ขอพื้นที่สำหรับเด็กที่หน้าวังจันทเกษม พื้นที่แห่งรอยยิ้ม


ขอพื้นที่สำหรับเด็ก ที่หน้าวังจันทรเกษม

8 มกราคม พ.ศ.2554

วันเด็กแห่งชาติ

คำขวัญวันเด็ก “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ”

                ปีนี้ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี  อำเภอเสนา จัดกิจกรรมเป็นประจำเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา และนับเป็นกิจกรรมวันเด็กที่ได้รับความนิยมสูงสุดแห่งหนึ่งในอำเภอเลยทีเดียว เพราะมีกิจกรรมสำหรับเด็กและของรางวัลมากมายและเป็นของรางวัลที่มาจากน้ำใจของคนในตำบลร่วมบริจาคให้มาแบบเทให้ทั้งใจกันเลยทีเดียว สำหรับในปีนี้ ครูโอ๋ ได้รับการสนับสนุนไอศกรีม มหาชัย 1 ถัง จากเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่ทำงานอยู่คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และได้น้ำใจจากพี่ๆที่ทำงานในคณะช่วยบริจาคมาเป็นเงิน 1,920 บาท ซื้อไอศกรีมหาชัย ได้ 1 ถัง 1,300 บาท รวมกรวยอีก 400 กรวย ประมาณ 120 บาท เงินที่เหลือไปซื้อของขวัญให้เด็กอีก 2 ชิ้น ชิ้นละ 249 บาท  รู้สึกจะเหลือ 2 บาทขอครูโอ๋ละกันนะค่ะ ต้องขอขอบคุณผ่านบันทึกนี้เป็นอย่างสูงด้วยนะค่ะ

                แต่ในงานวันเด็กที่อำเภอเสนา ครูโอ๋ ไม่ได้อยู่จัดกิจกรรมนะค่ะ เพราะต้องไปจัดกิจกรรมวันเด็กที่หน้าวังจันทรเกษม โดยภารกิจนี้ ครูโอ๋ได้รับมอบหมายให้อยู่ฐาน การทำการ์ดกระดาษม้วน กับครูอิ๋ม (ปิยธิดา ทานาค) ครูอิ๋มจะถนัดงานด้านนี้กว่าครูโอ๋นะค่ะ ก็เลยไปเป็นลูกมือครูอิ๋มอีกทีหนึ่ง และมีครูมาลี เมืองหมุดมาช่วยด้วย ที่ซุ้มหน้าวังจันทร์เกษมนี้ กศน.อำเภอเสนา จัดกิจกรรมไป 2 กิจกรรมนะค่ะ อีกกิจกรรมหนึ่งเป็นเกมปริศนาคำทาย มีครูไก่ ครูมะลิ ครูศิริพร เป็นผู้ดำเนินรายการค่ะ และมี ผอ.ภัชราพร มีรสสม มาร่วมจัดกิจกรรมกับพวกเรา ต้องขอโทษที่ครูโอ๋ไม่ได้ลุกไปดูกิจกรรมของอำเภออื่นเลย จึงเล่าไม่ได้ค่ะว่าแต่ละอำเภอเขานำกิจกรรมอะไรมาจัดให้เด็กๆบ้าง ได้แต่นั่งมองไปพลางระหว่างทำกิจกรรมก็รู้ว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้บรรยากาศหน้าวังจันทรเกษมเต็มไปด้วยสีสันและรอยยิ้มที่งดงามค่ะ

รถโมบาย ให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ นำมาจอดให้เด็กเที่ยวศึกษาหาความรู้หน้าวังจันทรเกษม

กิจกรรม เกมปริศนาคำทาย และ การประดิษฐ์การ์ดกระดาษม้วน

จบกิจกรรมที่หน้าวังจันทรเกษม กลับมาที่งานวันเด็ก ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี อำเภอเสนา กำลังมีประกวดร้องเพลงรุ่นจิ๋วอยู่พอดีเลย

แวะมาดูถังไอศกรีม ที่พี่ๆเพื่อนๆคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บริจาคให้น้องๆในวันเด็ก เก็บภาพมาฝาก คนที่บริจาคเห็นได้อิ่มบุญ ชื่นใจไปด้วยนะค่ะ

ป.ล ที่จริงที่ต้องไปทำกิจกรรมที่วังหน้า (วังจันทรเกษม) โดยส่วนตัวอยากแอบเข้าไปเที่ยวมากเลยถึงจะเป็นคนอยุธยาแต่ไม่เคยเที่ยววันหน้าเลยว่าข้างในเป็นอย่างไร มองจากด้านนอกรู้สึกดึงดูดน่าเข้าไป แต่เพราะภาระกิจจึงไม่ได้เข้าไป เช้าวันเด็กได้ยินเสียงประชาสัมพันธ์ประกาศด้วยนะ ว่าภายในวังมีอาหารเลี้ยงเด็กๆด้วยกะจะเดินเข้าไป แต่พอเสร็จกิจกรรมก็ต้องรีบเก็บของกลับอำเภอ เลยอาฆาตไว้ว่าเดี๋ยวจะขับรถกลับมาเที่ยวใหม่วันหลัง ตอนนี้นั่งอ่านข้อมูลในเว็บไปพลางๆก่อนนะค่ะ

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวังจันทรเกษม หรือ วังหน้าของเราค่ะ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วังจันทรเกษมหรือวังหน้า ตั้งอยู่ถนนอู่ทอง ริมแม่น้ำป่าสักมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองใกล้ตลาดหัวรอ

วังจันทรเกษมหรือวังหน้า พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จันทรเกษม

วังจันทรเกษมปรากฎหลักฐานพงศาวดารว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประมาณ พ.ศ. 2120 โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเคยใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระยุพราชและพระมหากษัตริย์หลายพระองค์เช่น สมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ฯลฯ  เมื่อคราวเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 วังนี้ได้ถูกข้าศึกเผาทำลายเสียหายมากและถูกทิ้งร้าง  จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัตยาและพลับพลาจตุรมุขไว้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยาและโปรดพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2436 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่าเมื่อ พ.ศ. 2442  และจนกระทั่งเมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าจึงได้จัดสร้างอาคารที่ทำการภาคบริเวณกำแพงทางด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาคในขณะนั้น กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาดูแลและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษมจนกระทั่งปัจจุบัน

โบราณสถานโบราณวัตถุที่น่าสนใจในพระราชวังจันทรเกษม มีดังนี้

กำแพงและประตูวัง ปัจจุบันก่อเป็นกำแพงอิฐมีใบเสมา มีประตูด้านละ 1 ประตู รวม4 ด้านเป็นสิ่งที่สร้างใหม่ในรัชกาลที่ 4  กำแพงของเดิมมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าที่เห็นในปัจจุบัน เพราะขุดพบรากฐานของพระที่นั่งนอกกำแพงวัดด้านใน และพบซากอิฐในบริเวณเรือนจำหลายแห่ง แต่เดิมนั้นคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า วังจันทรเกษมมีกำแพง 2 ชั้น เช่นเดียวกับวังหลวง

พลับพลาจตุรมุข ตั้งอยู่ใกล้ประตูวังด้านทิศตะวันออก เป็นพลับพลาเครื่องไม้ มีมุขด้านหน้า 3 มุข ด้านหลัง 3 มุข  เดิมใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการและเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เวลาเสด็จประพาส  ต่อมาในปีพ.ศ. 2449 พระองค์ทรงโปรดให้ใช้พลับพลาจตุรมุข เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ เรียกว่าอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระยาโบราณราชธานินทร์ได้ทำการซ่อมแซมครั้งใหญ่และเปลี่ยนหน้าบันจากรูปปูนปั้นมาเป็นไม้แกะสลัก ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่มีอยู่เดิมภายในพระราชวังนี้เช่น พระแท่นบรรทม พระราชอาสน์ พร้อมเศวตฉัตร พระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นตึกหมู่อยู่กลางพระราชวังประกอบด้วยอาคาร 4 หลังคือ อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตยาและศาลาเชิญเครื่อง เคยเป็นที่ตั้งศาลากลางมณฑลและจังหวัดมาหลายปี  ปัจจุบันจัดแสดง ประติมากรรมที่สลักจากศิลา เป็นเทวรูปและพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปสมัยลพบุรี พระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา พระพิมพ์สมัยต่างๆ และเครื่องไม้แกะสลักฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์

พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ หรือ หอส่องกล้อง เป็นหอสูงสี่ชั้น สร้างครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หักพังลงมาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 หอที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ตามรากฐานอาคารเดิมและทรงใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว

อาคารสโมสรเสือป่า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ริมกำแพงหลังพระที่นั่งพิมานรัตยา ตึกโรงม้าพระที่นั่ง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ตึกที่ทำการภาค สร้างขึ้นในสมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวสร้างขนานไปกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ จัดนิทรรศการถาวร 5 เรื่อง คือ เรื่องศิลปะสถาปัตยกรรมอยุธยา เครื่องปั้นดินเผาสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญของอยุธยา อาวุธยุทธภัณฑ์ ศิลปะวัตถุพุทธบูชาและวิถีชีวิตริมน้ำชาวกรุงเก่า

ระเบียงจัดตั้งศิลาจารึก แต่เดิมสร้างเป็นระเบียงหลังคามุงสังกะสียาวไปตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกใช้สำหรับเป็นที่เก็บรักษาบรรดาโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์ได้รวบรวมไว้

เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.

ค่าเข้าชม

ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 30 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 60  บาท ชาวต่างประเทศ 180  บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง  วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จันทรเกษม

จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา เมื่อข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้วให้เลี้ยวซ้ายตรงไปจนถึงสามแยกเลี้ยวซ้ายอีกครั้งและตรงไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะผ่านตลาดเจ้าพรหม จากนั้นจะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ทางซ้ายมือ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
โทร. (035) 251-586, (035) 252-795 โทรสาร (035) 251-586

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจากเว็บ http://www.holidaythai.com/ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ/พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ_จันทรเกษม-จังหวัดพระนครศรีอยุธยา-1142.htm

หมายเลขบันทึก: 419647เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2011 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท