อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ปัญหาที่ท้าทาย


(O-net) ของนักเรียน

อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ปัญหาที่ท้าทาย

     การจะพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้รายวิชาต่าง ๆ ทั้งภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ หรืออื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลสูงสุดได้นั้น ในเบื้องต้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอ่านออกเขียนได้เป็นอันดับแรก เพราะการอ่านออกเขียนได้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งผลต่อคุณภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน หากปล่อยปละละเลยไม่มีการพัฒนาแก้ไขในแนวทางที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก ก็คงยากที่จะพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวเดินต่อไปอย่างมีคุณภาพได้

   

    ปัจจุบันเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่หันไปให้ความสนใจกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกมอินเทอร์เน็ต เป็นเหตุให้สถิติการอ่านหนังสือลดลงไปทุกที ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า การอ่านหนังสือของเด็กไทย จากเดิม 52 นาทีต่อวันซึ่งนับว่าน้อยมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับการอ่านของเด็กชาติอื่น อย่างเช่นญี่ปุ่น สิงคโปร์ ได้ลดลงเหลือเพียง 39 นาทีต่อวัน ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าห่วงใยยิ่ง หากยังไม่ร่วมกันหาทางแก้ไข ก็จะส่งผลให้คุณภาพของเด็กไทยลดลงไปเรื่อยๆ

     แม้ว่าภาพความสำเร็จของเด็กไทยที่สามารถไปคว้ารางวัลในเวทีแข่งขันระดับโลกมีให้เห็นกันบ่อยครั้ง แต่นั่นเป็นจำนวนนักเรียนเพียงเล็กน้อยซึ่งมาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเขตกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น จากรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่า นักเรียนไทยอายุ 15 ปี ร้อยละ 37 มีความสามารถในการอ่านต่ำมาก ซึ่งส่งผลให้การเรียนวิชาอื่น ๆ อ่อนด้อยตามไปด้วย และจากรายงานผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ  ขั้นพื้นฐาน (O-net) ของนักเรียนส่วนใหญ่ก็พบว่าทำคะแนนได้ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในทุกรายวิชา ส่วนการประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนภาษาไทยของนักเรียนทุก ระดับ ตั้งแต่ปี 2539 ถึงปัจจุบันก็พบว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 เช่นกัน

     ในขณะที่ผู้ประเมินจากการประเมินคุณภาพมาตรฐานสถานศึกษาภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบสอง (พ.ศ. 2549-2551) มีข้อสังเกตว่า นักเรียนในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ โดยพบว่ามีนักเรียนหลายโรงเรียนเขียนคำภาษาไทยผิด การเรียงรูปประโยคไม่ถูกต้อง ทำให้ข้อความที่เขียนไม่สามารถสื่อความหมายได้

     ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พูดถึงผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้น ป.3 ในปีการศึกษา 2551 ทั่วประเทศ จำนวน 782,284 คน จาก 31,269 โรงเรียน พบว่า ด้านการเขียน อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุง 82,391 คน หรือร้อยละ 10.53 และเขียนไม่ได้ จำนวน 45,477 คน ร้อยละ 5.81 ด้านการอ่าน ต้องปรับปรุง 32,524 คน ร้อยละ 3.52 และอ่านไม่ได้ 32,699 คน ร้อยละ 4.18 รวมถึง พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ กล่าวว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่มีทักษะด้านการอ่านไม่เกินระดับ 2 จากทั้งหมด 5 ระดับ และแน่นอนจากปัญหาการอ่านและการเขียนนี้เองได้ส่งผลให้เกิดปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตกต่ำอย่างน่าเป็นห่วงอย่างเช่นปัจจุบัน

     การจะพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ ทั้งภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ ฯลฯ นั้น ก่อนอื่นจำเป็นต้องพัฒนาผู้เรียนให้อ่านออกเขียนได้เป็นอันดับแรก เนื่องจากมีผลการวิเคราะห์ออกมาว่า เด็กที่อ่อนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มีปัญหาอยู่ที่การอ่านโจทย์ไม่เข้าใจ ดังนั้นการอ่านออกเขียนได้เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ที่ไม่อาจมองข้ามได้

       การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ของผู้เรียนคงต้องเริ่มต้นด้วยการหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเสียก่อน เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์และแก้ปัญหาให้ตรงจุดของผู้เรียนเป็นรายบุคคล และตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งปัญหาอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาด้านครอบครัว ความพร้อมและระดับสติปัญญาของเด็ก วิธีการสอนของครู รวมถึงการเอาใจใส่ของผู้ปกครอง ซึ่งมีผลการศึกษาชี้ชัดว่า นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ถ้าผู้ปกครองร่วมดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักและความเข้าใจ อ่านหนังสือร่วมกับบุตรหลานของตนสม่ำเสมอ เราจะเห็นได้ว่าผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของบุตรหลานโดยเฉพาะในช่วงวัยเริ่มเรียน

     แม้กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยวิธีการที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง แต่จากกระแสสังคมยังคงมีภาพสะท้อนให้เห็นอีกว่า นักเรียนบางคนจบ ป.6 แต่ยังอ่านเขียนไม่คล่อง นักเรียนระดับมัธยมศึกษาบางคนยังคงมีปัญหาเรื่องความเข้าใจการอ่าน มีความอ่อนด้อยเรื่องการเขียน หรือบางคนจบระดับอุดมศึกษาแต่ความรู้ความสามารถด้านการอ่านการเขียนยังคงเป็นปัญหาต่อการปฏิบัติงาน

     เราจะเห็นว่าการอ่านออกเขียนได้จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ท้าทายครูผู้สอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่สอนภาษาไทย ซึ่งมักจะได้รับการกล่าวโทษเสมอว่าสอนอย่างไรเด็กถึงอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ ดังนั้น คงไม่สายเกินไปหากครูผู้สอนจะหันมาทบทวนบทบาทความเป็นครูที่มีความสำคัญยิ่งต่อการแก้ปัญหา คงต้องร่วมด้วยช่วยกันด้วยการทุ่มเทเวลา แรงกาย แรงใจ ด้วยความเสียสละอย่างมาก เพื่อร่วมพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอ่านออกเขียนได้โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย และเมื่อเด็กอ่านออกเขียนได้แล้ว มิใช่จะหยุดเพียงเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นการอ่านคล่องเขียนคล่อง และสามารถอ่านเชิงคิดวิเคราะห์ได้

     สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการส่งเสริมสนับสนุนสำนักงานเขตพื้นที่และสถานศึกษามาโดยตลอด ทั้งจัดสรรงบประมาณให้แก้ไขปัญหาการอ่านการเขียนภาษาไทย จัดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบวิธีสอนที่ประสบผลสำเร็จ มีการจัดประกวดแข่งขันทักษะภาษาไทย ประกวดเรียงความ รวมถึงการจัดทำหนังสือคู่มือ แบบฝึก และหนังสืออ่านเพิ่มเติมหลากหลายรายการแจกให้สถานศึกษาเพื่อช่วยให้ครูมีสื่อซ่อมเสริมการอ่านการเขียนของนักเรียน เป็นต้น

     ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งรณรงค์ ให้เด็กและเยาวชนไทยมีนิสัยรักการอ่านมากขึ้น โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งจะให้โรงเรียนทุกระดับ และสถาบันอาชีวศึกษาเริ่มดำเนินการโครงการห้องสมุด 3D ประกอบด้วย หนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี ซึ่งนับเป็นโครงการดี ๆ ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจริงให้เกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กไทยให้มีความพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นใจและยั่งยืน

 

คำสำคัญ (Tags): #คนรักษ์ภาษาไทย
หมายเลขบันทึก: 414788เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2010 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

หนูก็รักภาษาไทย แต่อยากมีแฟนฝรั่งหึๆ

ลักษณะปัญหาที่ปรากฏและทราบเป็นอย่างดีในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาประจำชาติหรือภาษาไทยในปัจจุบัน ลองย้อนกลับไปเมื่อพวก(ครู)อย่างเราๆ เป็นนักเรียนเริ่มหัดอ่านหัดเขียนใหม่ๆ คุณครูของพวกเราสอนเราอย่างไรแล้วเราเข้าใจได้อย่างไร ทำไมนักเรียนหลายๆ คน ได้เป็นคุณครูภาษาไทยหรือครูวิชาอื่นๆ และหลายคนก็เป็นครูที่เก่งมากด้วย เคยสงสัยไหมครับ? ผมหรือพวกเราจะโทษใครดีล่ะครับว่า อะไร ทำไมนักเรียนไทยในปัจจุบันถึงอ่านไม่คล่องหรือเขียนไม่คล่อง (สักที) ทั้งๆ ที่ปฏิรูปแล้วปฏิรูปอีก ปฏิรูปกันเข้าไป แต่คุณครูเองเคยคิดจะปฏิรูปตัวเองบ้างหรือไม่ ปฏิรูปทัศคติที่มีต่อกระแสสังคมยุโลกาภิวัฒน์ (แก่งแย่ง ชิงดี ชิงเด่น ทำงานเอาหน้า ประจบสอพลอผู้บังคับบัญชา ทั้งหมดนี้เพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนเอง) ปฏิรูปตนเองให้เป้นครูมืออาชีพด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่เป็นแค่ "อาชีพครู"

สมเป็นครูไทยใจสู้ขอให้ผลสัมฤทธิ์ 100 ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ %

ขอให้ตั้งใจทำงานให้บรรลุผลสำเร็จในความตั้งใจของคุณครูอนิรุทธิ์นะครับ แล้วจะเป็นกำลังใจให้ในการทำงานต่อไป อย่าเพิ่งท้อแท้หมดอาลัยตายอยากนะครับ งัยก็เข็ญเด็กบ้านนอกให้อ่านคล่องเขียนคล่องให้ได้ก้แล้วกัน สู้ ๆ

การนำวิธีใหม่มาเรียกร้องความสนใจให้อยากอ่านน่าจะช่วยได้มากนะ

-ปัจจุบันเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่หันไปให้ความสนใจกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกมอินเทอร์เน็ต เป็นเหตุให้สถิติการอ่านหนังสือลดลงไปทุกที ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า การอ่านหนังสือของเด็กไทย

-ประเด็นนี้สำคัญมาก ๆ แล้วเราจะจัดการอย่างไรคะ

เพื่อเด็กไทย และอนาคตดของชาติ ครูไทยต้องสู้

เราร่วมมือกันแก้ปัญหาสักวันหนึ่งต้องแก้ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท