรื่องน้อยเรื่องธรรมดาๆ เช่นเรื่องร้าวในเพดาน หลวงพ่อท่านก็มองเป็นธรรมะไปหมดเลย ในชีวิตประจำวันเราก็ต้องมองให้เป็นอย่างนี้ มองให้เป็นธรรมะมากขึ้น มากขึ้น ไม่ใช่ในลักษณะที่จะสั่งสอนคนอื่น จะไปเทศน์ให้คนอื่นฟัง หรือจะไปมองเป็นปรัชญา แต่เพื่อพินิจพิจารณาในเรื่องความจริงของชีวิตบ่อยๆ สิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจ คือความรับรู้ในแนวทางของธรรมะ มากกว่าจะคิดไปทางโลกย์ ซึ่งมักมีความอยากได้ อยากมี อยากเป็น มีอัตตาตัวตนเป็นแรงผลักดัน นี่เราเปลี่ยนอัตตาตัวตนจากอธรรมะให้เป็นธรรมะ ไปไหนเราก็รู้สึกว่าอยู่กับธรรมะ ธรรมะไม่ได้อยู่ในคัมภีร์หรือในหนังสือ ธรรมะอยู่กับความจริง
             อยู่กับความจริงอย่างไร ทำอย่างไรจะอยู่กับความจริง เราต้องดูที่สิ่งที่รับรองความจริง คือ จิตใจ นี้จิตใจเรายังเป็นภาชนะรับรองความจริงที่ยังไม่สะอาด เหมือนจานสกปรกแล้วเอาอาหารดีๆ ใส่ไว้ในจาน อาหารนั้นอาจจะทำให้เราไม่สบายก็ได้ เพราะตัวอาหารไปติดกับของสกปรก อาหารที่ดีก็กลายเป็นอาหารที่ไม่ดีไป เพราะตัวอาหารติดกับของสกปรก อาหารกลายเป็นอาหารไม่ดี ทำให้เราท้องเสีย

             สิ่งที่เรารับรู้ต่างๆ หากว่า จิตใจเรายังไม่สะอาด เหมือนกับมีเชื้อโรคติดอยู่ในใจ สิ่งที่เราสัมผัส สิ่งที่เราเกี่ยวข้อง ทุกสิ่งทุกอย่างถึงแม้จะเป็นของไม่มีพิษภัย พอมาถึงใจเราแล้ว กลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีไป โบราณท่านเปรียบเทียบกับน้ำใสสะอาด วัวกินน้ำ น้ำกลายเป็นนม นมสดเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่ถ้างูกินน้ำจากที่เดียวกับวัว น้ำเข้าไปในตัวงู กลายเป็นยาพิษไป น้ำใสอยู่ในบ่อ วัวกินกลายเป็นนมสด งูกินก็กลายเป็นยาพิษ น้ำคือน้ำ แต่พอมาถึงตัวเรา มันเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของเรา
             ฉะนั้น ท่านจึงให้เราเรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิตเบื้องต้น จากสิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนต้องยอมรับว่า ใช่ เป็นอาการของโรคจริงๆ นั่นก็คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นอนิจจัง ปัญหาในการที่จะได้ประโยชน์จากหลักอนิจจัง ก็คือการดูแคลนว่า รู้แล้ว เป็นเรื่องง่ายมาก ใครจะไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัย แม้เด็กไม่กี่ขวบก็ต้องรู้ว่าทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลง
             เราก็รู้อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่ความรู้อย่างทะลุปรุโปร่ง ยังไม่ใช่ความรู้ที่มีผลต่อพฤติกรรม เราอยากรู้ว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร ต้องดูว่า มีอาการอะไรบ้างเมื่อเกิดเรื่องที่เราไม่คาดหวังไม่คิดล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นได้ เรื่องที่เกิดทันที เรื่องที่เราไม่มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า มันจะมีอาการอะไรอย่างนั้น นี้จะดูเนื้อแท้ของจิตใจ
             ถ้าเรามีเวลาเตรียมล่วงหน้า อาจจะหลอกตัวเอง หลอกคนอื่นได้ หากเราไม่รู้ไม่คิดล่วงหน้า นี่จะเห็นภาวะจิตของตัวเองได้ดี เมื่อมีการกดดัน เราก็ได้เห็น อย่างเช่น หากอยู่กับคนที่เอาใจเราทุกคน เราอาจรู้สึกไม่มีความโกรธ เราไม่ค่อยโกรธไม่มีโทสะ พออยู่กับคนที่ไม่ชอบเรา ไม่ดีต่อเรา มันจะเป็นอย่างไรไหม มันจะเหมือนเดิมไหม มันจะมีความเปลี่ยนแปลงไหม
           ในชีวิตประจำวัน ท่านจึงให้เราเป็นนักศึกษาพร้อมที่จะเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นสิ่งที่เราชอบก็ดี จะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบก็ดี ย่อมเป็นของไม่แน่นอน เราไม่ควรด่วนสรุปว่าดีเพียงเพราะว่าสัมผัสแล้วรู้สึกชอบ ไม่ควรด่วนสรุปว่าไม่ดี เพราะสัมผัสแล้วไม่ชอบ เพราะความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบก็เป็นเพียงแต่สังขาร ไม่แน่นอน เอาเป็นหลักไม่ได้ บางสิ่งที่เราชอบทุกวันนี้ แต่ก่อนเราก็ไม่ค่อยชอบ เมื่อเป็นอย่างนั้นก็เป็นไปได้ว่า สิ่งที่เราชอบทุกวันนี้ ในอนาคตเราไม่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบก็เหมือนกัน นี่เราต้องค่อยสังเกต ค่อยๆ เรียนรู้จากความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกภายใน มันจึงจะเข้าถึงตัวแท้ของอนิจจัง
             การสังเกตความเปลี่ยนแปลงภายนอกก็เป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดที่จะเกิดผลในภาคปฏิบัตินี่คือ ดูความเปลี่ยนแปลงจากภายใน จากความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ดูว่า เปลี่ยนแปลงเพราะอะไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงโดยบังเอิญ เพราะพระผู้เป็นเจ้าดลบันดาล หรือเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันเปลี่ยนแปลงไปเพราะมีเหตุมีปัจจัยให้เปลี่ยนแปลง เราเรียนรู้อย่างนี้ตลอดเวลา จะทำให้เราเป็นผู้มีปัญญา
             บางทีความเปลี่ยนแปลงก็ช้า และค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ บางทีก็ช้าโดยไม่รู้สึกตัว หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ บางครั้งก็เร็วมาก บางครั้งก็เร็วในทางที่พอจะทราบได้ล่วงหน้า บางครั้งก็คาดไม่ได้เลยว่าจะเป็นอย่างไร หากเราเรียนรู้อย่างนี้ตลอด ปัญญาจะเกิดขึ้น เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่หวังในภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง
             เช่น ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นในหน้าที่ของเราอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนแปลง เราต้องรู้สึกเป็นทุกข์ ความพลัดพรากก็ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ เพราะเรามีความรู้สึกในสิ่งที่พลัดพรากว่า เป็นเรา เป็นของเรา ถ้ามีสิ่งใดที่เราไม่มีความรู้สึกว่า เรา ว่าของเรา ถ้าค่อยๆ เปลี่ยนไป ค่อยๆ หายไป เรามีความรู้สึกอะไรไหม เปล่า เพราะไม่มีความผูกพันว่าเป็นเรื่องของเรา เรื่องของเขา เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ความทุกข์จากการพลัดพรากต้องเกิดขึ้นจากความยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา นี่พระพุทธองค์ให้เราได้สังเกต

             หากเราเกิดความเศร้าโศกเสียใจ เราก็รู้ว่านี่คือความรู้สึกอย่างหนึ่ง เป็นผลจากความยึดมั่นถือมั่น หรือความผูกพันในอดีต เป็นผลจากความรู้สึกในอดีตเรารู้เท่าทัน ถ้าเรารู้เท่าทันแล้วไม่ปรุงแต่ง มันก็จะค่อยๆ หายไป ความปรุงแต่งหมายถึง ความยินดีหรือความยินร้ายในเรื่องนั้น เรื่องความรู้สึกอย่างนั้น ถ้าความยินดีไม่ได้หมายความว่าจะต้องชอบหรือจะต้องเพลิดเพลิน แต่เป็นความต้องการให้เรื่องนั้นอยู่ต่อ ให้มีความรู้สึกอย่างนั้น..

อ่านต่อได้ที่ http://www.vcharkarn.com/varticle/42094

คำสำคัญ (Tags): #ยินดีในทุกข์
หมายเลขบันทึก: 420284เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2011 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท