เรื่องราวในก้าวสุดท้ายของการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย : ทางที่ยังต้องเดินของอาจารย์อายุ นามเทพ


ก้าวนี้จึงเป็นก้าวสำคัญ ที่เราหวังว่าเรื่องราวการต่อสู้ของอาจารย์อายุจะสิ้นสุดลง ...แต่ถึงอย่างไรหากไม่เป็นไปไปดังหวัง เราก็เชื่อว่ามวลชนทางวิชาการและมวลมิตรที่รักใคร่ของอาจารย์อายุ ตลอดจนสังคมไทยก็จะยังคงโอบรับอาจารย์อยู่ในความดูแลของการแก้ไขปัญหาต่อไป ขอให้ผลของการที่อาจารย์ไม่เคยหยุดทุ่มเทให้กับการสร้างและพัฒนางานดนตรีโดยเฉพาะกับเยาวชนไทยทั้งรุ่นใหม่และเก่าจำนวนมาก จะทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นและช่วยแก้ไขปัญหาของอาจารย์ให้จบลงโดยไม่ต้องมีภาคต่ออีก

เรื่องราวในก้าวสุดท้ายของการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย  : ทางที่ยังต้องเดินของอาจารย์อายุ  นามเทพ[๑] 

การขอแปลงสัญชาติไทย...วิธีการหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย

การขอแปลงสัญชาติเป็นไทย เป็นวิธีการหนึ่งของการทำให้บุคคลธรรมดามีสัญชาติไทยได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทย ซึ่งเรื่องแนวคิดการแปลงสัญชาติให้กับบุคคลต่าวด้าวในประเทศไทยนั้นเป็นวิธีการที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖  ในพระราชบัญญัติแปลงชาติ รศ.๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔ )[๒] โดยกฎหมายฉบับนี้ได้รับพระราชทานอนุญาตเนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นว่ามีคนต่างด้าวจำนวนมากที่ประสงค์จะแปลงสัญชาติเป็นไทย  จึงทรงโปรดให้กระทรวงการต่างประเทศ[๓]เข้ามารับผิดชอบในการอนุญาตการแปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าว[๔] ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ระบุคุณสมบัติของคนต่างด้าวที่จะมายื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยไว้หลายประการ

และโดยสรุปมีแนวคิดที่ให้คนต่างด้าวดังต่อไปนี้สามารถขอมีสัญชาติไทยได้ คือ (๑)คนต่างด้าวที่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยหรือมีแนวโน้มอย่างมากว่าจะมีความกลมกลืนกับสังคมไทยเพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสังคมไทย[๕] อาทิเช่น คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะนั้นเคยมีสัญชาติไทยมาก่อนหรือมีบุพการีที่ได้แปลงสัญชาติเป็นไทย ซึ่งจะสามารถยื่นขอแปลงชาติกับรัฐบาลไทยได้  และหากเป็นกรณีที่คนต่างด้าวนั้นเป็นภรรยาหรือบุตรของคนที่ได้รับการอนุญาตแปลงสัญชาติเป็นไทย ภรรยาหรือบุตรนั้นก็จะได้รับอนุญาตให้มีสัญชาติไทยตามบิดาได้ด้วยทันทีโดยมิต้องขอแปลงชาติด้วยตนเอง [๖]

และอีกแนวคิดหนึ่งคือ (๒) คนต่างด้าวที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย ในคุณสมบัติข้อนี้เป็นการโอบรับผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยให้เข้ามามีความใกล้ชิดและกลมกลืนกับสังคมไทยมากขึ้น พร้อมที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยต่อไป และแนวคิดดังกล่าวก็ยังคงปรากฎอยู่ในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทยที่มีผลอยู่ในปัจจุบัน [๗] ซึ่งยังคงมีบทบัญญัติว่าด้วยการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยหรือทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยสามารถร้องขอมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติได้ 

 สัญชาติไทยเพื่ออาจารย์อายุ  นามเทพ... คนไร้รัฐที่ถูกทอดทิ้ง

กรณีของอาจารย์อายุ  นามเทพ คนต่างด้าวซึ่งเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี[๘] ได้ทำคุณประโยชน์มากมายแก่วงการวิชาการด้านดนตรีของประเทศไทย เป็นภรรยาของคนสัญชาติไทย และมีบุตร ๒ คนเป็นคนสัญชาติไทย จนมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติของอาจารย์อายุ โดยการขอแปลงสัญชาติตามมาตรา๑๑ (๑) พรบ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ [๙]  

ดังนั้นการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยจึงอาจเป็นทางออกให้กับการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยอีกด้วย และเรื่องราวของอาจารย์อายุนั้นเนื่องจากเป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่งถึงคุณงามความดีและคุณประโยชน์ต่างๆ ที่อาจารย์อายุทำให้กับสังคมไทย[๑๐]  ทุกภาคส่วนของสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการวิชาการต่างๆ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยโอบรับอาจารย์อายุเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างมีความรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติให้กับอาจารย์อายุเสียที เพื่อประโยชน์ที่จะคุ้มครองและรักษาบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญด้านงานดนตรีและวงวิชาการของประเทศชาติ 

การเดินทางต่อสู้เพื่อสัญชาติไทยของอาจารย์อายุ  นามเทพ...และครอบครัว โพ”            

เนื่องจากคุณพ่อของอาจารย์อายุ คือ ดร.ยอร์ช แมนชรา โพ คนเชื้อชาติกระเหรี่ยงในประเทศพม่าซึ่งเป็นบุคคลชั้นนำที่ดำเนินการเป็นปฏิปักษ์เพื่อกอบกู้อิสรภาพจากรัฐบาลพม่า  ในปีพ.ศ. ๒๕๐๒  คุณพ่อของอาจารย์อายุได้อพยพครอบครัวเข้ามาขอลี้ภัยทางการเมืองกับประเทศไทยโดยขออาศัยอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งขณะนั้นอาจารย์อายุมีอายุได้เพียง ๑ ปี 

คุณพ่อของอาจารย์อายุได้ทำหนังสือขอลี้ภัยอย่างเป็นทางการกับประเทศไทยถึงสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี[๑๑] และได้ขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้กับตนเองและครอบครัว ซึ่งพันเอกแสวง  เสนาณรงค์  รองเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มีหนังสือลงนามแทนเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ถึงดร.ยอร์ช แมนชรา โพ ความตอนหนึ่งว่า ...โดยหลักการแห่งมนุษยธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการผ่อนผันให้ท่านและครอบครัวได้ลี้ภัยในประเทศไทยต่อไป ..ส่วนการที่ท่านจะขอแปลงชาติเป็นไทยนั้นก็จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายที่ได้กำหนดไว้         

 เรื่องราวของอาจารย์อายุนับแต่วันที่ดร.ยอร์ช  ผู้เป็นพ่อขอแปลงสัญชาติไทยจนมาถึงวันนี้ที่เป็นที่รับรู้ของสังคม  อาจารย์อายุและครอบครัวผ่านกับการเผชิญกับปัญหาของการตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติมามาก ตั้งแต่เรื่องการไม่มีบัตรประจำตัว การเรียนหนังสือ การพัฒนาตนเองในด้านดนตรีซึ่งอาจารย์อายุเรียกว่าเป็นพรสวรรค์ของตนเอง  ปัญหาหลายอย่างได้รับการแก้ไขก็มีทั้งประสบความสำเร็จบ้างและล้มเหลวบ้าง แต่เรื่องของการได้รับการบันทึกตัวบุคคลจากรัฐไทยและการมีสัญชาติไทยนั้นไม่เคยสำเร็จเลย อาจารย์อายุจึงเรียกตนเองว่า มนุษย์ล่องหน

แต่การเป็นมนุษย์ล่องหน หรือ "ไร้ตัวตน"ของอาจารย์อายุ มิได้นำมาซึ่งความสูญเสียในสิ่งดีๆ มาให้เฉพาะแต่กับตัวของอาจารย์เอง  เมื่ออาจารย์เติบโตมาให้กำเนิดลูกของคนสัญชาติไทย ๒ คน ลูกชายของอาจารย์ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เมื่อวันที่อาจารย์เข้าได้ไปทุ่มเทชีวิตและการทำงานให้กับวงวิชาการของประเทศไทย โอกาสในชีวิตของอาจารย์และลูกศิษย์จำนวนมากที่จะพัฒนาศักยภาพของวงวิชาการด้านดนตรีของไทยก็ถูกจำกัดไปด้วยความไร้ตัวตนของอาจารย์  โดยเฉพาะหลายครั้งที่อาจารย์ได้รับเชิญ หรือ ได้รับทุนสนับสนุนให้ไปร่วมแข่งขันหรือศึกษาทางดนตรีในต่างประเทศ 

อีกครั้งในเส้นทางเดิน...ที่ดูจะมีความหวัง           

อาจารย์อายุ เล่าว่าตนและคนในครอบครัวได้เคยไปเดินเรื่องติดต่อหน่วยงานราชการจำนวนมากทั้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร เพื่อหาแนวทางและขอความช่วยเหลือเรื่องสถานะบุคคลตามกฎหมายของตนและครอบครัวโพ  เส้นทางเดินนี้อาจารย์เหยียบย่ำมาตั้งแต่สมัยที่คุณพ่อและสามีอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ แต่อาจารย์ยังไม่เคยหยุดนิ่งที่จะให้ถึงเส้นชัย หลายครั้งที่เหนื่อยและทดท้ออาจารย์ก็มีหยุดพักบ้าง

จนเมื่อ ๒-๓ ปีก่อน หลังจากที่รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กาญจนะจิตรา สายสุนทร[๑๒] ได้รับทราบเรื่องราวปัญหาของอาจารย์อายุ อาจารย์พันธุ์ทิพย์ ร่วมกับอาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล[๑๓] อาจารย์พันธุ์ทิพย์ และ อาจารย์วรรณทนี ร่วมกับคณะผู้ช่วยเหลือที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลืออาจารย์อายุเป็นจำนวนมาก[๑๔] ก็ได้ดำเนินการแก้ไขตามแนวคิดที่จะจัดการปัญหาให้กับอาจารย์อายุได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และ กฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทย ภายหลังจากการรวบรวมพยานหลักฐาน เอกสารต่างๆ และการถ่ายทอดปัญหาและแนวคิดในการแก้ไขให้กับสังคมไทย

อาจารย์วรรณทนีได้พาอาจารย์อายุ ไปยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อกลางปี ๒๕๔๘ จนกระทั่ง เกือบ ๑ ปี ผ่านไปเรื่องก็ยังไม่ส่งมายังส่วนกลางคือ สำนักงานตำรวจสันติบาล แต่เมื่อในที่สุดเมื่ออาจารย์พันธุ์ทิพย์ และคณะผู้ช่วยเหลือฯ ได้ชี้แจงต่อสถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง คำขอของอาจารย์อายุก็ถูกส่งมาพิจารณาที่สำนักงานตำรวจสันติบาล[๑๕] และผ่านไปยังคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย [๑๖]         

เพราะความกระชั้นชิดของเวลาในขณะที่คำขอของอาจารย์ยังคงติดอยู่ในความดูแลของคณะทำงาน อาจารย์อายุจะต้องเดินทางไปร่วมการแข่งขันทางดนตรีที่ประเทศจีนในฐานะตัวแทนของประเทศไทย เราจึงได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการเดินทางเพื่อไปร่วมการแข่งขันครั้งนี้ก่อน โดยที่เราก็มีความหวังมากที่เชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเห็นคุณประโยชน์และคุณงามความดีของอาจารย์อายุเหมือนดังที่คนทั้งสังคมรับทราบและยอมรับ           

ก้าวสุดท้ายของการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย  : ทางที่ยังต้องเดินของอาจารย์อายุ  นามเทพ         

ขณะนี้เราเพิ่งได้รับทราบข่าวว่า เรื่องของอาจารย์ได้รับการพิจารณาจากคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประชุมของเลขานุการคณะทำงานเพื่อเตรียมขึ้นเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เราลองสอบถามจากผู้รู้ถึงขั้นตอนกระบวนการหลังจากการพิจารณาของคณะทำงานฯแล้ว ทำให้เรายังต้องสูดลมหายใจอีกเฮือกใหญ่ เนื่องจากจะเป็นช่วงที่สำคัญมากในก้าวที่เราภาวนาให้เป็นก้าวสุดท้ายของอายุในเส้นทางเดินที่ยิ่งใหญ่และยาวนานมากเช่นนี้          

หลังจากที่คณะทำงานฯ ได้พิจารณาเรื่องของอาจารย์อายุ ซึ่งเท่าที่ทราบทางคณะทำงานฯ จะคงเพียงนำเสนอเรื่องและข้อเท็จจริงทั้งหมดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ดังนั้นเราได้พยายามทำทุกอย่างให้รัฐมนตรีมหาดไทยจะได้รับทราบและเห็นคุณประโยชน์ของอาจารย์ และจะพิจารณาอนุมัติให้สัญชาติไทยให้กับอาจารย์  แนวคิดในการโอบรับบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศให้เป็นคนสัญชาติไทยตามพระบรมราชานุญาตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๖ ก็จะเป็นได้จริง          

 แต่ทั้งนี้ เรื่องราวที่อาจเป็นก้าวสุดท้ายนี้ยังไม่จบง่ายๆ คือ โดยปกติกรณีทั่วไปในทางปฏิบัติของการพิจารณาคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะทำงานฯ แล้ว

- คณะทำงานฯ จะต้องจัดทำรายงานการประชุมและจะต้องทำการรับรองการประชุมโดยคณะทำงานทุกท่านเสียก่อนว่าจะมีการแก้เพิ่มเติมหรือไม่                   

 - หากรับรองรายงานการประชุมเรียบร้อยแล้ว คณะทำงานฯ จะส่งมติที่ประชุมให้กับสำนักงานตำรวจสันติบาล ผู้เสนอเรื่อง และทางสำนักงานตำรวจสันติบาลจะส่งมติที่ประชุมและสำนวนของอาจารย์อายุ กลับมาที่คณะทำงานฯ                  

- คณะทำงานฯ จะนำเสนอเรื่องให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา                  

- เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วก็จะส่งเรื่องกลับมาที่คณะทำงานฯ                  

- หากมีรายชื่อที่รัฐมนตรีฯ อนุญาต ทางคณะทำงานก็จะจัดทำรายชื่อตามที่พิจารณาส่งไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล                   

- เพื่อที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงปรมาภิไธย                  

 -เมื่อลงพระปรมาภิไธยแล้วก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และทางสำนักงานเลขาธิการนายกฯ จะแจ้งเป็นหนังสือกลับมายังคณะทำงานฯ                   

-  คณะทำงานฯ โดยการทำงานของสำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะส่งแจ้งกลับไปที่สันติบาล และ จะทำหนังสือแจ้งไปยังอำเภอหรือเขตทำการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรและทำเรื่องประกาศ                   

 - ทางอำเภอหรือเขตจะเรียกผู้ได้รับอนุญาตมาแสดงตนและทำการสาบานตน พร้อมทั้งดำเนินเรื่องเพื่อให้มีบัตรประจำตัวประชาชน และ เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน                  

เวลาที่ใช้ในขั้นตอนต่างๆ หลายขั้นตอนก็ไม่สามารถระบุได้ และไม่ทราบได้ว่าจะนานเท่าไหร่ อย่างเช่น บางครั้งที่เสนอเรื่องเพื่อพิจารณาของรัฐมนตรีกท.มหาดไทยแล้ว แต่รัฐมนตรีฯ ไม่พิจารณาก็อาจค้างเช่นนั้นเป็นปีๆ ก้าวนี้จึงเป็นก้าวสำคัญ ที่เราหวังว่าเรื่องราวการต่อสู้ของอาจารย์อายุจะสิ้นสุดลง ...

แต่ถึงอย่างไรหากไม่เป็นไปไปดังหวัง เราก็เชื่อว่ามวลชนทางวิชาการและมวลมิตรที่รักใคร่ของอาจารย์อายุ ตลอดจนสังคมไทยก็จะยังคงโอบรับอาจารย์อยู่ในความดูแลของการแก้ไขปัญหาต่อไป ขอให้ผลของการที่อาจารย์ไม่เคยหยุดทุ่มเทให้กับการสร้างและพัฒนางานดนตรีโดยเฉพาะกับเยาวชนไทยทั้งรุ่นใหม่และเก่าจำนวนมาก จะทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นและช่วยแก้ไขปัญหาของอาจารย์ให้จบลงโดยไม่ต้องมีภาคต่ออีก                                 



[๑] เขียนขึ้นเพื่อเรียบเรียงความเป็นมาต่างๆ ของเรื่องราวเกี่ยวกับอาจารย์อายุ ที่กำลังปรากฎเป็นที่สนใจของสังคม เนื่องจากเรื่องของอาจารย์อายุนี้มีอยู่ในบทความหลายเรื่องและหลายวัตถุประสงค์ จึงขอเรียบเรียงทั้งหมดอย่างสั้นๆ และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องการให้ทุกท่านรับทราบถึงข้อเท็จจริงในช่วงสุดท้ายก่อนที่จะทราบว่าการแก้ไขปัญหาของอาจารย์อายุจะสิ้นสุดลงในอนาคตอันใกล้นี้หรือยังจะมีภาคต่อไปอีก

[๒] มีผลระหว่างวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ จนถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พศ. ๒๔๙๕
[๓] แต่ในปัจจุบัน ผู้รักษาการตามกฎหมายสัญชาติ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
[๔] จากบทความเรื่อง“แนวคิดเรื่องสัญชาติไทย : สินค้านำเข้าจากตะวันตก???”โดยรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตราสายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://gotoknow.org/blog/people-management/38311
[๕] เป็นไปตามหลักจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงของหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลว่าด้วยการจัดสรรบุคคลที่มีลักษณะระหว่างประเทศ
[๖] ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพทางครอบครัวซึ่งเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในเรื่องของการส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหน่วยครอบครัว หรือหลักความเป็นเอกภาพของครอบครัว (Family Unity) แต่ในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทยฉบับต่อๆ มา หลักการนี้ยังคงอยู่มีการอนุญาตให้ขอแปลงชาติได้แต่ผลทางกฎหมายเปลี่ยนและมีระเบียบวีธีการมากขึ้น คือ ภรรยาต่างด้าวของชายสัญชาติไทยจะต้องยื่นขอแปลงสัญชาติด้วยตนเอง และบุตรผู้เยาว์ของผู้ที่จะขอแปลงชาติจะต้องได้รับการขอแปลงชาติพร้อมกับบุพากรีที่จะทำการแปลงสัญชาตินั้น หากไม่ขอไว้บุตรผู้เยาว์นั้นก็จะไม่ได้รับอนุญาตและต้องรอจนตนเองบรรลุนิติภาวะจึงจะขอแปลงชาติให้ตนเองได้
[๗] พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘  แก้ไขและเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ และ พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่๓ พ.ศ.๒๕๓๕ มีผลตั้งแต่วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘
[๘]โปรดดู  อายุ (โพ) นามเทพ : คนไร้รัฐและมนุษย์ล่องหน โดยอายุ นามเทพ เมื่อวันที่ ๑๖ พย. ๒๕๔๘ ใน http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=230&d_id=229  และ ชีวิตดั่งนิยายของนักเปียโนไร้สัญชาติโดย ธันวา สิริเมธี, เผยแพร่ในสาละวินโพสต์ ฉบับที่ ๒๒ (วันที่ ๑ เมษายน๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๘), http://www.salweennews.org/dream%20sp%2022.htm   
[๙] โปรดดู ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะให้สัญชาติไทยแก่คนหนีภัยความตายจากแผ่นดินพม่ามาสู่แผ่นดินไทย : กรณีอาจารย์อายุ นามเทพ, สรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เผยแพร่ในhttp://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=128&d_id=128&page=1 
[๑๐] ดังจะเห็นได้จาก แรงสนับสนุนของสังคมมากมายที่ขอให้มีการพิจารณาอนุมัติสัญชาติไทยให้กับอาจารย์อายุ โดยเหตุที่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมไทย  โปรดดู   ขอน้ำใจ "ไทย" ให้ "อายุ นามเทพ" บุคคลากรแห่งความรู้ด้านดนตรีhttp://gotoknow.org/blog/tutorial/37774 ,ขอความช่วยเหลือให้แก่อาจารย์อายุ นามเทพ...เพชรน้ำหนึ่งทางวิชาการดนตรี...คนดีที่ประเทศไทยลืมhttp://gotoknow.org/blog/msa-by-law/37553,จาก แม่ยาง ถึง อายุ เมื่อคนนอกพูดถึง หญิง กะเหรี่ยง??   ชื่อผู้กระทู้: วุฒิ วันที่: 17 ก.ค. 49  http://www.karenpeople.com/bard/question.asp?GID=83,ผมขอ "แจก F" (เพื่อให้กำลังใจ อ. อายุ นามเทพ) http://gotoknow.org/blog/averageline/38107, จม.ขอRe-Entry Visa ให้กับอาจารย์อายุ นามเทพ http://gotoknow.org/blog/chonruitai/36742, ข่าวอาจารย์อายุ:ได้รับวีซ่ากลับเข้าประเทศไทยแล้วแต่ยังไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมาย http://gotoknow.org/blog/chonruitai/38389 ,จดหมายจากคุณพ่อไพศาล:เลขาธิการคกก.คาทอลิกเพื่อพิธีกรรม...สนับสนุนการช่วยเหลืออาจารย์อายุhttp://gotoknow.org/blog/chonruitai/38613, จม.จากซิสเตอร์รวงกาญจนาถึงนายกฯ:ขอความคุ้มครองแก่วงวิชาการ..ในการให้ความช่วยเหลืออาจารย์อายุhttp://gotoknow.org/blog/chonruitai/38761, เว็บเพจที่เหล่าลูกศิษย์ทำขึ้นเพื่อ อ.อายุ (เต็มไปด้วยรูปแห่งความรักระหว่าง อ.อายุ และลูกศิษย์) http://www.sunshineofmyart.com/ayu/ ,เพลงที่ลูกศิษย์แต่งให้เพื่อเล่าเรื่องความไร้รัฐและความดีของอ.อายุ,http://www.sunshineofmyart.com/ayu/ayusong.htm

เพลงที่ดร.ธวัชชัย ปิยวัฒน์ แต่งให้เป็นกำลังใจในการต่อสู้ของอ.อายุhttp://usablelabs.com/download/FFF.mp3

[๑๑] หนังสือคำร้องขออยู่ในประเทศไทยและขอความช่วยเหลือโอนสัญชาติเป็นไทย ลงวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ของ ดร.ยอร์ช แมนชรา โพ
[๑๒]รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[๑๓] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยพายัพ
หมายเลขบันทึก: 41802เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2006 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ข้อคิดเห็นโดย archanwell เมื่อ พฤ. 20 ก.ค. 2549 @ 23:54 จาก 58.9.101.50 ลบ อยากเห็นการทำงานแบบนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับกลุ่มแม่ไร้สัญชาติที่เหลือ คุณเซาะเล้ง คุณแม่กิตติพงษ์ ทะยอยทำออกมาซิคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท