ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>กุศโลบายในการทำดี


ทำดี

 กุศโลบายในการทำดี

๑. ทำดีถูกกาล

คือ เมื่อเห็นเป็นเวลาอันเหมาะสม แล้วจึงทำ
ไม่ใช่ต้องดูฤกษ์ยาม แล้วจึงทำ
แต่หมายถึง ทำให้ทันเวลาเหมาะแก่เวลา
เช่นจะช่วยเหลือคน ต้องช่วยให้ทันเวลา
ที่เขาต้องการความช่วยเหลือ ตรงกับเวลาที่เขาขาดแคลน

เหมือนให้น้ำแก่คนที่กำลังกระหาย ให้ข้าวแก่คนที่กำลังหิว
แม้จะตักเตือนคนให้เว้นความชั่ว ก็ต้องดูเวลาอันเหมาะสม
ไม่ให้เขาต้องอับอาย เพราะคำเตือนของเรา
หรือเตือนเขาเมื่อสายเสียแล้ว เขาได้ทำผิดพลาดไปมากแล้ว

บางอย่างเราควรเตือนเขาล่วงหน้า
เพื่อเขาจะได้ไม่ถลำลึกลงไปในความผิดพลาด
การทำดีผิดเวลา มักจะให้โทษ
เหมือนคนเอาเสื้อหนาวมาใส่หน้าร้อน จะร้อนยิ่งขึ้น
จะโทษเสื้อไม่ได้ ต้องโทษความโง่เขลาของเราเอง

การช่วยเหลือคนนั้น สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ
ต้องช่วยให้ทันท่วงที อย่าให้พลาดได้
มิฉะนั้นจะเสียประโยชน์ เหมือนช่วยคนตกน้ำ
จะต้องช่วยให้ทันท่วงที ก่อนที่จะจมน้ำตาย
มัวลังเลล่าช้าอยู่ เขาจมน้ำตายไปแล้วจะช่วยอะไรกันอีก

นักปราชญ์จีนเช่นจังจื้อ ได้เคยตกยากแล้ว
กล่าวคำเปรียบเทียบที่น่าคิดเอาไว้
มีเรื่องโดยย่อว่า คราวหนึ่งจังจื้อตกทุกข์ได้ยาก
บากหน้าไปขอยืมข้าวสารจากเจ้าเมืองคนหนึ่ง
ซึ่งเคยเป็นเพื่อนกัน ท่านเจ้าเมืองพูดว่า
"ให้ขอยืมแต่ต้องรอให้เขาเก็บส่วยหรือภาษีจากราษฎรเสียก่อน
แล้วจะให้ยืมสัก ๓๐๐ เหรียญเพื่อไปซื้อข้าวสาร"

จังจื้อได้ฟังดังนั้น จึงเล่าเรื่องเปรียบเปรยว่า
"เมื่อวานนี้ขณะฉันเดินทางมาหาท่านที่นี่
ได้ยินเสียงเรียกตะโกนอยู่เบื้องหลัง
จึงหันไปดู เห็นปลาตัวหนึ่งดิ้นอยู่ในรอยล้อเกวียนบนดิน
ซึ่งมีน้ำแฉะๆ ขังอยู่นิดหน่อย
ฉันถามมันว่ามานอนดิ้นอยู่ที่นี่เพื่ออะไร ?

ปลาตอบว่ามาจากทะเลตังไฮ มาติดอยู่ที่นี่
ท่านโปรดเมตตาช่วยเหลือฉันสักครั้งหนึ่ง
ด้วยการเอาน้ำสักเล็กน้อยมาเทลงบนรอยเกวียนนี้
ฉันฟังปลาพูดดังนั้นจึงตอบว่า
"ข้ากำลังเดินทางไปภาคใต้
มุ่งไปแสดงธรรมของข้าให้เจ้านครโง้ว เจ้านครอ๊วดฟัง
ข้าจะไประบายน้ำในลำแม่น้ำไซกังมาให้เจ้าจะดีหรือไม่เล่า ?"

ปลาได้ฟังดังนั้นก็น้อยใจ เสียใจ พลางตอบว่า
"ฉันรับทุกข์ทรมานอยู่นี้ เพราะขาดน้ำ
หากได้น้ำเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย ก็จะพอยังชีพไปได้
ไม่จำเป็นถึงกับต้องไประบายน้ำในแม่น้ำมาช่วย
ถ้าท่านจะทำอย่างนั้น ก็จงรีบไปซื้อฉัน
ตามร้านขายปลาแห้งในตลาดเถิด"

๒. ทำดีถูกบุคคล

ทำดีถูกบุคคลนั้นทำอย่างไร ?
คือ การที่เราทำความดีแก่บุคคลที่ควรได้รับความดี
เช่น การช่วยเหลือเขา ก็ควรช่วยเหลือคนที่ควรช่วย
และกำหนดขอบเขตว่า ควรช่วยเหลือเพียงใด
ถ้าเราช่วยเหลือ คนที่ไม่ควรช่วยและช่วยไม่ถูกวิธี
ก็จะมีโทษติดตามมา เช่น ในนิทานเรื่องชาวนากับงูเห่าเป็นตัวอย่าง

การช่วยคนที่ควรช่วยนั้น เป็นกุศลมาก
เพราะเป็นการบำบัดทุกข์ของเขาจริงๆ
การบำบัดทุกข์ มีความสำคัญกว่าการบำรุงสุข
ต่อเมื่อบำบัดทุกข์ได้ดีแล้ว จึงค่อยบำรุงสุข
แต่ถ้าบำบัดทุกข์ยังไม่ได้ มัวแต่พะวงแต่เรื่องบำรุงสุข

ความสุขที่ได้นั้นก็เป็นความสุขปลอม
และเป็นความสุขในกองทุกข์นั้นเอง
เหมือนเอาดอกไม้หอมไปปักไว้บนสิ่งปฏิกูล
เป็นต้นว่า บนกองอุจจาระ จะเป็นอย่างไรจงตรองดูเถิด

คนบางพวกคิดแต่จะบำรุงสุขสนุกสนาน
ทั้งแก่ตนเองและญาติมิตร
ในขณะที่การบำบัดทุกข์ที่จำเป็น ก็ยังทำไม่ได้
สังคมของเราทำความดี
แบบเอาเนื้อหนูไปแลกเนื้อช้างกันเสียเป็นส่วนมาก

หนูเนื้อน้อยอยู่แล้ว การขูดรีดเอาจากคนยากจน
หรือคนที่มีรายได้น้อยไปบำรุงบำเรอความสุขของคนมั่งมีอยู่แล้ว
เป็นการทำความดีแบบเอาเนื้อหนูไปใส่เนื้อช้าง
หรือขอดน้ำในหลุมเท้าโคไปใส่แม่น้ำทำนองเดียวกัน

นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึง คุณธรรมของคนที่เราจะช่วยเหลืออีกด้วย
คนมีคุณธรรมน้อย ช่วยไปก็ได้ผลน้อย
(นี่พูดถึงทำความดีด้วยการหวังผล)
เหมือนหว่านข้าวลงไปในนาที่ไม่ดี,
คนที่มีคุณธรรมสูงมาก ความดีที่ทำให้ผลมาก
เหมือนหว่านพืชลงในที่ดินดี
นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่คนชอบทำบุญทำทานกับผู้มีศีลธรรม

อีกประการหนึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้น เป็นภูมิธรรมของคนดี
คนที่มีภูมิธรรมอันนี้มีไม่มากนัก
ถ้าเราทำความดีไปถูกคนที่มีความกตัญญูกตเวที
ผลดีก็มีเพิ่มพูนเป็นทวีคูณ ตรีคูณหรือได้รับผลดี
ตอบแทนเป็นร้อยเท่าพันเท่า

แต่ถ้าเราทำความดีไปถูกคนที่อกตัญญูกตเวทีเข้า
ก็เหมือนว่าหว่านพืชลงบนหิน เหนื่อยแรงเปล่า
อาจจะกลับกลายไปเป็นโทษภายหลังได้ด้วย
เพราะคนอกตัญญูอกตเวทีนั้น
ชอบประทุษร้ายคนที่มีบุญคุณต่อตน
มิะนั้นเขาจะเรียกคนอกตัญญูหรือ

๓. ทำดีเหมาะกับเหตุการณ์

ทำดีให้เหมาะกับเหตุการณ์นั้นทำอย่างไร ?
ในที่นี้หมายถึง การทำถูกเรื่องถูกราว
ไม่ดึงดันถือเอาแต่ความเห็นของตน
หรือความพอใจไม่พอใจของตนเป็นสำคัญ
แต่ยืดหยุ่นผ่อนผันตามเหตุการณ์ที่เรียกรวมๆ ว่า
การณวสิกตา ความเป็นผู้ทำกิจเหมาะแก่เหตุการณ์,
ทำพอสมควรแก่ฐานะ ความรู้ความสามารถของตน
อนึ่งเหตุการณ์ของโลกย่อมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

การดึงดันแข็งขืนอยู่คนเดียว ย่อมไม่ได้ประโยชน์
นอกจากคนทั้งหลายจะไม่เห็นดีแล้ว
ตัวเองก็ต้องคอยแข็งขืน ขัดแย้งกับคนในสังคมอยู่ตลอดเวลา
ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทเป็นศัตรูต่อกัน

ความรู้ความสามารถ ศิลปวิทยาที่จะอำนวยผลมาก
ก็ต้องเป็นความรู้ความสามารถ อันเป็นที่นิยมของสังคม
เพราะฉะนั้น ความรู้ความสามารถที่ทันสมัย
จึงเป็นอุปการะต่อชีวิตมาก

จะเห็นคุณของศิลปวิทยาการ
ก็ต่อเมื่อ สังคมต้องการและนำไปใช้ประโยชน์นั้นเอง
ความรู้ความสามารถจะเป็นหมัน ถ้าไม่ได้ใช้
เหมือนอาหารที่ไม่ย่อย
มีแต่ให้ความอึดอัดหามีประโยชน์อันใดไม่

ความรู้อย่างหนึ่ง อาจมีประโยชน์มากในสมัยหนึ่ง
แต่ต่อมาความนิยมของคนทั้งหลายเสื่อมไป
ใครยังดึงดันยึดถือความรู้อย่างนั้นเป็นที่พึ่งอยู่
ก็อาจจะต้องเดือดร้อน

จะพร่ำรำพันว่า ฉันมีความรู้ความสามารถดี
แต่ทำไมจึงไม่ได้ดีดังนี้ หาควรไม่
เพราะไม่เหมาะกับเหตุการณ์และความนิยม
การทำความดีที่ถูกต้องตามระเบียบกฏเกณฑ์อันดีงาม
ก็จัดอยู่ในข้อนี้เหมือนกัน

รวมความว่า การทำความดีนั้น จะต้องมีกุศโลบาย
มีความฉลาดรอบคอบพอสมควร จึงจะได้รับผลเต็มที่
จะได้ไม่ต้องคิดอีกต่อไปว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดี
คนที่ทำความดีเป็นนั้น จะได้รับผลดีเสมอ
และได้รับเท่าที่ต้องการหรือมากกว่าที่ต้องการ

เหมือนเพาะมะม่วงไว้เมล็ดหนึ่งพองอกเป็นต้น
ถึงคราวมีลูกมันจะให้ลูกเป็นร้อยเป็นพัน
และมีลูกให้นานถึง ๖๐ - ๗๐ ปี จนกว่าจะแก่ตายไป

 

คำสำคัญ (Tags): #กุศโลบาย
หมายเลขบันทึก: 413778เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2010 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท