กรมราชทัณฑ์กับองค์กรแห่งนวัตกรรม


กรมราชทัณฑ์ กับ องค์กรแห่งนวัตกรรม 

                                                พิมพ์พร  เนตรพุกกณะ

· Christopher Columbus:  ผู้ค้นพบอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพ

· Thomas Alva Edison: ผู้คิดค้นริเริ่มหลายสิ่งหลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือ หลอดไฟ ที่ทำให้โลกใบนี้ส่องสว่างได้ยามค่ำคืน

· Orville Wright and Wilbur Wright:  สองพี่น้องที่สร้างเครื่องบินสำเร็จเป็นคนแรก ทำให้การเดินทางข้ามทวีปสามารถทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจากชื่อที่กล่าวมาข้างต้น  ในโลกนี้ยังมีชื่อของ นวัตกร (innovator) หรือผู้ที่คิดค้นริเริ่มนวัตกรรม ต่างๆ ในโลกอีกมากมาย และยังคงจะมีการบันทึกชื่อใหม่ๆ ต่อไปไม่สิ้นสุด เนื่องจากโลกใบนี้เป็นสิ่งที่ซับซ้อนและยังมีสิ่งต่างๆ คงรอให้ค้นพบอยู่เสมอตลอดเวลา

ความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ถือว่ามีความสำคัญในทุกหน่วยงาน ทุกแขนงสาขาวิชา เช่น นักวิจัยต่างต้องการค้นพบทฤษฎีหรือผลการวิจัยใหม่ในสิ่งที่ไม่เคยมีใครค้นพบ นักศิลปะก็มุ่งสร้างสรรค์ภาพวาดหรือประติมากรรมจากความคิดแปลกใหม่ ขณะที่นักประดิษฐ์ก็มีเป้าหมายในการสร้างสิ่งต่างๆ เป็นคนแรก เป็นต้น

 1. นวัตกรรมคืออะไร? 

นวัตกรรม (innovation[1]) หมายถึง การสังเคราะห์ความรู้และปัญญาให้เกิดเป็นคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ นวัตกรรมเกี่ยวข้องกับการนำความรู้ ความคิดและเทคโนโลยีไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งก่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาที่สำคัญในการดำเนินงาน[2]   ดังนั้น นวัตกรรมจึงไม่ใช่เพียงแค่ลักษณะของแนวคิด เท่านั้น แต่ยังต้องเป็นแนวคิดที่มีการนำไปปฏิบัติ   ซึ่งหากพิจารณาทุกมิติ จะพบว่าความหมายของคำๆ นี้สามารถครอบคลุมตั้งแต่สิ่งที่จับต้อง มองเห็นได้  ไปจนถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น แนวคิด หรือทฤษฎีใหม่ ฯลฯ

นวัตกรรมอาจเป็นได้ทั้งสิ่งของ (thing)  กระบวนการ (process) หรือ การบริการ  (service) และสามารถเกิดขึ้นในรูปแบบของการพัฒนาสิ่งใหม่แบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลง แนวทางปฏิบัติ หรือ อาจเป็นการปรับปรุงการปฏิบัติงานและเทคนิคที่มีอยู่ก่อนแล้วในลักษณะการต่อยอด ปรับปรุง หรือ พัฒนานวัตกรรมเดิมให้ดีมากยิ่งขึ้น  กล่าวโดยสรุป นวัตกรรม คือ

  • แนวคิดที่ถูกนำไปดำเนินการ ไม่ใช่แค่เพียงสิ่งที่เขียนบนกระดาษ แต่ต้องมีการนำไปใช้  อีกนัยหนึ่ง กระบวนการในการนำนวัตกรรมไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ  เพราะหากมีการคิดค้น แต่ไม่มีการนำไปใช้ นวัตกรรมเหล่านั้นก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย
  •  แนวคิดที่มีคุณค่าแบบยั่งยืน นั่นคือ ควรเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรหรือสังคมในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ โดยมีการวัดประเมินและปรับปรุงผลการดำเนินการตลอดเวลา
  • เป็นสิ่งที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับกลุ่มคนซึ่งปรารถนาและต้องการให้เกิดสิ่งนี้หรือบริการเหล่านี้ขึ้น

 2. นวัตกรรมเกี่ยวข้องอย่างไรกับกรมราชทัณฑ์

ด้วยเหตุที่กรมราชทัณฑ์ไม่อาจสามารถหลีกเลี่ยงกระแสการเปลี่ยนไปของโลกได้ ทำให้กรมฯ เลือกที่จะก้าวนำสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง เพราะการหยุดนิ่งอยู่กับที่ในขณะที่ผู้อื่นก้าวเดินไปข้างหน้าก็เสมือนการเดินถอยหลัง แต่การจะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำและ เจ้าหน้าที่ในองค์กร ตลอดจนบริบทสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะหากผู้นำมีแนวคิดก้าวหน้าไปเพียงใด แต่หากไม่มีการยอมรับและนำนโยบายไปปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแล้ว  แนวคิดเหล่านั้น ก็ไม่อาจส่งผลเป็นรูปธรรม  ดังนั้น ขั้นตอนหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างกรมราชทัณฑ์ให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม นั่นคือ การส่งเสริมให้บุคลากรมีความตื่นตัว พร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และยังรวมถึงการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่มีการคิดค้นหาสิ่งประดิษฐ์หรือแนวคิดใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงาน   แน่นอนว่ากระบวนการที่กล่าวมาไม่ใช่สิ่งที่ง่ายและสามารถเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หากแต่ต้องใช้เวลาปรับตัวและความพยายามอย่างสูงเพื่อทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งจะส่งผลให้คงอยู่ยาวนานต่อเนื่อง มากกว่าเป็นเพียงแนวคิดตามกระแส ความนิยมที่ผ่านมาและผ่านไปอย่างรวดเร็ว

การปลูกฝังแนวคิดด้านนวัตกรรมสามารถเกิดได้หลายรูปแบบ แต่คุณลักษณะหนึ่งของนักคิดค้นที่พบเห็นคือ คนเหล่านี้จะต้องมีความสนใจใฝ่รู้ ช่างสังเกตตลอดเวลา และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ความกระหายในการเป็น คนแรก  ที่สามารถคิดหรือทำอะไรให้เกิดขึ้น โดยปกติคนกลุ่มนี้จะรู้สึกเสียใจหรือเจ็บใจ หากว่าสิ่งที่คิดขึ้นมานั้น ได้ถูกคนอื่นๆ คิดแซงหน้าไปก่อนแล้ว ส่งผลให้สิ่งที่ตนเองคิดนั้นเป็นเพียงงานที่สร้างมาซ้ำ หรือ ไม่ใช่ต้นฉบับคนคิดที่แท้จริง

เมื่อกล่าวถึงนวัตกรรมในกรมราชทัณฑ์ นั่นคือ การคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา ที่เกี่ยวเนื่องกับภารกิจหลักของงานราชทัณฑ์ ซึ่งคงไม่พ้นเรื่องของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ทั้งในด้านการควบคุมและการแก้ไขพฤตินิสัย

3. นวัตกรรมที่ผ่านมาของกรมราชทัณฑ์ 

กรมราชทัณฑ์เองได้พยายามดำเนินนโยบายทางด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาและก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม โดยสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นทั้งด้านนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ตลอดจน นวัตกรรมแนวคิดต่างๆ แม้ว่าในช่วงเริ่มต้น ที่วัฒนธรรมองค์กรยังไม่ฝังรากลึก ก้าวแรกที่สามารถทำได้ คือ  การลองนำนวัตกรรมเทคโนโลยีของต่างประเทศ ที่ได้มีการคิดค้นมาแล้ว มาปรับให้เข้ากับบริบทสภาพแวดล้อมทางราชทัณฑ์ของประเทศไทยเอง

สำหรับนวัตกรรมที่กรมราชทัณฑ์ได้ริเริ่มนำมาใช้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สามารถแบ่งได้เป็นประเภทกว้างๆ ดังนี้

  • นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี  เช่น

- การเยี่ยมญาติและฝากขังทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)

- การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

- การจัดตั้งศูนย์เผยแพร่ผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ (E-Prison Product)

  • นวัตกรรมในด้านการปฏิบัติงาน เช่น

- การจัดทำมาตรฐานความโปร่งใสเรือนจำ 5 ด้าน

- การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาการราชทัณฑ์

- การจัดทำมาตรฐานเรือนจำ

- การให้บริการประชาชนแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)

  • นวัตกรรมด้านโปรแกรมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง อาทิ เช่น

- โปรแกรมการแก้ไขผู้ต้องขังกระทำผิดทางเพศ

- โปรแกรมการปรับพฤติกรรมผู้กระทำผิดที่ใช้ความรุนแรง

- โครงการราชทัณฑ์เชิงสมานฉันท์

ในอนาคต บทบาทการเป็นองค์กรนวัตกรรมของกรมราชทัณฑ์มีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดการพัฒนา คิดค้นและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ภายหลังจากที่มีการปลูกฝังค่านิยมต่างๆ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จนเกิดเป็นวัฒนธรรมและเกิดการเรียนรู้ขึ้นในองค์กร แม้มีหลายคนเชื่อว่า การคิดค้นนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ยาก และต้องอาศัยความเป็นอัจฉริยะของแต่ละบุคคล แต่ความจริงแล้ว การสร้างนวัตกรรมถือเป็นกระบวนการที่ทุกคนสามารถฝึกฝนและเรียนรู้ได้ นอกจากนั้น การคิดค้นอาจเกิดขึ้นจากบุคคลๆ เดียว กลุ่มคนหลายคน หรือ ทั้งองค์กร ซึ่งหากกรมราชทัณฑ์สามารถดำเนินกระบวนการต่างๆ ได้สำเร็จลุล่วง ก็จะส่งผลให้กรมราชทัณฑ์กลายเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมอย่างแท้จริง

คำถามคือ คุณพร้อมที่จะเป็นนวัตกร หรือ คุณพร้อมที่จะเป็นคนแรกที่ได้คิดค้นอะไร หรือยัง?

 


[1] มีรากศัพท์มาจากคำว่า innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา

[2] อ่านเพิ่มเติมได้จาก http://www.innovationwatch.com

หมายเหตุ บทความเผยแพร่ครั้งแรกในวารสารราชทัณฑ์ปีพ.ศ. 2548

 

หมายเลขบันทึก: 419281เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท