6. วัฒนธรรม HR Change Champion ของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์


6.วัฒนธรรม HR Change Champion ของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์

 

 

 

"วัฒนธรรม  HR  Change Champion 

ของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์"

 

               วิวัฒนาการของการบริหารทรัพยากรบุคคลจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน  ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  โดยจะสังเกตได้ว่ามีชื่อเรียกการบริหารทรัพยากรบุคคลอยู่มากมายหลายชื่อ  เช่น Industrial Relations, Employee Relations, Personnel Management และ Haman Resource Management สำหรับชื่อเรียกที่แตกต่างกันนั้นมิได้มีสาระสำคัญเท่ากับบริบท (HR Practices) ของการบริหารทรัพยากรบุคคล  กล่าวคือ  ในทุกยุคทุกสมัยการบริหารทรัพยากรบุคคลจะมีความเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมขององค์กรอยู่เสมอ หากสภาพแวดล้อมมีความเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้บทบาทของนักบริหารงานบุคคลเปลี่ยนตามไปด้วย

                มีความเชื่อว่า  “ขีดความสามารถขององค์กรขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของคน” (Organization’s Capability Depends upon Human Competency) ดังนั้น  จึงมีความเชื่อว่า  “คน”  คือ  ทรัพยากรที่มีค่าและสำคัญที่สุดที่จะทำให้องค์การสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จลุล่วงได้  แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทุกคนในองค์การที่จะทำได้  หากแต่คนนั้นจะต้องเป็นคนที่มีทักษะ  ความรู้  ความสามารถ  เพราะหากคนในองค์การไม่มีทักษะ  ความรู้และความสามารถแล้ว  องค์การก็จะหยุดนิ่งอยู่กับที่และไม่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้ดำเนินไปได้

                หากกล่าวถึงนักบริหารทรัพยากรมนุษย์แล้ว  หลายคนคงนึกถึงบุคลากรที่ปฏิบัติงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคล  ซึ่งมีหน้าที่เสมือนหน้าที่เสมือนเป็นผู้บริหารจัดการกิจการภายในองค์กร  รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริหารในด้านการบริหารจัดการบุคลกร  บทบาทของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์  จึงอาจถูกมองเป็นเพียงแค่ผู้ควบคุมระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ภายในองค์กร  ซึ่งในสายตาของผู้บริหารนั้นน่าจะพึงพอใจกับบทบาทของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถนำเอานโยบายต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  แต่สำหรับบทบาทนี้ในมุมมองของพนักงานคนอื่น  อาจมองว่าเป็นผู้ที่มีความเข้มงวดต่อนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหาร  โดยไม่คำนึงถึงความยืดหยุ่นในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ  โดยเฉพาะในการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและมีความจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการใช้กฎระเบียบอย่างที่เคยเป็นมา

                ในปัจจุบันบทบาทของนักบริหารทรัพยากรบุคคลค่อย ๆ มีการปรับเปลี่ยนไปมากจากที่เคยเป็นเพียงผู้บริหารกิจการภายใน  ได้มีการเน้นที่บทบาทการบริหารงานบุคคลเพื่อบริการลูกค้าเป็นสำคัญ (Customer Centre)  บทบาทการเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) กับผู้จัดการฝ่ายอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กรไปสู่ความสำเร็จ  อีกทั้งยังเป็นผู้มีบทบาทสร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงาน (Employee Advocate)  ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ขององค์กรด้วย  ซึ่งสำหรับบทบาททั้ง  3  บาทบาท  ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น  เป็นบทบาทที่ถือว่ามีความท้าทายต่อนักบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างมาก  แต่อีกบทบาทหนึ่งที่นักบริหารทรัพยากรบุคคลจะต้องมี  คือ  การเป็นผู้นำให้กับพนักงานคนอื่น ๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่ง  หรือที่เราอาจเรียกย่อ ๆ ว่า HR Change Champion  ซึ่งอาจหมายถึง  การสั่งสมเพิ่มพูนความรู้  ความสามารถหรือสมรรถนะในตัวของนักบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อที่จะสามารถนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่พนักงานในองค์กรให้ปฏิบัติงานได้บรรลุยุทธศาสตร์ขององค์กร

                ในสมัยก่อน  Schine  (1997)  กล่าวว่า  บทบาทของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในองค์กรส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กร  แต่ในปัจจุบันนักบริหารทรัพยากรบุคคลได้เข้ามามีส่วนร่วมการนำการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น  โดยจะเห็นได้ว่า  ผู้บริหารทรัพยากรมนุษย์มีการบริหารที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น  เน้นที่การพัฒนาระบบการจูงใจพนักงานให้ปฏิบัติงานเต็มความสามารถ  อีกทั้งยังเน้นที่การพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความรู้  ความสามารถมากขึ้นด้วย  ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง  บริษัท GE (General Electric) ที่เน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีมาตรฐานการทำงานที่สูง  เพื่อเปลี่ยนองค์กรสู่ความเป็นหนึ่ง  การนำการเปลี่ยนแปลงนั้น  นักบริหารทรัพยากรบุคคลอาจจะต้องคำนึงถึงระบบบริหารงานบุคคล (HR Function) ในองค์กรอยู่เสมอ ๆ เพื่อตรวจสอบว่ามีความสอดคล้องต่อสภาพแวดล้อมและบริบทของธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่หรือไม่  ทั้งนี้  เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ที่จะผลักดันให้พนักงานในองค์กรเกิดความเปลี่ยนแปลงตามสภาพสิ่งแวดล้อมและบริบทของธุรกิจในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น  จะต้องสร้างระบบแรงจูงใจให้ตรงกับความต้องการของพนักงานในสภาพแวดล้อม  อีกทั้งยังต้องสามารถพัฒนาพนักงานให้มีความทันสมัยต่อวิทยาการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และหากนักบริหารทรัพยากรบุคคลสามารถทำได้ เช่นนั้นก็จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง HR Change Champion ที่สมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน...

 

ที่มา  :  ดร.มาฆะ  ภู่จินดา  หนังสือกระแสคน  กระแสโลก 

สำนักงาน ก.พ. หน้า 57 – 59  กันยายน  2553

(เปิดโลกความรู้  พัฒนาทุนมนุษย์)

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์  ฉบับประจำวันที่  3 – 6  เมษายน  2552

 

   

 

หมายเลขบันทึก: 416263เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2010 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์...

-“คน”  คือ  ทรัพยากรที่มีค่าและสำคัญที่สุดที่จะทำให้องค์การสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จลุล่วงได้  แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทุกคนในองค์การที่จะทำได้  หากแต่คนนั้นจะต้องเป็นคนที่มีทักษะ  ความรู้  ความสามารถ  เพราะหากคนในองค์การไม่มีทักษะ  ความรู้และความสามารถแล้ว  องค์การก็จะหยุดนิ่งอยู่กับที่และไม่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้ดำเนินไปได้

-ขอบคูณครับ

-สบายดีใน "วันสุข" นะครับ

เป็นศาสตร์การบริหารที่ใหม่มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท