กรมคุมประพฤติ: องค์กรภาครัฐลักษณะพิเศษ


กรมคุมประพฤติ : องค์กรภาครัฐลักษณะพิเศษ

กรมคุมประพฤติเป็นองค์กรภาครัฐที่มีลักษณะพิเศษ

 

นัทธี จิตสว่าง

ลักษณะพิเศษของกรมคุมประพฤติก็คือการทำให้เป็นองค์กรภาครัฐที่ขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน

เนื่องจากภารกิจของกรมคุมประพฤติคือการดูแลผู้กระทำผิดในชุมชนแทนการใช้โทษจำคุกในเรือนจำ ภารกิจของกรมคุมประพฤติส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับชุมชน และทำงานโดยอาศัยชุมชน การทำงานของกรมคุมประพฤติจึงต้องขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคม ซึ่งประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน คุมประพฤติตำบล ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคราชการอื่นๆ เข้ามาช่วยในการดูแลแก้ไขผู้กระทำผิดซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากชุมชนของตนเอง 

เป็นการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนที่ได้ผลสูงแต่ใช้งบประมาณและข้าราชการน้อยลง 

ในขณะที่ในปีงบประมาณ 2550 มีผู้รับการฟื้นฟูตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และผู้ถูกคุมประพฤติที่อยู่ในการดูแลกว่า180,000 คน แต่มีข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เพียง 1,480 คน ที่เหลือจะเป็นพนักงานราชการ 1,700 คน อาสาสมัครคุมประพฤติ 9,000 คน เครือข่ายยุติธรรมชุมชนอีก 40,000 คน กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทำหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือ สอดส่องความประพฤติผู้กระทำผิด ส่วนข้าราชการทำหน้าที่ในการประสานงาน วางระบบการทำงาน และปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องในข้อกฎหมาย

ในส่วนของการกระจายอำนาจและการถ่ายโอนภารกิจ ได้มีการถ่ายโอนภารกิจให้ชุมชนดำเนินการ ภายใต้ชื่อโครงการ คุมประพฤติตำบล ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในการที่จะให้ อบต.รับดูแลผู้พ้นการคุมประพฤติ หรือ ผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นคนที่อยู่ใน อบต.นั่นเอง ซึ่งจะมีความคล่องตัวกว่าการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจากภายนอกชุมชนเข้าไปดูแล รวมตลอดถึงการสืบเสาะพินิจ อบต.จะรู้ข้อมูลของคนในชุมชนได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจากภายนอก และการสมานฉันท์ระหว่างโจทก์ กับจำเลยในกรณีที่ต้องกลับไปอยู่ในชุมชนเดียวกันเช่นเดิม อบต.น่าจะบริหารจัดการได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ตามกรมคุมประพฤติ ยังให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ และการวางมาตรฐานการปฏิบัติงาน การฝึกอบรม และการติตามประเมินผล ในขณะที่ อบต.ปรับบทบาทมาทำงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ ของชุมชนมากขึ้น ปัจจุบันโครงการดังกล่าวนี้ได้เริ่มนำร่องที่สงขลา และจังหวัดอื่นๆ บ้างแล้ว

 

 

การทำงานในลักษณะเครือข่าย

งานของกรมคุมประพฤติโดยเฉพาะงานด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับบำบัด เป็นอีกงานที่ขับเคลื่อนโดยอาศัยเครือข่าย โดยมีภาคีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันในการดูแลจัดการกับผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับบำบัด

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวผู้ต้องหาในคดีเสพยาเสพติด จะต้องนำตัวผู้ต้องหาส่งให้ศาลภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจในการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หากมีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ ก็ต้องนำตัวไปควบคุมตัวยังสถานควบคุมตัวเพื่อการตรวจพิสูจน์ และหากตรวจพิสูจน์พบว่าเป็นผู้เสพ หรือผู้ติด คณะอนุกรรมการก็จะส่งไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ในสถานฟื้นฟูแบบเข้มงวด หรือไม่เข้มงวด หรืออาจใช้มาตรการไม่ควบคุมตัวให้รายงานตัวคุมประพฤติ

ในการดำเนินการบำบัดฟื้นฟูดังกล่าว เป็นการทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน กรมคุมประพฤติจะเป็นหน่วยกลางในการประสาน และจัดงบประมาณ ไปยังภาคีเครือข่ายต่างๆ โดยเฉพาะในค่ายทหาร 3 เหล่าทัพ วัด บ้านกึ่งวิถี สถานีตำรวจ  โรงพยาบาล  สถานบำบัด และเรือนจำต่าง ๆ

 

งานของกรมคุมประพฤติจึงใช้ข้าราชการน้อย แม้จะมีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นแต่เนื่องจากได้เข้าสู่การปฏิรูประบบราชการ ไปสู่การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ที่มีการปรับขนาดองค์การให้เหมาะสม และได้ใช้พนักงานราชการ ซึ่งเป็นการจ้างโดยอาศัยสัญญาจ้าง มีการกำหนดระยะเวลาที่มีการประเมินต่อเนื่อง มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกงานนักศึกษา เพื่อได้นักศึกษามาช่วยทำงาน และการจ้างเหมาบริการบุคลากร ตลอดจนมีการดึงเครือข่าย และภาคี รวมทั้งภาคประชาชนมามีส่วนร่วม โดยมีจุดเน้นที่ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน และเน้นเรื่องของการประเมินผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญ

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า กรมคุมประพฤติจะสามารถก้าวไปสู่องค์กรภาครัฐแนวใหม่ ที่มีลักษณะพิเศษ และสามารถตอบสนองต่อประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน เพียงใดต่อไป 

              

หมายเลขบันทึก: 413915เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท