บทความเพื่อการปรับปรุงตนเอง เพื่อชีวิตที่ดียิ่งกว่า


"ความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน" เป็นหลักธรรมอันสูงสุดอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์ผู้เจริญสามารถที่จะ รับรู้ เรียนรู้ ทดลองลงมือปฏิบัติ ประเมินคุณค่าจากการปฏิบัติ สร้างความตระหนัก และยึดถือเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตอย่างสงบสุข คำกล่าวนี้คือแก่นแท้ของประชาธิปไตย เป็นวิถีที่นำไปสู่สันติสุขให้กับมวลมนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งปวง ผมได้ฟังแล้วตื้นตันใจมากครับ เลยไม่อยากให้เป็นแค่ในอุดมคติจึงได้ใช้ความพยายามเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อพิจารณาถึงวิถีที่จะไปให้ถึงความจริงในอุดมคตินี้ให้ได้ ถือโอกาสนี้นำมาเผยแผ่แบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตรทุกๆท่านนะครับ

            รูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์เรานั้นมีความแตกต่างกันไปตามเหตุและปัจจัยมากมาย การดำเนินสภาพการใช้ชีวิตเป็นระยะเวลายาวนานจะทำให้มนุษย์เกิดวิถีที่มีอิทธิพลต่อการปลูกฝังเป็นกรอบแนวคิดส่วนบุคคล ทำให้เกิดความตระหนักเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นปัจเจกไม่เหมือนกันเสียทีเดียว อาจมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มนุษย์มีลักษณะใน “อุปนิสัย”[๑] ที่แตกต่างกันออกไป

            มนุษย์มี “สันดาน”[๒] เหมือนกับสัตว์โลกทั่วไปที่มีสัญชาตญาณในการต่อสู้เพื่อดำรงชีวิต แต่จะแตกต่างกันตรงที่ “วิธีคิด” ในการหาแนวทางที่เหมาะที่ควรในการต่อสู้เพื่อดำรงชีวิต เนื่องจากมนุษย์มีสมองอันชาญฉลาดที่ธรรมชาติได้ให้มา ทำให้มนุษย์ได้เปรียบสัตว์โลกชนิดอื่นๆซึ่งเราเรียกพวกเขาว่า “สัตว์เดรัชฉาน”[๓] และยกตนเองขึ้นเป็น “สัตว์ประเสริฐ” [๔] การได้เกิดมาเป็นมนุษย์สามารถทำให้เรารับรู้ เรียนรู้ วิเคราะห์ จำแนก แยกแยะ สังเคราะห์ วินิจฉัย ฯลฯ และทำในสิ่งที่มีคุณค่าดีงามได้อีกมากมายมหาศาลจาก “แรงขับภายในตนเอง” ด้วยเหตุปัจจัยนี้เองจึงทำให้มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่เข้าถึง คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ได้อีกทั้งยังสามารถปรับปรุง “นิสัย”[๕] ของตนเองเพื่อนำไปวินิจฉัยในอุปนิสัยภายในตนเองได้

            คิดอย่างไรจึงจะได้แนวทางที่สง่างาม ที่เหมาะที่ควรในการดำเนินชีวิต? คำถามนี้ผมเชื่อว่าทุกคนรู้ดีอยู่ในส่วนลึกของจิตใจครับ หากผมเดินไปถามผู้คนที่เขาเดินอยู่บนท้องถนนไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิงที่มีสภาพจิตเป็นปรกติ ว่า “คุณอยากเป็นคนดีไหมครับ?”โดยให้เลือกตอบเพียงคำตอบใดคำตอบหนึ่งว่า “อยาก” หรือ “ไม่อยาก” เท่านั้น ผมเชื่อว่าเกือบทุกคนมีความต้องการ มีความอยากที่จะเป็นคนดี ส่วนที่ใฝ่ชั่วนั้นมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย “คนทุกคนมีความใฝ่ดีอยู่ในห่วงลึกแห่งจิตใจ” แต่ความใฝ่ดีภายในตัวมนุษย์จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นอย่างถูกต้องตามหลักแห่งปัจเจกบุคคล

            จุดหมายเดียวกันแต่วิธีการไปสู่จุดหมายต้องแตกต่างกันออกไปตาม “จริต” ตามเหตุ ตามปัจจัย ซึ่งอาจให้ผลในการไปสู่จุดหมายปลายทางช้าเร็วต่างกันไป แต่ถึงจุดหมายปลายทางเดียวกันอย่างแน่นอน ความใฝ่ดีจึงเป็นเหตุที่ส่งเสริม “วิธีคิดที่ดี” อันจะนำไปสู่ผลคือ แนวทางที่เหมาะควรในการดำเนินชีวิต.....แต่ทุกวันนี้เกิดอะไรขึ้นกับคนในสังคมของเรา?

๑.ไม่มีการกระตุ้นเน้นย้ำในความใฝ่ดีภายในตัวมนุษย์เท่าที่ควร คนส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดจากความศรัทธา ความเชื่อ เป็นเรื่องศาสนา เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็นเรื่องของอุดมคติ มีบอกกล่าวกันจริงแต่ก็เป็นเพียงทฤษฎีเพื่อการรับรู้เท่านั้น

๒.คนส่วนน้อยที่กระทำในสิ่งที่เหมาะที่ควรแต่หากไปขัดแย้งกับเรื่องของหลักการทุนนิยม ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ จะถูกปิดกั้นโอกาสทันทีทุกวิถีทาง คนเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นแกะดำ หัวดื้อ หัวรุนแรง อุดมการณ์สูง ไม่สร้างสรรค์ ไม่คิดเชิงบวก หรือถูกมองว่าเป็นพวกซ้ายสุดขวาสุดอะไรประมาณนั้น ในความเป็นจริงแล้วคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เข้าใจจิตวิญญาณของตนเอง รู้จักตัวตนของตนเองดีที่สุด และดำเนินชีวิตอย่างมีจุดยืน

๓.การให้ความสำคัญของคนส่วนใหญ่ยึดติดด้วยค่านิยมที่มุ่งพิจารณาที่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ แต่ไม่ได้พิจารณาถึงวิธีการที่ได้มาเลย วิถีการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ก็คือ “การกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ” โดยไม่จำเป็นต้องมี “วิธีคิด” ในการหาแนวทางที่เหมาะที่ควร เพราะไม่ได้สนใจต่อผลกระทบจากการกระทำของตนเองที่มีต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ต่างอะไรไปจากพวกที่เราเรียกเขาว่าสัตว์เดรัจฉานเลย มีหลายสิ่งหลายอย่างครับที่เราพอจะรับรู้ ได้ยิน ได้ฟังจากสื่อในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ผลการสำรวจทรรศนะของประชาชนที่มีต่อนักการเมือง หัวข้อหนึ่งบอกทำนองว่า “ยอมรับได้ในการโกงกิน หากทำให้ประเทศชาติมีความเจริญ” ผมฟังแล้วบอกตรงๆว่าอึ้งมากกับผลสำรวจข้อนี้ หากพิจารณาที่เหตุและปัจจัยมันก็ไม่สอดคล้องกับผลแล้ว แต่มีคนบางส่วนยอมรับ(ไม่ทราบว่าส่วนใหญ่หรือเปล่า เพราะผลสำรวจเป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มทดลองเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น) แต่หากวิธีคิดเป็นแบบนี้ก็น่าเป็นห่วงประเทศชาติครับ

            สันดานมนุษย์ แก้ไขปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่สามารถดัดได้โดยการวินิจฉัยเพื่อให้รู้เท่าทันในอุปนิสัยของตัวเราด้วยตัวเราเอง เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่พึงปรารถนาที่จะให้คนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวถึงสันดานของตนเอง การวินิจฉัยเพื่อให้รู้เท่าทันเกิดจากความสามารถในการปรับเปลี่ยนนิสัยในกระบวนการที่รับรู้โดยสมบูรณ์ของมนุษย์ เป็นกระบวนการของการประเมินคุณค่าด้วยปัญญา มากกว่าอารมณ์และความรู้สึก มนุษย์มีโอกาสคิดผิดได้ ผิดพลาดได้ แต่ที่สำคัญคือต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทุกครั้งเมื่อรู้ว่าไม่เหมาะไม่ควร อย่านำวิธีคิดที่ผิดพลาดเดิมๆมาใช้แล้วเกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก มันไม่เหมาะกับการที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ นะครับ

 

“ความดีไม่มีขาย อยากได้ต้องลงมือทำเอาเอง”

“ความดีไม่ใช่เรื่องในอุดมคติ ไม่ใช่เพียงเรื่องการสร้างหลักแนวคิดแต่เป็นเรื่องที่ทำได้จริง หากเรากล้าที่จะยืนหยัด”

“ความดีไม่มีเครื่องหมายให้ประดับ ไม่มีระบบอาวุโส จะมีเพียงความอิ่มเอิบใจที่คนทำความดีด้วยกันจะรับรู้ รับสัมผัสกันได้ และให้ความเคารพซึ่งกันและกันด้วยคุณงามความดีนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กเพราะไม่ว่าใครก็มีความใฝ่ดีในตัวเองอยู่แล้ว”

“ความดีเป็นอมตะไม่มีวันตาย แม้ร่างกายและจิตวิญญาณจะจากไป ความดีจะยังคงตราตรึงอยู่ในจิตใจอนุชนคนรุ่นหลังได้อีกตราบนานเท่านาน”

“ความดีกับความเก่ง เป็นคนละเรื่องกันอย่าเอามาเหมารวมกันแล้วอนุมานกันสร้างเป็นความเชื่อแบบผิดๆ คนดีแต่ไม่เก่ง คนส่วนใหญ่ยอมรับและเมตตาให้ความช่วยเหลือ , คนเก่งแต่ไม่ดี คนส่วนใหญ่จะแกล้งยอมรับเพื่อเอาความเก่งเขาไว้ใช้งาน , คนไม่ดีและไม่เก่ง หากเขายังสามารถพัฒนาตนเองให้เห็นได้อยู่บ้างคนส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะแนะนำและให้อภัยแต่หากปิดกั้นตนเองด้วยความลุ่มหลงตนเองอย่างสุดขั้วคนส่วนใหญ่จะเพิกเฉยหลีกเลี่ยงและปล่อยให้เขาไปตามกรรมของเขา”

“ความดีใช้เวลาเสริมสร้างยาวนานและลึกซึ้งกว่าความเก่งที่เป็นการชี้วัดเพียงทักษะเป็นหลัก”

“ความดีที่แท้จริงจะเป็นความดีจากการสืบทอดโดยสันดาน ความดีที่เป็นเปลือกหรือภาพลักษณ์เป็นความแกล้งดีเพื่อผลประโยชน์ในบางสิ่งบางอย่าง”

“ความดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ฉันใด คนทำความดีก็จะเป็นเช่นนั้น ถึงแม้จะมีกรรมไม่ดีมาแสดงซ้ำเติม กรรมดีในส่วนที่ทำไว้จะเป็นตัวคอยพยุง อุ้มชู ผ่อนหนักให้กลายเป็นเบาได้ และคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นประตูทางออกให้กับทุกปัญหา”

“ขอจงเชื่อมั่นในการทำดี แต่อย่างคิดถึงสิ่งที่ต้องได้ตอบแทน เพียงเท่านี้ท่านก็จะได้อานิสงฆ์ในเบื้องหน้ารอไว้แล้ว ทำความดีด้วยสติด้วยปัญญา อย่าทำความดีเพราะอวิชชามาครอบงำ”

“หลักของความดีที่เป็นธรรมอันสูงสุด คือ การมุ่งดีมุ่งเจริญแก่กัน”


 


[๑] อุปนิสัย หมายถึง พฤติกรรมที่แสดงออกอย่างซ้ำๆอันเนื่องมาจากคุณลักษณะที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่กำเนิด

[๒] สันดาน หมายถึง สิ่งที่เป็นคุณลักษณะที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่กำเนิด

[๓] สัตว์เดรัชฉาน ตามความหมายของผู้เขียน หมายถึง สัตว์โลกศักยภาพต่ำที่ไม่มีโอกาสพัฒนาตนเองจนถึงขั้นทำให้รู้สำนึกได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ไม่สามารถเข้าสู่ธรรมขั้นสูงสุดได้ อาจมีได้แค่การรับรู้และความจดจำในระดับหยาบๆเท่านั้น ผู้เขียนมิได้มีเจตนาใช้เป็นคำเสียดสีแต่ประการใด

[๔] สัตว์ประเสริฐ ตามความหมายของผู้เขียน หมายถึง สัตว์โลกที่มีศักยภาพสูง สามารถรับรู้ข้อมูลผ่านอวัยวะรับรู้ รับสัมผัสต่างๆ แล้วนำข้อมูลมาจำแนก แยกแยะ คิดวิเคราะห์ พิจารณา วินิจฉัย ทำให้แยบคาย จนสามารถพิสูจน์ ประเมินคุณค่าในข้อมูลนั้น แล้วสร้างความสำนึกต่อผิดชอบชั่วดีได้ สามารถพัฒนาตนเองให้บรรลุสู่ธรรมขั้นสูงสุดได้

[๕] นิสัย หมายถึง พฤติกรรมที่แสดงออกอย่างซ้ำๆชัดเจน อันเกิดจากการปรับเปลี่ยนในกระบวนการรับรู้ของมนุษย์

หมายเลขบันทึก: 414567เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2010 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ
ผู้ฝึกตนได้เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์

มนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉานที่โดดเด่นสุดคือ

  1. กระดูกสันหลังมนุษย์ตั้งฉากกับพื้นโลกมากกว่า ยกเว้นเวลานอน
  2. มนุษย์สามารถฝึกฝนตนเองได้แต่สัตว์ต้องรอให้ผู้อื่นฝึก
  3. มนุษย์สามารถคิด วิเคราะห์ต่อยอดได้แต่เดรัจฉานมีแต่สัญชาติญาน

แต่มนุษย์นี้ก็แย่กว่าสัจเดรัจฉานก็เพราะคิดได้มากกว่านี่แหละครับ ทำให้คิดไปเรื่อยเปื่อย คิดเอาแต่ได้จนสร้างความวุ่นวายปั่นป่วน สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท