การทำงานแบบมีส่วนร่วมของครู กศน.ในชุมชนบ้านแม่เชียงรายลุ่ม (3)


3. วัฒนธรรม ความเชื่อและประเพณี

วัฒนธรรมที่มีมานานของชุมชนบ้านแม่เชียงรายลุ่ม เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสัมพันธ์กับการส่งเสริมการทำงานของครู กศน.ในชุมชน ความเชื่อและประเพณีที่ยึดถือสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอยู่เพื่อความอยู่รอดของชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน โดยเฉพาะพิธีกรรมต่าง ๆ ได้แก่

- พิธีบูชาเจ้าพ่อ
ซึ่งช่วยดูแลปกป้องดูแลคุ้มครองความเป็นอยู่ของบ้านแม่เชียงรายลุ่มให้อยู่สุขสบาย ช่วยดูแลป่าให้มีความสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารที่หากินยังชีพของหมู่บ้าน ทุกคนในหมู่บ้านจึงให้ความเคารพนับถือ จะมีพิธีบูชาเจ้าพ่อเป็นประจำในช่วงสงกรานต์และออกพรรษา โดยใช้สถานที่ตั้งศาลซึ่งอยู่ติดชายป่าทำพิธีใหญ่ และจะมีศาลเจ้าพ่ออยู่อีก 2 แห่ง คือ ท้ายบ้านและปากทางเข้าบ้านแม่เชียงรายลุ่ม เพื่อให้เจ้าพ่อคุ้มครองแต่ละคุ้มบ้าน และสะดวกต่อการเดินทางของผู้สูงอายุ

- พิธีบูชาเจ้าพ่อขุน

ซึ่งเป็นเจ้าพ่อขุนน้ำและชาวบ้านแม่เชียงรายลุ่มให้ความเคารพนับถือ เชื่อว่าได้ช่วยดูแลต้นน้ำและป่าทำให้ป่าชุ่มชื้นมีน้ำไหลลงหนองกระทุ่มโป่งมีใช้ตลอดปี ความเชื่อสืบกันมานี้ทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะเข้าไปลักลอบตัดไม้ทำลายป่าหรือหาสัตว์ป่าบริเวณป่าที่ตั้งขุนน้ำ (ต้นน้ำ) แต่คนที่จะต้องเข้าป่าก่อนจะเข้าจะทำพิธีบอกกล่าวเจ้าพ่อขุนก่อนทุกครั้งเพื่อขอให้ปกป้องรักษาคุ้มครอง

พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าพ่อและเจ้าพ่อขุนน้ำ เป็นผลทำให้ชาวบ้านทุกกลุ่มบ้านต้องมาร่วมทำพิธีพร้อมกัน และละเว้นการทำลายต้นไม้รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในป่า ช่วยเตือนให้ชาวบ้านได้นึกถึงผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ ทั้งส่วนที่เป็นอาหารและน้ำใช้ ทำให้ชุมชนเกิดความคิดที่จะต้องรักษาระบบนิเวศไว้ให้ได้ เพื่อรักษาป่าให้เกิดความชุ่มชื้น มีเส้นทางน้ำที่ไหลลงหนองกระทุ่มโป่งเพื่อมีน้ำใช้ตลอดปี

- พิธีเลี้ยงผีปู่ย่า
เชื่อว่าช่วยรักษาความสัมพันธ์และความสงบสุขของเครือญาติ ปกป้องลูกหลานที่นับถือให้อยู่อย่างปลอดภัย เป็นพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีรวมกลุ่มในหมู่ญาติพี่น้อง ลดความขัดแย้งในหมู่พี่น้องด้วยกัน ด้วยระบบผีปู่ย่าจะมีผีเก๊า (ต้นตระกูล) เป็นผู้ควบคุมคนในกลุ่มเครือญาติให้รักษาประเพณีปฏิบัติในตระกูลใหญ่ 5 ตระกูลของบ้านแม่เชียงรายลุ่ม โดยนับเครือญาตินับตามสายญาติผู้หญิง

การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนบ้านแม่เชียงรายลุ่มจึงสำเร็จโดยง่าย หากกลุ่มผู้นำมีความเห็นชอบดำเนินการ จากระบบเครือญาติและการเคารพผีต้นตระกูลเดียวกันช่วยสนับสนุนการดำเนินงานให้สำเร็จ เห็นได้จากการขอความร่วมมือไม่จับปลาด้วยไฟฟ้าของทุกคุ้มบ้านเพราะทำให้ปลาตัวเล็กตาย และการร่วมมือกันซ่อมแนวกันดินของหนองกระทุ่มโป่งที่ได้รับความร่วมมือจากทุกกลุ่มบ้าน

- ความเชื่อเกี่ยวกับการตัดไม้
ผู้เขียนพบว่า เมื่อมีคนในครอบครัวจะเข้าป่าเพื่อไปหาของป่า  ต้องทำพิธีบอกกล่าวผีปู่ย่าก่อนออกจากบ้าน และบอกกล่าวเจ้าพ่อขุนก่อนเข้าป่าเพื่อขอความคุ้มครองและขออนุญาตเจ้าที่เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ตนเอง เช่น ถูกสัตว์มีพิษหรือเกิดอุบัติเหตุ จากการพูดคุยกับกลุ่มผู้ที่เข้าป่าเพื่อตัดไม้ทำให้ทราบถึงวิธีการตัดไม้ว่า การตัดไม้จะคำนึงถึงการนำเอามาใช้ ซึ่งคุณสมบัติของไม้ที่นำมาใช้ได้ผ่านการทดลองจากคนในชุมชนมานานจนนับได้ว่าเป็นการคัดสรรมาอย่างดี เช่น ไม้เนื้อแข็งจะต้องมีความแข็งแรง ทนทาน มดหรือปลวกไม่กินเพื่อการใช้งานที่ยาวนานและง่ายต่อการตัดฟัน อายุของต้นที่จะตัดต้องเลือกต้นที่แก่ปานกลางเพราะไม้จะมีเนื้อแน่น โดยสังเกตจากเรือนยอดของต้นไม้ ถ้าเป็นต้นที่แก่และมีขนาดใหญ่จะไม่ตัด จะปล่อยให้เป็นแม่พันธุ์ เพราะไม้ที่แก่มากเมื่อตัดแล้ว จะไม่แตกหน่อ (แต่จะถูกตัดโดยนายทุน) ในช่วงเวลาการขยายพันธุ์ของต้นไม้ชาวบ้านจะไม่ตัดไม้ในช่วงที่ไม้ออกดอกออกผล โดยเชื่อว่าแมลงจะเจาะกินเนื้อไม้ ซึ่งในความจริงแล้ว เนื้อไม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะอิ่มน้ำ มีความหวานมากกว่าปกติ ทำให้แมลงชอบกิน ชาวบ้านไม่ตัดในช่วงนี้เพราะถ้านำเอามาใช้จะไม่มีความทน ฤดูที่ตัดจึงเป็นฤดูร้อน นอกจากนี้การสร้างบ้านซึ่งต้องใช้ไม้เนื้อแข็ง จะใช้เวลาเก็บไม้ตั้งแต่ 5 – 10 ปี บางครั้งอาจสร้างไปก่อนและต่อเติมในภายหลังตามเงื่อนไขของเวลา แรงงาน และกำลังทรัพย์

นอกจากนี้การตัดไม้ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ เช่น ไม้ที่ใช้จะต้องเป็นไม้ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อาศัยอยู่ก่อน เช่น นก มด ปลวก เถาวัลย์  และจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามความเชื่อ เช่น ไม้หางปลา ไม้สามเส้าที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งหม้อของผีป่า และยังมีวันต้องห้าม เช่น วันพระ วันที่มีคนตายในหมู่บ้าน

ความเชื่อเกี่ยวกับวิธีการตัดไม้ดังกล่าวจึงเป็นวิธีการหนึ่งของการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะป่าชุมชนและหนองกระทุ่มโป่ง ด้วยเพราะมีข้อจำกัดที่มีเหตุผล ไม่ได้เป็นการตัดเพื่อทำลาย จึงเป็นการให้ความร่วมมือด้วยจิตสำนึกและจิตใจ

หมายเลขบันทึก: 413733เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2010 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท